25thApril

25thApril

25thApril

 

April 27,2023

ธุรกิจ‘ลอยอังคาร-ดูดทราย’ ทำผู้ใช้‘น้ำมูลท่าช้าง’เดือดร้อน ทนไม่ไหวร้องเรียนให้ผู้ว่าฯจัดการ

 

ผู้ใช้น้ำท่าช้างร้องทุกข์ผู้ว่าฯ ธุรกิจลอยอังคารกลับมาอีกครั้ง นำเถ้ากระดูกคนตายทิ้งน้ำมูล ซ้ำพบผู้ประกอบการดูดทรายลักลอบปล่อยน้ำเสีย พบน้ำขุุ่นแดง ส่งผลต่อการผลิตประปา ศูนย์ดำรงธรรมฯ รุดตรวจสอบ


เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๖ กลุ่มผู้ใช้น้ำฝายยางบ้านส้ม ม.๑๒ ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา โดยนายชัชณัฐ อินทร์มะดัน ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายยางบ้านส้ม ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อร้องทุกข์ปัญหามีผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการรับลอยอังคารนําเถ้ากระดูกจากการเผาศพคนตาย มาลอยอังคารในลุ่มน้ำมูล และปัญหาผู้ประกอบการดูดทรายปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการผลิตดูดทราย ลักลอบทิ้งลงลําน้ำมูล โดยในหนังสือดังกล่าวระบุว่า

ด้วยกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายยางบ้านส้ม เป็น กลุ่มผู้ใช้น้ำที่ได้รับการจดทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำ ตามประกาศนายทะเบียน เรื่ององค์กรผู้ใช้น้ำ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๖๔ ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๔ องค์กรผู้ใช้น้ำ พ.ศ.๒๕๖๔ เลขทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำ ๐๕๓๐-๒๕๖๔-๐๐๑๔๐ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๔ เป็นองค์กรผู้ใช้น้ำที่มีกฎหมายรองรับในการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก และแก้ปัญหาร่วมกัน ด้านการใช้น้ำ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบํารุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ บริเวณใกล้เคียงกันและ อยู่ในลุ่มน้ำเดียวกัน

“จากการดําเนินงานกลุ่มที่ผ่านมา กลุ่มและชุมชน ๗ หมู่บ้าน ได้ร้องเรียนขอให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ไขปัญหาการนําเถ้ากระดูกจากการเผาศพคนตายนํามาลอยอังคารในลุ่มน้ำมูลบริเวณแหล่งน้ำประปาหมู่บ้าน และพบว่า ปัจจุบันปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข และยังมีผู้ประกอบการธุรกิจรับลอยอังคารเปิดให้บริการ มีผู้ที่มาใช้บริการในแต่ละวันจํานวนหลายราย ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ต้องใช้น้ำอุปโภคและเป็นแหล่งน้ำประปาของชุมชน และปัญหาผู้ประกอบบ่อทรายท่าช้างทรายทอง ดูดทรายพื้นที่บ้านตะกุดขอน ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ ประกอบธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ลักลอบปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการดูดทราย ทิ้งลงลําน้ำมูล ปัญหาลํา น้ำขุ่นเป็นตะกอน ลําน้ำมูลมีความเค็ม และอยู่เหนือจุดโรงผลิตน้ำประปาส่วนภูมิภาค และเคยเกิดปัญหานี้ การประปาไม่สามารถผลิตประปาได้ เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ปัจจุบันยังประกอบกิจการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ต่อ สิ่งแวดล้อมอีก ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้ง ความรุนแรงและโอกาสที่แหล่งน้ำสําคัญของประชาชนจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอื่นๆ ตลอดลุ่มน้ำมูล นอกจากจะขาดแคลนแหล่งน้ำดิบแล้ว จะประสบปัญหาน้ำเค็ม จากน้ำเสียบ่อทรายที่ลักลอบทิ้งลงลําน้ำมูล ซึ่งมีพื้นที่ดูดทรายขนาดใหญ่ ๒๓๙ ไร่”

จากปัญหาข้างต้นรวม ๒ ปัญหา ชุมชนได้รับความเดือดร้อน การใช้น้ำผลิตประปาหมู่บ้าน และการผลิตประปาส่วนภูมิภาค การ กระทํากระทบการใช้น้ำร่วมกันตลอดลุ่มน้ำมูล ลําน้ำมูลสกปรก และน้ำเสียจากกระบวนการดูดทรายกระทบคุณภาพน้ำ น้ำเริ่มเค็ม ขุ่น เป็นตะกอน ไม่สามารถนําผลิตประปาได้ จึงมีมติที่ประชุมให้ดําเนินการร้องทุกข์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (ประธานอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดนครราชสีมา) เพื่อให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาและดําเนินการทางกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายต่อไป

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๖ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โดยศูนย์ดำรงธรรมอำเภอฯ ลงพื้นที่พบกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายยางบ้านส้ม ชี้สถานที่เกิดเหตุที่พบว่ามีการทิ้งเถ้ากระดูกและการทำธุรกิจลอยอังคาร รวมทั้งจุดที่พบว่า น้ำมูลขุ่นสีแดง เป็นปัญหาต่อการผลิตประปา น้ำเริ่มเค็ม จากบ่อทรายแอบทิ้งน้ำจากการผลิตชะล้างทรายลงลำน้ำมูลในช่วงกลางคืน

อนึ่ง ที่ผ่านมา “โคราชคนอีสาน” นำเสนอข่าวประชาชนในพื้นที่อำเภอเฉลิมพระ เกียรติ จ.นครราชสีมา ร้องเรียนกรณีที่มีผู้ประกอบการทำธุรกิจรับลอยอังคาร นำพานธูปเทียน เครื่องใช้ ที่นอน หมอน รวมทั้งกระดูกคนตาย ทิ้งลงในแม่น้ำมูล และมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ กว่า ๓๐ ครั้ง กระทั่งนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (ขณะนั้น) ได้ขอความร่วมมือให้งดทำกิจกรรมลอยอังคาร เพราะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม และผิดกฎหมาย และเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๕ อาจารย์ น. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรับทำพิธีและทำธุรกิจรับลอยอังคารรายหนึ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทำให้การประกอบการหยุดไปชั่วคราว แต่ภายหลังยังพบว่ามีการลักลอบดำเนินการอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการร้องเรียนขึ้นอีกครั้ง

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๕๒ ประจำวันที่ ๑๕ เมษายน - ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๖

 


1003 1423