26thDecember

26thDecember

26thDecember

 

June 30,2023

ปลายปีนี้ลุย ๒ ทางลอด ‘แยกบิ๊กซี-แยกประโดก’ งบ ๑,๓๓๐ ล.สร้าง ๓ ปี

 

กรมทางหลวงเตรียมสร้าง ๒ ทางลอดโคราช “แยกบิ๊กซี-แยกประโดก” งบรวมกันกว่า ๑,๓๓๐ ล้าน ใช้เวลากว่า ๓ ปี ประชาชนห่วงการจัดการน้ำ วอนให้จัดการจราจรที่ดี เนื่องจากมีทั้ง บขส. รพ. ตลาด และสถานประกอบการจำนวนมาก เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนและการประกอบอาชีพให้น้อยที่สุด


เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๑ จัดประชุมประชาสัมพันธ์ โครงการก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒ ตัดถนนช้างเผือก ตัดถนนสิริราชธานี (แยกประโดก) บนทางหลวงหมายเลข ๒ ตอน นครราชสีมา–ดอนหวาย ที่ กม.๑๔๙+๔๕๐-กม.๑๕๑+๒๐๐ ณ ห้องประชุมโรงแรมสบาย เมืองนครราชสีมา  โดยมีนายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานฯ นายพิชฌคุณ ส.วรเนตร ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๑ กล่าวรายงาน และมีวิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักสำรวจและออกแบบ ร่วมชี้แจงรายละเอียดโครงการ ประกอบด้วย นายประยุทธ ยิ่งหาญ นายทวิช ชอบพานิช นายนิธิวัฒน์ ชมกระโทก และนายทวีศักดิ์ ศักดิ์ศินานนท์ ท่ามกลางนักธุรกิจ ผู้บริหาร อปท. ประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก อาทิ นายศรรบ หล่อธราประเสริฐ กรรมการผู้จัดการไทยสงวนบริการ (โครงการพาข้าวและบขส.ใหม่), นายสุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์ ประธานบริหารกลุ่มคิงส์ยนต์, กลุ่มสหะชัย เป็นต้น

นายพิชฌคุณ ส.วรเนตร ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๑ กล่าวรายงานว่า กรมทางหลวง ได้รับงบประมาณปี ๒๕๖๖ ในการก่อสร้างทางลอดดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรที่ติดขัดสะสมบริเวณแยก ลดการเกิดอุบัติเหตุ เพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนตัวของจราจรบนทางหลวงสายหลัก ช่วยการอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการคมนาคมขนส่ง ช่วยลดต้นทุนทางด้านการคมนาคมขนส่ง เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ในขณะดำเนินการก่อสร้าง อาจจะมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม วิถีชุมชน การจราจรหรือส่วนอื่นๆ ในพื้นที่บริเวณก่อสร้าง กรมทางหลวงจึงจัดประชุมประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างทางลอดในวันนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และประชาชน มีส่วนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตลอดทั้งรูปแบบการก่อสร้าง ขั้นตอนการก่อสร้าง และระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง เพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อมูลต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการก่อสร้างทางลอด
อย่างไรก็ตาม “ทางลอดแยกประโดก” ได้นำสถาปัตยกรรมสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา คือปราสาทหินพิมาย เป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบ โดยนำลวดลายซุ้มประตูทางเข้าปราสาทหินพิมายมาปรับใช้เป็นซุ้มประตูอุโมงค์ และนำเอกลักษณ์ส่วนต่างๆ ของปราสาทมาปรับใช้ให้เกิดความรู้สึกเสมือนได้ลอดปราสาทหินพิมาย อาทิ วัสดุสีและพื้นผิวผนังปราสาทมาปรับใช้กับผนังอุโมงค์ เพื่อให้เกิดความกลมกลืนและคล้ายคลึง นำหินทราย วัสดุในท้องถิ่นและเป็นงานฝีมือที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครราชสีมาแกะสลักเป็นรูปป้ายโครงการและป้ายกรมทางหลวง พร้อมจัดภูมิทัศน์บนหลังคาทางลอดและบริเวณรอบๆ ให้สอดคล้องกับรูปแบบซุ้มทางเข้าทางลอดทั้งสองฝั่ง

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความเห็นและเป็นห่วงในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดผลกระทบในระยะยาวด้วย นอกจากนี้ นายศรรบ หล่อธราประเสริฐ ในฐานะผู้บริหารสถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมา แห่งที่ ๒ (บขส.ใหม่) ซึ่งเป็นสถานีฯ เอกชน กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการจราจร เนื่องจากสถานีขนส่งฯ เป็นจุดรับ-ส่งผู้โดยสาร ซึ่งมีรถเข้า-ออกวันละ ๑,๕๐๐ เที่ยว โดยเฉพาะระหว่าง ๕ ทุ่มถึงตี ๒ จะมีคนใช้บริการหนาแน่นมาก จึงเห็นว่าควรมีการพูดคุยถึงการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้าง รายละเอียดขั้นตอนการก่อสร้างอีกครั้ง รวมทั้งผลกระทบในเชิงพาณิชย์ของประชาชนและผู้ประกอบการตามแนวการก่อสร้างของทั้ง ๒ ทางลอด หากมีการจัดการที่ดีก็จะสามารถช่วยบรรเทาการประกอบอาชีพได้ จุดก่อสร้างมี ๒ ตลาดใหญ่คือ ตลาดย่าโม และตลาดสุรนคร รวมถึงในประโดกก็มีตลาดที่แยกออกมา คิดว่าผลกระทบเหล่านี้เป็นเรื่องต้องมีการพูดคุยกันและจัดการอย่างเป็นระบบ ให้เกิดความเดือดร้อนน้อยที่สุด

ต่อมาเวลา ๑๔.๐๐ น. วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๖ ที่ห้องประชุมชั้น ๓ ที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมา นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานจัดประชุมการกำหนดแนวทางลดผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันในระหว่างก่อสร้างโครงการทางลอดแยกนครราชสีมา และทางแยกประโดก โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ซึ่งมีนายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ ๓ (ปทุมธานี) ในฐานะผู้จัดการโครงการก่อสร้างทางลอดแยกนครราชสีมา นายทวีศักดิ์ ศักดิ์ศินานนท์ นายช่างโครงการฯ นายชิตพล เหล่าอัน แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ ชี้แจงให้ความรู้และทำความเข้าใจขั้นตอนการดำเนินโครงการรวมทั้งเปิดโอกาสให้เสนอแนวทางลดผลกระทบระหว่างก่อสร้าง

นายพรชัย ศิลารมย์ เปิดเผยว่า สภาพการจราจรคับคั่งบนถนนมิตรภาพ ช่วงผ่านตัวเมืองโคราช บริเวณทางแยกนครราชสีมาและทางแยกประโดก มีปริมาณรถต่อวันประมาณ ๑ แสนคัน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพทั้งการเดินทางไม่สะดวกและมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง กว่า ๑๐ ปี กรมทางหลวงได้นำเสนอโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด แต่มีเสียงคัดค้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนหนึ่งทำให้ต้องชะลอโครงการ ที่ผ่านมาได้จัดการจราจรด้วยไฟสัญญาณจราจร รวมทั้งเพิ่มช่องทางจราจรแต่ไม่สามารถรองรับปริมาณรถได้เพียงพอรวมทั้งปัญหาหลากหลาย โดยนำผลการศึกษามาทบทวน ปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน เพื่อเสนอโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทางแยกนครราชสีมา รูปแบบ ๒ ช่องจราจร รองรับการจราจรบน ถ.มิตรภาพ จาก จ.ขอนแก่น เลี้ยวขวาไป จ.สระบุรี รวมระยะทาง ๑,๑๘๑ เมตร ระยะเวลา ๙๖๐ วัน บริษัท รัชตินทร์ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง งบ ๔๘๐ ล้านบาท

ส่วนโครงการแยกประโดก รูปแบบทางลอด ๖ ช่องจราจร รองรับการจราจรบน ถ.มิตรภาพ ทั้งขาเข้าและขาออก กว้าง ๒๕.๕๐ เมตร ยาว ๑,๐๗๕ เมตร ความกว้างผิวจราจรช่องละ ๓.๕๐ เมตร พร้อมระบบระบายน้ำ งานป้องกันอัคคีภัยและอื่นๆ เริ่มที่หลักกิโลเมตร ๑๔๙+๔๕๐.๐๐๐ จุดสิ้นสุดกม.๑๕๑+๒๐๐.๐๐๐ รวมระยะทาง ๑,๗๕๐ กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง ๑,๐๘๐ วัน บริษัท อึ้งทงกี่ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง งบก่อสร้าง ๘๕๐ ล้านบาท ซึ่งผ่านกระบวนการเห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างลงนามสัญญาจ้าง

นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รอง ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า เส้นทางดังกล่าวเป็นประตูสู่ ๒๐ จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นที่ตั้งสถานศึกษา โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ตลาดสด สถานีขนส่งผู้โดยสาร โรงแรม และสถานประกอบการขนาดใหญ่ จึงต้องระดมสมอง แนวคิดที่หลากหลายมิติ เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกขณะก่อสร้างพร้อมกันทั้ง ๒ โครงการ กำหนดเริ่มดำเนินการช่วงปลายปี ๒๕๖๖ เป็นเวลาประมาณ ๓ ปี ผู้รับจ้างต้องปิดเส้นทางจราจรบริเวณพื้นที่โครงการบางส่วน ทำให้การสัญจรไม่สะดวกคล่องตัวและใช้เส้นทางอ้อมส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเด็นสำคัญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะมีแนวทางมาตรการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน การจราจร สิ่งแวดล้อม ฝุ่น เสียง รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เห็นชอบการบริหารจัดการจราจรโดยเปิดทางเข้าสถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมา แห่งที่ ๒ ด้านทางหลวงชนบท นม. ๑๑๒๐ หรือถนนสุระ ๒ และทุบเกาะกั้นระหว่างทางคู่ขนานกับทางหลักบริเวณเยื้องทางเข้าตลาดสุรนารี (ตลาดสุรนครเดิม) ช่วงขาเข้าเมืองนครราชสีมา เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัว ตำรวจจราจร สภ.เมืองนครราชสีมาบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ส่วนในกรณีไหล่ทางไม่สามารถจอดรถได้ ขอให้ภาคเอกชนช่วยแบ่งปันพื้นที่จอดรถ ในขณะที่การปรับเวลารอไฟสัญญาณจราจรให้เป็นไปตามสถานการณ์ รวมทั้งข้อเสนอให้ผู้รับเหมาเพิ่มเวลาทำงานเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งเพิ่มระบบไฟฟ้าส่องสว่างพื้นที่โครงการ และประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจผู้ใช้รถใช้ถนน เป็นต้น


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๕๔ วันที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน - วันที่ ๑๔ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

 


96 1,981