Thailand Web Stat
 

6thJanuary

6thJanuary

6thJanuary

 

March 27,2017

‘รถไฟรางเบา’คู่ควรโคราช เริ่ม ๓ สาย‘เขียว ส้ม ม่วง’ แบมือขอรัฐบาล ๑๕,๐๐๐ ล้าน


เส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ  รถขนส่งมวลชนขนาดเบาด้วยรางในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา

                สนข.เปิดเวทีฟังความเห็นอีกครั้ง หลังได้บทสรุปหลายเวที ประชาชนคิดว่า รถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT เหมาะกับสภาพนครโคราชมากสุด มีทั้งวิ่งบนถนน และทางต่างระดับ เสนอก่อสร้าง ๓ เส้นทางแรก “สายสีเขียว-สีส้ม-ม่วง” คาดแก้ไขปัญหาจราจรได้ทั้งระบบ และพัฒนาเมืองให้ดีมากขึ้น พร้อมเสนอให้ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น เชื่อมเป็นระบบทุกเส้นทาง คาดเสนอขออนุมัติงบประมาณจากรัฐบาล ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท  อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง http://www.koratdaily.com/blog.php?id=4111

                เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ ๒ โดยศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา โดยมีนายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. เป็นประธานเปิดการสัมมนา พร้อมด้วย ศ.ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ผู้จัดการโครงการ รศ.ดร.ฉัตรชัย โชติษฐยางกูร ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม ดร.สมพงษ์ ปักษาสวรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการขนส่งและจราจร นายพลพฤทธิ์ พนาสถิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง ตัวแทนภาครัฐภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมสัมมนา ณ โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช

โคราชมีปัญหาจราจร

                นางสาวกรุณา เนียมเอี่ยม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สนข. กล่าวรายงานว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ด้านคมนาคมทางบก เริ่มจากการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร และรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงเทพมหานครกับเมืองบริวารเพิ่มเติม กระทรวงคมนาคมจึงมีนโยบายพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.๒๕๕๘–๒๕๖๕มีเป้าหมายเพื่อการเสริมสร้างรากฐานความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ ความปลอดภัย และสร้างโอกาสในการแข่งขัน ให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชมคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กระทรวงคมนาคมเห็นว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองหลักในภูมิภาคหนึ่งที่มีปัญหาด้านการขนส่งและจราจร มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางการเดินทางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ตั้งของแหล่งอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งลักษณะดังกล่าวทำให้จังหวัดนครราชสีมาเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เกิดปัญหาการ กระจุกตัวของปริมาณความต้องการด้านการขนส่งและการเดินทางที่หนาแน่น โดยเฉพาะปัญหาการจราจรในช่วงเทศกาลสำคัญ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่จำกัดและทำให้ความสามารถในการกระจายสินค้าและบริการ ตลอดจนการขนส่งสาธารณะเกิดความไม่คล่องตัว จนถึงปัญหาสภาพการจราจรภายในจังหวัด 

เปิดเวทีฟังความเห็นครอบคลุม

                นายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเปิดการสัมมนาว่า เป็นโอกาสอันดีที่จังหวัดนครราชสีมามีการจัดทำแผนแม่บทในเรื่องของการจราจร และแผนแม่บทในเรื่องของการขนส่งสาธารณะ ต้องยอมรับว่าในนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีการเติบโตด้านเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ระบบการจราจร การขนส่งสาธารณะถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ยอมรับในเรื่องการเติบโตของเมืองด้วย ในการศึกษาแผนแม่บทนี้จะบอกทั้งระบบของการจัดการจราจร ตลอดจนระบบขนส่งที่จะรับต่อและส่งต่อ ไม่ได้มองแค่ว่าจะจัดการจราจร การขนส่งในระบบของนครราชสีมาอย่างไรเท่านั้น แต่จะมองถึงว่าจะรับช่วงจากส่วนอื่นและส่งต่อไปยังส่วนอื่นอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในการสัมมนาวันนี้จะนำไปสู่การจัดทำแผนเพื่อนำมาพิจารณาในช่วงต่อไป ที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศส่วนมากจะเป็นแบบชิ้นส่วนแยกออกมา โดยไม่มีแผนหลักที่จะมาพัฒนา เพราะฉะนั้นการจะพัฒนาในส่วนๆ หนึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาในอีกส่วนหนึ่ง จึงทำให้โครงการที่ดีบางครั้งขาดประสิทธิภาพในการที่จะนำไปใช้ประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ได้ทราบว่าจังหวัดนครราชสีมาเป็น ๑ ใน ๕ จังหวัดในการที่จะเป็นแผนแม่บทนำร่องในการที่จะดำเนินการตรงนี้


  นายชัยวัฒน์  ทองคำคูณ 

จราจรหนาแน่น

                นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สนข. ได้ลงพื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อหารือหรือพบปะกับกลุ่มผู้นำชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๑๒ ครั้ง และได้มีการจัดสัมมนาใหญ่ไปแล้วจำนวน ๑ ครั้ง เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการตั้งแต่ขั้นตอนศึกษา การวางแผนโครงการ เพื่อให้การดำเนินการตัดสินใจในการดำเนินโครงการฯ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ชอบธรรมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า ระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับเมืองนครราชสีมา คือ ระบบรถรางเบาระดับพื้น (High Floor) ซึ่งจะเป็นระบบหลัก มีระบบรถโดยสาร (Bus Technology) เป็นระบบรอง สำหรับแนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ มีทั้งหมด ๓ เส้นทางหลัก ได้แก่ สายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง โดยจุดจอดแต่ละสถานี จะมีระยะห่างกันประมาณ ๑ กิโลเมตร

ระบบขนส่งสาธารณะช่วยพัฒนาเมือง

                ศ.ดร.สุขสันติ์ กล่าวต่อว่า โครงการศึกษาแผนแม่บทฯ จะประกอบด้วยองค์ประกอบ ๔ อย่าง คือ ๑. แนวคิดการจัดทำแผนแม่บท โดยแนวคิดเกิดจากการสำรวจข้อมูลปริมาณการจราจรเป็นเวลา ๓ เดือน จำนวนปริมาณจราจรทั้งหมด ๕,๓๔๗ คันต่อวัน โดยพบว่า ๔% เป็นคนที่วิ่งอยู่ในเขตเมืองนครราชสีมา ๔๕% เป็นกลุ่มคนที่วิ่งเข้า-ออกในเขตเมืองนครราชสีมา และ ๕๑% เป็นกลุ่มคนที่วิ่งผ่านเขตเมืองนครราชสีมา ฉะนั้นจากข้อมูลที่ได้จึงแบ่งแนวคิดการจัดทำแผนแม่บทออกเป็น ๒ แนวคิด คือ จัดการกับกลุ่มคน ๕๑% ซึ่งไม่เกี่ยวกับในเขตตัวเมือง แต่เป็นจุดที่ทำให้เกิดปัญหารถติด โดยคาดว่าจะบริหารให้กลุ่มนี้วิ่งรถออกนอกเมืองไปเลย ทั้งนี้ จึงได้จัดทำแผนแม่บทโดยการจัดวางโครงข่ายวงแหวนชั้นนอกและชั้นใน เพื่ออำนวยความสะดวกให้รถที่ไม่ได้ต้องการวิ่งเข้ามาในเมือง และกลุ่ม ๔๙% ที่เหลือ ซึ่งเป็นกลุ่มคนโคราชที่ใช้รถในเขตตัวเมือง จะจัดการโดยพยายามรวมให้กลุ่มคนที่ใช้รถส่วนตัว หันกลับมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

                ๒. เส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ โดยการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางของคนในโคราช พบว่าการเดินทางของคนโคราชกระจายไปในทุกทิศทาง จึงจัดทำเส้นทางการเดินรถเป็น ๓ สายคือ สายสีเขียว เส้นทางเริ่มจากบ้านห้วยยาง เซฟวัน หัวรถไฟ ย่าโม โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช จากนั้นไปที่แยกจอหอ และขนส่งจังหวัด สายสีม่วง เส้นทางเริ่มจาก ตลาดเซฟวัน โรงแรมสีมาธานี เดอะมอลล์ เทอร์มินอล ๒๑ ม.วงษ์ชวลิตกุล และค่ายสุรนารายณ์ สุดท้ายสายสีส้ม เส้นทางเริ่มจาก สำนักงานทรัพยากรน้ำ ย่าโม เทอร์มินอล ๒๑ บขส.๒ และศาลากลาง โดยจะแบ่งการดำเนินการออกเป็น ๓ ระยะ ซึ่งในเฟสแรกจะเป็นเส้นทางสายสีเขียวและสีส้ม ช่วงพ.ศ.๒๕๖๓-๒๕๖๕ เฟสที่สอง เป็นเส้นทางสายสีม่วง ช่วงพ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๖๘ และเฟสสุดท้าย เป็นเส้นทางส่วนต่อขยายช่วง พ.ศ.๒๕๖๙-๒๕๗๑

                ๓. รูปแบบระบบขนส่งสาธารณะ เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์หลักในด้านความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสมทางกายภาพ ศักยภาพในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร ต้นทุนที่เกี่ยวข้องและค่าโดยสาร รวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน พบว่า ระบบขนส่งสาธารณะ รูปแบบ LRT หรือรถไฟรางเบา และเป็นระบบวิ่งบนพื้นดินจะเหมาะสมกับเมืองโคราชมากที่สุด และ ๔. รูปแบบและการจัดการพื้นที่รอบสถานี มีทั้งหมด ๔ กลุ่ม คือ สถานีขนาดเล็กตั้งอยู่ริมถนน, สถานีขนาดกลางตั้งอยู่ริมถนน, สถานีขนาดกลางตั้งบนเกาะกลางถนน และจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินรถบริเวณลานย่าโม


ศ.ดร.สุขสันติ์  หอพิบูลสุข

จัดมาแล้วหลายเวที

                ทางด้าน รศ.ดร.ฉัตรชัย โชติษฐยางกูร ชี้แจงถึงผลของการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม ซึ่งก่อนหน้านี้จัดเวทีให้ความรู้กับภาครัฐภาคเอกชน และตัวแทนประชาชน ในจังหวัดนครราชสีมา โดยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นช่วงที่ ๒ ขึ้น ตามพื้นที่หลักๆ แบ่งเป็น ๕ ทิศ ในจังหวัดนครราชสีมา โดยทิศตะวันตก จัดที่เทศบาลตำบลเมืองใหม่โคกกรวด ครอบคลุมเขตพื้นที่ ต.โคกกรวด, ต.เมืองใหม่โคกกรวด, ต.ขามทะเลสอ, ต.บ้านใหม่, ต.สีมุม และ ต.พลกรัง มีผู้เข้าร่วม ๒๘ คน

                ทิศเหนือ จัดที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ๓ ต.จอหอ ครอบคลุมเขตพื้นที่ ต.จอหอ, ต.โคกสูง, ต.พุดซา, ต.หนองไข่น้ำ, ต.ตลาด, ต.หมื่นไวย, ต.หนองกระทุ่ม, ต.บ้านโพธิ์ และ ต.บ้านเกาะ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม ๕๖ คน ส่วนทิศตะวันออก จัดที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ ๕ ครอบคลุมเขตพื้นที่ ต.หัวทะเล, ต.หนองระเวียง, ต.พะเนา, ต.มะเริง และ ต.หนองบัวศาลา มีผู้เข้าร่วมประชุม ๖๔ คน ในขณะที่ทิศใต้ จัดที่โรงแรมโคราชรีสอร์ท ครอบคลุมเขตพื้นที่ ต.โพธิ์กลาง, ต.หนองไผ่ล้อม, ต.ปรุใหญ่ ต.ไชยมงคล, ต.สุรนารี และ ต.หนองจะบก มีผู้เข้าร่วมประชุม ๔๓ คน และในเขตกลางเมืองเทศบาลนครนครราชสีมา จัดที่โรงแรมวีวัน ครอบคลุมเขตพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมา แบ่งเป็น ๒ เวที มีผู้เข้าร่วมประชุม ๙๗ คน และตัวแทนจากภาคธุรกิจอีก ๒๙ คนที่เข้าร่วมประชุม รวมแล้ว ๓๑๗ คนที่เข้าร่วม

ครบทั้ง ๓ เฟสในปี ๒๕๗๒

                ด้านรายละเอียดการบูรณาการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับจังหวัดนครราชสีมา ดร.สมพงษ์ ปักษาสวรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการขนส่งและจราจร เปิดเผยว่า การก่อสร้างในเฟสที่ ๑ จะเริ่มต้นจากแนวเส้นทางสายสีเขียวและสายสีส้ม โดยสายสีเขียวจะแบ่งเป็นเขียวเข้มและเขียวอ่อน ส่วนสายสีส้มก็แบ่งเป็นส้มเข้มและส้มอ่อน เนื่องจากต้องการที่จะพัฒนาในย่านธุรกิจ ย่านชุมชนเมือง โรงเรียนต่างๆ เสียก่อน แล้วจึงจะเป็นในเฟสที่ ๒ สายสีม่วง และเฟสที่ ๓ ส่วนต่อขยายตามลำดับ โดยการก่อสร้างทั้งหมดใช้ระยะเวลารวม ๑๐ ปี โดยอย่างเร็วที่สุดในการดำเนินการคือปี ๒๕๖๖ เฟสที่ ๑-๒ แล้วเสร็จในปี ๒๕๖๙ และเฟสที่ ๓ ในปี ๒๕๗๒ เนื่องจากทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ทั้งในเรื่องของงบประมาณ มีเรื่องของการพัฒนาอีกหลายด้าน รวมถึงเรื่องของถนนวงแหวน การจัดการจราจรใหม่ ทุกเรื่องต้องนำมาประกอบการพิจารณาด้วย

เปลี่ยนจากรถยนต์มาใช้ขนส่งสาธารณะ

                นายพลฤทธิ์ พนาสถิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง สนข. กล่าวว่า ในเมืองจะต้องมีการนำระบบขนส่งสาธารณะเข้ามาใช้ โดยจะต้องเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ไปสู่การเพิ่มการใช้งานระบบขนส่งสาธารณะ ส่วนเรื่องการใช้รถยนต์ก็ให้เป็นเรื่องของถนนเส้นรอบนอก ซึ่งมาจากการสร้างโครงข่ายวงแหวนทั้งรอบในและรอบนอกไว้ให้แล้ว การเข้าถึงย่านการค้าดั้งเดิม วัฒนธรรม แหล่งนันทนาการ ฯลฯ ให้เข้ามาโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นหลัก ทั้งนี้โคราชเป็นเมืองที่มีนักเรียน นักศึกษาจำนวนมาก แต่จะดึงเขาเข้ามาในย่านต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้ได้อย่างไร อีกทั้งนักศึกษาส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งไม่อยากให้ใช้เพราะเกิดอันตรายง่าย ดังนั้นระบบขนส่งสาธารณะก็เป็นอีกทางหนึ่ง ซึ่งนี่คือประโยชน์ทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่ไม่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เชื่อว่าโคราชจะเป็นศูนย์กลางได้เมื่อมีระบบขนส่งสาธารณะเข้ามา ในส่วนของพื้นที่จะต้องถูกพัฒนาเพื่อให้เกิดกิจกรรม เมื่อเกิดกิจกรรมคนก็จะเข้ามาในพื้นที่กิจกรรมด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะมีรายได้ ซึ่งจะเป็นเหมือนวงจร พื้นที่ต้องมีความหนาแน่น น่าสนใจ ระบบขนส่งสาธารณะก็ต้องมีศักยภาพและเกิดประสิทธิภาพในการใช้งานทั้งหมด

                นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เสนอแนะว่า ก่อนที่จะมีการลงทุนสร้าง LRT กันจริงๆ อยากให้มีการศึกษาเพื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด ไม่อยากให้เป็นเหมือนกรณี Airport Link ซึ่งผลประกอบการไม่ดี มีผู้ใช้งานจริงน้อย โดยมีความเห็นว่าควรนำรถ BRT มาทดลองขนส่งในแนวเส้นทางตามแผนแม่บทฯ ดูก่อนว่า ผลจะเป็นอย่างไร ประชาชนจะให้การตอบสนองกับระบบขนส่งสาธารณะในเส้นทางดังกล่าวอย่างดีหรือไม่ ซึ่งผู้แทน สนข. กล่าวว่า เป็นข้อคิดเห็นที่ดี จะรับไปพิจารณาเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อไป

 งบประมาณ ๑๕,๐๐๐ ล้าน

                ทางด้านศ.ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ผู้จัดการโครงการ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า งบประมาณในการก่อสร้างโครงการนี้ประมาณ ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลในการให้ทุน ซึ่งทางเราพยายามทำให้ดีที่สุด จะต้องเสนอแผนไปยังสนข. จากนั้น สนข.จะนำแผนเสนอให้รัฐบาล ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่รัฐบาลจะให้งบประมาณสนับสนุนเท่าไหร่ ถ้ารัฐบาลเห็นว่ามีคุณค่า คิดว่าในระยะประมาณ ๔-๕ ปี คงเริ่มก่อสร้างได้ เพราะหลังจากที่รัฐบาลอนุมัติ จะต้องใช้เวลาในการจัดทำแบบรายละเอียดที่สมบูรณ์มาใช้ในการออกแบบ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา สำหรับเรื่องระบบอย่างที่ได้แจ้งไปแล้วว่า มี ๒ ระบบ คือ BRT (รถบัส) และ LRT (รถราง) ที่เหมาะสมกับระดับความเร็ว และพื้นที่โคราช หลังจากการที่มีการเปิดเวลารับฟังความเห็นแล้ว ก็พบว่า LRT มีคะแนนลำดับที่ดีกว่าระบบ BRT จึงสรุปออกมาว่า LRT เหมาะสมกับโคราชมากกว่า

 

 

 

โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจากนสพ. โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๒๔ วันอาทิตย์ที่ ๒๖ - วันศุกร์ที่ ๓๑ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

 


870 1,718