July 16,2015
‘มอเตอร์เวย์’เดินหน้า ปากช่องให้ลอยฟ้า ยืนยันคัดค้านเต็มที่
ครม.สั่งเดินหน้าสร้างมอเตอร์เวย์ ‘สายบางปะอิน-โคราช’ ๘๔,๖๐๐ ล้านบาท ล่าสุดกรมทางหลวงเร่งประเมินที่ดินส่วนที่เหลือประมาณ ๕๔.๗๔ กม. ช่วงจากอำเภอสีคิ้ว-ทางเลี่ยงเมืองมุ่งสู่ภาคอีสาน คาดแล้วเสร็จกันยายนปีนี้ ‘วิชชุ’ ปธ.กลุ่มรักษ์ลำตะคอง ยืนกรานคัดค้านถึงวินาทีสุดท้าย เพราะ ๕ ตำบลของอำเภอปากช่องต้องถูกเวนคืนนับพันไร่ ภาคประชาชนจ่อฟ้องศาลปกครองอีกครั้ง หลังยื่นหนังสือวิงวอน ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ให้หลีกเลี่ยงผลกระทบราษฎร และสิ่งแวดล้อม แต่ไม่คืบหน้า
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ‘ประยุทธ์’ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ ของกรมทางหลวง ๓ เส้นทาง ได้แก่ ๑. สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง ๑๙๖ กิโลเมตร วงเงิน ๘๔,๖๐๐ ล้านบาท ๒. สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง ๙๖ กิโลเมตร วงเงิน ๕๕,๖๒๐ ล้านบาท และ ๓. สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง ๓๒ กิโลเมตร วงเงิน ๒๐,๒๐๐ ล้านบาท โดยทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข ๖ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ขณะนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนในพื้นที่และนักลงทุนอย่างมาก สำหรับรูปแบบการดำเนินการให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่กรมทางหลวง ส่วนการก่อสร้างนั้น ครม.เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการคลังไปจัดหาเงินกู้ให้กรมทางหลวงดำเนินการ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อรัฐบาลมากเกินไป คาดว่ามอเตอร์เวย์สายนี้จะเริ่มประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างได้ในปี ๒๕๕๙ ก่อสร้างแล้วเสร็จปี ๒๕๖๒
เวนคืน‘โคราช’ราว ๑,๕๐๐ ล.
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้พิจารณาเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ โดยกรมทางหลวงดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๕๑ ต่อมาในปี ๒๕๕๖ จึงมีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน เพื่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐ ตอน ๓๗ ก เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๖ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๖ โดยกรมทางหลวงว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เทสโก้ จำกัด, บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท นูแมพ จำกัด, บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ไทยคอนซัลแตนท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท ทรานส์ เอเชีย คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อดำเนินงานสำรวจจัดกรรมสิทธิ์ระยะเวลา ๑๑ เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗
ปัจจุบันกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ส่งมอบงานการสำรวจจัดทำแผนที่แสดงรายละเอียดของอสังหาริมทรัพย์ พร้อมประมาณราคาเพื่อกำหนดเป็นค่าทดแทนการเวนคืนมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ให้สำนักจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรมทางหลวง เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามแนวเส้นทางในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา แบ่งเป็น ตอนที่ ๓ ระหว่าง กม.๘๓+๕๕๐ – กม.๙๘+๓๔๗.๓๖๐ (BK.) / กม. ๑๐๒+๐๐๐ (AH) - กม. ๑๔๒+๐๐๐ ระยะทางประมาณ ๕๔ กิโลเมตร ประกอบด้วย ตำบลพญาเย็น, กลางดง, หนองน้ำแดง, ขนงพระ และหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง, ตำบลคลองไผ่ และลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว สรุปแนวเส้นทางเวนคืนตอนที่ ๓ ในเขตอำเภอปากช่อง มีที่ดินที่ต้องถูกเวนคืนประมาณ ๕๘๖ แปลง, สิ่งปลูกสร้างประมาณ ๓๖๙ ราย และพืชผลต้นไม้ประมาณ ๔๐๗ ราย และตอนที่ ๔ ระหว่าง กม. ๑๔๒+๐๐๐ – กม. ๑๙๕+๙๔๒.๗๓๙ ระยะทางประมาณ ๕๔.๗๔ กิโลเมตร เริ่มจากตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว, อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางเลี่ยงเมือง (By Pass) สายนครราชสีมา กม.๒+๕๐๐ สามารถมุ่งหน้าไปสู่จังหวัดขอนแก่น และภาคอีสานได้นั้น สรุปมีที่ดินต้องถูกเวนคืนประมาณ ๗๓๘ แปลง, สิ่งปลูกสร้างประมาณ ๒๑๙ ราย และพืชผลต้นไม้ประมาณ ๔๒๒ ราย รวมเป็นเงินเวนคืนประมาณ ๑,๕๐๐ ล้านบาท ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
ตอนที่ ๔ ติดประเมินค่าที่ดิน
ความคืบหน้างบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ “สายบางปะอิน-นครราชสีมา” ระยะทาง ๑๙๖ กิโลเมตร ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๘ นายทนงศักดิ์ เดชพันธ์ หัวหน้าโครงการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำนักจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรมทางหลวง เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ซึ่งแบ่งการสำรวจจัดทำแผนที่แสดงรายละเอียดของอสังหาริมทรัพย์ พร้อมประมาณราคาเพื่อกำหนดเป็นค่าทดแทนการเวนคืนที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และพืชผลต้นไม้ กรมทางหลวงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ โดยตลอดระยะทาง ๑๙๖ กิโลเมตร แบ่งงานการสำรวจ ๔ ตอน สำหรับแนวเส้นทางในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตอนที่ ๓ ระหว่าง กม.๘๓+๕๕๐ – กม.๙๘+๓๔๗.๓๖๐ (BK.) / กม. ๑๐๒+๐๐๐ (AH) - กม. ๑๔๒+๐๐๐ ขณะนี้สำรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนตอนที่ ๔ ระหว่าง กม. ๑๔๒+๐๐๐ – กม. ๑๙๕+๙๔๒.๗๓๙ (ระยะทางประมาณ ๕๔.๗๔ กม.) ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางหลักการเกี่ยวกับที่ดิน เพื่อปรับปรุงรูปแบบและประเมินราคาซื้อขายที่ดินแต่ละแปลง ก่อนเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณา ทั้งยังพบการขุดดินในแนวเส้นทางที่จะเวนคืน ประมาณ ๑-๒ แปลง ขณะนี้ได้แจ้งให้เอกชนผู้ลักลอบขุดดินทราบแล้ว คาดว่าไม่เกินเดือนกันยายนนี้จะแล้วเสร็จ ซึ่งแนวเส้นทางทั้งตอนที่ ๓ และ ๔ เบื้องต้นประเมินค่าเวนคืนรวมประมาณ ๑,๕๐๐ ล้านบาท
‘ชาวปากช่อง’ค้านสุดเสียง
การดำเนินโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา มีเสียงคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาตลอดมา โดยเฉพาะชาวอำเภอปากช่องที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับรูปแบบของโครงการนี้ เนื่องจากแนวเส้นทางที่ผ่านอำเภอปากช่อง ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ขณะเดียวกันทางขึ้น-ลงบริเวณถนนธนะรัชต์ก็ใกล้ชุมชนเกินไป ทั้งยังติดแหล่งน้ำสาธารณะลำน้ำลำตะคอง และช่วงที่ผ่านกองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ก็มีข้อกฎหมายห้ามสร้างทาง ตลอดทั้งสิ่งปลูกสร้าง จึงมีข้อเรียกร้องมาตั้งแต่ต้นจากชาวอำเภอปากช่องว่า ขอให้ปรับแนวเส้นทางบนถนนมิตรภาพให้เป็น Tollway (ทางยกระดับ) ตลอดแนวเส้นทางที่ผ่านเขตอำเภอปากช่อง หรือเวนคืนที่ราชพัสดุ ๒๙,๐๐๐ กว่าไร่ บริเวณตำบลหนองสาหร่ายแทน ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการสัตว์ทหารบก แต่กรมทางหลวงยังยืนยันแนวเส้นทางเดิมที่ได้ศึกษาและออกแบบรายละเอียดไว้แล้ว ซึ่งภายหลังได้พิจารณาแก้ไขแนวเส้นทางช่วงทางแยกต่างระดับปากช่อง โดยอาจปรับเป็นทางโค้ง เพื่อลดผลกระทบจากย่านชุมชนโรงเรียนบ้านนา บริเวณตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนและร่วมกันลงลายมือชื่อขอให้กรมทางหลวงพิจารณาแก้ไขแบบ จากที่ผ่านมาปรับแบบให้พ้นจากโรงเรียนบ้านนาแล้ว
ขอ‘ประยุทธ์’เปลี่ยนเพื่อปชช.
โดยเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ ร.ต.ท.ธำรงค์ สุวรรณเจริญ ประธานภาคประชาชนอำเภอปากช่อง ได้ลงนามส่งหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อขอให้เปลี่ยนแนวถนนทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา โดยมีสาระสำคัญระบุว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาภาคประชาชน อำเภอปากช่อง ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ในการประชุมประจำเดือนเมื่อ วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ ขอให้คณะกรรมการร่วมกันพิจารณาในการเปลี่ยนแนวทางการก่อสร้างเพื่อไม่ต้องมีผลกระทบกับชาวบ้านที่เส้นทางผ่าน
คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากคำร้องเรียนของชาวบ้าน ที่เห็นว่าการก่อสร้างถนนสายนี้เป็นการเอื้อประโยชน์สำหรับนายทุนที่มาลงทุนในกิจการต่างๆ ในเขตอำเภอปากช่องเท่านั้น และตั้งแต่เริ่มทำโครงการชาวบ้านได้ทำการคัดค้านกันมาโดยตลอดเป็นเวลาช้านานแล้ว เพราะเห็นว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐมิได้เป็นไปตามแนวปฏิบัติราชการตามปกติ ดังเช่น ๑) การทำประชาคมมิได้ทำกับชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ไปทำกับกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งต้องเห็นด้วย และยังไปทำต่างพื้นที่เช่นที่จังหวัดสระบุรีและในตัวเมืองนครราชสีมา เป็นต้น ๒) การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มิได้กระทำกับผู้มีส่วนได้-เสีย และผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม กระทำโดยนักวิชาการรับจ้างจากหน่วยงาน จึงมีผลสรุปออกมาว่าเหมาะสม ๓) มีการฟ้องร้องศาลปกครอง หากรัฐเป็นฝ่ายแพ้คดีความใครจะเป็นคนรับผิดชอบ เช่น กรณีคลองด่าน เป็นต้น และ ๔) ยังไม่มีความชัดเจนถึงวิธีการลงทุนก่อสร้างในประเด็นของงบประมาณ หากรัฐดำเนินการเองหรือมีการร่วมลงทุนกับต่างชาติ การชดเชยค่าเวนคืนที่ดินต้องแตกต่างกัน หากรัฐจะจ่ายค่าเวนคืนที่ดินในราคาปกติแล้วมอบให้ต่างชาติลงทุน ย่อมเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนต่างชาติ เปรียบเสมือน ปล้นประชาชนคนยากจน ให้ผลประโยชน์แก่คนร่ำรวย
ด้วยเหตุนี้จึงขอให้ท่านพิจารณาดำเนินการดังนี้ ๑. สร้างถนนสายนี้คร่อมบนถนนมิตรภาพสายเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม ๒. ให้ท่านทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใหม่ด้วยข้อมูลเดิมของนักวิชาการรับจ้างเขียนขึ้นเอง มิได้ลงมาศึกษาในพื้นที่จริง ๓. ขอให้ท่านพิจารณาทบทวนแผนแม่บทการก่อสร้างถนนสายนี้ว่าเหมาะสมต่อการลงทุนอย่างใด หรือไม่ ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันนอกจากนั้นควรมีการศึกษาผลกระทบและความคุ้มค่าของถนนมอเตอร์เวย์ เช่นสายบางนา-ชลบุรีว่า คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ ๔. ยังมีวิธีการอื่นที่จะลดภาวะการคับคั่งของจราจรถนนมิตรภาพ เช่น ขยายเส้นทางเดินรถให้เต็มพื้นที่ หรือขยายถนนที่มุ่งสู่ภาคอีสานให้กว้างขึ้นเต็มศักยภาพของถนน ซึ่งย่อมจะมีส่วนที่ทำให้ลดความหนาแน่นการจราจรได้ และ ๕. ขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าทางคู่กำลังดำเนินการอยู่จะก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนถนนมอเตอร์เวย์ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จการจราจรบนถนนมิตรภาพจะลดน้อยลงไปโดยปริยาย
นายวิชชุ ชุปวา
‘กลุ่มรักษ์ลำตะคอง’ค้านถึงที่สุด
นายวิชชุ ชุปวา ประธานกลุ่มรักษ์ลำตะคอง ให้สัมภาษณ์กับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า จะร่วมกับภาคประชาชนชาวอำเภอปากช่อง จำนวนประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ราย ที่ได้รับผล กระทบจากการถูกเวนคืนที่ดินประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่ เพื่อก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา เดินหน้าคัดค้านโครงการนี้ต่อไปจนถึงวินาทีสุดท้ายแบบถึงพริกถึงขิง เพราะทั้ง ๕ ตำบลของอำเภอปากช่อง ประกอบด้วย ตำบลพญาเย็น, กลางดง, หนองน้ำแดง, ขนงพระ และหนองสาหร่าย ทั้งบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีข้อคัดคัดค้านและเสนอแนะมาตลอด แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมทางหลวง และล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่มีการทบทวนในเรื่องนี้ แล้วประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะมีชีวิตความเป็นอยู่ต่อไปอย่างไร หรือเพราะเอื้อบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่มีโครงการมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่อำเภอปากช่อง
จ่อฟ้องศาลปกครองอีกครั้ง
ขณะที่นายลออง ศาลา แกนนำกลุ่มชาวอำเภอปากช่อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างมอเตอร์เวย์ กล่าวว่า พื้นที่อำเภอปากช่องยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์สุด ไม่คุ้มกับการเวนคืนที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และพืชผลต้นไม้จำนวนมาก เพื่อก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ข้อเรียกร้องเพื่อขอให้สร้างทางยกระดับคร่อมถนนมิตรภาพไปถึงบริเวณเขื่อนลำตะคอง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบประชาชน ๕ ตำบลของอำเภอปากช่อง กรมทางหลวงรับฟัง แต่ดำเนินการเฉพาะช่วงตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี บริเวณโรงปูนซีเมนต์ ที.พี.ไอ. เท่านั้น เปรียบเทียบกับมอเตอร์เวย์ สายบางนา-ชลบุรี ยังสามารถดำเนินการได้ ในส่วนของตน มีธุรกิจทำ “สวนฝรั่งคุณยาย” ที่ทำรายได้ต่อเนื่องถึงปัจจุบันบนเนื้อที่ ๑๘ ไร่ ก็จะได้รับผลกระทบจากการถูกเวนคืนที่ดินจำนวน ๑๓ ไร่ ๓ งาน แต่การประเมินราคาที่ดินเบื้องต้น เมื่อปี ๒๕๕๐ กรมทางหลวงประเมินให้ทั้งหมด ๓.๗ ล้านบาท ซึ่งขณะนั้นราคาซื้อขายไร่ละ ๔-๖ ล้านบาท และปัจจุบันที่ดินติดถนนธนะรัชต์ ทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ราคาซื้อขายไร่ละ ๑๕-๒๐ ล้านบาท สุดท้ายถ้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้ว ไม่ได้คำตอบที่จะช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน คงต้องฟ้องศาลปกครองอีกครั้ง เพราะประชาชนต้องมารับชะตากรรมตรงนี้ ความรู้สึกนี้และการเคลื่อนไหวคัดค้านดำเนินมา ๑๐ กว่าปีแล้ว
จุดสิ้นสุดโครงการ
ขณะเดียวกันจุดสิ้นสุดโครงการฯ บริเวณทางเลี่ยงเมือง (By Pass) สายนครราชสีมา กม.ที่ ๒+๕๐๐ ที่จะมุ่งหน้าไปจังหวัดขอนแก่น และภาคอีสานนั้น ก็มีเสียงคัดค้านจากประชาชน นักธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ก่อสร้างว่า ในแบบสำรวจเดิมที่สำรวจตั้งแต่ปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ และออกผลสำรวจปี ๒๕๕๐-๒๕๕๑ กำหนดจุดลงมอเตอร์เวย์ไว้ที่ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา กม.๕-๖ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่นา ไม่มีอาคารบ้านเรือนหนาแน่น แต่กรมทางหลวงปรับแนวเข้ามาใกล้ตัวเมืองและชุมชนมากขึ้น โดยมาลงตรงกม.๒+๕๐๐ ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ใกล้จุดลงทางต่างระดับสามแยกปักธงชัย โชว์รูมรถยนต์มิตซูปฐพีทอง และปั๊มน้ำมันเชลล์ ไม่มีความเหมาะสมเพราะจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรหนาแน่น กระทบกับอารยธรรมปรุใหญ่ วิถีชีวิตของคนในชุมชนตำบลปรุใหญ่และตำบลบ้านใหม่ จึงเสนอให้ย้ายจุดลงไปยังบริเวณห้วยตะคร้อ-กุดจิก ขยายถนนมิตรภาพเป็น ๑๒ ช่องจราจร หรือยกเลิกมอเตอร์เวย์ หันมาสร้างรถไฟทางคู่จะคุ้มค่ากว่า
ต่อมากรมทางหลวงปรับแบบมอเตอร์เวย์ บริเวณจุดเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข ๒ หรือถนนมิตรภาพ จากอำเภอขามทะเลสอมาบรรจบทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ตรงกม.๒+๕๐๐ โดยปรับรูปแบบมอเตอร์เวย์ใหม่ เมื่อเข้าสู่ด่านเก็บเงินค่าผ่านทางสุดท้าย ที่อำเภอขามทะเลสอ ช่วงกม.ที่ ๑๘๕ และมาบรรจบทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา บริเวณกม.ที่ ๒+๕๐๐ ระยะทาง ๑๐.๘ กิโลเมตร รูปแบบจะเป็นทางหลวงขนาด ๘ ช่องจราจรไป-กลับขนานถนนมิตรภาพ ประกอบด้วย ช่องจราจรหลัก ๔ ช่องจราจร เพื่ออำนวยการจราจรที่ลงจากมอเตอร์เวย์วิ่งเชื่อมสู่อำเภอเมืองนครราชสีมา และทางขนาน ๔ ช่องจราจร ฝั่งละ ๒ ช่องจราจร ทั้งยังอำนวยการจราจรให้รถบริเวณพื้นที่โครงการฯ สามารถใช้เส้นทางด้วยความสะดวก และเชื่อมเข้า-ออกช่องจราจรหลักตรงกลางได้เป็นระยะๆ สำหรับทางหลวงช่วงนี้จะไม่มีการกั้นรั้วตลอดเส้นทางและประชาชนสองข้างทางสามารถเชื่อมต่อทางใช้ได้ตลอดเส้นทาง และยังสามารถวิ่งไปขึ้นมอเตอร์เวย์บริเวณกม.ที่ ๑๘๕ เพื่อเข้าสู่กรุงเทพฯ ได้ด้วย โดยไม่ต้องเวนคืนที่ดินกว่า ๑๐๐ ไร่ อีกทั้งจะออกแบบก่อสร้างทางแยกต่างระดับให้มีรัศมีวงเลี้ยวที่ลดลงประมาณ ๒๕ เมตร บริเวณที่เข้าเชื่อมกับทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา บริเวณ กม.ที่ ๒+๕๐๐
การเรียกร้องของชาวอำเภอปากช่องที่ได้รับผลกระทบ โดยขอให้ปรับแนวเส้นทางบนถนนมิตรภาพให้เป็น Tollway (ทางยกระดับ) ตลอดแนวเส้นทางที่ผ่านเขตอำเภอปากช่องไปถึงเขื่อนลำตะคอง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่และสิ่งแวดล้อมนั้น กรมทางหลวง มองว่าจะทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น และไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่จะดำเนินการ หากมีความคืบหน้า ‘โคราชคนอีสาน’ จะนำมาเสนอต่อไป
นสพ. โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๐๓ วันพฤหัสบดีที ๑๖- วันจันทร์ที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘
884 1,549