September 26,2023
‘บีโอไอ’สรุปลงทุน ๖ เดือนแรก โคราช’สูงสุด ๘,๓๒๘ ล้าน บุรีรัมย์’ตามติดพิชิต ๕,๘๙๗ ล.
นายอิสระ อมรกิจบำรุง ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (นครราชสีมา) หรือบีโอไอโคราช สรุปภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนใน ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๖๖ (มกราคม-มิถุนายน) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๘ จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นอยู่ในความรับผิดชอบของบีโอไอโคราช พบว่ามีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๓๘ โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๓๖ และมีมูลค่าเงินลงทุน ๑๕,๐๖๓ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๓๗๓
นายอิสระ อมรกิจบำรุง ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (นครราชสีมา) หรือบีโอไอโคราช
โดยที่ตั้งของโครงการกระจุกตัวในจังหวัดนครราชสีมามากที่สุด ๑๖ โครงการ คิดเป็น ร้อยละ ๔๒ ของพื้นที่อีสานตอนล่าง และคิดเป็น ร้อยละ ๒๘ ของพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด โดยแบ่งเป็นกิจการต่างๆ ดังนี้ ๑. กิจการผลิตลูกสุกร และสุกรขุน ๒ โครงการ ๒. กิจการผลิตแป้งแปรรูป ๒ โครงการ และกิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ๑ โครงการ ๓. การติดตั้ง E-SAVER ทำหน้าที่ควบคุมความเร็วรอบมอเตอร์ของปั๊มน้ำในระบบทำความเย็นเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป ๑ โครงการ
๔. การติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในกิจการ ได้แก่ กิจการผลิตสารให้ความหวาน ๑ โครงการ, กิจการผลิตขนมขบเคี้ยว ๑ โครงการ และกิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ๑ โครงการ ๕. กิจการผลิตตัวเก็บประจุไฟฟ้าชั่วคราวที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ๑ โครงการ ๖. กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ๖ โครงการ
รองลงมาคือจังหวัดบุรีรัมย์มี ๑๒ โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตลูกสุกร สุกรขุน ๕ โครงการ, กิจการผลิตยางแท่งยางผสม ๓ โครงการ, กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ๒ โครงการ, กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำนมดิบ เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เป็นต้น และกิจการสถานพยาบาล กิจการละ ๑ โครงการ
ในขณะที่จังหวัดชัยภูมิมี ๕ โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ๓ โครงการ ติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ในกิจการผลิตเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประกอบการแต่งกายและเคหะสิ่งทอ ๑ โครงการ และกิจการบำบัดน้ำเสีย ๑ โครงการ ส่วนจังหวัดอุบลราชธานีมี ๓ โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ๒ โครงการ และติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในกิจการผลิตยางแท่ง ๑ โครงการ จังหวัดศรีสะเกษ ๑ โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และจังหวัดสุรินทร์ ๑ โครงการ ได้แก่ กิจการสถานพยาบาล
เมื่อมาพิจารณาที่จำนวนเงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในพื้นที่อีสานตอนล่างในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๖๖ พบว่า จังหวัดนครราชสีมามีจำนวนเงินลงทุนมากที่สุด มูลค่าเงินลงทุน ๘,๓๒๘ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๕๕ ของพื้นที่อีสานตอนล่าง และคิดเป็นร้อยละ ๔๓ ของพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด รองลงมาคือ จังหวัดบุรีรัมย์ เงินลงทุน ๕,๘๙๗ ล้านบาท จังหวัดสุรินทร์ เงินลงทุน ๖๕๐ ล้านบาท จังหวัดชัยภูมิ เงินลงทุน ๑๖๒ ล้านบาท จังหวัดอุบลราชธานี เงินลงทุน ๒๐ ล้านบาท และจังหวัดศรีสะเกษ เงินลงทุน ๖ ล้านบาท
สำหรับโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ ๘ จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง พบว่าเป็นโครงการใหม่ ๗ โครงการ อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ๔ โครงการ, จังหวัดนครราชสีมา ๒ โครงการ, จังหวัดสุรินทร์ ๑ โครงการ และเป็นโครงการขยายกิจการ ๓๑ โครงการ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ๑๓ โครงการ, จังหวัดบุรีรัมย์ ๙ โครงการ, จังหวัดชัยภูมิ ๕ โครงการ, จังหวัดอุบลราชธานี ๓ โครงการ และจังหวัดศรีสะเกษ ๑ โครงการ
ทั้งนี้ เป็นโครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น ๓๑ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๗,๙๐๗ ล้านบาท, โครงการต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้น ๓ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๕,๖๔๘ ล้านบาท และโครงการร่วมหุ้นไทยและต่างชาติ ๔ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๑,๕๐๘ ล้านบาท
สำหรับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษ แยกเป็น ๑.มาตรการส่งเสริมการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพมีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ๖ โครงการ เงินลงทุน ๒๘๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงาน ติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในกิจการ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ๔ โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตขนมขบเคี้ยว กิจการผลิตสารให้ความหวาน กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป และกิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ๑ โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตยางแท่ง อยู่ในจังหวัดชัยภูมิ ๑ โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ๒.มาตรการส่งเสริม SMEs มีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ๒ โครงการ เงินลงทุน ๑๓๑ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำนมดิบ เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เป็นต้น
ส่วนโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจำแนกตามพื้นที่เป้าหมาย ๒๐ จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำมี ๒๒ โครงการ เงินลงทุน ๖,๗๓๕ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ๑๒ โครงการ เงินลงทุน ๕,๘๙๗ ล้านบาท จังหวัดชัยภูมิ ๕ โครงการ เงินลงทุน ๑๖๒ ล้านบาท จังหวัดอุบลราชธานี ๓ โครงการ เงินลงทุน ๒๐ ล้านบาท จังหวัดสุรินทร์ ๑ โครงการ เงินลงทุน ๖๕๐ ล้านบาท และจังหวัดศรีสะเกษ ๑ โครงการ เงินลงทุน ๖ ล้านบาท
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๕๗ วันที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม - วันที่ ๑๔ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
319 1,659