26thDecember

26thDecember

26thDecember

 

December 27,2023

เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง-ปลาทั่วประเทศ ตบเท้าร้องเศรษฐา ออกประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองก่อนสิ้นปี หวั่นต้นทุนผลิตสัตว์น้ำพุ่ง เดือดร้อนหนัก แข่งขันไม่ได้

 เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง-ปลาทั่วประเทศ ตบเท้าร้องเศรษฐา ออกประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองก่อนสิ้นปี  หวั่นต้นทุนผลิตสัตว์น้ำพุ่ง เดือดร้อนหนัก แข่งขันไม่ได้  

(25  ธันวาคม 2566 - ทำเนียบรัฐบาล) นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย นำผู้เทนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ นายสมประสงค์ เนตรทิพย์ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย  นางสาวพัชรินทร์  จินดาพรรณ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี จำกัด  นายชาลี  จิตรประสงค์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งฉะเชิงเทรา  นายสมาน พิชิตบัญชรชัย นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย นายพรชัย บัวประดิษฐ์  ประธานแปลงใหญ่ปลานิล ชลบุรี และ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวนกว่า 20 คน ร่วมกันเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยมี เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือ เรื่องขอให้ออกประกาศอนุญาตนำเข้ากากถั่วเหลือง วัตถุดิบผลิตอาหารกุ้ง/สัตว์น้ำและอื่นๆ ด่วนที่สุด (ภายในวันที่ 31 ธ.ค 2566) เพื่อลดผลกระทบต้นทุนการผลิต ลดการซ้ำเติมปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง-ปลาและสัตว์น้ำต่างๆ

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย เปิดเผยว่า หลังทราบข้อมูลข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ เรื่อง วิกฤตอาหารสัตว์ รวมอาหารสัตว์น้ำ หากรัฐบาล “ต่ออายุ” ประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองปี 2564-2566  ไม่ทัน  ซึ่งกำลังจะสิ้นสุด 31 ธันวาคมนี้ แล้วตกใจมาก รู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่ง ต่อเสถียรภาพความมั่นคง ความอยู่รอดของพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยรวมของประเทศ ตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน

เพราะกากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบสำคัญจำเป็นที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์น้ำ ได้แก่ อาหารกุ้งขาวแวนนาไม อาหารกุ้งกุลาดำ อาหารกุ้งก้ามกราม อาหารปลานิล-ทับทิม-ดุก-สลิด และอื่นๆ  เพื่อป้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย นำไปใช้เลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแต่ละปี ประเทศไทยมีความต้องการใช้กากถั่วเหลืองปริมาณสูงในการผลิตอาหารสัตว์ถึง 5 ล้านตัน ในจำนวนนี้ใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์น้ำ 280,000 ตัน ขณะที่ในประเทศผลิตได้เพียง ปีละประมาณ 20,000 ตัน หากเกิดการชะงักงันในกระบวนการนำเข้า จะส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องรุนแรงต่อพี่น้องเกษตรกร โดยจะทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น  ซ้ำเติมพี่น้องเกษตรกร ที่กำลังเผชิญปัญหาการเลี้ยงอันเนื่องจากโรคระบาด เลี้ยงไม่ได้ ผลผลิตลดลง ฯลฯ ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตที่สูงอยู่แล้วสูงขึ้นอีก ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับต่างประเทศได้ และในระยะยาวต้องสูญเสียตลาดส่งออก

“วันนี้พวกผมตั้งใจเดินทางมายื่นหนังสือที่ศูนย์ร้องเรียนที่กรุงเทพฯ ขณะเดียวกันตัวแทนพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง-ปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ รวมกลุ่มกันไปยื่นหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรี ผ่านทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ เพื่อขอให้ฯพณฯ พิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศอนุญาตนำเข้ากากถั่วเหลือง วัตถุดิบผลิตอาหารกุ้ง/สัตว์น้ำและอื่นๆ ด่วนที่สุด (ภายในวันที่ 31 ธ.ค  2566) ที่สำคัญ เพื่อให้หน่วยงานรับผิดชอบสามารถออกประกาศดังกล่าวได้ทันเวลา (ก่อนที่ประกาศเดิมจะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2566) ขอให้ฯพณฯ โปรดนำเรื่อง การออกประกาศระเบียบการนำเข้ากากถั่วเหลือง ปี 2567-2569 เข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 26 ธันวาคม 2566  ด้วยครับ  ยังพอมีเวลา (แม้น้อยนิด) ที่จะป้องกันการเกิดปัญหา ที่จะส่งผลกระทบทางลบต่อเนื่องที่รุนแรง ที่จะสร้างความเดือดร้อนอย่างหนักต่อพี่น้องเกษตรกรฯและส่วนเกี่ยวข้องตลอดสายห่วงโซ่การผลิตได้ทัน ตัดไฟเสียแต่ต้นลมนะครับ เชื่อมั่นใน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีครับ ว่าท่านมีความรัก ความห่วงใย ความปรารถนาดี ให้กับพี่น้องเกษตรกร  อะไรที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรท่านจะไม่ทำแน่ และพร้อมแก้ปัญหา ลดผลกระทบต่างๆให้ทันที”  ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตวน้ำไทยกล่าว

อนึ่ง สมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และพันธมิตร ประกอบด้วย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมกุ้งตะวันออกไทย สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย สมาคมปลานิลไทย สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกระบี่ เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งฉะเชิงเทรา ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งตราดยั่งยืน ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งคุณภาพ(ซี โอ ซี) จ.ระยอง แปลงใหญ่ปลานิล ชลบุรี ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งคุณภาพชุมพร ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งอ่าวพังงา ฯลฯ

 

 


70 1,504