May 16,2024
คาหนังคาเขา รง.แปรสภาพขนไก่ปล่อยน้ำทิ้งลงลำมูล ทำปลาลอยตายเกลื่อนกว่า 3 ตัน
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายธรรมธรรศ ทองสำโรง นายอำเภอโชคชัย จ.นครราชสีมา ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา (สคพ.11 นม.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กรณีพบปลาและสิ่งมีชีวิตตายในแม่น้ำมูล ช่วงเส้นทางน้ำไหลผ่าน ต.ท่าอ่าง อ.โชคชัย
ต่อมานายบัญชา ขุนสูงเนิน ผู้อำนวยการส่วนตรวจและบังคับใช้กฎหมาย สคพ.11 นม. พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ สอจ.นม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจข้อเท็จจริง โดยมีนายซ้าย ผลกระโทก สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครราชสีมา เขต อ.โชคชัย ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอ่าง ผู้นำชุมชนและชาวบ้านได้นำชี้จุดพบซากปลาเคล้า ปลาตะเพียน ปลาขาว และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ น้ำหนักรวมประมาณ 3 ตัน ลอยตายอยู่บนผิวน้ำที่มีสีเขียวส่งกลิ่นเหม็นเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร
จากนั้นได้ตรวจกายภาพสภาพน้ำไหลเอื่อยตามธรรมชาติ ผลตรวจวัดคุณภาพน้ำภาคสนาม ค่าความเป็นกรดและด่างเท่ากับ 8.30 ค่าปริมาณสารที่ละลายได้ทั้งหมด (TDS) เท่ากับ 291 มิลลิกรัมต่อลิตรและบริเวณเหนือน้ำห่างจากจุดที่พบปลาตายประมาณ 2.5 กม. เป็นที่ตั้งของโรงงานแปรสภาพขนไก่ ซึ่งรับวัตถุดิบจากโรงงานชำแหละไก่สดขนาดใหญ่ที่สุดใน จ.นครราชสีมา มาย่อยด้วยกรดภายใต้ความดันสูง เพื่อเป็นอาหารขนไก่ป่น การตรวจบริเวณริมบ่อบำบัดน้ำเสียมีกลิ่นเหม็นฉุนคล้ายแอมโมเนียและมีน้ำเสียไหลล้นออกจากบ่อบำบัดผ่านท่อระบายน้ำไหลลงสู่แม่น้ำมูล จึงเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งบริเวณปลายท่อขณะกำลังระบายออก บริเวณบ่อตรวจริมรั้วด้านนอกโรงงานและในบ่อบำบัดน้ำเสีย รวม 3 ตัวอย่าง ผลตรวจวัดคุณภาพน้ำค่าความเป็นกรดและด่างเท่ากับ 8.09 ค่าปริมาณสารที่ละลายได้ทั้งหมดสูงถึง 4,410 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงเก็บตัวอย่างน้ำทั้งหมดส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
ทั้งนี้ ทางโรงงานได้ยอมรับเป็นต้นเหตุให้ปลาและสิ่งมีชีวิตตาย เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ได้มีคำสั่งให้รื้อถอนท่อระบายน้ำที่ระบายลงแม่น้ำมูลให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง และให้ปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้มีขนาดและประสิทธิภาพเพียงพอให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากยังระบายน้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำมูล จะพิจารณาสั่งให้หยุดประกอบกิจการบางส่วน เพื่อปรับปรุงแก้ไข ส่วน สคพ.11 นม. ได้เสนอแนะให้พิจารณาชดใช้ค่าเสียหายกรณีปลาตายและฟื้นฟูแม่น้ำมูลที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยให้สำนักงานประมงอำเภอโชคชัย ประเมินค่าเสียหาย รวมทั้งให้ชดเชยเยียวยาผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้น้ำ ซึ่งผู้บริหารโรงงานยินยอมรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด
ทั้งนี้เส้นทางน้ำดังกล่าว ถือเป็นสาขาต้นน้ำ โดยเป็นน้ำดิบที่ถูกระบายมาจากเขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี ไหลผ่าน อ.โชคชัย และบรรจบกับลำตะคอง ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ ตลอดเส้นทางกว่า 100 กม. การประปาท้องถิ่นหลาย 10 แห่ง รวมทั้งการประปาภูมิภาค ต.จอหอ ได้สูบน้ำมาผลิตเป็นน้ำประปาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มีจำนวนผู้ใช้น้ำหลายหมื่นคน
304 1,247