22ndNovember

22ndNovember

22ndNovember

 

July 25,2016

ครึ่งปีบีโอไออนุมัติ ๖ หมื่นล. ‘กัลฟ์’ ทุ่ม ๑๑,๔๙๐ ล้าน ผลิตไฟฟ้าไอน้ำโคราช

          บีโอไอเปิดเผยส่งเสริมลงทุนภาคอีสาน ครึ่งปีอนุมัติแล้ว ๘๒ โครงการ มูลค่า ๖๐,๙๓๑ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๑๑,๑๗๙ คน โคราชยังเนื้อหอม ๒๕,๐๐๗ ล้าน ‘กัลฟ์’ ได้รับอนุมัติผลิตไฟฟ้าไอน้ำที่หนองระเวียงอีก ๒ โครงการ รวม ๑๑,๔๙๐ ล้าน

          นายวีรพงษ์ ศิริวัน ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (บีโอไอ นครราชสีมา) เปิดเผยภาวะการส่งเสริมการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๙ มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๘๒ โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ ๖๐,๙๓๑ ล้านบาท การจ้างงาน ๑๑,๑๗๙ คน เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนโครงการ รวมทั้งมูลค่าเงินลงทุนและการจ้างงาน ถือว่ามีสัดส่วนการลงทุนลดลง โดยเป็นโครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น ๖๙ โครงการ หุ้นต่างชาติทั้งสิ้น (อินเดีย เกาหลี สิงคโปร์ เกาะเคย์แมน) ๔ โครงการ ร่วมหุ้นไทยและต่างชาติ (ไอซ์แลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมันนี นิวซีแลนด์ และตุรกี) ๙ โครงการ

          สำหรับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ถึง ๒๓ โครงการ ได้แก่ กิจการพลังไฟฟ้าจากน้ำมันยางดำและสารเคมีสำหรับการผลิตเยื่อกระดาษ กิจการผลิตไฟฟ้าไอน้ำและน้ำเพื่ออุตสาหกรรมจากก๊าซธรรมชาติ กิจการผลิต Hard Disk Drive, Head Stack Assy กิจการผลิตอาหารสัตว์ กิจการเนื้อสัตว์ปรุงสุกแช่แข็ง กิจการไก่ชำแหละ กิจการผลิตเยื่อกระดาษ กิจการผลิตไก่เนื้อ/ไข่ไก่ และกิจการยางแท่ง/ยางผสมและยางเครป นอกจากนี้ในส่วนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ๖๐ โครงการ ได้แก่ กิจการเลี้ยงไก่เนื้อ กิจการผลิตไม้อัด กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ กิจการผลิตเครื่องจักรสำหรับงานอุตสาหกรรม กิจการผลิต Voice Coil Motor(VCM) Assembly กิจการผลิต Knuckle กิจการผลิตข้าวคัดคุณภาพ กิจการผลิตไบโอแก๊ส กิจการไก่รุ่นพ่อแม่พันธุ์ ฯลฯ

          ผู้อำนวยการ บีโอไอ นครราชสีมา เปิดเผยถึงโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ ว่า มีจำนวน ๑๘ โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ ๒๔,๖๕๒ ล้านบาท การจ้างงาน ๒,๐๕๙ คน ได้แก่ กิจการผลิตอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์, กิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง, กิจการปลูกพืชระบบไฮโดรโปรนิกส์, กิจการผลิตยางแท่ง และยางผสม, กิจการผลิตพรม, กิจการผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์ แม่พิมพ์ อุปกรณ์จับยึด การซ่อมแซมแม่พิมพ์ และชิ้นส่วนโลหะ เช่น GEAR, SHAFT และ CONNECTING ROD เป็นต้น, กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำมันยางดำและสารเคมีสำหรับการผลิตเยื่อกระดาษ, กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลและพลังงานไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส, กิจการผลิตไฟฟ้าไอน้ำ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรมจากก๊าซธรรมชาติ, กิจการผลิตถุงมือยาง, กิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์, กิจการผลิตปลาและเนื้อปลาตัดแต่งแช่เย็นแช่แข็ง และกิจการผลิตสุกรเพื่อชำแหละ โดยมีรายละเอียดโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ ในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (จ.นครราชสีมา) ดังนี้

          ๑.กิจการผลิตอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ (Meat Processing) ในนาม บริษัท ก้าวหน้าฟู้ด จำกัด เงินลงทุน ๔๑ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดอุบลราชธานี ๒.กิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง (Native Starch) ในนาม บริษัท เอี่ยมธงชัยอุตสาหกรรม จำกัด เงินลงทุน ๔๐๐ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา ๓.กิจการปลูกพืชระบบไฮโดรโปรนิกส์ (Hydroponics Cultivation) ในนาม บริษัท เอ-เบสท์ จำกัด เงินลงทุน ๖ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา ๔.กิจการผลิตยางแท่ง และยางผสม (Block Rubber & Compound Rubber) ในนาม บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน ๗๔ ล้านบาท ร่วมหุ้นไทย-ไอร์แลนด์ ที่ตั้งโครงการจังหวัดอุบลราชธานี ๕.กิจการผลิตยางแท่ง และยางผสม (Block Rubber & Compound Rubber) ในนาม บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน ๗๔ ล้านบาท ร่วมหุ้นไทย-ไอร์แลนด์ ที่ตั้งโครงการจังหวัดศรีสะเกษ

          ๖.กิจการผลิตพรม (Carpet) ในนาม บริษัท เวสท์วูลส์ อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด เงินลงทุน ๒๕ ล้านบาท หุ้นต่างประเทศทั้งสิ้น (อินเดีย) ที่ตั้งโครงการนครราชสีมา ๗.กิจการผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์ แม่พิมพ์ อุปกรณ์จับยึด การซ่อมแซมแม่พิมพ์ และชิ้นส่วนโลหะ เช่น GEAR, SHAFT และ CONNECTING ROD เป็นต้น ในนาม นายธิเบต รุ่งโรจน์กิตติยศ เงินลงทุน ๑๕๐ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา ๘.กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำมันยางดำและสารเคมีสำหรับการผลิตเยื่อกระดาษ (Electricity Power from Black Liquor) ในนาม บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ ๑๒ จำกัด เงินลงทุน ๙,๑๖๐ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดบุรีรัมย์ ๙.กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลและพลังงานไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส (Electricity Power from Bio Mass & Electricity Power from Bio Gas) ในนาม บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด เงินลงทุน ๒๐๐ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา ๑๐.กิจการผลิตไฟฟ้าไอน้ำ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรมจากก๊าซธรรมชาติ (Electricity Power Steam/Demineralized Water) ในนาม บริษัท กัลฟ์ เอ็นอาร์วี ๒ จำกัด เงินลงทุน ๕,๗๔๕ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา และ ๑๑.กิจการผลิตไฟฟ้าไอน้ำ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรมจากก๊าซธรรมชาติ (Electricity Power Steam/Demineralized Water) ในนาม บริษัท กัลฟ์ เอ็นอาร์วี ๑ จำกัด เงินลงทุน ๕,๗๔๕ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดนครราชสีมา

          สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๓ (บีโอไอ ขอนแก่น) ประกอบด้วย ๑.กิจการผลิตถุงมือยาง (Medical Latex Gloves & Rubber Pillow) ในนาม บริษัท ทรัสต์ รับเบอร์ อินดัสตรี จำกัด เงินลงทุน ๓๖ ล้านบาท ร่วมหุ้นตุรกี ที่ตั้งโครงการจังหวัดมุกดาหาร ๒.กิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์ (Ready Meal (Meat Product)) ในนาม บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด เงินลงทุน ๓๕๐ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดกาฬสินธุ์ ๓.กิจการผลิตปลาและเนื้อปลาตัดแต่งแช่เย็นแช่แข็ง (Froze Surimi) ในนาม บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด เงินลงทุน ๗๐ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดกาฬสินธุ์ ๔.กิจการผลิตสุกรเพื่อชำแหละ (Slaughterhouse & Hod Carcass) ในนาม บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด เงินลงทุน ๖๔๘ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดกาฬสินธุ์ ๕.กิจการผลิตยางแท่ง และยางผสม (Block Rubber & Compound Rubber) ในนาม บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน ๗๔ ล้านบาท ร่วมหุ้นไทย-ไอร์แลนด์ ที่ตั้งโครงการจังหวัดกาฬสินธุ์

          ๖.กิจการผลิตยางแท่ง และยางผสม (Block Rubber & Compound Rubber) ในนาม บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน ๗๔ ล้านบาท ร่วมหุ้นไทย-ไอร์แลนด์ ที่ตั้งโครงการจังหวัดมุกดาหาร และ ๗.กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ไอน้ำ (Electricity Power from Bio Mass/Steam) ในนาม บริษัท มิตรผล ไบโอเพาเวอร์(กุฉินารายณ์) จำกัด เงินลงทุน ๑,๗๘๐ ล้านบาท หุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งโครงการจังหวัดกาฬสินธุ์

           นอกจากนี้ บีโอไอ ยังสรุปสถิติโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๙ ดังนี้ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติ ๗ โครงการ มูลค่า ๓,๕๕๙ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๑,๗๐๑ คน, นครราชสีมา จำนวน ๒๓ โครงการ มูลค่า ๒๕,๐๐๗ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๓,๕๖๘ คน, อุดรธานี จำนวน ๔ โครงการ มูลค่า ๑,๖๙๓ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๒๒๐ คน, บุรีรัมย์ จำนวน ๒๐ โครงการ มูลค่า ๒๐,๔๗๓ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๑,๙๘๔ คน, สกลนคร จำนวน ๓ โครงการ มูลค่า ๑,๖๕๕ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๔๔๑ คน, อุบลราชธานี จำนวน ๖ โครงการ มูลค่า ๒,๔๙๗ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๑,๕๓๔ คน, นครพนม จำนวน ๒ โครงการ มูลค่า ๑,๑๑๔ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๓๒๒ คน, ศรีสะเกษ จำนวน ๓ โครงการ มูลค่า ๑,๓๗๓ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๓๖๒ คน, มุกดาหาร จำนวน ๓ โครงการ มูลค่า ๙๔๑ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๑๙๘ คน, ยโสธร จำนวน ๒ โครงการ มูลค่า ๘๑๘ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๑๖๔ คน, บึงกาฬ จำนวน ๑ โครงการ มูลค่า ๘๒๖ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๑๑๖ คน, สุรินทร์ จำนวน ๔ โครงการ มูลค่า ๓๒๔ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๒๔๔ คน, ร้อยเอ็ด จำนวน ๑ โครงการ มูลค่า ๒๐๐ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๓๓ คน, ขอนแก่น จำนวน ๒ โครงการ มูลค่า ๑๕๑ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๒๒๗ คน, อำนาจเจริญ จำนวน ๑ โครงการ มูลค่า ๓๐๐ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๖๕ คน (จังหวัดชัยภูมิ มหาสารคาม หนองคาย เลย และหนองบัวลำภู ไม่มีการอนุมัติ) รวมทั้งสิ้น ๘๒ โครงการ มูลค่า ๖๐,๙๓๑ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๑๑,๑๗๙ คน

          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริษัท กัลฟ์ เอ็นอาร์วี ๒ จำกัด และบริษัท กัลฟ์ เอ็นอาร์วี ๑ จำกัด ซึ่งผ่านการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในครั้งนี้ ๒ โครงการ โดยมีเงินลงทุนโครงการละ ๕,๗๔๕ ล้านบาท รวม ๑๑,๔๙๐ ล้านบาท เพื่อผลิตไฟฟ้าไอน้ำ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรมจากก๊าซธรรมชาติ (Electricity Power Steam/Demineralized Water) นั้น เป็นบริษัท ในเครือของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ และบริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยการขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าหนองระเวียง ๑ และโครงการโรงไฟฟ้าหนองระเวียง ๒ ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี ตำบลหนองระเวียง อำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าหนองระเวียง ๑ ในนามบริษัท กัลฟ์ เอ็นอาร์วี 1 จำกัด จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า มีทุนจดทะเบียนปัจจุบัน ๒๕ ล้านบาท มีกรรมการบริษัท ๓ คน คือ นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์, นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ และนายบุญชัย ถิราติ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าหนองระเวียง ๒ ในนามบริษัท กัลฟ์ เอ็นอาร์วี 2 จำกัด จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าเช่นเดียวกัน มีทุนจดทะเบียนปัจจุบัน ๒๕ ล้านบาท มีกรรมการบริษัท ๓ คน คือ นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์, นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ และนายบุญชัย ถิราติ โดยบริษัททั้งสองตั้งอยู่สถานที่เดียวกัน คือ เลขที่ ๘๗ อาคารเอ็มไทย ทาวเวอร์ ออลซีซั่น เพลส ชั้น ๑๑ ถนนวิทยุ  แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

          โดยบริษัท กัลฟ์ เอ็นอาร์วี 1 จำกัด และบริษัท กัลฟ์ เอ็นอาร์วี 2 จำกัด ในเครือบริษัท กัลฟ์ เอ็นอาร์วี จำกัด ตั้งโรงไฟฟ้าหนองระเวียง ๑ และโครงการโรงไฟฟ้าหนองระเวียง ๒ ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่บริเวณใกล้เคียง โดยโรงไฟฟ้าแต่ละโครงการสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ๑๓๗ เมกะวัตต์ (MW) และไอน้ำประมาณ ๓๐ ตันต่อชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ไม่มีเชื้อเพลิงสำรอง โดยรับก๊าซธรรมชาติจากแนวท่อก๊าซธรรมชาติ เส้นทางสระบุรี-นครราชสีมา ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผ่านทางท่อส่งก๊าซธรรมชาติขนาด ๑๒ นิ้ว ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจาก Sale tap ภายในสถานีควบคุมแรงดันของ ปตท. มาสิ้นสุดที่โรงไฟฟ้าหนองระเวียง ๑ และมีท่อขนาด ๘ นิ้ว เชื่อมต่อจากแนวท่อของโรงไฟฟ้าหนองระเวียง ๑ ต่อไปยังโรงไฟฟ้าหนองระเวียง ๒ โดยจะทำการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันก๊าซ (Combustion Turbine Generators: CTGs) จำนวน ๒ ชุด/โครงการ, หน่วยผลิตไอน้ำ (Heat Recovery Steam Generation: HRSG) จำนวน ๒ ชุด/โครงการ, เครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันไอน้ำ (Steam Turbine Generator: STG) จำนวน ๑ ชุด/โครงการ และเครื่องควบแน่นประเภทระบายความร้อนด้วยอากาศ (Air Cooled Condenser) จำนวน ๑ ชุด/โครงการ ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๓๗๕ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ - วันจันทร์ที่ ๒๕ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙


785 1,462