October 12,2024
‘เซ็นทรัลโคราช’ทุ่ม ๑๓.๕ ล้าน สร้างสะพานลอยคนเดินข้าม เพื่อความปลอดภัยประชาชน
ลุยสร้างสะพานลอยคนข้ามหน้าห้าง หลัง “เซ็นทรัลโคราช” ได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงแล้ว หวังเพิ่มความสะดวกเพิ่มความปลอดภัยผู้มาใช้บริการ และ ลดอุบัติเหตุ ด้วยงบ ๑๓.๕ ล้าน พร้อมเปิดใช้บริการปลายปีนี้
ตามที่มีการติดตั้งป้าย บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล โคราช พร้อมมีเครื่องจักรเข้าเคลียร์พื้นที่เพื่อดำเนินงานโครงการก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามหน้าเซ็นทรัลโคราช ความยาว ๕๘ เมตร มีบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น เป็นเจ้าของโครงการและผู้ว่าจ้างให้บริษัท จีระ คอนสตรัคชั่น ๑๖๘ จำกัดเป็นผู้รับจ้าง มีนายไพสณฑ์ ศุภมาตร เป็นผู้ควบคุมงาน เริ่มโครงการวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๗ และสิ้นสุดโครงการในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๗ รวมเวลาก่อสร้าง ๘๖ วัน งบประมาณ ๑๓.๕ ล้านบาท นั้น
“โคราชคนอีสาน” ได้รับรายละเอียดการขออนุญาตโครงการจากแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๑ พบว่า บริษัท ซีพีเอ็น โคราช จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช ได้มอบอำนาจให้นายธนารัตน์ กลิ่นฟุ้ง ยื่นหนังสือลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๖ ขออนุญาตก่อสร้างสะพานลอยคนเดิมข้าม บริเวณถนนมิตรภาพ-หนองคายด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช เพื่ออำนวยความสะดวกและก่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนผู้มาใช้บริการศูนย์การค้าฯ และเพื่อป้องกันอุบัติเหตุให้กับประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนน และสัญจรไป-มาบริเวณดังกล่าว พร้อมกันนี้ยังระบุสถิติคนข้ามถนนมิตรภาพหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช ปี ๒๕๖๔ จำนวน ๕๑,๘๗๒ คน, ปี ๒๕๖๕ จำนวน ๕๕,๐๐๐ คน และปี ๒๕๖๖ (มกราคม-มีนาคม) จำนวน ๑๑,๓๘๙ คน นอกจากนี้ยังแนบข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุชนคนข้ามถนนมิตรภาพหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราชเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๘.๕๒ น. ฝั่งศูนย์การค้าขาเข้าเมือง รถจักรยานยนต์ขับขี่มาด้วยความเร็ว ชนคนเดินข้ามถนนไม่ทันได้ระวัง ได้รับบาดเจ็บ ๑ ราย ผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บ ๑ ราย กู้ภัยมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถานนครราชสีมา ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบนำส่งโรงพยาบาลมหาราชฯ
จากในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๗ นายรุ่งโรจน์ สถิตย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๑ ได้ทำบันทึกข้อความถึงผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ ๑๐ เรื่องที่บริษัท ซีพีเอ็น โคราช จำกัด ขออนุญาตก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม ในเขตทางหลวงฯ ซึ่งมีการแจ้งให้ผู้ขออนุญาตก่อสร้างแก้ไขเพิ่มเติมตามคำแนะนำจากสำนักสำรวจและออกแบบแล้วนั้น
กระทั่งต่อมาเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๗ แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๑ จึงมีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ซีพีเอ็น โคราช จำกัด เรื่องอนุญาตให้ก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามในเขตทางหลวง โดยระบุว่า ผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินอนุญาตให้ดำเนินการได้ โดยมีเงื่อนไขตามหนังสือขออนุญาต ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๖ และเงื่อนไขในหนังสืออนุญาตที่ คค ๐๖๑๔๓/๔๕๕/๖๘๗๔ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๗ โดยผู้ได้รับอนุญาตจะต้องชำระค่าใช้เขตทางหลวงตามกฎกระทรวง กำหนดค่าใช้เขตทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท และทางหลวงสัมปทาน พ.ศ.๒๕๖๔ ตามข้อ ๔ (๑) “กรณีใช้เพื่อกิจกรรมเพื่อสาธารณะ ซึ่งเป็นการใช้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งประชาชนสามารถใช้ประโยชน์หรือใช้บริการได้โดยไม่ถูกเรียกเก็บเงินค่าใช้บริการ ให้ชำระค่าใช้เขตทางหลวงในอัตรา ๕๐๐ บาทต่อการอนุญาตแต่ละครั้ง” นอกจากนี้ แขวงฯ ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการก่อสร้างให้มีหน้าที่ตรวจสอบการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบและเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต ดังนี้ ๑. รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวง (ฝ่ายปฏิบัติการ) เป็น ประธานกรรมการ ๒. ผู้อำนวยการหมวดทางหลวงอาวุโสนครราชสีมาที่ ๑ เป็น กรรมการ ๓. นางเรไร หอมจะบก (นายช่างโยธาชำนาญงาน) เป็นกรรมการ
ทั้งนี้ หนังสืออนุญาต ที่ คค ๐๖๑๔๓/๔๕๕/ ๖๘๗๔ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๗ มีรายละเอียด ดังนี้ ตามที่ บริษัท ซีพีเอ็น โคราช จำกัด ขออนุญาตก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามในเขตทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒ ตอน นครราชสีมา-ดอนหวาย ที่ กม.๑๕๑+๕๔๒.๐๐ ฉะนั้น อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๗ วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๙ อนุญาตให้ บริษัท ซีพีเอ็น โคราช จำกัด ทำการก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามในเขตทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒ ตอน นครราชสีมา-ดอนหวาย กม.ตามข้างต้นได้ ตามเงื่อนไขหนังสือขออนุญาต ลงวันที่ ๑๗ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๖ และตามเงื่อนไขเพิ่มเติม ดังนี้
๑. ผู้ได้รับอนุญาตต้องรับผิดชอบและชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการก่อสร้าง หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวที่มีต่อทางหลวงหรือผู้ใช้ทาง ทั้งในระหว่างก่อสร้างและเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ตลอดจนต้องดูแล บำรุง รักษา ให้มีสภาพดีพร้อมใช้งานตลอดเวลา โดยผู้ได้รับอนุญาตต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น ๒. ผู้ได้รับอนุญาตต้องตรวจสอบและดำเนินการให้สิ่งก่อสร้างของผู้ได้รับอนุญาตเป็นไปตามกฎหมาย ข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนดำเนินการก่อสร้าง ๓. ก่อนดำเนินการก่อสร้าง ผู้ได้รับอนุญาตต้องเสนอแผน รายละเอียดรูปแบบการก่อสร้าง แผนการจัดการจราจรระหว่างก่อสร้างต่อแขวงทางหลวง เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบก่อนจึงจะดำเนินการได้ ๔. ก่อนดำเนินการให้ประสานแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๑
๕. ก่อนดำเนินการก่อสร้าง ผู้ได้รับอนุญาตต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของที่ดินที่สะพานลอยคนเดินข้ามก่อสร้างบริเวณหน้าที่ดินนั้นๆ ก่อน รวมทั้งการก่อสร้างจะต้องไม่เกิดความเสียหายขึ้นแก่กรมทางหลวง หรือบุคคลที่ ๓ หากเกิดความเสียหายไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ผู้ได้รับอนุญาตต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งสิ้น ๖. การก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามต้องมีระยะจากผิวจราจรถึงระดับท้องสะพานไม่น้อยกว่า ๕.๕๐ เมตร และห้ามมีการดำเนินการเชิงพาณิชย์ รวมทั้งติดตั้งป้ายโฆษณาบนสะพานลอยคนเดินข้าม
๗. ให้ติดตั้งป้ายจำกัดความสูง ๕.๕๐ เมตร บริเวณสะพานลอย ตามมาตรฐานกรมทางหลวง ๘. ข้อความที่แสดงบนสะพานลอยคนเดินข้าม ให้ผู้ได้รับอนุญาตแสดงได้เฉพาะข้อความดังนี้ “เซ็นทรัลโคราช ก่อสร้างสะพานลอยเพื่อสาธารณประโยชน์” เท่านั้น ๙. ให้ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนสะพานลอยคนเดินข้ามตามมาตรฐานกรมทางหลวง รวมทั้งต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่ากระแสไฟฟ้าเองทั้งสิ้น ๑๐. การก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม ผู้ได้รับอนุญาตไม่ต้องดำเนินการก่อสร้างในส่วนของ FACADE
๑๑. ผู้ได้รับต้องก่อสร้างไม่ให้ฐานรากและตอม่อล้ำเข้ามาในผิวจราจร รวมทั้งต้องก่อสร้าง Concrete Barrier บริเวณเสาตอม่อของสะพานลอย โดยรูปแบบและตำแหน่งให้ก่อสร้างตามมาตรฐานกรมทางหลวง ๑๒. ผู้ได้รับอนุญาตต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแล บำรุงรักษาสะพานลอยคนเดินข้ามให้มีสภาพดีพร้อมใช้งานอยู่เสมอ หากเกิดความไม่ปลอดภัยต้องเร่งดำเนินการแก้ไขตามความเห็นของแขวงทางหลวง โดยต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น ๑๓. ระหว่างการก่อสร้าง ผู้ได้รับอนุญาตต้องบริหารจัดการให้น้ำในเขตทางสามารถไหลได้อย่างสะดวก โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังบนทางหลวงหรือพื้นที่ข้างเคียง หากเกิดปัญหาผู้ได้รับอนุญาตต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน และต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น
๑๔. ผู้ได้รับอนุญาตต้องป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์สาธารณูปโภคหรือทรัพย์สินส่วนบุคคลที่อยู่ใกล้บริเวณก่อสร้าง กรณีเกิดความเสียหายผู้ได้รับอนุญาตต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียว ๑๕. ระหว่างการก่อสร้าง ผู้ได้รับอนุญาตต้องบริหารจัดการให้มีช่องทางเดินนทางเท้าให้ผู้สัญจรบนทางเท้าสามารถใช้งานได้ตามปกติและปลอดภัย โดยต้องจัดหาวัสดุอุปกรณ์เตือนบริเวณพื้นที่ที่ก่อสร้างให้ผู้ใช้ทางเท้าทราบอย่างชัดเจน ๑๖. ในอนาคตหากกรมทางหลวงมีการขยายหรือปรับปรุงทางหลวง แล้วติดขัดสิ่งก่อสร้างของผู้ได้รับอนุญาต ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขตามความเห็นของแขวงทางหลวง โดยต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น และไม่มีสิทธิ์เรียกร้องใดๆ จากกรมทางหลวง
๑๗. ระหว่างการก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันวัสดุตกหล่นบนทางหลวง หากเกิดปัญหาต้องดำเนินการแก้ไขโดยด่วนตามความเห็นของแขวงทางหลวง และต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น ๑๘. กรณีผู้ได้รับอนุญาตก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่แขวงทางหลวงกำหนด ให้ผู้ได้รับอนุญาตเสนอแขวงทางหลวงเป็นผู้พิจารณาอนุญาตการต่อขยายระยะเวลาตามความเหมาะสม ๑๙. ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตาม “คู่มือแนวทางการปฏิบัติด้านความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้างงานทาง งานสะพาน และงานบำรุงทางของกรมทางหลวง” โดยสามารถดาวน์โหลดได้จาก https//bit.ly/3Qvn1sK
๒๐. ระหว่างการก่อสร้างต้องไม่กองวัสดุหรือเครื่องมืออุปกรณ์ใดๆ รวมทั้งวัลดุที่ขุดออกมาบนผิวจราจรและไหล่ทาง และห้ามนำวัสดุที่ชุดออกกลับมาใช้อีก ๒๑. วัสดุและสิ่งก่อสร้างที่จำเป็นต้องขนย้ายออกไป ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการโดยความเห็นชอบจากแขวงทางหลวงที่ควบคุมทางสายนั้น ๒๒. ให้ติดตั้งป้ายในระหว่างการก่อสร้างตามคู่มือเครื่องหมายควบคุมการจราจรในงานก่อสร้าง งานบูรณะ และงานบำรุงรักษาทางหลวงแผ่นดินฉบับปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ของกรมทางหลวง
๒๓. กรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่แขวงทางหลวงกำหนด หากปล่อยทิ้งไว้จะก่อให้เกิดความเสียหายเดือดร้อนต่อประชาชนและผู้ใช้ทางหลวง แขวงทางหลวงจะเข้าดำเนินการซ่อมทันที โดยผู้ได้รับอนุญาตจะต้องเป็นผู้รับผิดขอบในค่าใช้จ่ายทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ผู้ได้รับอนุญาตต้องนำไปชำระภายใน ๓ เดือน หลังจากที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากแขวงทางหลวง ๒๔. เมื่อผู้ได้รับอนุญาตได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากกรมทางหลวง ให้รื้อย้ายอุปกรณ์ต่างๆ ออกไปให้พ้นเขตการก่อสร้างทางหลวงภายในเวลาที่กำหนด ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องทำการรื้อย้ายทันที และให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่ได้รับแจ้ง โดยผู้ได้รับอนุญาตจะเป็นผู้จัดหาสถานที่และเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น ถ้าหากรื้อย้ายไม่ทันกำหนดและเกิดความเสียหายขึ้นแก่กรมทางหลวงหรือบุคคลที่ ๓ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ผู้ได้รับอนุญาตยินยอมชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้น
๒๕. ผู้ได้รับอนุญาตต้องชำระค่าใช้เขตทางหลวงตามกฎกระทรวง กำหนดค่าใช้เขตทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท และทางหลวงสัมปทาน พ.ศ.๒๕๖๔ ๒๖. ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตาม “เงื่อนไขประกอบหนังสืออนุญาตรวม ๗ ข้อ” ท้ายหนังสืออนุญาตฉบับนี้ และ ๒๗. กรมทางหลวงขอสงวนสิทธิ์ในการเพิกถอนการอนุญาต หากตรวจสอบพบในภายหลังว่าข้อมูลและเอกสารประกอบการพิจารณาขออนุญาต หรือการดำเนินการภายหลังจากได้รับอนุญาตไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการอนุญาต
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๒๗๖๙ ประจำวันที่ ๑๕ เดือนกันยายน - ๑๔ เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๗
155 5,736