November 20,2024
‘ฟูไนญี่ปุ่น’แจ้งล้มละลาย ต้องปิดกิจการ‘รง.ปากช่อง’ ชดเชย ๘๖๒ คน ๑๕๐ ล้าน
เมื่อบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นแจ้งล้มละลาย ส่งผลให้ “ฟูไน (ไทยแลนด์)” ที่โรงงานปากช่องต้องปิดกิจการ หลังยื้อมาระยะหนึ่ง พนักงานไทยทั้ง ๘๖๒ คนต้องถูกเลิกจ้าง คาดต้องจ่ายชดเชย ๑๕๐ ล้าน ที่ผ่านมามีระบบบริหารจัดการแรงงานที่ดี
ตามที่มีกระแสข่าวว่า บริษัท ฟูไน (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ประกาศปิดโรงงานและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด เนื่องจากบริษัทแม่หรือสำนักงานใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่นยื่นคำประกาศล้มละลายต่อศาล ทำให้การชำระค่าใช้จ่ายมายังบริษัทในประเทศไทยเกิดความล่าช้า ส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิต และต้องหยุดการดำเนินการสายการผลิตโทรทัศน์ มาเป็นระยะหนึ่งแล้วนั้น โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ประคับประคอง การดำเนินกิจการให้ยังดำเนินการอยู่อย่างสุดความสามารถนั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ บริษัท ฟูไนฯ ได้ออกประกาศ ฉบับที่ ๐๖๓/๒๕๖๗ เรื่องปิดกิจการของบริษัท ฟูไน (ไทยแลนด์) จำกัด โดยมีเนื้อหาว่า “สืบเนื่องจากสำนักงานใหญ่ (ประเทศญี่ปุ่น) มีการประกาศล้มละลายต่อศาลที่ญี่ปุ่น ทำให้การชำระค่าใช้จ่าย มายังบริษัทฟูใน (ไทยแลนค์) จำกัด เกิดความล่าช้า ส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิต และต้องหยุดการดำเนินการสายการผลิตโทรทัศน์ มาเป็นระยะหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ประคับประคอง การดำเนินกิจการให้ยังคำเนินการอยู่อย่างสุดความสามารถ แต่บัดนี้บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
“บริษัท ฟูใน (ไทยแลนด์) จำกัด ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่ามีความจำเป็นต้องปิดกิจการ ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ เป็นต้นไป ทั้งนี้ ไม่อนุญาตให้บุคคลใด เข้ามาในบริเวณบริษัทฯ โดยเด็ดขาค เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากฝ่ายบริหาร ในส่วนของค่าชดเชยจากการเลิกจ้างนั้น ทางบริษัทฯ จะจ่ายให้กับพนักงานตามกฎหมาย จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน” ลงนามโดยนายฮารุโกะ ทาคาฮาชิ กรรมการผู้จัดการ
วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ นายธวัช ไชยเดช สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า พนักงานของบริษัทฯ มีจำนวน ๘๖๒ คน ส่วนการจ่ายค่าชดเชยจะเป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง รอระยะเวลาที่จะนำเงินมาจ่าย เป็นเงินประมาณ ๑๕๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นพนักงานเป็นคนไทยทั้งหมด มีทั้งรายเดือนและรายวัน ซึ่งเมื่อบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นแจ้งล้มละลายต่อศาล ส่งผลให้บริษัทที่เมืองไทยขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต จึงจำเป็นต้องหยุดกิจการ ซึ่งช่วงแรกมีการแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว แต่น่าจะไปต่อไม่ไหว จำต้องประกาศปิดกิจการ สำหรับการจ่ายชดเชยเบื้องต้นจะมีค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และเงินอื่นๆ ตามกฎหมายที่มีต่อกัน เช่น เงินประกัน เป็นต้น
“แต่ทั้งนี้การจ่ายค่าชดเชยก็ต้องดูว่าบริษัทแม่มีเงินหรือไม่ ถ้ามีเงินก็ไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ มีการเตรียมความพร้อม หากไม่มีเงินจ่ายก็ประสานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานตามนโยบายของรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และอธิบดี สั่งให้หน่วยงานในกระทรวงเข้าไปช่วยเหลือตามบทบาทภารกิจของเรา อาจจะมีการตั้งโต๊ะเปิดรับคำร้องและให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงิน ซึ่งกรณีนี้คาดว่าจะมีปัญหาบ้างนิดหน่อย เพราะเงินจำนวน ๑๕๐ ล้านบาทก็ถือว่ามีจำนวนมาก แต่บริษัทนี้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐค่อนข้างดี มีสปิริตพอสมควร จึงขอดูทางบริษัทไปอีกสักระยะ บริษัทนี้ผลิตทีวียี่ห้อฟูไน ส่งออกต่างประเทศ แถบอเมริกา ยุโรป” สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ กล่าว
นายธวัช ไชยเดช กล่าวอีกว่า การที่บริษัทต้องปิดกิจการก็รู้สึกใจหาย เปิดมานาน และเป็นบริษัทที่ไม่มีปัญหาด้านแรงงาน มีระบบการบริหารจัดการด้านแรงงานที่ดีพอสมควร หน่วยงานในกระทรวงแรงงานทราบข่าวการปิดโรงงานมานานแล้ว และเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เข้าไปเยี่ยมที่โรงงาน และรับทราบปัญหามาโดยตลอด ซึ่งต้องหามาตรการในการช่วยเหลือคนงานอยู่แล้ว จึงต้องดูว่าบริษัทมีกำลังในการจ่ายเงินชดเชยได้แค่ไหน
ทั้งนี้ บริษัท ฟูไน (ไทยแลนด์) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน ๑,๕๖๘,๒๐๐,๐๐๐ บาท มีที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่อยู่เลขที่ ๘๓๕ หมู่ที่ ๑๘ ถนนปากช่อง-ลำสมพุง ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีกรรมการ ได้แก่ นายฮารุฮิโกะ ทาคาฮาชิ, นายพิเชษฐ เหล่าเกษม และนายทัตสึโระ อิเซกิ เป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องรับโทรทัศน์พร้อมเครื่องเล่นและบันทึก (ภาพและเสียง)
สำหรับการลงทุนบริษัท ฟูไน (ไทยแลนด์) จำกัด จำแนกตามสัญชาติ (ข้อมูลปี ๒๕๖๓-๒๕๖๗) ประกอบด้วย ญี่ปุ่น ๑ ราย จำนวน ๑๒๖,๘๑๙,๙๙๙ หุ้น มูลค่าการลงทุน ๑,๒๖๘,๑๙๙,๙๙๐ ล้านบาท ฮ่องกง ๑ ราย จำนวน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น มูลค่าการลงทุน ๓๐๐ ล้านบาท และไทย ๑ ราย จำนวน ๑ หุ้น มูลค่าการลงทุน ๑๐ บาท รวมทุกสัญชาติ จำนวนมูลค่า ๑,๕๖๘,๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๕๐ ฉบับที่ ๒๗๗๐ ประจำวันที่ ๑๕ เดือนตุลาคม - ๑๔ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๗
18 355