November 23,2015
‘ไทยไลอ้อนแอร์’มึน แผนบิน‘โคราช’ ดึงเส้นทางอีสาน-ลาว
‘ไทยไลอ้อนแอร์’ ระบุเปิดเส้นทาง “โคราช-ดอนเมือง’ บินระยะสั้นไม่ง่าย ขอเวลาศึกษาข้อมูลก่อน พร้อมกับอีก ๓ เส้นทาง “เชียงใหม่-หาดใหญ่-ภูเก็ต” เล็งหัวทะเลเป็นจุดเช็คอิน/รับ-ส่งผู้โดยสารด้วย ‘หัสดิน’ ปธ.หอโคราช มุ่งผลักดัน ‘สนามบินหนองเต็ง’ เปิดบริการสายการบินพาณิชย์ภายในต้นปีหน้า โอกาสขอใช้กองบิน ๑ ยังติดขัดความมั่นคง หวังช่วยทำตลาดดึงท่องเที่ยวอีสานตอนล่าง-สปป.ลาว จากเส้นทางอุบลฯ
ตามที่คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ประจำปีบริหาร ๒๕๕๘-๒๕๕๙ ภายใต้การนำของนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา มีความพยายามติดต่อประสานงานผู้ประกอบการสายการบินพาณิชย์ เพื่อมาเปิดทำการบินที่จังหวัดนครราชสีมา โดยในคราวประชุมคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๕๘/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคมที่ผ่านมา ภาคเอกชนเสนอต่อนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้กลับมาใช้สนามบินภายในกองบิน ๑ อำเภอเมืองนครราชสีมา แทนท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง ตั้งอยู่ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งปัจจุบันเป็นสนามบินพาณิชย์แห่งเดียวของจังหวัดนครราชสีมา ก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๓๗ สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บนพื้นที่ ๔,๖๒๕ ไร่ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง แต่พื้นที่นั้นอยู่ห่างจากอำเภอเมืองนครราชสีมาประมาณ ๒๖-๓๐ กิโลเมตร เพื่อความสะดวกในการเดินทางของผู้โดยสารและความสำเร็จของสายการบินพาณิชย์ที่จะมาเปิดให้บริการเส้นทางบินตรง “นครราชสีมา-กรุงเทพฯ” จึงมอบหมายให้คณะทำงานขับเคลื่อนการประกอบการบินพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านความมั่นคง ส่วนท่าอากาศยานนครราชสีมาในปัจจุบันจะต่อยอดด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด โดยแนวทางการพัฒนาจะมุ่งเน้นเส้นทางการบิน ระหว่างเมืองท่องเที่ยวภายในประเทศ อาทิ โคราช-หาดใหญ่, โคราช-ภูเก็ต, โคราช-เชียงใหม่ เป็นต้น และในอนาคตจะรองรับการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเปิดเที่ยวบินจากโคราช-เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวนของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอรายละเอียดลงฉบับที่ ๒๓๒๒ วันที่ ๒๑-๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๘
๔ เส้นทางบิน’โคราช
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ‘โคราชคนอีสาน’ ได้รับรายงานว่า คณะผู้บริหารสายการบินพาณิชย์ “Thai Lion air (ไทย ไลอ้อน แอร์)” นำโดยนายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เดินทางมาหารือถึงการเปิดเส้นทางการบินที่จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับคณะกรรมการหอการค้าการจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และองค์กรเอกชนต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อศึกษาข้อมูลความเป็นไปได้การเปิดสายการบินพาณิชย์ในจังหวัดนครราชสีมาเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคต่างๆ เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของภาคอีสาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับชาวจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งยังเกิดการกระตุ้นสภาวะเศรษฐกิจภายในจังหวัด และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ทั้งนี้ ในปัจจุบันไม่มีสายการบินพาณิชย์เข้ามาดำเนินกิจการภายในท่าอากาศยานนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ทำให้ประชาชน นักธุรกิจ/นักลงทุนในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียงต้องสูญเสียเวลาในการเดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ หรือระหว่างภูมิภาคในประเทศ รวมถึงการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเพื่อติดต่อธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวด้วย
ผลการหารือครั้งนี้มีข้อสรุปร่วมกันในเบื้องต้นว่า สายการบิน “ไทย ไลอ้อน แอร์” จะใช้ท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง เตรียมศึกษา ๔ เส้นทางการบินไปและกลับ ได้แก่ ๑. โคราช-ดอนเมือง ๒. โคราช-เชียงใหม่ ๓. โคราช-หาดใหญ่ และ ๔. โคราช-ภูเก็ต โดยใช้เครื่องบินลำใหม่ โบอิ้ง ๗๓๗-๘๐๐ จำนวน ๑๘๙ ที่นั่ง แต่ทั้งนี้ คาดว่าจะต้องใช้เวลาทำการศึกษาเส้นทางและรูปแบบความเหมาะสมที่จะดำเนินการประมาณ ๓ เดือน ก่อนเปิดทำการบิน ซึ่งมีรายงานด้วยว่า เดอะมอลล์ นครราชสีมา โดยนายปรีชา ลิ้มอั่ว ผู้จัดการทั่วไปปฏิบัติการ มีความยินดีให้ใช้พื้นที่ภายในศูนย์การค้าฟรี สำหรับทำการเช็คอินและรับ-ส่งผู้โดยสาร ทั้งนี้ คณะผู้บริหารสายการบิน “ไทย ไลอ้อน แอร์” ยังได้เข้าพบนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา โดยนายวิเชียรฯ ยืนยันว่า “พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ และอยากเห็นสายการบินพาณิชย์เกิดขึ้นจริงในจังหวัดนครราชสีมา”
ดึงท่องเที่ยวอีสาน-สปป.ลาว
ต่อเรื่องนี้นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ว่า หลังจากการหารือร่วมกันกับคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชนในพื้นที่ต่างๆ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะผู้บริหารสายการบิน “ไทย ไลอ้อน แอร์” มองว่าโคราชมีศักยภาพสูงมากและสูงที่สุดในภาคอีสานด้วย ถ้าทำตลาดดีๆ จะมีศักยภาพการให้บริการคมนาคมขนส่งทางอากาศยานสูงในระดับภูมิภาคนี้ จึงขอระยะเวลาประมาณ ๓ เดือน เพื่อทำการศึกษาเส้นทางและรูปแบบความเหมาะสมที่จะดำเนินการเปิดทำการบิน ณ ท่าอากาศยานนครราชสีมา โดยโมเดลการเปิดเส้นทางการบินของไทย ไลอ้อน แอร์ จะเป็นการเชื่อมโยงจากฐานการบิน (Hub) ที่มีอยู่แล้ว คือ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง (ฐานการบินหลัก) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ฐานการบินรอง) รวมไปถึงท่าอากาศยานเชียงใหม่และภูเก็ตซึ่งมีเส้นทางการบินเปิดให้บริการมายังเส้นทางจังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช ได้แก่ ๑. ดอนเมือง-โคราช ๒. โคราช-เชียงใหม่ ๓. โคราช-หาดใหญ่ (จ.สงขลา) และ ๔. โคราช-ภูเก็ต แบบไปและกลับ โดยเฉพาะเส้นทาง “โคราช-ภูเก็ต” มองว่าหากจะประสบความสำเร็จคงต้องมองการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากภาคอีสานตอนล่าง และสปป.ลาว ตอนใต้ และนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติจากภาคใต้ด้วย อาจจะเป็นเส้นทางจากอุบลราชธานี-โคราช-ภูเก็ต ซึ่งสามารถเดินทางท่องเที่ยวทั้งภาคใต้ ภาคอีสานตอนล่าง และข้ามไปยังสปป.ลาว เพราะปัจจุบันสายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ เปิดเส้นการบินในภาคอีสาน ที่จังหวัดอุดรธานี และอุบลราชธานี
จุดเช็คอินใกล้สนามบิน
นายหัสดิน เผยต่อไปว่า ขณะเดียวกันแนวทางเปิดทำการบิน เส้นทาง “โคราช-ดอนเมือง” คณะผู้บริหารของไทย ไลอ้อน แอร์ มองว่ายังติดปัญหาบางประการที่ต้องทำการศึกษาความเหมาะสมในการทำตลาด เพราะถ้าจะใช้ระยะเวลาทำการบินในเส้นทางดังกล่าวประมาณ ๓๐-๔๕ นาที ที่สำคัญคือพฤติกรรมผู้โดยสารยังเคยชินกับการนั่งรถโดยสารประจำทาง ซึ่งทางสายการบินได้ทำการสำรวจ พบว่า ในระยะเวลา ๑ ชั่วโมง มีรถโดยสารประจำทาง “โคราช-กรุงเทพฯ” ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารไปและกลับเฉลี่ยประมาณ ๒๔ คัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสถานที่เช็คอิน และรับ-ส่งผู้โดยสาร ๒ จุด คือ เดอะมอลล์ นครราชสีมา โดยนายปรีชา ลิ้มอั่ว ผู้จัดการทั่วไปปฏิบัติการ มีความยินดีให้ใช้พื้นที่ภายในศูนย์การค้าฟรี แต่ในเบื้องต้นมองว่าจุดอ่อนของเดอะมอลล์ฯ อาจใช้เวลานานในการเดินทางไปยังท่าอากาศยานนครราชสีมา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ส่วนอีกแห่งเล็งทำเลที่ตั้งบริเวณตำบลหัวทะเล อำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งคำนวณว่าจะใช้ระยะเวลาเดินทางไปถึงสนามบินประมาณ ๑๕ นาที นอกจากนี้ ภายในสิ้นเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๙ นายสุรพันธ์ ดิสสะมาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จะนำคณะส่วนราชการและตัวแทนองค์กรเอกชนในพื้นที่ เดินทางไปมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญเพื่อลงนามความร่วมมือ (MOU) จัดตั้งบ้านพี่เมืองน้องระหว่างโคราช-เสฉวน ซึ่งทางตัวแทนคณะผู้บริหารของไทย ไลอ้อน แอร์ จะเดินทางไปร่วมด้วย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดเส้นทาง “โคราช-เฉิงตู” ในระยะต่อไป เพราะก่อนหน้านี้มีความสนใจอยู่แล้ว เปิดเส้นทาง “ดอนเมือง-เฉิงตู”
นายอัศวิน ยังกีรติวร - นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ - นายประวัติ ดวงกันยา
‘ราชสีมา แอร์เวย์’ไม่คืบหน้า
สำหรับความคืบหน้าการเปิดสายการบิน “Ratchasima Airways (ราชสีมา แอร์เวย์)” ของ Pattaya Aviation Group (พัทยา เอวิเอชั่น กรุ๊ป) นำโดยนายทศพร อสุนีย์ หรือ Tony A. ประธานกรรมการ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริหารใหม่ของบริษัท เลกาซี แอร์ จำกัด ซึ่งก่อนหน้านี้มีความประสงค์จะลงทุนและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมกับลงทุนในอุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจรภายในท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง บนเนื้อที่ประมาณ ๗๐๐ ไร่ อาทิ โรงเรียนฝึกการบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน เป็นต้น นายหัสดิน ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ทั้งหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรอื่นๆ ในพื้นที่ ต่างก็ให้การสนับสนุนทุกสายการบิน แต่สำหรับพัทยา เอวิเอชั่น กรุ๊ป ทราบว่ายังอยู่ระหว่างการพิจารณาต่อใบอนุญาตจากกรมการบินพลเรือน ส่วน “กานต์แอร์” ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมาเปิดเส้นทางการบิน “โคราช-เชียงใหม่” ก่อนจะหยุดทำการบินไปนั้น ก็ยังโทรศัพท์มาติดต่อสอบถามสม่ำเสมอ อีกทั้งยังมีสายการบินใหม่อีก ๑ ราย ที่มีความสนใจเปิดเส้นทางการบินโคราช-ดอนเมืองด้วย”
มั่นใจปีหน้าสายการบินเกิดแน่
“อย่างไรก็ดี การผลักดันสายการบินพาณิชย์มาเปิดให้บริการที่จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากร้อยละ ๖๐ แล้ว ภายในไตรมาส ๑-๒ ของปีหน้าจะมีสายการบินพาณิชย์เกิดขึ้นแน่นอน ที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชนให้ใช้สนามบินภายในกองบิน ๑ ด้วยนั้น โดยทำการบินเฉพาะเส้นทางโคราช-ดอนเมือง เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ยังมีข้อจำกัดด้านความมั่นคง คงต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อขออนุญาตจากกองทัพอากาศ ซึ่งขั้นตอนต่างๆ และการพิจารณาไม่ง่ายนัก” ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าว
กองบิน ๑ จำกัดมุ่ง‘หนองเต็ง’
นายประวัติ ดวงกันยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา หนึ่งในคณะขับเคลื่อนการประกอบการบินพาณิชย์ จังหวัดนครราชสีมา กล่าวกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า สำหรับแนวทางความเป็นไปได้ในการกลับมาใช้สนามบินของกองบิน ๑ เพื่อเปิดเส้นทางการบินพาณิชย์ได้อีกครั้งตามข้อเสนอของภาคเอกชน คณะทำงานฯ ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ เพราะยังมีข้อจำกัดด้านความมั่นคงหลายประการ ดังนั้น คงต้องกลับมามองการพัฒนาท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง ซึ่งขณะนี้สายการบิน “ไทย ไลอ้อน แอร์” มองว่ามีศักยภาพสูง แต่จะเป็นลักษณะการเชื่อมโยงจากฐานการบิน นอกจากได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเส้นทางการบินและปริมาณผู้โดยสารแล้ว ตนได้สะท้อนให้เห็นปริมาณผู้โดยสารกลุ่มนักธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมาใช้บริการท่าอากาศยานนครราชสีมา ทำการบินในลักษณะเช่าเหมาลำเกือบทุกสัปดาห์ เท่าที่ได้หารือสำหรับการมาเปิดทำการบินของ “ไทย ไลอ้อน แอร์” มีความเป็นไปได้สูงที่จะมาทำการบินในเส้นทางโคราช แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่มีร่วมกันในวันนี้ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน คือต้องผลักดันสายการบินพาณิชย์รายแรกให้ได้ ก่อนที่จะมีสายการบินพาณิชย์รายอื่นมาให้บริการ
ปธ.ไทยไลอ้อนแอร์‘ไม่ง่าย’
ด้านนายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย ไลออน แอร์ ให้สัมภาษณ์กับ ‘โคราชคนอีสาน’ เพียงว่า “สายการบิน “ไทย ไลอ้อน แอร์” มีโครงการขยายเส้นทางการบินไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว ขอบคุณอย่างมากที่ชาวโคราชให้ความสำคัญติดตามข่าว แต่ขณะนี้เรายังไม่ได้มาเปิดเส้นทางการบิน คงไม่ง่ายนักที่จะไปเปิดเส้นทางการบิน โดยเฉพาะ “โคราช-ดอนเมือง” ซึ่งใช้ระยะเวลาการบินแค่ ๒๐ นาที ซึ่งเป็นระยะทางที่สั้นเกินไป ดังนั้น ต้องศึกษาความเป็นไปได้ทั้งเส้นทาง รูปแบบความเหมาะสมที่จะดำเนินการ และแนวทางการลงทุนก่อน ขณะนี้ยังให้คำตอบไม่ได้ว่านานแค่ไหน ส่วนเส้นทางอื่นทั้งโคราช-เชียงใหม่, โคราช-ภูเก็ต และโคราช-หาดใหญ่ ก็ได้รับทราบข้อมูลจากทางหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ถึงความเป็นไปได้และโอกาสในการทำตลาด ซึ่งทางสายการบินต้องไปศึกษาข้อมูลก่อน”
‘ไทย ไลอ้อน แอร์’ สยายปีก
อนึ่ง จากการสืบค้นข้อมูลของ ‘โคราชคนอีสาน’ สายการบิน “ไทย ไลอ้อน แอร์” เป็นสายการบินพาณิชย์ต้นทุนต่ำ เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสายการบิน “ไลอ้อน แอร์” ประเทศอินโดนีเซีย และกลุ่มนักธุรกิจชาวไทย เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๖ ปัจจุบันมีเที่ยวบินภายในประเทศใน ๑๐ เส้นทางหลัก ได้แก่ ดอนเมือง-เชียงใหม่, ดอนเมือง-เชียงราย, ดอนเมือง-อุบลราชธานี, ดอนเมือง-อุดรธานี, ดอนเมือง-สุราษฎร์ธานี, ดอนเมือง-กระบี่, ดอนเมือง-ภูเก็ต, ดอนเมือง-หาดใหญ่ (จ.สงขลา) หาดใหญ่–อุดรธานี และล่าสุด “ดอนเมือง-นครศรีธรรมราช” และเที่ยวบินต่างประเทศ ๒ เส้นทาง ได้แก่ ดอนเมือง-สิงคโปร์ และดอนเมือง-กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย) ดำเนินงานโดยสายการบิน Malinder Air โดยสายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ ทำการบินด้วยเครื่องบิน Boeing 737-900 ER จำนวน ๑๓ ลำ และเครื่องบิน Boeing 737–800 จำนวน ๔ ลำ เครื่องบินทุกลำเป็นลำใหม่ทั้งหมด พร้อมกับวางแผนที่จะเติบโตขึ้นทั้งเส้นทางบินในและต่างประเทศ
โดยเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ ในเครือกลุ่มสายการบินไลอ้อนกรุ๊ป ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก จากหน่วยงาน International Air Transportation (IATA) Operational Safety Audit (IOSA) เพื่อยกระดับการจัดการมาตรฐานความปลอดภัยของสายการบินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของ IOSA มีขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมด ๘ หัวข้อ ได้แก่ ระบบการบริหารและจัดการองค์กร ระบบการปฏิบัติการบิน ระบบดำเนินการและส่งออกเที่ยวบิน ระบบการปฏิบัติการบนห้องโดยสาร ฝ่ายวิศวกรรมและบำรุงรักษาอากาศยาน ระบบการปฏิบัติการบนภาคพื้น ระบบการจัดการและความปลอดภัยในสินค้าและพัสดุ
ข่าวความคืบหน้า ‘โคราชคนอีสาน’ จะนำมาเสนออย่างชัดเจนต่อไป
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๒๘ วันเสาร์ที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๕ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๘
786 1,476