October 22,2015
เปิดสนามกองบิน ๑ อีก โจทย์ใหญ่ท้าทาย‘วิเชียร’ จีบ ๒ บริษัทบินโคราช-กทม.
‘ผู้ว่าฯ วิเชียร’ รับข้อเสนอภาคเอกชนกลับมาใช้ ‘กองบิน ๑ โคราช’ เป็นสนามบินพาณิชย์ เตรียมลงพื้นที่ดูความเหมาะสมสร้าง/พัฒนาอาคารที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่ คาดใช้งบไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ล้านบาท ด้าน ‘หัสดิน’ ปธ.หอโคราช จีบ ๒ สายการบินรายใหม่ ดันเปิดเส้นทางบิน ‘โคราช-กทม.’ ด้วย เชื่อกิจการรถทัวร์ของ ‘เจ๊เกียว’ ยิ่งใหญ่ปรับตัวได้ ล่าสุดกลุ่มทุนนอร์เวย์ ‘สแกนดิเนเวียนแอร์คราฟ’ ได้รับอนุญาตใช้พื้นที่สนามบินหนองเต็งกว่า ๓๐๐ ไร่ จัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแล้ว
ตามที่คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ประจำปีบริหาร ๒๕๕๘-๒๕๕๙ ภายใต้ การนำของนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา มีความพยายามติดต่อประสานงานผู้ประกอบการสายการบินพาณิชย์ เพื่อมาเปิดทำการบินที่จังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของภาคอีสาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งยังเกิดการกระตุ้นสภาวะเศรษฐกิจภายในจังหวัด และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ทั้งนี้ ในปัจจุบันไม่มีสายการบินพาณิชย์เข้ามาดำเนินกิจการภายในท่าอากาศยานนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ทำให้ประชาชน นักธุรกิจ/นักลงทุนในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียงต้องสูญเสียเวลาในการเดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ หรือระหว่างภูมิภาคในประเทศ รวมถึงการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเพื่อติดต่อธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวด้วยนั้น
ผวจ.หารือกลับไปใช้กองบิน ๑
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ถนนสุรนารายณ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา ในการประชุมคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๕๘/๒๕๕๙ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาคนใหม่ ได้เข้าร่วมประชุมหารือการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และคณะกรรมการฯ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจากภาคเอกชน โดยมีรายงานว่า ภาคเอกชนได้เสนอให้กลับมาใช้สนามบินภายในกองบิน ๑ อำเภอเมืองนครราชสีมา แทนท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งปัจจุบันเป็นสนามบินพาณิชย์แห่งเดียวของจังหวัดนครราชสีมาก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๓๗ สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และนาย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บนพื้นที่ ๔,๖๒๕ ไร่ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง เนื่องจากห่างจากอำเภอเมืองนครราชสีมาประมาณ ๒๖-๓๐ กิโลเมตร เพื่อความสะดวกในการเดินทางของผู้โดยสาร ทั้งนี้ ในเบื้องต้นนายวิเชียรฯ รับปากที่จะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับกองทัพอากาศ เพราะอาจมีข้อกำจัดด้านความมั่นคง
‘หัสดิน’เสนอบิน‘โคราช-กทม.’
ต่อเรื่องนี้นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ ว่า ข้อเสนอของหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และองค์กรเอกชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่ให้ทางจังหวัดพิจารณาการเปิดใช้สนามบินกองบิน ๑ เพื่อให้บริการการบินพาณิชย์นั้น ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาคนใหม่ (นายวิเชียร จันทร โณทัย) ระบุว่า ไม่ได้ขัดข้อง แต่ต้องหารือกับกองทัพอากาศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาต ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยด้านความมั่นคง แนวทางในเบื้องต้นจากเส้นทางปกติเข้าสู่กองบิน ๑ ต้องผ่านคลังแสง/คลังอาวุธ เพราะฉะนั้น ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางที่ไม่ต้องผ่านบริเวณดังกล่าว หรืออาจดำเนินการก่อสร้างเส้นทางเข้าสู่สนามบินของกองบิน ๑ จากถนนสาย ๓๐๔ (ราชสีมา-ปักธงชัย-กบินทร์บุรี) และอีกแนวทางหนึ่งจะไม่ให้ผู้โดยสารผ่านเข้า-ออกกองบิน ๑ โดยนำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้าไป หรืออาจกำหนดสถานที่จอดรถยนต์ และรับ-ส่งผู้โดยสาร เพื่อความปลอดภัยด้านความมั่งคง โดยใช้สถานที่ข้างนอกเพื่อดำเนินพิธีการทางกงสุลซึ่งแนวทางดังกล่าวจำเป็นต้องหางบประมาณราว ๓๐๐ ล้านบาท เพื่อก่อสร้าง Terminal (อาคารที่พักผู้โดยสาร) แห่งใหม่ และต้องมีงบประมาณมาดำเนินการจัดสร้างหอควบคุมการบินพาณิชย์ด้วย เพราะไม่สามารถใช้ร่วมกับหอควบคุมการบินของกองทัพอากาศได้ สำหรับเส้นทางที่จะมาทำการเปิดการบินพาณิชย์นั้น ที่สนามบินของกองบิน ๑ กำหนดเป็นเส้นทางบินตรง “โคราช-กรุงเทพฯ” ไปและกลับ วันละ ๒-๓ เที่ยวบิน
ใกล้เมืองกระตุ้นประชุม/สัมมนา
“แนวทางดังกล่าวองค์กรเอกชนในพื้นที่ต่างๆ ก็เชื่อมั่นว่า จะทำให้การผลักดันเส้นทางการบินพาณิชย์ประสบความสำเร็จ เพราะสนามบินอยู่ในตัวเมืองนครราชสีมา โดยเฉพาะหากเปิดเส้นทาง “โคราช-กรุงเทพฯ” จะกระตุ้นการเดินทางมาจัดประชุม/สัมมนาในจังหวัดนครราชสีมาด้วย เพราะปัจจุบันการจัดประชุม/สัมมนาต่างๆ มุ่งไปที่จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากโคราชไม่มีสายการบินพาณิชย์มาเปิดทำการบินในเส้นทางดังกล่าว หากจะมาจัดประชุม/สัมมนา หรือจัดงานอีเวนท์ขนาดใหญ่ต่างๆ ก็ต้องฝ่าการจราจรติดขัดประมาณ ๔ ชั่วโมง จากกรุงเทพฯ-โคราช ทั้งที่โคราชมีศักยภาพและความพร้อมหลายด้าน แต่เราไม่ได้ต้องการไปแข่งกับจังหวัดไหนในภูมิภาคเดียวกัน สิ่งที่เราต้องการ คือการเดินทางมาจัดประชุม/สัมมนาเพื่อให้เงินสะพัดในจังหวัด ธุรกิจเกี่ยวเนื่องและอื่นๆ จะได้รับอานิสงส์ด้วย เศรษฐกิจในพื้นที่ก็จะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งผมจะพยายามผลักดันแนวทางความเป็นไปได้ภายในปีนี้” นายหัสดิน กล่าว
หวังต่อยอดบ้านพี่เมืองน้องจีน
นายหัสดิน กล่าวต่อว่า ส่วนของการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง “จะต่อยอดด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมา จากที่ผ่านมาหอการค้าฯ พยายามประสานสายการบินพาณิชย์มาเปิดให้บริการ โดยแนวทางการพัฒนาทางอากาศยานของสนามบินหนองเต็ง จะมุ่งเน้นเส้นทางการบินระหว่างเมืองท่องเที่ยวภายในประเทศ อาทิ โคราช-หาดใหญ่, โคราช-ภูเก็ต, โคราช-เชียงใหม่ เป็นต้น และในอนาคตจะรองรับการเดินทางมาท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเปิดเที่ยวบินจากโคราช-เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวนของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๙ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาจะนำคณะส่วนราชการและองค์กรเอกชนในพื้นที่ รวมจำนวนประมาณ ๖๐-๗๐ คน เดินทางไปมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อลงนามความร่วมมือ (MOU) เพื่อเชื่อมสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องระหว่างโคราช-เสฉวน ซึ่งอาจจะมีตัวแทนสายการบินพาณิชย์ที่สนใจเปิดเส้นทางการบินดังกล่าวเดินทางไปด้วย”
‘ราชสีมา แอร์เวย์’ไม่คืบหน้า
สำหรับความคืบหน้าการเปิดสายการบิน “Ratchasima Airways (ราชสีมา แอร์เวย์)” ของ Pattaya Aviation Group (พัทยา เอวิเอชั่น กรุ๊ป) นำโดยนายทศพร อสุนีย์ หรือ Tony A. ประธานกรรมการ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริหารใหม่ของบริษัท เลกาซี แอร์ จำกัด ซึ่งก่อนหน้านี้มีความประสงค์จะลงทุนและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมกับลงทุนในอุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจรภายในท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง บนเนื้อที่ประมาณ ๗๐๐ ไร่ อาทิ โรงเรียนฝึกการบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน เป็นต้น นายหัสดิน ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “หอการค้าฯ พยายามผลักดันทุกวิถีทางแล้ว โดยล่าสุดประสานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) ถึงความจำเป็นและเหตุผลในการเปิดเส้นทางการบินพาณิชย์ที่สนามบินหนองเต็ง ซึ่งทราบว่าใบอนุญาตของบริษัทดังกล่าวได้หมดอายุตั้งแต่วันที่ ๖ กันยายนที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาต่อใบอนุญาตของกรมการบินพลเรือน แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ICAO (องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ) มีกฎเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัยของประเทศไทยที่เข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งกรมการบินพลเรือนก็มีบุคลากรจำกัด”
ทาบทาม ๒ สายการบินใหม่
นายหัสดิน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้หอการค้าจังหวัดนครราชสีมาร่วมกับผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา (นายประวัติ ดวงกันยา) ยังได้ประสานสายการบินพาณิชย์รายอื่นไว้รองรับด้วย ขณะนี้มีอยู่ ๒ รายที่อยู่ระหว่างการเจรจา แต่ขอสงวนที่จะไม่เปิดเผยชื่อของสายการบิน โดยรายแรกเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนกับนักลงทุนไทย ขณะนี้เข้ามาเปิดสายการบินในหัวเมืองใหญ่ของภาคอีสานแล้ว แต่การมาโคราชเขาขอความชัดเจนจากจังหวัดและส่วนราชการในพื้นที่ด้วย เพื่อให้การสนับสนุน และอีกรายเป็นสายการบินขนาดกลางของกลุ่มนักลงทุนชาวไทย ส่วนรายเดิม “กานต์แอร์” ซึ่งเคยมาเปิดเส้นทาง “โคราช-เชียงใหม่” แล้วนั้น แต่หลังถูกกรมการบินพลเรือนไม่ให้ทำการบินในเส้นดังกล่าว ต่อมาก็ไม่บรรลุข้อเสนอที่หอการค้าฯ และนักธุรกิจในพื้นที่ให้การสนับสนุน ขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อเจรจากันใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ดี ผมหวังว่าในระยะแรกโคราชต้องมีอย่างน้อย ๒ สายการบินพาณิชย์มาเปิดให้บริการ
‘เชิดชัย’ยิ่งใหญ่ปรับตัวได้
ต่อข้อซักถามว่า การรุกผลักดันสายการบินพาณิชย์มายังจังหวัดนครราชสีมา ด้วยการเปิดเส้นทาง “โคราช-กรุงเทพฯ” ที่สนามบินของกองบิน ๑ นั้น จะกระทบกับธุรกิจรถทัวร์ “ราชสีมาทัวร์” ของนางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น ๑ รายใหญ่ ในเส้นทาง “โคราช-กรุงเทพฯ” หรือไม่? นายหัสดิน กล่าวว่า “ธุรกิจต้องมีการเปลี่ยนแปลง วันหนึ่ง “เชิดชัย” อาจจะใหญ่กว่านี้ ในต่างประเทศแม้จะมีสายการบินพาณิชย์เปิดให้บริการผู้โดยสารเดินทางระหว่างเมืองอย่างสะดวกสบายมากกว่านี้ แต่บางเมืองก็ต้องใช้บริการโดยสารประจำทาง ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมี Business Model เพราะเครื่องบินไม่ได้บินไปถึงได้ทุกเมือง จึงมีช่องว่างการเดินทางเพื่อเข้าไปทำตลาดหรือต่อยอดธุรกิจ เพื่อทำให้การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสะดวกสบายมากขึ้น ผมไม่ได้ก้าวล่วงการทำธุรกิจของแต่ละบริษัท แต่ผมเชื่อด้วยความยิ่งใหญ่ของเชิดชัย อย่างไรก็สามารถปรับตัวได้”
‘โคราช’คมนาคมต้องครบเครื่อง
“อย่างไรก็ตาม หอการค้าจังหวัดนครราชสีมายังไม่ได้ละความพยายาม ที่จะผลักดันสายการบินพาณิชย์มาเปิดให้บริการที่จังหวัดนครราชสีมาให้สำเร็จ เพราะสุดท้ายแล้วการท่องเที่ยวจะได้รับประโยชน์ด้วย ดังจะเห็นได้ว่า การที่ผลักดันให้โคราชจะเป็น Hub (ศูนย์กลาง) ของภาคอีสาน หรือประตูสู่ภาคอีสานนั้น ต้องมีการคมนาคมที่ครบเครื่องด้วย แม้ว่าไม่มีทางน้ำก็ตาม แต่ทางบกในอนาคตจะมีมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-โคราช, รถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-โคราช และรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ๑.๔๓๕ เมตร จากกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต จึงอยากเห็นสายการบินพาณิชย์ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมการคมนาคมขนส่งจากทางบกสู่ทางอากาศยาน ซึ่งเรามีความพร้อมทางด้านท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินของกองบิน ๑ ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องเร่งผลักดันศักยภาพที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ให้ได้ แต่ขอให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันอย่างจริงจัง” ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวย้ำ
ประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนฯ
วันเดียวกัน (๒๐ ต.ค. ๕๘) ยังมีการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการประกอบการบินพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ณ ห้องประชุมสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้มอบหมายนายสุวิทย์ คำดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมหารือการเปิดสายการบินพาณิชย์ในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับผู้แทนผู้บังคับการกองบิน ๑, ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา, ศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมจราจรทางอากาศนครราชสีมา บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด, ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานนครราชสีมา, หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, ชมรมโรงแรมจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับผลการประชุมคณะทำงานฯ ในครั้งนี้ นายประวัติ ดวงกันยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา หนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนการประกอบการบินพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า ท่านวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาคนใหม่ ได้ตั้งโจทย์ให้คณะทำงานฯ เกี่ยวกับแนวทางความเป็นไปได้ในการกลับมาใช้สนามบินของกองบิน ๑ เพื่อเปิดเส้นทางการบินพาณิชย์ได้อีกครั้ง จากที่ผ่านมาเคยพยายามผลักดันทั้งในระดับองค์กรเอกชน และจังหวัดหลายรอบแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ ที่ประชุมจึงมีความเห็นว่า คณะทำงานฯ ต้องร่วมกันดูพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เพื่อก่อสร้างหรือพัฒนาเป็น Terminal หรืออาคารที่พักผู้โดยสาร ซึ่งต้องใช้พื้นที่ดำเนินการประมาณ ๕๐-๖๐ ไร่ ทั้งยังต้องพิจารณาเขตปลอดภัยการเดินทางอากาศยาน และการจัดตั้งหอควบคุมการบินด้วย ซึ่งโดยหลักการยังมีเงื่อนไขและกฎระเบียบอีกหลายด้านสำหรับการเปิดการบินพาณิชย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือและการศึกษาความเป็นไปได้ของคณะทำงานฯ ยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด
๓ เส้นทางการบินที่เป็นไปได้
นายประวัติ กล่าวต่อไปว่า โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยว่าจะต้องลงไปดูพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาอาคารที่พักผู้โดยสารใหม่ก่อน เนื่องจากมาตรฐานที่กำหนดจะต้องมีอาคารที่พักผู้โดยสารกับพื้นที่ทำการบินต่อเนื่องกัน หากกำหนดอาคารที่พักผู้โดยสารให้อยู่ข้างนอกก็ต้องขอความเห็นจากฝ่ายที่กำกับดูแลด้านนี้ นั่นคือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กรมท่าอากาศยาน ส่วนแนวทางการเปิดเส้นทางการบินนั้น ผมเสนอแนวทางในเบื้องต้นว่า เส้นทางแรก “ดอนเมือง-โคราช-เชียงใหม่” ไปและกลับ จะทำให้ผู้โดยสารได้ใช้บริการสองช่วงทาง คือ “โคราช-กรุงเทพฯ” และ “โคราช-เชียงใหม่” จะได้ ๒ เที่ยวบิน โดยเชื่อมเส้นทางภูมิภาคกับส่วนกลาง และอีกเส้นทางเชื่อมระหว่างภูมิภาคกับภูมิภาค, เส้นทางที่สอง ถ้ามีสายการบินพาณิชย์รายใดสนใจ ให้เปิดทำการบินเส้นทางอุบลราชธานี โคราช เชื่อมกับเมืองท่องเที่ยวของภาคใต้ ทั้งภูเก็ต หาดใหญ่ (จ.สงขลา) และกระบี่ ทั้งขาไปและกลับ โดยมาแวะเส้นทางที่โคราช และเส้นทางที่สาม เป็นเส้นทางเดิมแบบบินตรง “โคราช-เชียงใหม่” หรือ “โคราช-ภูเก็ต” กับ “โคราช-หาดใหญ่” ทั้งขาไปและกลับ ขณะเดียวกันก็ต้องมองหาสายการบินพาณิชย์ที่มีความสนใจด้วย โดยให้มาประชุมหารือร่วมกับคณะทำงานฯ เพื่อให้เกิดเส้นทางการบินพาณิชย์ดังกล่าวได้
เตรียมเปิดศูนย์ซ่อมอากาศยาน
“ส่วนท่าอากาศยานนครราชสมา หรือสนามบินหนองเต็ง แม้ปัจจุบันไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์แบบประจำมาทำการขึ้น-ลง เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสาร แต่ก็ยังมีเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ เที่ยวบินของทางราชการ และเที่ยวบินฝึกบินของสถาบันการบินต่างๆ เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่องอยู่เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะในปัจจุบัน บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ BAC เป็นโรงเรียนฝึกบินระดับอาเซียน ได้เข้ามาขออนุญาตใช้สถานที่แห่งนี้เพื่อทำการฝึกบินให้กับศิษย์การบินของบริษัทฯ และสายการบินพาณิชย์ของไทย นอกจากนั้นก็ยังมีสถาบันการศึกษาของไทย นำศิษย์การบินของแต่ละสถาบันเข้ามาทำการฝึกบินร่วมกับ BAC เป็นจำนวนมากในแต่ละปี ขณะนี้ปริมาณการตลาดของ BAC เพิ่มมากขึ้น และก้าวขึ้นเป็นโรงเรียนฝึกบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๑ ของอาเซียน และล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายนที่ผ่านมา ก่อนเกษียณอายุราชการ ท่านธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาขณะนั้น ได้ลงนามอนุญาตให้บริษัท สแกนดิเนเวียนแอร์คราฟ เมนเทนแนนซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด (กลุ่มทุนจากประเทศนอร์เวย์) ใช้ประโยชน์พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง-จักราช ขนาดพื้นที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่ ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของท่าอากาศยานนครราชสีมา เพื่อจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน รองรับกลุ่มลูกค้าครอบคลุมในพื้นที่เอเชียแปซิฟิก โดยเป็นการอนุญาตให้เช่าพื้นที่ผูกพันเป็นระยะเวลา ๒๕ ปี ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการหลังจากลงตรวจสอบพื้นที่แล้ว และเตรียมจะเปิดศูนย์ผลิตบุคลาการด้านการบินอีกด้วย
หากมีความคืบหน้า ‘โคราชคนอีสาน’ จะนำมาเสนอต่อไป
นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๓๒๒ วันพุธที่ ๒๑ - วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘
772 1,500