January 06,2017
Roots The Saga of an American Family
เห็นภาพยนตร์โฆษณาหนังซีรีส์เรื่องใหม่ของค่าย History Channel เรื่อง Roots ซึ่งไม่ทราบว่า ทีวีดิจิทัลช่องไหนจะซื้อมาออกอากาศให้ได้ชมกัน ซีรีส์เรื่องนี้เป็นการรีเมคจากของเก่าที่สร้าง และออกฉายทางโทรทัศน์ เมื่อปี ค.ศ.๑๙๗๗ ยุคนั้น สิ่งบันเทิงก็มีเพียงหนังโรงและโทรทัศน์เท่านั้น เครื่องเล่นวิดีโอยังไม่แพร่หลาย อาจมีอยู่บ้างตามบ้านของเศรษฐีมีสตางค์ พอซีรีส์เรื่องนี้ถูกนำออกฉาย จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจคอหนังฝรั่งทั้งหลาย ถึงกับหยุดกิจกรรมนอกบ้านในวันที่ซีรีส์เรื่องนี้แพร่ภาพ
Roots เป็นซีรีส์เรื่องยาวติดต่อกันหลายตอน สร้างจากนวนิยาย ประพันธ์โดย Alex Haley อดีตนาวิกโยธินที่ผันตัวเองมาเป็นนักเขียน เนื้อหาหลักเป็นการสืบเสาะค้นหาต้นตอแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่ถูกจับใส่เรือมาขายเป็นทาสย้อนหลังไปตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๗๕๐ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของการสืบเชื้อสายกันต่อๆ มา ของวงศ์ตระกูลของผู้ประพันธ์เอง เขาดั้นด้นเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จากเรื่องเล่าจากคุณย่าคุณยายที่ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ค้นคว้าหาหลักฐานจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เป็นเวลาถึง ๑๒ ปี จึงรวบรวมเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นมากลั่นกรองเป็นนวนิยายชื่อ Roots : The Saga of an American Family ตีพิมพ์ออกจำหน่าย ในปี ค.ศ. ๑๙๗๖ ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานมโหฬารที่จะต้องกลายเป็นวรรณกรรมคลาสิคของอเมริกา
ด้วยคำพูดไม่กี่คำจากการสนทนาบนระเบียงบ้านในยามค่ำของผู้เฒ่าผู้แก่ บอกกล่าวถึงชายอัฟริกันที่ชื่อ คุนต้า คินเต้ ถูกจับขึ้นเรือ ขณะเข้าไปในป่าเพื่อตัดไม้มาทำกลอง ข้ามน้ำข้ามทะเลถึง ๙๐ วัน มาขึ้นฝั่งอเมริกาที่นาปลิส (เป็นสำเนียงพูดของคุนต้าที่จดจำกันต่อๆ มา ซึ่งพอค้นคว้าไปแล้วก็คือ เมืองท่า Annapolis) ถูกขายไปทำงานในไร่ เมื่อรับรู้ชะตากรรมว่าจะไม่มีวันได้กลับไปสู่บ้านเกิดเมืองนอนอีกแล้ว เขาพร่ำสอนลูกหลานให้ได้รู้ว่า เราเป็นใคร มาจากไหน เขาเรียกกีตาร์ว่า “โก” ชี้ไปที่แม่น้ำแล้วออกเสียงว่า “แกมบีโบลองโก”
ด้วยร่องรอยเท่านี้ อเล็กซ์ ฮาเล่ย์ ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้น สืบหาหลักฐานค้นคว้าตามหอจดหมายเหตุ, รายงานการค้าทาส, รายงานการเข้าออกของเรือสินค้า พบปะพูดคุยกับผู้คนมากหน้าหลายตา ฯลฯ มานะบากบั่นอยู่นานปี ในที่สุด ความพยายามของเขาก็เป็นผลสำเร็จ อเล็กซ์ ฮาเล่ย์ ปะติดปะต่อเรื่องราวเข้าด้วยกัน จนได้พบกับหมู่บ้านจูฟเฟอเร ประเทศแกมเบีย ชายฝั่งตะวันตกของทวีปอัฟริกา หมู่บ้านที่เป็นที่พักพิง ของ คุนต้า คินเต้ บรรพบุรุษของเขา ฟังผู้เฒ่าของหมู่บ้านลำดับเรื่องราวต่างๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดต่อๆ กันมานับร้อยปี เรื่องราวที่กล่าวถึงเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เข้าป่าไปตัดไม้มาทำกลอง และไม่มีใครได้พบเขาอีกเลย ซึ่งตรงกับข้อมูลที่เขาได้สืบเสาะและได้รับฟังมาภาพยนตร์เริ่มต้นที่ การไล่จับกวาดต้อนชาวอัฟริกันล่ามโซ่ขึ้นเรือบรรทุกสินค้า แออัดอยู่ใต้ท้องเรือ ที่เต็มไปด้วยกองอาจมส่งกลิ่นคละคลุ้ง รอนแรมอยู่กลางทะเล กว่าจะถึงฝั่งทวีปอเมริกาก็ต้องสังเวยชีวิตไปถึง ๔๐ กว่าราย คุนต้า คินเต้ ถูกนำขึ้นฝั่งที่ท่าเมือง Annapolis รัฐ Maryland ในปี ค.ศ. ๑๗๖๗ ถูกประมูลขายให้กับนายจอห์น เวลเลอร์ เพื่อทำงานในไร่พื้นที่หลายพันเอเคอร์ที่เมือง Spotsylvania รัฐ Virginia ตลอดเวลาที่อยู่ในไร่ เขาพยายามหลบหนีทุกครั้งที่มีโอกาส โดยที่ไม่รู้ว่าหนทางนั้นจะนำเขาไปสู่ดินแดนแห่งหนไหน ทำให้เขาต้องถูกตัดเท้าเพื่อจะได้ไม่คิดหนีอีกต่อไป (ในนวนิยายเขียนไว้เช่นนั้น แต่คิดว่าน่าจะเป็นการตัดนิ้วเท้ามากกว่า)
ต่อมา คุนต้า ก็ได้แต่งงานอยู่กินกับทาสสาว ชื่อ เบล คนทำครัวประจำบ้าน มีบุตรสาวด้วยกัน ชื่อ คิสซี่ จากนั้นมาเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นการบอกเล่า ถึงการแพร่ขยายของทายาทคุนต้า คินเต้ จากรุ่นสู่รุ่น ผจญกับยุคสงครามกลางเมือง (Civil War) จนถึงการประกาศเลิกทาสของประธานาธิบดีลินคอล์น ลูกหลานเชื้อสายของคุนต้า คินเต้ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชาติของอเมริกา ประกอบธุรกิจตั้งรกรากอยู่ที่ Tenning Lauderdale รัฐ Tennessee มีฐานะที่มั่นคงมาจนถึงรุ่นของ อเล็กซ์ ฮาเล่ย์ บรรพบุรุษที่ย้อนขึ้นไปถึง ๗ ชั่วอายุคน จนเป็นผลสำเร็จ เขียนเป็นนวนิยายเล่มใหญ่ และกลายเป็นวรรณกรรมอมตะมาจนทุกวันนี้ ภาพยนตร์ซีรีส์ต้นฉบับที่สร้างในปี ค.ศ. ๑๙๗๗ กำกับการแสดงโดย ผู้กำกับ ถึง ๔ คน คือ Marvin J.Chomsky John Erman David Greene และ Gilbert Moses
ย้อนกลับไปหลายร้อยปีก่อน ในยุคสมัยที่เรายังเชื่อกันว่า โลกเรามีลักษณะแบนราบ เมื่อนักเดินเรือชาวยุโรปแล่นเรือมาถึงทวีปอเมริกา พวกเขาเข้าใจว่า นั่นคือ อินเดีย จึงเรียกชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ที่นั่นว่า “อินเดียน” จากนั้น ชาวยุโรป ก็พากันหลั่งไหลอพยพเดินทางมาสู่ทวีปใหม่กันมากขึ้น จับจองพื้นที่ทำมาหากินแพร่ขยายไปทั่ว แต่ละรายครอบครองที่ดินกันรายละหลายพันเอเคอร์ เพื่อทำเกษตรกรรม ไร่ฝ้าย, อ้อย, กาแฟ และทำปศุสัตว์ ฯลฯ ความต้องการแรงงานจึงมีมาก จนต้องมีการไปกวาดต้อนผู้คนจากทวีปอัฟริกามาเป็นทาสทำงานในไร่ มีการซื้อขายกันเหมือนวัวควาย พวกทาสผิวดำถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์ด้วยกัน ถูกเฆี่ยนตีอย่างโหดร้ายทารุณ หากทำอะไรไม่เป็นที่พอใจของคนผิวขาวผู้เป็นนาย และถ้าหลบหนี ก็จะมีหน่วยออกตามไล่ล่า พวกทาสมีชีวิตอย่างทนทุกข์ทรมานมานับร้อยปี จนถึงปี ค.ศ. ๑๘๖๓ ประธานาธิบดีอับบราฮัม ลินคอล์น ตรากฎหมายยกเลิกการมีทาส พวกทาสทั้งหลายซึ่งมีจำนวนถึง ๓.๑ ล้านคน จึงเป็นอิสระเป็นเสรีชนนับแต่บัดนั้น
ทุกวันนี้ ลูกหลานทาสผิวดำในอดีต ได้ขยายเผ่าพันธุ์เพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอีกมากมาย เป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาพวกเขาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ได้ดีขึ้น ในบรรดาผู้มีการศึกษาดี ก็ได้เข้าไปมีส่วนในการบริหารประเทศในทุกๆ ด้าน เช่น การศึกษา, การกีฬา, การทหาร, เศรษฐกิจการเงิน และการเมือง แต่ก็มีอีกไม่น้อย ที่ยังยากจนและด้อยโอกาส ก่ออาชญากรรมสร้างความเดือดร้อนกับสังคม ดังปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง
จะเรียกว่า กรรมตามสนองก็ว่าได้ เขาอยู่บ้านเมืองของเขาดีๆ ไปจับเขามาเป็นทาส ก่อกรรมทำเข็ญ ปฏิบัติต่อเขาเยี่ยงสัตว์ ก็ต้องรับกรรมไปเถิด อเมริกา May God Bless you America
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๐๘ วันศุกร์ที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๐ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐
713 1,497