21stDecember

21stDecember

21stDecember

 

June 30,2023

แฉ‘อดีต ๓ ผู้ว่าฯ โคราช’? เอื้อตั้งรง.รุกที่สาธารณะ ‘สยาม’ตั้งกก.ตรวจสอบ

 

กรณีชาวนากลางพร้อมทนายความบุกร้องกองปราบปราม ให้เอาผิดอดีตผู้ว่าฯ โคราช ๓ คนและพวก กล่าวหาเอื้อนายทุนตั้งโรงงานใหญ่รุกล้ำที่สาธารณประโยชน์  “กุดปืน” หลังร้องเรียนมาหลายหน่วยงาน แต่ไม่คืบ ล่าสุด “ผู้ว่าฯ สยาม” สั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง


จากกรณีที่เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๖ มีการนำเสนอข่าวในสื่อมวลชนส่วนกลางว่า เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายสมบุญ เต็งผักแว่น ตัวแทนชาวบ้าน ต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา พร้อมด้วย นายกฤษฎา อินทามระ ทนายความ เข้าพบ พ.ต.ท.จตุภูมิ รักษาภักดี รอง.ผกก.๔ บก.ปปป. เพื่อแจ้งเอาผิด อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กับพวกรวม ๔ คน ในความผิดตามมาตรา ๑๕๗ หลังเชื่อว่ามีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนยึดที่ดินและลำน้ำสาธารณะกว่า ๑๐ ไร่ ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ตำบลนากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา โดยระบุว่า กลุ่มชาวบ้านได้รับผลกระทบ หลังบริษัทเอกชนชื่อดังจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวก่อสร้างโรงงานรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ “กุดปืน” ลำน้ำสาธารณะที่ใช้อุปโภคบริโภค รวมถึงทำการเกษตร รวมไปเป็นแนวป้องกันภัยน้ำท่วมในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มชาวบ้านเคยร้องเรียนไปแล้วหลายหน่วยงาน เช่น ศูนย์ดำรงธรรมฯ นั้น

ทั้งนี้ ภายหลังจากมีการเผยแพร่ข่าวออกไปในวงกว้าง ในเวลาต่อมา มีรายงานข่าวว่า สํานักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาตรวจสอบกรณีดังกล่าวและมีการรายงานข้อมูลต่อกรมที่ดิน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

๑. บริเวณตําแหน่งที่ดินที่มีการร้องเรียนได้มีการเดินสํารวจหมายเขตที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดิน เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๑ โดยเจ้าของที่ดินได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าว ให้กับ บริษัท น. ต่อมาบริษัทฯ ได้ขอรวมโฉนดที่ดินและขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอําเภอสูงเนิน โดยแบ่งออกเป็น ๓ เฟส ดังนี้

เฟสที่ ๑ บริษัท น. ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดิน โฉนดที่ดิน เลขที่ ๓๒๓๗๒ (บางส่วน) ตําบลนากลาง อําเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ตามใบอนุญาตให้ทําการจัดสรรที่ดิน เลขที่ ๑๔/๒๕๔๘ ออกให้ ณ วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ ทําการรังวัด แบ่งแยก จํานวน ๗๔ แปลง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (ขณะนั้น) เป็นประธานกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนครราชสีมา

เฟสที่ ๒ บริษัท น. ได้ขอรวมโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๓๒, ๑๓๙๑, ๑๓๙๒, ๒๒๐๔๐, ๒๙๖๑๕, ๒๙๖๕๐ และ ๓๖๗๙๗ (บางส่วน) ตําบลนากลาง อําเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามใบอนุญาตให้ทําการจัดสรรที่ดินเลขที่ ๒๒/๒๕๕๓ ออกให้ ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ทําการรังวัดแบ่งแยกจํานวน ๒๓ แปลง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (ขณะนั้น) เป็นประธานกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนครราชสีมา

เฟส ๓ บริษัท น. ได้ขอรวมโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๖๙, ๑๓๙๘, ๒๓๒๖๙, ๒๗๗๓๐, ๓๕๒๔๒, ๔๒๔๘๔ และ ๔๒๔๙๒ (บางส่วน) ตําบลนากลาง อําเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และขออนุญาตจัดสรรที่ดิน ตามใบอนุญาตให้ทําการจัดสรรที่ดินเลขที่ ๕๒/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ทําการรังวัดแบ่งแยกจํานวน ๒๓ แปลง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (ขณะนั้น) เป็นประธานกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนครราชสีมา

ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๕๓ บริษัท น. ได้ยื่นคําขออนุญาตใช้ที่ดินของรัฐ ตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แปลงที่สาธารณประโยชน์ “กุดปืน” ซึ่งที่ดินตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตําบลนากลาง อําเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ ๖-๒-๙๗ ไร่ เพื่อนําที่ดินไปพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและส่งเสริมด้านการลงทุนต่อสํานักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสูงเนิน โดยได้ส่งเรื่องมาให้จังหวัดนครราชสีมาพิจารณาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๕๔๓ จังหวัดนครราชสีมาจึงได้มีหนังสือสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามระเบียบแล้ว โดยคณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวการขออนุญาต ตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประจําจังหวัดได้ประชุมพิจารณา ครั้งที่ ๒/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ มีมติเห็นชอบให้บริษัท น. ใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ “กุดปืน” และกรมที่ดินได้มีหนังสือ ที่ มท ๐๕๑๑.๓/๓๙๔๖ ลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๕ แจ้งว่า กรมที่ดินได้นําเรื่องเสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อนําเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาอนุมัติแล้ว กระทรวงมหาดไทยมีความเห็นว่าการให้รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐนั้น น่าจะขออนุมัติหลักการให้เข้มงวดมากขึ้น กรมที่ดินจึงได้มีหนังสือ ที่ มท ๐๕๑๓.๓/๓๐๗๑๔ ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๕ ขอให้จังหวัดนครราชสีมานําเรื่องดังกล่าวเสนอคณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวการขออนุญาตตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประจําจังหวัดนครราชสีมา เพื่อประชุมพิจารณาและให้ความเห็นอีกครั้งหนึ่ง หากบริษัทฯ มีความจําเป็นต้องใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงดังกล่าว อาจพิจารณาให้ส่วนราชการซึ่งมีสถานะเป็นทบวงการเมืองตามประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นผู้ ดําเนินการขอจัดหาผลประโยชน์โดยการถอนสภาพที่ดินบริเวณดังกล่าวตามมาตรา ๘ วรรคสอง (๑) และนําไปจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา ๑๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพ การจัดขึ้นทะเบียนและการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวการขออนุญาต ตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จังหวัดนครราชสีมาได้ประชุมพิจารณาครั้งที่ ๒/๒๕๖๒ ลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ มีมติไม่อนุญาตให้ บริษัท น. ขอใช้ที่ดินของรัฐ ตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หากบริษัทฯ มีความประสงค์จะใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงนี้ก็ให้ประสานกับท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นพิจารณาดําเนินการตามกฎหมายต่อไป ปัจจุบันยังไม่มีการยื่นเรื่องการถอนสภาพที่ดินตามมาตรา ๘ วรรคสอง (๓) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และนําไปจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา ๓๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มายังที่จังหวัดนครราชสีมาแต่อย่างใด

ในส่วนประเด็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับลํารางสาธารณประโยชน์และที่สาธารณประโยชน์กุดปืน ซึ่งนายสมบูรณ์ เต็งผักแว่น ได้ร้องเรียนต่อศูนย์ดํารงธรรมอําเภอสูงเนินว่า บริษัท ข. ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลําน้ำสาธารณะและปิดกั้นขวางทางน้ำเป็นเหตุให้ชาวบ้านตําบลนากลางได้รับความเดือดร้อน โดยศูนย์ดํารงธรรมฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับองค์การบริหารส่วนตําบลนากลาง และกํานันตําบลนากลาง ปรากฏว่า บริเวณดังกล่าว เดิมเป็นที่ทําเลกุลปืน มีเนื้อที่ดิน ๖-๒-๙๗ ไร่ ต่อมาได้มีการเลิกใช้ประโยชน์เมื่อประมาณ ๔๐ ปีที่แล้ว เป็นเหตุให้โฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวมีที่สาธารณประโยชน์ตั้งอยู่ตรงกลาง ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน และไม่มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทับที่ดินสาธารณะหรือลําน้ำสาธารณะ อีกทั้ง บริษัทฯ มิได้มีพฤติการณ์หวงห้ามการใช้ประโยชน์จากที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวแต่อย่างใด

๒. สํานักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นม ๐๐๒๓.๕/๒๒๔๑๖ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๖ แจ้งให้สํานักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสูงเนิน ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฯ และของบริษัท ค. มีที่สาธารณประโยชน์ใดอยู่ในพื้นที่บ้าง มีการบุกรุกอย่างไร และในผังการขออนุญาตจัดสรรที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมฯ มีที่สาธารณประโยชน์อยู่หรือไม่ มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทับที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ อย่างไร ในส่วนประเด็นกรณีร้องเรียนการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ “กุดปืน” และลํารางสาธารณประโยชน์ อยู่ระหว่างจังหวัดนครราชสีมา ออกคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าว ในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๐๐ น.

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมที่ดินดังกล่าวพบว่ามีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเกี่ยวข้อง ๓ คน

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ที่ว่าการอำเภอสูงเนิน นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มอบหมายให้นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น กรณีเรื่องร้องเรียนบริษัทเอกชนภายในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร อำเภอสูงเนิน รุกล้ำลำน้ำสาธารณะ โดยมีนายอนันต์ ถ้ำทอง ท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ผู้อำนวยการสำนักเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครราช สีมา นายอำเภอสูงเนิน ผู้แทนปลัดจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น

จากนั้นวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๓๐ น. นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในการประชุมฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น กรณีเรื่องร้องเรียนบริษัทเอกชนภายในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร อำเภอสูงเนิน รุกล้ำลำน้ำสาธารณะ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดฯ

ล่าสุดวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๖ “โคราชคนอีสาน” ได้สอบถามความคืบหน้าในเรื่องนี้โดยติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา แต่ได้รับแจ้งให้ติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสูงเนิน ซึ่งระบุว่า ที่สาธารณประโยชน์เป็นอำนาจดูแลของนายอำเภอและท้องถิ่น เจ้าภาพหลักในการดูแลที่สาธารณประโยชน์คือนายอำเภอกับท้องถิ่นซึ่งก็คือ อบต.นากลาง แต่ที่ดินฯ มีแค่แผนที่ให้ดูเท่านั้น ผลจากการลงพื้นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ซึ่งความชัดเจนต่างๆ ต้องมีการรังวัดอีกครั้ง แล้วจึงค่อยนำมาพิจารณา หากผิดก็จะต้องมีการดำเนินคดี ซึ่งที่สาธารณะมีอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมฯ จริง

หากมีความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๕๔ วันที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน - วันที่ ๑๔ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

 


106 3,358