22ndOctober

22ndOctober

22ndOctober

 

September 09,2024

๔ พันล.‘พืชสวนโลกโคราช’ เชื่อสร้างรายได้หมื่นล้าน ยิ่งใหญ่กว่า‘เชียงใหม่’?

 

เตรียมความพร้อมเจ้าภาพ “มหกรรมพืชสวนโลกโคราช ๒๕๗๒” หลังเลือกจัดงานในพื้นที่ “อำเภอคง” รัฐจัดสรรงบประมาณ ๔,๐๐๐ ล้าน แต่คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล วางแนวทางเตรียมรับแขกบ้านแขกเมือง ‘ผู้ว่าฯ ชัยวัฒน์’ ปรึกษาเมีย มั่นใจโคราชมีแต่ได้กับได้ ประธานหอฯ พร้อมร่วมมือเต็มที่และหาสปอนเซอร์ใหญ่มาสนับสนุน สภาท่องเที่ยวตั้งเป้าอนาคต “โคราชเมืองเกษียณโลก”

เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๗ ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา มีการจัดกิจกรรม “เตรียมความพร้อม ร่วมเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมพืชสวนโลก นครราชสีมา ๒๕๗๒” โดยจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (TCEB) และหน่วยงานภาคีภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การเตรียมความพร้อมร่วมเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมพืชสวนโลก หรือ Korat Expo 2029 (โคราช เอ็กซ์โป ๒๐๒๙) แสดงศักยภาพในการเปิดบ้านต้อนรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร, นายสุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนางวัชรี ปรัชญานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา พูดคุยถึงแนวทางการการเตรียมการของภาครัฐและเอกชน บทบาทของแต่ละภาคส่วนในการดำเนินการนับจากนี้เป็นต้นไป จนถึงวันจัดงานในอีก ๕ ปีข้างหน้า ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกภาคส่วนล้วนมีแนวทางการดำเนินงานและเป้าหมายเดียวกัน คือ การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก “โคราช เอ็กซ์โป ๒๐๒๙” ให้ประสบความสำเร็จ ดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากทั่วโลกมายังจังหวัดนครราชสีมา และประเทศไทย โดยผลในระยะยาวคือการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยมี ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ

งานของทุกคน
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า งานพืชสวนโลกน่าจะเป็นงานของทุกคนไม่ใช่เฉพาะของคนโคราช แต่คนไทยทุกคนสามารถมีส่วนร่วม ปัจจุบันจังหวัดฯ ได้ชําระค่าธรรมเนียมในการใช้ที่ดินกับกระทรวง ทรัพยากรฯ เรียบร้อย เพื่อที่จะให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวพร้อมสําหรับการใช้ที่ดิน ส่วนกรมที่ดินจะออกหนังสือเพื่อให้ใช้ประโยชน์ตามมาตรา ๙ ประมวลกฎหมายที่ดิน จากนั้นในส่วนการก่อสร้างจะได้ให้หน่วยที่ได้รับงบประมาณได้ดําเนินการต่อ จากนั้นจะมีการเพิกถอนที่ดินซึ่งเดิมเป็นที่สาธารณประโยชน์แล้วส่งมอบให้ธนารักษ์เพื่อให้ส่วนราชการดําเนินการต่อ สรุปคือพื้นที่พร้อมเต็มที่ ส่วนการคมนาคมขนส่งจากทุกทิศทางที่จะมาโคราชเริ่มสะดวกสบายตั้งแต่ปีนี้แล้ว เช่น M6 จากปากช่องถึงโคราช และในปี ๖๘ รัฐมนตรีฯ พยายามผลักดันเปิดช่วงหินกองมาถึงปากช่องเพื่อให้เชื่อมกัน เรื่องถนนพร้อม รถไฟทางคู่และความเร็วสูงซึ่งได้รับการแก้ไขปัญหาตามคําแนะนําของประชาชนที่ให้ปรับแบบ กระทรวงคมนาคมรับไปปรับแล้ว ส่วนการดูแลผู้คน ทั้งเรื่องอาหาร โรงแรมที่พัก การรักษาพยาบาล เตรียมความพร้อมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลกรณีที่มีคนมาเที่ยว ไม่ได้ปรารถนาให้คนเจ็บป่วยแต่ว่าถ้าเจ็บป่วยก็ต้องให้บริการได้อย่างดี ซึ่งวิทยาลัยพยาบาลนครราชสีมาได้ออกหลักสูตรเพื่อรองรับกรณีดังกล่าวแล้ว เพื่อฝึกคนให้ต้อนรับพืชสวนโลก ส่วนในพื้นที่อําเภอคงบุคคลที่ทําหน้าที่เรื่องการศึกษาได้ปรับหลักสูตรให้ลูกหลานมีความพร้อมต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองสิ่งเหล่านี้เป็นความร่วมมือของชาวโคราช

นโยบายเรือธงของรัฐบาล
ทางด้าน นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า มหกรรมพืชสวนโลกโคราชเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ให้ความสําคัญการจัดมหกรรมพืชสวนโลกโคราชเป็นอย่างยิ่ง ดีใจที่ผู้ว่าฯ แสดงถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงความพร้อมของชาวโคราชที่จะร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนเป็นเจ้าภาพมหกรรมพืชสวนโลกโคราชให้สําเร็จและยิ่งใหญ่ ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการอํานวยการพืชสวนโลกโคราชในปี ๒๕๗๒ ซึ่งมติได้ตั้งคณะกรรมการต่างๆ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมทั้งผู้แทนจากโคราชด้วย ทั้งสภาอุตสาหกรรม หอการค้า หน่วยงานสําคัญๆ และจะเร่งตั้งคณะกรรมการตามมติ ครม.โดยเสนอนายกรัฐมนตรีให้ตั้งกรรมการชุดนี้ และนําไปสู่การจัดประชุมโดยเร็ว เพื่อเป็นกรรมการระดับนโยบาย ดังนั้นการของบกลางในปี ๖๘ เพื่อที่จะเป็นงบประมาณเตรียมการออกแบบมาสเตอร์แพลน ธีมงาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จะต้องเร่งช่วยกันพิจารณาเสนอคณะกรรมการอํานวยการชุดใหญ่ และอยากให้มีการออกแบบมาสเตอร์แพลนได้อย่างราบรื่นเรียบร้อยสมบูรณ์แบบเต็มศักยภาพ ตามความต้องการของพื้นที่ แล้วคณะกรรมการต่างๆ คงจะให้ความคิดเห็นประกอบการเป็นเจ้าภาพพืชสวนโลกที่โคราชได้อย่างสง่างาม

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

 

ตรวจพื้นที่เดือนพฤศจิกายน
“ในปี ๖๘ ที่จะต้องไปให้ความมั่นใจกับคณะกรรมการพืชสวนโลก และประเทศสมาชิก AIPH ในเดือนกันยายน ๒๕๖๗ ซึ่งจัดประชุมพืชสวนโลกที่ประเทศโปแลนด์ เชิญชวนผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้แทนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชาวโคราชที่จะเข้าไปร่วมสร้างความมั่นใจว่า เรามีความคืบหน้าและมีความพร้อมอย่างที่เรามาเตรียมหารือกันในวันนี้ นอกจากนั้นเรื่องการวางหลักประกันต่างๆ ค่าลิขสิทธิ์ ทาง สสปน.เตรียมความพร้อมค่าประกันและค่าลิขสิทธิ์การจัดงานให้สมาคมพืชสวนโลกในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๗ ซึ่งสมาคมพืชสวนโลกจะมาตรวจพื้นที่ Site Inspection ฝากผู้ว่าฯ และชาวโคราชเตรียมความพร้อมให้ดี จะได้ให้คณะกรรมการที่เป็นสมาชิกสมาคมพืชสวนโลกเห็นความพร้อม ทั้งในเรื่องศักยภาพ พื้นที่ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ คำถามต่างๆ ประกอบการให้คําแนะนําที่เป็นประโยชน์ของคณะกรรมการพืชสวนโลก ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ และในฐานะสมาชิกสมาคมพืชสวนโลก มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะดําเนินกาขับเคลื่อนงานร่วมกับชาวโคราช ผู้ว่าราชการจังหวัด ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และประเทศไทย ตามมติคณะมนตรีที่ได้รับความเห็นชอบจะได้เป็นเจ้าภาพอย่างสมบูรณ์แบบร่วมกัน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

หอการค้าร่วมเต็มที่
นายสุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า หอการค้าให้ความสําคัญกับงานนี้มาก มองเห็นบทบาทหลากหลายด้าน เป็นจุดเชื่อมภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจะสามารถวางแผนและทํางานร่วมกันได้ แม้งานพืชสวนโลกครั้งนี้เป็น G2G แต่ไม่ใช่หน้าที่ภาครัฐเพียงอย่างเดียว ภาคเอกชนมีส่วนที่จะช่วยดูแลแขกบ้านแขกเมือง และกิจกรรมที่กําลังจะเกิดขึ้น เป็นงานระดับโลก ในฐานะคนไทย ไม่ใช่แค่คนโคราช จะต้องร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ช่วยกันดูแลแขกบ้านแขกเมืองที่กําลังจะมาถึงโคราช มีตัวเลขประเมินกันเอาไว้ในงานก็ประเมินแบบ Official จะมีคนประมาณสัก ๕-๖ ล้าน ซึ่งมีโอกาสได้นั่งคุยกับนายกสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่ (นางสาวพันชนะ) บอกว่า ต้องเป็น ๑๐ ล้านคน ในช่วง ๑๑๐ วัน เพราะฉะนั้นบทบาทหอการค้าฯ จะเป็นจุดเชื่อมต่อให้กับภาครัฐและเอกชน ให้ภาครัฐสามารถขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ง่ายผ่านภาคเอกชน นอกจากนั้นอยากเป็นหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาด้านสินค้าการบริการต่างๆ เมื่อมีแขกจากหลายสิบประเทศเข้ามา ต้องดูเรื่องภาษา จะร่วมกันพัฒนาอย่างไร สถานศึกษาจะมีส่วนร่วมอย่างไร ต้องวางแผน เวลาที่เหลือ ๕ ปี ๗ เดือนไม่นาน เพราะฉะนั้นต้องมีการวางแผนที่ดี ทางหอการค้ามีบทบาทในเรื่องของการสร้างเครือข่าย กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับงานที่กําลังจะเกิดขึ้นที่อําเภอคง

สร้างการรับรู้สู่ชุมชน
นางวัชรี ปรัชญานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เรื่องการท่องเที่ยวเป็นหัวใจหลักในการดึงลูกค้าเข้ามา สิ่งสําคัญที่สุดที่พวกเราชาวท่องเที่ยวพยายามที่จะดูเทรนด์ของโลกว่าเป็นอย่างไร แล้วอีก ๕ ปีเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นภาคการท่องเที่ยวร่วมคิดร่วมทําร่วมดําเนินการกับภาครัฐ นําเสนอภาครัฐว่าควรจะทําอะไรบ้างที่จะทําให้การท่องเที่ยวเป็นหมุดหมายดึงลูกค้า เป็นแม็กเน็ตที่จะดึงคนเข้ามาในจังหวัดให้ได้ สิ่งสําคัญคือจะต้องมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่เกิดขึ้น และเป็นเทรนด์ของโลก เช่นที่กําลังทําที่ได้รับงบประมาณเริ่มต้นขับเคลื่อนคือการให้เขาใหญ่เป็นบลูโซนแห่งที่ ๖ ของโลก จะสามารถเรียกคน นอกจากมาเที่ยวพืชสวนโลกแล้วยังไปเที่ยวเชื่อมโยงต่อในพื้นที่อื่นๆ พยายามที่จะให้นักท่องเที่ยวเพิ่มวันพัก เพิ่มค่าใช้จ่าย ไม่ใช่แค่โคราชอย่างเดียวแต่เป็นกลุ่มนครชัยบุรินทร์ ภาคอีสาน และทั่วประเทศ จะทําอย่างไรนั้นในภาคของการท่องเที่ยวที่เราจะเชื่อมโยงกันไปด้วยกันให้ได้ และที่สําคัญที่สุดวันนี้เราเริ่มต้นแล้ว โดยส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นททท.ที่นำแพลตฟอร์มต่างๆ มาใช้ มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีโอกาสทํางานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม โดยเฉพาะท้องถิ่นในอําเภอคง จะจัดโรดโชว์เพื่อสร้างการรับรู้ให้คนในพื้นที่ว่ากําลังจะมีงานอะไร บางคนยังไม่ทราบว่าคอนเซ็ปต์ของงานนี้คืออะไร จะได้เข้าใจตรงกัน และสุดท้ายเขาจะต้องรู้ว่ามีงานนี้แล้วเขาจะได้รับประโยชน์อะไร เมื่อรู้แล้วก็จะร่วมมือร่วมแรงร่วมใจตั้งแต่เริ่มคิด แล้วขับเคลื่อนไปด้วยกัน เราลงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้าในชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ เส้นทางท่องเที่ยว รูตท่องเที่ยว ทุกคนจะต้องได้รับประโยชน์ในการที่จะทําให้ฐานรากชุมชนเข้มแข็งไปด้วยกัน

ผู้ว่าฯ ชวนปลูกต้นไม้
สำหรับในประเด็นหลังจากนี้อีก ๕ ปีก่อนจะถึงวันงานมีการเตรียมการอย่างไรบ้างนั้น นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม กล่าวว่า เราต้องการให้พื้นที่สีเขียวกินได้ จะเชิญชวนประชาชนปลูกต้นไม้ตั้งเป้าไว้ว่าปีละ ๑ หนึ่งล้านต้น เมื่อนำมาคํานวณ  ว่าถ้าขายต้นไม้ในอนาคตได้ต้นละ ๑๐,๐๐๐ บาท ประชาชนก็มีเงินปีละหมื่นล้านบาทหมุนเวียนอยู่ในนี้ แต่ที่ได้มากกว่าคือพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ประชาชนชาวโคราชได้ประโยชน์ ประเทศชาติและโลกก็ได้ประโยชน์ โดยเอางานพืชสวนโลกเป็นหมุดหมายสําคัญในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทําให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

กลัดกระดุมเม็ดแรกให้ดี
ทางด้าน อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ต้องมาร่วมมือร่วมใจ สิ่งสําคัญที่สุดคือกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ดี ออกแบบมาสเตอร์แพลนให้เหมาะสมกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เหมาะสมกับโคราช เรื่องนี้เป็นสิ่งสําคัญที่คุยกันมาทั้งหมดในวันนี้มาในแนวทางเดียวกันแล้ว และมั่นใจอย่างยิ่ง ขอยืนยันอีกครั้งว่าในเรื่องความพร้อมของพื้นที่ จากที่การพวกเราได้ทํางานร่วมกัน นําเสนอร่วมกันอยากให้มีความคืบหน้า แล้วรายงานคณะกรรมการพืชสวนโลกตามลําดับ เป็นขั้นตอน ให้มีความชัดเจนเพื่อเกิดความมั่นใจ และตนเชื่อมั่นอย่างยิ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ มีความพร้อมแล้วมีนโยบายในการที่จะเห็นโคราชจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง อาจจะยิ่งใหญ่กว่าที่เชียงใหม่

เม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจโคราช
นายสุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ กล่าวว่า งานพืชสวนโลก มีงบประมาณอยู่ทั้งหมดประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าล้านบาทกําลังจะเข้ามาที่จังหวัดนครราชสีมา ไปลงที่อําเภอคง คืองบประมาณที่จ่ายเฉพาะการจัดงานอย่างเดียว หอการค้ายังเชื่อว่าจะมีงบประมาณด้านอื่นๆ อีก เช่นนักท่องเที่ยวเข้ามาที่โคราช เราก็ไม่ได้ประสงค์อยากให้ป่วย แต่ต้องมีโรงพยาบาลที่ดี มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี นอกจากเงินที่จะเข้าสู่ตัวงานแล้ว ยังมีเม็ดเงินที่จะมาเข้าสู่ตัวระบบเศรษฐกิจโคราชด้วย เพราะเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ เนื่องจากเป็นงานใหญ่จะต้องใช้เวลาในการวางแผนเยอะ ภาคเอกชนโคราชพร้อมมาก อยากทํางานร่วมกับภาครัฐ วางแผนร่วมกันว่าจะบริหารจัดการงานที่กําลังจะเกิดขึ้นอีก ๕ ปีและก็อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าได้อย่างไร ๕ ปีดูเหมือนไกล แต่ถ้าเราแบ่ง ๔๑๑๑๐ แยกออกเป็น ๔ ปีสําหรับวางแผนร่วมกัน ประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน วางแผนโดยละเอียด แบ่งหน้าที่กัน เรายังไม่มีโอกาสได้จัดงานใหญ่ระดับโลก งานนี้จะเป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้นต้องเตรียมตัวรับแขกบ้านแขกเมืองให้ดี เป็น ๔ ปีที่ต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากๆ ๔ ปีแรกเป็นการวางแผน อีก ๑ ปีต่อมาเป็นปีโหมโรง ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ สร้าง Awareness ให้เกิดขึ้นกับประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ และกับคนทั่วโลก ขอยืมคําพูดนายกสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่ที่บอกว่า เวลาเครื่องบินลงมาไม่เห็นมีบิลบอร์ดเชิญคนมาเที่ยวโคราช จะทําอย่างไรให้เกิดขึ้น จะโหมโรงกันอย่างไร เวลาเข้าไปในกูเกิลเสิร์ชทําอย่างไรให้มี Korat Expo โชว์อยู่ในหนึ่งปีล่วงหน้า ทําอย่างไรให้คนไทยตื่นตัวกับงานที่กําลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ในจังหวัดนครราชสีมา ที่อําเภอคง เพราะฉะนั้นช่วงเวลา ๑ ปีต้องโหมโรง ส่วน ๑๑๐ คือ ๑๑๐ วันเป็นการวิ่งมาราธอนกันยาวๆ ร่วมกัน ในมุมมองหอการค้าคิดว่า จะโฟกัสเรื่องการหาสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนงาน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับจังหวัดและทีเส็บอย่างมาก รวมทั้งการสนับสนุนทรัพยากร ส่งเสริมการตลาด การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ ซึ่งผลิตภัณฑ์และการบริการ เช่น ลายโคราชโมโนแกรม ชาวโคราชภูมิใจที่เราได้ใส่ลายนี้ รู้สึกมีความเป็นเจ้าของ ลายนี้ถูกพัฒนามาถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว จะต่อยอดอย่างไรให้ออกไปทั้งโลก เราภูมิใจเห็นกางเกงแมวขายอยู่ตามสีลม ทองหล่อ พัทยา นักท่องเที่ยวซื้อนําไปใช้ทั่วโลก แต่จะทําอย่างไรให้ลายโคราชโมโนแกรมนําออกไปใช้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เรายังมีผลิตภัณฑ์ที่ดีอีกหลายอย่าง ที่นํามาพัฒนาต่อยอด จะส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างไร ต้องมาช่วยกันวางแผน โอกาสระดับโลกจะมาถึงบ้านเรา เราจะขายวัฒนธรรมของเราต่อออกไปอย่างไรดี

โอกาสสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ
ทางด้านอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับทั่วโลกอยู่แล้ว ดังนั้นการที่เราจะเป็นเจ้าภาพอีกครั้งหนึ่งในการจัดมหกรรมพืชสวนโลก ระดับ A1 เป็นที่หมายปอง โดยเฉพาะประเทศสมาชิก AIPH อยากที่จะเข้ามาเห็นมหกรรมพืชสวนโลกที่เชื่อมโยงกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โอกาสที่จะสร้างซอฟต์พาวเวอร์ต่างๆ ให้คนไทย และผู้ที่เข้ามาร่วมงาน รวมถึงประเทศสมาชิกต่างๆ ทั่วโลกได้เห็นถึงความเป็นไทย มั่นใจอย่างยิ่งว่า รายได้ที่จะสะท้อนกลับเข้ามา ไม่ว่าเป็นรายได้ทางตรงจากนักท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามาหลายหมื่นล้าน หรือว่าเป็นรายได้ทางอ้อมที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความเป็นไทย สินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ประธานหอการค้าหยิบยกในเบื้องต้น โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ถนน รถไฟฟ้า รถไฟ แม้กระทั่งการเชื่อมโยงที่ทางโคราชเป็นจุดเชื่อมโยงรถไฟระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เชื่อมต่อไปยังจีน เชื่อว่าอีก ๕ ปีต่อไปการเชื่อมโยงคมนาคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และในส่วนของภาคอีสาน โคราช จะเชื่อมโยงที่มีนัยสําคัญทั้งระบบ จะมีโครงสร้างพื้นฐานแล้วเกิดความพร้อม เกิดการพัฒนาเมืองให้ใหญ่ขึ้น จากเมืองโคราช อําเภอคง หรือว่าจังหวัดใกล้เคียง สิ่งเหล่านี้สําคัญและจะได้เห็นโอกาสที่ประเทศไทยได้การรับเลือกให้เป็นประเทศจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกระดับ A1 อีกครั้งที่โคราช ขอให้พี่น้องชาวโคราช และชาวไทยใช้จังหวะและโอกาสนี้ทําให้ได้การพัฒนาหรือว่าได้การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น

“ชื่นชมการทํางานบูรณาการกันระหว่างภาคเอกชน ประชาชน รวมไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในการบูรณาการกับทุกภาคส่วน และหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ทีเส็บ และองค์กรต่างๆ ที่มีความสําคัญในการขับเคลื่อนมหกรรมพืชสวนโลก หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราจะเป็นเจ้าภาพด้วยความอบอุ่นและด้วยความสําเร็จ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

โคราชเมืองเกษียณโลก
นางวัชรี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า พร้อมที่จะโชว์เมืองแล้วนำออกไปขาย ยิ่งช้าการรับรู้ก็ยิ่งช้า ที่สําคัญทุกภาคส่วนต้องแต่งตั้งคณะกรรมการในส่วนของจังหวัดแล้วว่าใครต้องรับผิดชอบอะไร จะได้เดินไปถูกทาง ไม่เช่นนั้นจะเดินกันชนกัน ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวนั้น การสร้างการรับรู้เป็นสิ่งสําคัญมาก ให้เตรียมตัวไว้เลยว่า อีก ๔-๕ ปีต้องมางานพืชสวนโลกที่อำเภอคง มาทั้งจังหวัด มาทั้งตําบล มาทั้งหมู่บ้าน และมาทุกคน คิดดูว่าประชากรทั้งประเทศไทยถ้ามาเที่ยวที่จังหวัดนครราชสีมา จะเกิดเศรษฐกิจเท่าไหร่ เฉพาะคนไทย ๖๐ ล้านคน จะสร้างรายได้ให้กับพวกเราเท่าไหร่ และอาจจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ที่สําคัญสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีโครงการที่จะทําให้โคราชเป็น ‘เมืองเกษียณโลก’ ไม่ใช่มาดูแค่งานพืชสวนโลก แต่ต้องมาอยู่ที่นี่ มาลงทุน มาซื้อที่อยู่อาศัย มาจับจ่ายใช้สอย มีเงินเกษียณที่ต่างประเทศเท่าไหร่ก็นำมาอยู่ที่โคราช นั่นหมายถึงว่าพวกเรามีเวลาที่จะเตรียมความพร้อมให้โคราชเป็นเมืองเกษียณโลก นี่คือความฝันของสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฯ แล้วเราก็เตรียมทุกอย่างให้พร้อมสําหรับคนที่จะมาอยู่กับเรา

เงินมหาศาลไหลสู่โคราช
นายสุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบก่อนงาน ระหว่างงาน และหลังจากงาน คิดว่าเป็นบวกมากในหลายเรื่อง เช่นวันนี้หอการค้ามีโอกาสเข้าไปนําเสนอแผนการทํางานพืชสวนโลกให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่รายหนึ่ง (ซีพี) ซึ่งพร้อมที่จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์งานพืชสวนโลก โดยธุรกิจส่วนตัวตนทําธุรกิจรถยนต์หลายแบรนด์ มีโอกาสเกริ่นให้กับผู้บริหารประจําประเทศไทยในแต่ละแบรนด์ให้ทราบว่าจะมีงานนี้ในอีก ๕ ปีข้างหน้าอาจจะต้องเตรียมบัดเจ็ตไว้ ซึ่งแต่ละค่ายตอบสนองค่อนข้างดีมาก งานนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เศรษฐกิจที่เกิดจากรัฐบาลใส่เงินเข้ามา แต่ภาคเอกชนจะมีเงินไหลเข้ามาสู่โคราช นอกจากนั้นยังพูดคุยกับซีพีถึงการใช้พื้นที่หลังจากเสร็จงานแล้วว่า จะบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งตนมีโอกาสได้ปรึกษากับประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ว่าจะทําอย่างไรให้โคราชเป็นเมืองที่ดึงดูดนักลงทุน นักอุตสาหกรรม และอีกหลายอย่างเข้ามาด้วยกัน ซึ่งมองว่าการมีอีเวนต์ใหญ่ เป็นการเปิดเมืองครั้งแรก ผลที่จะได้รับนอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น เช่น ผ้าไหมโคราชสามารถนำไปต่อยอดหลายอย่าง สามารถขายสินค้าให้ชาวต่างชาติได้ แต่ขอให้มีธีมที่จะไปพร้อมๆ กัน เช่น ช่วงนี้เน้นพืชสวนโลก ก็ทำของที่ระลึกออกมาในแนวพืชสวนโลกออกมาให้หมดในช่วง ๑-๒ ปีแรกก่อนที่จะมีงาน และช่วงมีงานก็ได้ขายอีก ส่วนการดึงดูดนักท่องเที่ยวหลังจากที่เข้ามาสัมผัสงาน มีโอกาสผ่านเขาใหญ่ ผ่านตัวเมือง ไปพิมาย โคราชมีพื้นที่ท่องเที่ยวดีๆ อีกมาก เช่น ที่กำลังสนับสนุนในขณะนี้คือแหล่ง ๓ มรดกโลก ถ้าสามารถปั้นได้ทันถือว่าสุดยอด จะได้มีพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

เรียนรู้เทคโนโลยีต่างชาติ
“การส่งเสริมการลงทุนนั้น ทางซีพีมีความพร้อมเช่นกัน ซีพีมองเป็นเหมือน Retirement home ซึ่งไอเดียตรงกับทางเขาใหญ่ โคราชอาจจะกลายเป็น Destination ขึ้นมาก็ได้ รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่กล่าวถึงการท่องเที่ยวเยอะเพราะช่วยขับเคลื่อนมากสําหรับงานนี้ และจะยกระดับชีวิต พร้อมกับสิ่งที่เรากําลังจะได้มากกว่าท่องเที่ยวนั่นคือ ในวันที่เกิดงานพืชสวนโลก นานาประเทศ จะนําเทคโนโลยีที่สามารถปลูกพืชบนดินแบบอําเภอคง ที่เราจะส่งรายงานไปให้เขาดูว่าพื้นที่เราเป็นอย่างนี้ จะมาปลูกอะไร ทําอะไร จะใช้เทคโนโลยีอะไรเข้ามาทําได้บ้าง จะเป็นโชว์เคสเทคโนโลยีต่างๆ ให้เราได้เห็น แล้วด้วยศักยภาพของอําเภอคง ต้องเรียนว่าอําเภอคงจะเป็นเหมือนพื้นที่แซนด์บ็อกซ์สําหรับภาคอีสานทั้งภาค ถ้าหากพืชหลายๆ ชนิดสามารถปลูกได้ที่นี่โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย อีสานทั้งภาคก็ปลูกได้เช่นกัน แล้วจะทําให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนขึ้นอีกมาก เมื่อต่างชาตินำเทคโนโลยีเข้ามา คนไทยเก่ง ไม่จําเป็นต้องไปซื้อเทคโนโลยีแพงๆ แต่ศึกษาโดยเอาตัวไปเข้าใจในเทคโนโลยีที่มี แล้วสามารถที่จะนํามาปรับปรุงให้ได้ราคาที่ดีมากกว่าเดิม และให้เกษตรกรสามารถใช้ได้ จะทําให้ส่งเสริมเกษตรกรอย่างยั่งยืน เป็นการพัฒนาพื้นที่สีเขียว สร้างภาพลักษณ์ที่ดี ส่งเสริมความร่วมมือ อยากเน้นการส่งเสริมความร่วมมือ เนื่องจากจากนี้ไปอีกประมาณช่วงระยะเวลา ๕ ปีข้างหน้า ภาครัฐกับภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันอย่างมาก หากพืชสวนโลกสามารถทําสําเร็จ หมายความว่าภาคเอกชนภาครัฐเราจับมือกันแน่นมาก จากนี้ไปไม่ใช่แค่พืชสวนโลก เชื่อว่าอีกหลายงานระดับโลก เราสามารถนํามาจัดที่โคราชได้เพิ่มขึ้น โคราชมีศักยภาพพร้อมในหลายด้าน ภาคเอกชนจึงพร้อมมาก และตื่นเต้นมากกับงานนี้ และอยากจะให้ ๔ ปีในการแพลน เป็น ๔ ปีที่วางแผนกันอย่างละเอียดที่สุดในทุกจุด ภาคประชาชนจะช่วยขายของอย่างไร จะสร้างสินค้าแบบไหน สร้างอัตลักษณ์เมืองอย่างไรให้นักท่องเที่ยวในประเทศและทั่วโลกเข้ามาชม แล้ว ๑ ปีเราจะช่วยกันโหมโรงอย่างไรให้ทุกคนรู้สึกอยากมาเที่ยวโคราช อยากมางานพืชสวนโลก แล้ววันสําคัญมาราธอนกันยาวๆ ๑๑๐ วัน” นายสุดที่รัก กล่าว

โคราชได้ประโยชน์ทั้งจังหวัด
ท้ายสุดนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม กล่าวว่า งานพืชสวนโลกจะทําให้โคราชได้รับประโยชน์ทั้งจังหวัด ไม่ใช่แค่อำเภอคงอย่างเดียว มี ๓ ประเด็นคือ ๑.เศรษฐกิจ คนโคราชทั้งจังหวัดไม่ใช่เฉพาะ อําเภอคง จะได้ประโยชน์อย่างน้อย ๔ เรื่อง ตนนั่งคุยกับภริยาหลายเดือนแล้วว่า งานพืชสวนโลกจะได้ประโยชน์อะไร ก็ตกผลึก ภริยาบอกว่า เอาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มาจับว่าได้อะไร ภริยาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ก็สอนตนว่า ประเด็นที่หนึ่งคนโคราชจะได้ประโยชน์เพราะมีการใช้จ่ายภาครัฐ เพราะว่าภาครัฐให้เงินมาประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าล้าน ใช้จ่ายบริเวณอําเภอคง แต่คาดว่าจะได้ประโยชน์ทั้งจังหวัด ประเด็นที่สองเมื่อใช้จ่ายแล้ว และเมื่องานเสร็จหรือระหว่างงานก็จะเกิดการบริโภค นักท่องเที่ยวมาคนมาเที่ยวจะมีการจับจ่ายใช้สอย คิดเล่นๆ ว่า พี่เต้บอกมีนักท่องเที่ยวมา ๑๐ ล้าน ใช้จ่ายกันคนละเท่าไหร่คูณเข้าไป ตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขที่เพ้อฝันนึกเอาเองหรือนั่งทางใน งานที่เชียงใหม่เคยมีมาแล้วว่า เวลาเรามีงานพี่น้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ชวนชาวบ้านไปเที่ยว อบต.ละ ๑๐๐-๓๐๐ คน ทั้งหมด ๗,๕๕๐ แห่ง เอาแค่แห่งละไม่กี่ร้อย มีคนไปเที่ยวหลายคน คูณจํานวนเข้าไป การบริโภคภายใน ต่อไปคือมีการลงทุน เมื่อมีคนมามีการจับจ่ายใช้สอย นักลงทุนก็ย่อมเห็นโอกาสที่จะขยายงานขยายการลงทุน ชัดเจนว่าจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และประเด็นที่สี่ เมื่อเรามีอะไรขายได้ ก็มีการส่งออก มีการค้าขายเป็นปกติ ดังนั้นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์บอกว่าโคราชจะได้ประโยชน์แน่นอน

“๒.ผลกระทบทางสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีแหล่งท่องเที่ยว มีระบบการศึกษา มีความรู้ต่างๆ ที่ประธานหอการค้าพูดว่า ถ้าเทคโนโลยีเขาใช้ได้ดี ก็จะเกิดผลกระทบว่า เทคโนโลยีนี้เหมาะในภาคอีสานในโคราชว่า ปลูกอย่างงี้นี้แล้วจะได้ผลดี ๓.สิ่งแวดล้อม เราทําควบคู่กันไปคือ ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ปีละหนึ่งล้านต้น พอ ๓๐ ปีตัดขาย ต้นละหมื่นบาท มีเงินเกิดขึ้นปีละหมื่นล้านบาท สําหรับประชาชนทั้งจังหวัดเงินหมื่นล้านไม่ใช่เรื่องเล่นๆ พลิกชีวิตได้เลย สมมติมี ๑๐๐ ต้นก็ได้หนึ่งล้านแล้ว จะทําให้งานพืชสวนโลกไม่ใช่แค่งานพืชสวนโลก แต่เป็นงานที่ปลุกให้ชาวโคราชได้เอาพื้นที่สีเขียว ได้เอาการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นตัวตั้งในการทํางาน เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งอําเภอคง และจังหวัดนครราชสีมาในภาพรวม” นายชัยวัฒน์ กล่าว

จัดงานยั่งยืนอย่าเป็นแค่วาทกรรม
ด้านนางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร หรือพี่เต้ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ แสดงความคิดเห็นว่า Festival Economy คือสปอร์ตไลต์แรงที่สุดเร็วที่สุดยิ่งกว่า 5G 6G 7G สอดคล้องกับเป้าหมายของทีเส็บที่ไปช่วยบิดงานโคราชเอ็กซ์โป งานนี้ทีเส็บจะเป็นผู้ส่งมอบให้คนโคราช และคนไทย พร้อมๆ ไปกับ G2G หรือกระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นเจ้าภาพหลัก แต่อย่างน้อยที่สุดอยากเห็นคนตัวเล็กในสังคมโคราชมีส่วนร่วมกับงานนี้อย่างแท้จริง เพราะเชื่อว่าทุกคนเมื่อรู้ว่าเรามีข่าวดีก็กระตือรือร้นอยากเข้ามามีส่วนร่วม มาเป็นจิ๊กซอว์ตัวเล็กๆ ชอบที่ประธานหอฯ พูด ๔๑๑๑๐ ส่วนเรื่อง ๑๐ ล้าน ตัวเลขจะบอกว่าเป็นเรื่องเล็กมากที่สุด เพราะว่ายังมีช่องว่างการเติมเต็ม ถ้าทุกคนเห็นตัวเลขการท่องเที่ยวทั้ง ๕ ภาค ซึ่งภาคอีสานยังต่ำสุดในเรื่องนักท่องเที่ยวและเม็ดเงิน เพราะฉะนั้นงานนี้คือสปอร์ตไลต์และเป็นไฮสปีดเทรนที่เร่งที่สุดสําหรับการนําความคิด Festival Economy เข้ามาใช้ในประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งขอฉายภาพให้เห็นว่าเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดงานอย่างยั่งยืน ต้องไม่เป็นเพียงวาทกรรม เพราะล่าสุดมีส่วนร่วมไปจัดงานกีฬาที่ปารีส ในส่วนนิทรรศการ เห็นกลไกระดับโลก เขาจําเป็นต้อง Compile ต่อกฎเกณฑ์ของโลก อยากเห็นคนโคราชและทีเส็บทำในเรื่องนี้ เพื่อให้การทํางานก้าวเข้าสู่มาตรฐานระดับโลก แล้วสิ่งที่ประธานหอฯ พูดว่า จะมีงานในระดับโลกใหญ่ๆ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่สามารถเป็นไปได้อยู่แล้ว และอยากให้ทุกคนให้กําลังใจคนทํางาน ซึ่งจริงๆ แล้วคือเราทุกคนที่จะเป็นคนทํางาน แล้วเคลื่อนเมืองไปด้วยกัน

ทั้งนี้ “มหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๗๒” ประเภท A1 งบประมาณกว่า ๔ พันล้านบาท จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๗๒ ถึง ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๗๓ รวม ๑๑๐ วัน บนพื้นที่โคกหนองรังกา ตำบลเทพาลัย อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา จัดขึ้นตามแนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว” (Nature and Greenery: Envisioning the Green Future) สะท้อนความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพืชสวนและการเกษตรที่ยั่งยืนของประเทศไทย

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๒๗๖๘ วันที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม - วันที่ ๑๔ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๖๗


236 6,292