October 02,2010
‘แคนนอน’ ๕,๑๐๐ ล. ปูพรมเข้า‘นวนครโคราช’
‘แคนนอน’ สนองความต้องการผู้บริโภค วางแผนรองรับตลาดเติบโต ทุ่ม ๕,๑๐๐ ล้าน ขยายฐานการผลิตจากนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค อยุธยา ปักธงสร้างโรงงานผลิตพรินเตอร์อิงค์เจ็ทแห่งใหม่ ‘นวนคร โคราช’ คาดจ้างงานกว่า ๕,๐๐๐ คน รองรับการผลิตปีละ ๕.๕ ล้านเครื่อง พร้อมแถลงข่าวถึงรายละเอียดการลงทุน ๘ ตุลาคมนี้
ตามที่บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร สาขานครราชสีมา ริมถนนมิตรภาพ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ โดยมีพื้นที่โครงการทั้งหมด ๑,๙๐๓ ไร่ พื้นที่ก่อให้เกิดรายได้ ๑,๓๖๕ ไร่ แบ่งออกเป็น ๓ โครงการ ประกอบด้วย โครงการแรก จำนวน ๗๕๕ ไร่ พื้นที่เกิดรายได้ ๕๓๕ ไร่, โครงการสอง จำนวน ๖๔๑ ไร่ พื้นที่เกิดรายได้ ๔๕๔ ไร่ และโครงการสาม จำนวน ๕๐๖ ไร่ พื้นที่เกิดรายได้ ๓๗๕ ไร่ ซึ่งในส่วนโครงการแรก ขายพื้นที่ให้กับนักลงทุนไปแล้ว ๑๓๙ ไร่ รวม ๔ โรงงานอุตสาหกรรม คือ ๑. บริษัท เอ็มเอ็มไอ พรีซิชั่น แอสเซมบลิ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บนพื้นที่ ๕๐ ไร่ ๒. บริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บนพื้นที่ ๖๓ ไร่ ๓. บริษัท สยามฟูโกกุ จำกัด ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ บนพื้นที่ ๑๘ ไร่ และ ๔. บริษัท เวอร์เท็กซ์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตแม่พิมพ์ บนพื้นที่ ๘ ไร่
ล่าสุด “โคราชรายวัน คนอีสาน” ได้รับราย งานว่า บริษัท แคนนอน ไฮ-เทค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องพิมพ์ (Printer) ขยายการลงทุนเพิ่มเติม จากฐานการผลิตตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ริมถนนสายเอเซีย–นครสวรรค์ กม.ที่ ๕๙ โดยเลือกตั้งฐานการผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องพิมพ์สำหรับคอมพิวเตอร์ ภายใต้แบรนด์ CANON (แคนนอน) ที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร สาขานครราชสีมา และจะมีการแถลงข่าวของผู้บริหาร ในวันที่ ๘ ตุลาคมที่จะถึงนี้ เกี่ยวกับแผนการขยายการลงทุนดังกล่าว ที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร สาขานครราชสีมา
สำหรับรายละเอียดถึงการขยายการลงทุน จากการแถลงข่าวโดยผู้บริหารระดับสูงจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายนที่ผ่านมา ระบุว่า บริษัท แคนนอน ไฮ-เทค (ประเทศไทย) จำกัด มีแผนขยายการลงทุนประมาณ ๕,๑๐๐ ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตพรินเตอร์อิงค์เจ็ทแห่งใหม่ในประเทศไทย โดยจะมารองรับความต้องการพรินเตอร์ที่พุ่งขึ้นในประเทศจีน และประเทศอื่นในทวีปเอเชีย โดยโรงงานผลิตพรินเตอร์อิงค์เจ็ทแห่งที่ ๒ ของแคนนอนในประเทศไทย จะอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา และคาดว่าจะจ้างพนักงานประมาณ ๕,๐๐๐ คน โดยจะเริ่มดำเนินงานที่โรงงานแห่งใหม่ในเดือนตุลาคม ปี ๒๕๕๔ ด้วยศักยภาพการผลิตปีละ ๕.๕ ล้านเครื่อง ซึ่งจะทำให้ยอดผลิตพรินเตอร์อิงค์เจ็ท โดยรวมของแคนนอนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๐ ต่อปี
รายงานข่าวระบุด้วยว่า โรงงานแห่งใหม่ในประเทศไทย ยังมีพื้นที่เหลือสำหรับสร้างอาคารอีกหลังหนึ่ง และสายการผลิตอีกสายหนึ่ง ซึ่งหากความต้องการพรินเตอร์อิงค์เจ็ทยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็อาจเพิ่มสายการผลิตสายที่ ๒ ได้ประมาณปี ๒๕๕๙ โดยคาดว่าความต้องการพรินเตอร์ในโลกจะมีจำนวนเกือบ ๙๑ ล้านเครื่อง ในปี ๒๕๕๖ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๘ จากปี ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศจีน และเอเชียอาคเนย์
อย่างไรก็ตาม แคนนอน ซึ่งปัจจุบันมีฐานการผลิตพรินเตอร์อิงค์เจ็ทในประเทศไทย และประเทศเวียดนาม เลือกขยายฐานการผลิตแห่งใหม่ภายในเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร สาขานครราชสีมา เพราะมีแรงงานจำนวนมาก และด้วยระยะทางของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งห่างจากฐานการผลิตที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพียงประมาณ ๑๗๐ กิโล เมตร ยังจะช่วยให้แคนนอนสามารถใช้ชิ้นส่วนจากโรงงานของแคนนอนที่จังหวัดพระ นครศรีอยุธยาได้ นอกจากนี้ เขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร สาขานครราชสีมา ยังมีศักยภาพและความพร้อมรองรับกลุ่มนักธุรกิจและผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมในทุกด้าน ทั้งปริมาณพื้นที่ และทำเลที่ตั้ง ซึ่งสามารถเชื่อมสู่อีสเทิร์นซีบอร์ด และอินโดจีน โดยได้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอ เขต ๓ ระบบสาธารณูปโภคครบครัน แหล่งน้ำขนาดใหญ่ กฟภ.ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยขนาด ๒x๕๐ เมกะวัตต์ ภายในโครงการ และให้ความสำคัญในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม
อนึ่ง แคนนอน ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น ที่ชำนาญด้านผลิตภัณฑ์ภาพทัศน์ เช่น กล้องถ่ายภาพ, เครื่องถ่ายเอกสาร, เครื่องพิมพ์สำหรับคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในส่วนของบริษัท แคนนอน ไฮ-เทค (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ ๘๙ หมู่ ๑ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค โดยบริษัทแห่งนี้จดทะเบียนการค้า เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๓๓ ด้วยทุน ๑,๘๐๐๐ ล้านบาท เพื่อผลิตและส่งออก เครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องพิมพ์สำหรับคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันมีกรรมการบริษัท ๕ คน คือ ๑. นายคาซูฮิโระ คิตามูระ ๒. นายมาซาฮิโระ ฮะกะ ๓. นายฮิโรมิ คนโด ๔. นาย คัทซึอิจิ ชิมิซึ และ ๕. นายริคิยะ ชิบางาคิ
ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๑๙๖๕ วันที่ ๑ - ๔ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓
736 1,492