22ndOctober

22ndOctober

22ndOctober

 

September 28,2024

REIC สรุปภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยภาคอีสาน ครึ่งแรก ปี ๒๕๖๗ ฟื้นตัวเด่นชัดขึ้น ‘โคราช’ บ้านเดี่ยวยอดขายดีขึ้น โซนจอหอยอดฮิต

 

เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๗ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานสถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังอยู่ระหว่างขายในช่วงครึ่งแรกปี ๒๕๖๗ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๕ จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และมหาสารคาม โดย ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ แถลงผลการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๕ จังหวัด ครึ่งแรกปี ๒๕๖๗ พบว่า จำนวนอุปทานพร้อมขายจำนวนประมาณ ๑๓,๕๒๐ หน่วย มูลค่า ๕๐,๑๑๖ ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นโครงการอาคารชุด (คอนโดมิเนียม) ๒,๕๒๗ หน่วย มูลค่า ๗,๗๕๗ ล้านบาท เป็นโครงการบ้านจัดสรร ๑๐,๙๙๓ หน่วย มูลค่า ๔๒,๓๖๐ ล้านบาท

REIC พบว่า มียอดขายได้ใหม่ ๒,๒๔๒ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๘.๕ มูลค่า ๘,๒๘๔   ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐.๘ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขายได้ใหม่ที่เป็นบ้านแนวราบ ๑,๗๔๘ หน่วย มูลค่า ๖,๗๑๗ ล้านบาท และเป็นอาคารชุด ๔๙๔ หน่วย มูลค่า ๑,๕๖๖ ล้านบาท โดยจังหวัดนครราชสีมามียอดขายบ้านแนวราบสูงสุดจำนวน ๗๖๗ หน่วย มูลค่า ๒,๙๕๒ ล้านบาท และจังหวัดขอนแก่นมียอดขายอาคารชุดสูงสุดที่ ๒๓๘ หน่วย มีมูลค่าเพียง ๔๐๔ ล้านบาท แต่นครราชสีมามีมูลค่าการขายอาคารชุดขายได้ใหม่มากถึง ๑,๑๑๕ ล้านบาททั้งที่มียอดขายเพียง ๒๒๗ หน่วยเท่านั้น ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะราคาอาคารชุดในนครราชสีมามีราคาที่สูงกว่าจังหวัดอื่น โดยเฉพาะโซนเขาใหญ่ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นและราคาค่อนข้างสูง ทั้งนี้อัตราดูดซับของภาพรวมตลาดอยู่ที่ร้อยละ ๒.๘ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี ๒๕๖๖

ขณะที่หน่วยเปิดตัวใหม่ของภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ๕ จังหวัด มีจำนวนรวม ๑,๔๕๗ หน่วย ลดลงร้อยละ -๕๑.๖ มูลค่า ๕,๓๓๕ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๔๘.๒ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ที่เป็นบ้านแนวราบ ๑,๐๒๔ หน่วย มูลค่า ๔,๒๐๐ ล้านบาท และเป็นอาคารชุด ๔๓๓ หน่วย มูลค่า ๑,๑๓๕ ล้านบาท โดยจังหวัดนครราชสีมาและขอนแก่นมีการเปิดตัวใหม่ใกล้เคียงกัน บ้านแนวราบของนครราชสีมาเปิดตัวใหม่ ๓๘๐ หน่วย มูลค่า ๑,๕๕๔ ล้านบาท และอาคารชุด ๒๑๖ หน่วย มูลค่า ๘๒๐ ล้านบาท และขอนแก่นมีอาคารชุดเปิดตัวใหม่ ๒๑๗ หน่วย มูลค่า ๓๑๕ ล้าน ส่วนจังหวัดอีก ๓ จังหวัด (อุดรธานี อุบลราชธานี และมหาสารคาม) ไม่มีการเปิดตัวอาคารชุดใหม่

จากการที่ภาพรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๕ จังหวัดมียอดขายได้ใหม่มีการปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนและการที่ผู้ประกอบการค่อนข้างระมัดระวังจึงมีการเติมอุปทานใหม่เข้าไปในตลาดน้อยลง ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยเหลือขายในช่วงครึ่งแรกปี ๒๕๖๗ มีจำนวน ๑๑,๒๗๘ หน่วยลดลดลงร้อยละ -๑๒.๒ มูลค่า ๔๑,๘๓๒ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๕.๐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเหลือขายที่เป็นบ้านแนวราบ ๙,๒๔๕ หน่วย มูลค่า ๓๕,๖๔๒ ล้านบาท และเป็นอาคารชุด ๒,๐๓๓ หน่วย มูลค่า ๖,๑๙๐ ล้านบาท โดยจังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีบ้านแนวราบเหลือขายสูงสุดถึง ๔,๓๑๐ หน่วย มูลค่า ๑๖,๙๙๗ ล้านบาท รองลงมาคือขอนแก่น มีจำนวน ๒,๕๙๑ หน่วย มูลค่า ๑๐,๗๕๘ ล้านบาท ขณะที่จังหวัดขอนแก่นมีอาคารชุดเหลือขายสูงสุดจำนวนหน่วยที่ ๑,๒๐๕ หน่วย มีมูลค่าเพียง ๒,๐๖๖ ล้านบาท แต่นครราชสีมามีมูลค่าอาคารชุดเหลือขายมากถึง ๔,๐๘๙ ล้านบาททั้งที่มีจำนวนอาคารชุดเหลือขายเพียง ๘๐๖ หน่วยเท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากที่ราคาอาคารชุดในนครราชสีมามีราคาสูงกว่าจังหวัดอื่น โดยเฉพาะโซนเขาใหญ่ที่มีราคาค่อนข้างสูง

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตลาดที่อยู่อาศัยเสนอขายของ ๕ จังหวัดนี้ พบว่า จังหวัดนครราชสีมา และ ขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีขนาดตลาดเป็นลำดับ ๑ และ ๒  ดังจะเห็นได้จากจำนวนและสัดส่วนที่อยู่อาศัยทุกประเภทของจังหวัดนครราชสีมาที่มีการเสนอขายถึง ๖,๑๑๐ หน่วย (ร้อยละ ๔๕.๒) มูลค่า ๒๕,๑๕๒ ล้านบาท (ร้อยละ ๕๐.๒) และจังหวัดขอนแก่นมีการเสนอขาย ๔,๔๗๘ หน่วย (ร้อยละ ๓๓.๑) มูลค่า ๑๔,๙๓๖ ล้านบาท (ร้อยละ ๒๙.๘) ของหน่วยที่เสนอขายทั้งหมด ตามลำดับ แต่จังหวัดขอนแก่นมีการเปิดตัวโครงการใหม่มากที่สุด โดยรวมของบ้านจัดสรรและอาคารชุดรวม ๖๓๕ หน่วย (ร้อยละ ๔๓.๖) มูลค่า ๒,๒๓๓ ล้านบาท (ร้อยละ ๔๑.๙) ทั้งนี้เป็นหน่วยบ้านจัดสรร ๔๑๘ หน่วย (ร้อยละ ๔๐.๘) มูลค่า ๑,๙๑๙ ล้านบาท (ร้อยละ ๔๕.๗) และอาคารชุด ๒๑๗ หน่วย (ร้อยละ ๕๐.๑) มูลค่า ๓๑๕ ล้านบาท (ร้อยละ ๒๗.๘) โดยคิดเป็นร้อยละของจำนวนหน่วยและมูลค่าแยกตามประเภทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แต่จังหวัดนครราชสีมามีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่สูงสุด ๙๙๔ หน่วย (ร้อยละ ๔๔.๓) มูลค่า ๔,๐๖๖ ล้านบาท (ร้อยละ ๔๙.๑) โดยมีอัตราการดูดซับโดยรวมที่ร้อยละ ๒.๗ ต่อเดือน และจังหวัดขอนแก่น ๖๘๒ หน่วย (ร้อยละ ๓๐.๔) มูลค่า ๒,๑๑๒ ล้านบาท (ร้อยละ ๒๕.๕) โดยมีอัตราการดูดซับโดยรวมที่ร้อยละ ๒.๕ ต่อเดือน ทั้งนี้ จังหวัดอุดรธานีมีอัตราดูดซับบ้านจัดสรรสูงสุดร้อยละ ๓.๔ และอุบลราชธานีมีอัตราดูดซับอาคารชุดสูงสุดร้อยละ ๙.๕

REIC คาดการณ์ว่า ในปี ๒๕๖๗ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๕ จังหวัดจะมีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในตลาดจำนวน ๔,๘๕๕ หน่วย มูลค่า ๒๐,๓๘๑ ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ ๔,๙๗๖ หน่วย มูลค่า ๑๘,๑๐๐ ล้านบาท มีหน่วยเหลือขาย ๑๑,๕๓๒ หน่วย มูลค่า ๔๒,๗๕๕ ล้านบาท โดยภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่สำรวจเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัว โดยคาดการณ์หน่วยขายได้ใหม่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๑.๒ โดยมีอัตราดูดซับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะในกลุ่มโครงการอาคารชุด

โคราช : โซนจอหอขายดี
สำหรับครึ่งแรกปี ๒๕๖๗ ในพื้นที่สำรวจจังหวัดนครราชสีมา มีที่อยู่อาศัยเสนอขายรวมทั้งสิ้น ๖,๑๑๐ หน่วย มูลค่า ๒๕,๑๕๒ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๗.๑ และเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๖.๕ ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร ๕,๐๗๗ หน่วย มูลค่า ๑๙,๙๔๘ ล้านบาท โครงการอาคารชุด ๑,๐๓๓ หน่วย มูลค่า ๕,๒๐๔ ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกปี ๒๕๖๗ มีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน ๕๙๖ หน่วย ลดลงร้อยละ -๔๓.๙ มูลค่า ๒,๓๗๔ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๓๕.๔ ส่วนจำนวนหน่วยขายได้ใหม่มีจำนวน ๙๙๔ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๓.๒ มูลค่า ๔,๐๖๖ ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๖.๖ เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดตามรายพื้นที่ที่มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่สูงสุด ๕ อันดับแรกในครึ่งแรกของ ปี ๒๕๖๗ พบว่า
• อันดับ ๑ โซนจอหอ จำนวน ๒๔๔ หน่วย มูลค่า ๗๙๗ ล้านบาท
• อันดับ ๒ โซนบ้านใหม่-โคกกรวด จำนวน ๑๙๕ หน่วย มูลค่า ๖๒๖ ล้านบาท
• อันดับ ๓ โซนหัวทะเล จำนวน ๑๗๕ หน่วย มูลค่า ๕๘๙ ล้านบาท
• อันดับ ๔ โซนเขาใหญ่ จำนวน ๑๕๘ หน่วย มูลค่า ๑,๐๗๔ ล้านบาท
• อันดับ ๕ โซนในเมืองนครราชสีมา จำนวน ๑๐๓ หน่วย มูลค่า ๔๐๐ ล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่าโซนจอหอและโซนบ้านใหม่-โคกกรวดจะเป็นโซนที่มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่สูงสุดเป็นอันดับ ๑ และอันดับ ๒ และทั้งสองทำเลมีอัตราดูดซับอยู่ในระดับร้อยละ ๒.๘ ต่อเดือน

สำหรับที่อยู่อาศัยเหลือขายมีจำนวน ๕,๑๑๖ หน่วย ลดลงร้อยละ -๑๒.๓ มูลค่า ๒๑,๐๘๖ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๒ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๖ (YoY) ทั้งนี้ ทำเลที่มีที่อยู่อาศัยเหลือขายสูงสุด ๕ อันดับแรก คือ
• อันดับ ๑ โซนจอหอ จำนวน ๑,๒๒๘ หน่วย มูลค่า ๓,๘๐๘ ล้านบาท
• อันดับ ๒ โซนในเมืองนครราชสีมา จำนวน ๙๗๖ หน่วย มูลค่า ๔,๑๔๓ ล้านบาท
• อันดับ ๓ โซนบ้านใหม่-โคกกรวด จำนวน ๙๕๑ หน่วย มูลค่า ๓,๐๐๔ ล้านบาท
• อันดับ ๔ โซนหัวทะเล จำนวน ๘๐๐ หน่วย มูลค่า ๒,๗๑๑ ล้านบาท
• อันดับ ๕ โซนนิคมลำตะคอง จำนวน ๓๗๗ หน่วย มูลค่า ๑,๕๐๗ ล้านบาท
REIC คาดการณ์ ปี ๒๕๖๗ จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน ๑,๘๑๐ หน่วย มูลค่า ๑๐,๕๐๙ ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ ๑,๙๔๕ หน่วย มูลค่า ๘,๕๘๓ ล้านบาท มีหน่วยเหลือขาย ๕,๑๘๑ หน่วย มูลค่า ๒๑,๕๔๘ ล้านบาท

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

 

ขอนแก่น : โซนบ้านเป็ดยอดฮิต
สำหรับครึ่งแรกปี ๒๕๖๗ ในพื้นที่สำรวจจังหวัดขอนแก่น มีที่อยู่อาศัยเสนอขายรวมทั้งสิ้น ๔,๔๗๘ หน่วย มูลค่า ๑๔,๙๓๖ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๑๐.๒ และ ร้อยละ -๖.๙ ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร ๓,๐๓๕ หน่วย มูลค่า ๑๒,๔๖๖ ล้านบาท โครงการอาคารชุด ๑,๔๔๓ หน่วย มูลค่า ๒,๔๗๐ ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกปี ๒๕๖๗ มีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน ๖๓๕ หน่วย ลดลง ร้อยละ -๕๔.๐ มูลค่า ๒,๒๓๓ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๔๙.๓ ส่วนจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ มีจำนวน ๖๘๒ หน่วย ลดลงร้อยละ -๗.๗ มูลค่า ๒,๑๑๒ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๑๙.๘ เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดตามรายพื้นที่ที่มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่สูงสุด ๕ อันดับแรกในครึ่งแรกของ ปี ๒๕๖๗ พบว่า
• อันดับ ๑ โซน ม.ขอนแก่น จำนวน ๒๐๖ หน่วย มูลค่า ๓๖๓ ล้านบาท
• อันดับ ๒ โซนบ้านเป็ด จำนวน ๑๒๙ หน่วย มูลค่า ๖๘๕ ล้านบาท
• อันดับ ๓ โซนบึงแก่นนคร จำนวน ๙๓ หน่วย มูลค่า ๓๓๓ ล้านบาท
• อันดับ ๔ โซนเลี่ยงเมืองขอนแก่น-กาฬสินธุ์ จำนวน ๗๓ หน่วย มูลค่า ๒๕๖ ล้านบาท
• อันดับ ๕ โซนเหล่านาดี จำนวน ๗๒ หน่วย มูลค่า ๑๗๑ ล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่าโซน ม.ขอนแก่นและโซนบ้านเป็ดจะเป็นโซนที่มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่สูงสุดเป็นอันดับ ๑ และอันดับ ๒ และมีอัตรา ดูดซับอยู่ในระดับร้อยละ ๒.๗ และ ๑.๙ ต่อเดือนตามลำดับ

สำหรับจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขาย ๓,๗๙๖ หน่วยลดลงร้อยละ -๑๐.๗ มูลค่า ๑๒,๘๒๔ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๔.๓ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๖ (YoY)  ทั้งนี้ ทำเลที่มีที่อยู่อาศัยเหลือขายสูงสุด ๕ อันดับแรก คือ
• อันดับ ๑ โซน ม.ขอนแก่น จำนวน ๑,๐๔๗ หน่วย มูลค่า ๑,๙๓๘ ล้านบาท
• อันดับ ๒ โซนบ้านเป็ด จำนวน ๙๗๔ หน่วย มูลค่า ๔,๗๓๗ ล้านบาท
• อันดับ ๓ โซนบึงแก่นนคร จำนวน ๕๘๘ หน่วย มูลค่า ๒,๕๔๙ ล้านบาท
• อันดับ ๔ โซนเหล่านาดี จำนวน ๓๐๓ หน่วย มูลค่า ๖๗๓ ล้านบาท
• อันดับ ๕ โซนเลี่ยงเมืองขอนแก่น-กาฬสินธุ์ จำนวน ๒๘๓ หน่วย มูลค่า ๙๖๐ ล้านบาท

REIC คาดการณ์ ปี ๒๕๖๗ จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน ๒,๑๔๐ หน่วย มูลค่า ๖,๖๘๖ ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ ๑,๙๖๙ หน่วย มูลค่า ๕,๗๘๑ ล้านบาท มีหน่วยเหลือขาย ๓,๙๐๖ หน่วย มูลค่า ๑๒,๗๓๖ ล้านบาท

 

อุบลฯ : ยอดขายบ้านเพิ่ม
สำหรับครึ่งแรกปี ๒๕๖๗ ในพื้นที่สำรวจจังหวัดอุบลราชธานี มีที่อยู่อาศัยเสนอขายรวมทั้งสิ้น ๑,๑๕๘ หน่วย มูลค่า ๓,๕๖๗ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๑๖.๒ และ ร้อยละ -๑๗.๖ ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร ๑,๑๐๗ หน่วย มูลค่า ๓,๔๘๔ ล้านบาท โครงการอาคารชุด ๕๑ หน่วย มูลค่า ๘๓ ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกปี ๒๕๖๗ มีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน ๘๘ หน่วย ลดลงร้อยละ -๗๐.๑ มูลค่า ๒๘๙ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๖๖.๗ ส่วนจำนวนหน่วยขายได้ใหม่มีจำนวน ๒๑๗ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๓.๖ มูลค่า ๗๐๕ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๕ เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดตามรายพื้นที่ที่มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่สูงสุด ๕ อันดับแรกในครึ่งแรกของ ปี ๒๕๖๗ พบว่า
• อันดับ ๑ โซนขามใหญ่ จำนวน ๕๘ หน่วย มูลค่า ๑๗๔ ล้านบาท
• อันดับ ๒ โซนวนารมย์-โนนหงษ์ทอง จำนวน ๓๓ หน่วย มูลค่า ๑๐๓ ล้านบาท
• อันดับ ๓ โซนวารินชำราบ จำนวน ๓๒ หน่วย มูลค่า ๙๓ ล้านบาท
• อันดับ ๔ โซนห้วยวังนอง จำนวน ๒๖ หน่วย มูลค่า ๘๙ ล้านบาท
• อันดับ ๕ โซนเซ็นทรัล อุบลราชธานี จำนวน ๒๕ หน่วย มูลค่า ๑๕๕ ล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่าโซนขามใหญ่และโซนวนารมย์-โนนหงษ์ทอง จะเป็นโซนที่มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่สูงสุดเป็นอันดับ ๑ และอันดับ ๒ และมีอัตราดูดซับอยู่ในระดับร้อยละ ๒.๔ และร้อยละ ๒.๕ ต่อเดือนตามลำดับ

สำหรับจำนวนหน่วยเหลือขาย ๙๔๑ หน่วยลดลงร้อยละ -๒๑.๐ มูลค่า ๒,๘๖๑ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๒๒.๐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๖ (YoY)  ทั้งนี้ทำเลที่มีที่อยู่อาศัยเหลือขายสูงสุด ๕ อันดับแรก คือ
• อันดับ ๑ โซนขามใหญ่ จำนวน ๓๓๗ หน่วย มูลค่า ๑,๐๑๔ ล้านบาท
• อันดับ ๒ โซนวนารมย์-โนนหงษ์ทอง จำนวน ๑๙๑ หน่วย มูลค่า ๕๗๖ ล้านบาท
• อันดับ ๓ โซนวารินชำราบ จำนวน ๑๔๔ หน่วย มูลค่า ๔๐๙ ล้านบาท
• อันดับ ๔ โซนนาเมือง จำนวน ๑๔๐ หน่วย มูลค่า ๓๑๗ ล้านบาท
• อันดับ ๕ โซนห้วยวังนอง จำนวน ๗๓ หน่วย มูลค่า ๒๔๘ ล้านบาท
REIC คาดการณ์ ปี ๒๕๖๗ จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน ๔๓๗ หน่วย มูลค่า ๑,๓๖๐ ล้านบาท จำนวนหน่วยขายได้ใหม่ ๔๙๕ หน่วย มูลค่า ๑,๖๗๔ ล้านบาท จำนวนหน่วยเหลือขาย ๑,๐๔๙ หน่วย มูลค่า ๓,๒๖๖ ล้านบาท

 

อุดรธานี : โซนทางออกหนองคายขายดี
สำหรับครึ่งแรกปี ๒๕๖๗ ในพื้นที่สำรวจจังหวัดอุดรธานี มีที่อยู่อาศัยเสนอขายรวมทั้งสิ้น ๑,๑๕๙ หน่วย มูลค่า ๔,๕๖๙ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๑๑.๑ และ ลดลงร้อยละ -๑๔.๖ ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร ๑,๑๕๙ หน่วย มูลค่า ๔,๕๖๙ ล้านบาท ไม่พบโครงการอาคารชุด โดยในช่วงครึ่งแรกปี ๒๕๖๗ มีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน ๑๓๑ หน่วย ลดลงร้อยละ -๓๙.๑ มูลค่า ๔๒๒ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๖๓.๐ ส่วนจำนวนหน่วยขายได้ใหม่มีจำนวน ๒๓๓ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๙.๕ มูลค่า ๙๙๘ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๘.๐ เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดตามรายพื้นที่ที่มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่สูงสุด ๕ อันดับแรกในครึ่งแรกของ ปี ๒๕๖๗ พบว่า
• อันดับ ๑ โซนทางออกหนองคาย จำนวน ๘๙ หน่วย มูลค่า ๔๕๐ ล้านบาท
• อันดับ ๒ โซนสนามบิน-ประชาสันติ จำนวน ๗๐ หน่วย มูลค่า ๒๗๗ ล้านบาท
• อันดับ ๓ โซนหนองขาม จำนวน ๒๓ หน่วย มูลค่า ๘๑ ล้านบาท
• อันดับ ๔ โซนทางออกหนองบัวลำภู จำนวน ๒๒ หน่วย มูลค่า ๖๖ ล้านบาท
• อันดับ ๕ โซนบ้านจั่น จำนวน ๑๙ หน่วย มูลค่า ๙๗ ล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่า โซนทางออกหนองคายและโซนสนามบิน-ประชาสันติจะเป็นโซนที่มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่สูงสุดเป็นอันดับ ๑ และอันดับ ๒ และมีอัตราดูดซับอยู่ในระดับร้อยละ ๓.๒ และร้อยละ ๓.๙ ต่อเดือนตามลำดับ

สำหรับจำนวนหน่วยเหลือขาย ๙๒๖ หน่วยลดลงร้อยละ -๑๘.๖ มูลค่า ๓,๕๗๑ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๒๔.๔ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๖ (YoY) ทั้งนี้ ทำเลที่มีที่อยู่อาศัยเหลือขายสูงสุด ๕ อันดับแรก คือ
• อันดับ ๑ โซนทางออกหนองคาย จำนวน ๓๗๒ หน่วย มูลค่า ๑,๗๕๙ ล้านบาท
• อันดับ ๒ โซนสนามบิน-ประชาสันติ จำนวน ๒๒๙ หน่วย มูลค่า ๘๐๐ ล้านบาท
• อันดับ ๓ โซนทางออกหนองบัวลำภู จำนวน ๑๕๘ หน่วย มูลค่า ๔๖๑ ล้านบาท
• อันดับ ๔ โซนบ้านเลื่อม จำนวน ๗๗ หน่วย มูลค่า ๒๑๗ ล้านบาท
• อันดับ ๕ โซนหนองขาม จำนวน ๖๒ หน่วย มูลค่า ๒๒๘ ล้านบาท

REIC คาดการณ์ ปี ๒๕๖๗ จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน ๒๔๙ หน่วย มูลค่า ๑,๒๔๑ ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ ๓๗๒ หน่วย มูลค่า ๑,๔๔๘ ล้านบาท มีหน่วยเหลือขาย ๘๕๘ หน่วย มูลค่า ๓,๕๖๙ ล้านบาท

 

มหาสารคาม : ยอดขายเพิ่ม
สำหรับครึ่งแรกปี ๒๕๖๗ ในพื้นที่สำรวจจังหวัดมหาสารคาม มีที่อยู่อาศัยเสนอขายรวมทั้งสิ้น ๖๑๕ หน่วย มูลค่า ๑,๘๙๒ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๘.๔ และร้อยละ ๒๑.๒ ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร ๖๑๕ หน่วย มูลค่า ๑,๘๙๒ ล้านบาท โครงการอาคารชุด ๑๑ หน่วย มูลค่า ๙ ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกปี ๒๕๖๗ มีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน ๗ หน่วย ลดลงร้อยละ -๘๗.๙ มูลค่า ๑๖ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๙๒.๓ ส่วนจำนวนหน่วยขายได้ใหม่มีจำนวน ๑๑๖ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๓๖.๗ มูลค่า ๔๐๒ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๖๒.๒ เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดตามรายพื้นที่ที่มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่สูงสุดในครึ่งแรกของ ปี ๒๕๖๗ พบว่า
• อันดับ ๑ โซนเมืองมหาสารคาม จำนวน ๘๓ หน่วย มูลค่า ๓๒๑ ล้านบาท
• อันดับ ๒ โซนกันทรวิชัย จำนวน ๓๓ หน่วย มูลค่า ๘๑ ล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่าโซนเมืองมหาสารคามและโซนกันทรวิชัยจะเป็นโซนที่มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่สูงสุดเป็นอันดับ ๑ และอันดับ ๒ และมีอัตราดูดซับอยู่ในระดับร้อยละ ๒.๙ และ ๓.๙ ต่อเดือนตามลำดับ จำนวนหน่วยเหลือขาย ๔๙๙ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๖.๐ มูลค่า ๑,๔๙๑ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๙ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๖ (YoY)  ทั้งนี้ ทำเลที่มีที่อยู่อาศัยเหลือขายสูงสุด คือ
• อันดับ ๑ โซนเมืองมหาสารคาม จำนวน ๓๙๑ หน่วย มูลค่า ๑,๒๒๙ ล้านบาท
• อันดับ ๒ โซนกันทรวิชัย จำนวน ๑๐๘ หน่วย มูลค่า ๒๖๒ ล้านบาท

REIC คาดการณ์ ปี ๒๕๖๗ จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน ๒๑๙ หน่วย มูลค่า ๕๘๖ ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ ๑๙๕ หน่วย มูลค่า ๖๑๔ ล้านบาท มีหน่วยเหลือขาย ๕๓๘ หน่วย มูลค่า ๑,๖๓๖ ล้านบาท

 

เมืองหลักฟื้นตัวดีขึ้น
ดร.วิชัย กล่าวว่า “โดยภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียง ครึ่งแรกของปี ๒๕๖๗ อาจสรุปได้ว่าเมืองหลักมีทิศทางการฟื้นตัวของของตลาดที่อยู่อาศัยที่เด่นชัดขึ้น โดยจังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น เริ่มเห็นการฟื้นตัวในมุมที่เหมือนและแตกต่าง โดยในส่วนของจังหวัดนครราชสีมาพื้นที่ในเมือง มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะบ้านเดี่ยวมียอดขายที่ดีขึ้น และส่งผลให้อัตราดูดซับโดยภาพรวมดีขึ้น ขณะที่ในพื้นที่บริเวณเขาใหญ่-ปากช่องได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวที่ชัดเจน เริ่มทำให้เห็นทิศทางการเพิ่มขึ้นของการเปิดตัวโครงการใหม่ ส่วนในพื้นที่ขอนแก่นที่มีการพัฒนาโครงการอาคารชุดมากที่สุดในกลุ่มนี้ ภาพรวมถือว่ายังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งด้านยอดขายใหม่ และการเปิดขายโครงการใหม่ เช่นเดียวกับบ้านเดี่ยวที่มีทิศทางดีขึ้น แต่ยังคงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเติมสินค้าใหม่เข้าตลาดในกลุ่มของทาวน์เฮ้าส์ ในส่วนของจังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี และมหาสารคาม เริ่มเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวจากการทรงตัวของยอดขาย และการปรับตัวของผู้ประกอบการในการชะลอการเติมสินค้าใหม่เข้าตลาด อย่างไรก็ตามทั้ง ๓ จังหวัดยังคงต้องระมัดระวังในการเปิดขายโครงการใหม่ เพราะมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จรอการขายยังคงมีหน่วยเหลือขายอยู่ในตลาดจำนวนพอสมควร”

ดร.วิชัย แนะนำว่า “ผู้ประกอบการควรใช้โอกาสไตรมาสสุดท้ายของมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนอง จัดโปรโมชั่นกระตุ้นการขายที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน ๗ ล้านบาท ซึ่งเป็นสินค้าส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในตลาดที่อยู่อาศัยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเร่งระบายสต็อกที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเหลือขายที่ยังมีอยู่มากในปัจจุบัน”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๒๗๖๙ ประจำวันที่ ๑๕ เดือนกันยายน - ๑๔ เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๗


139 5,113