15thDecember

15thDecember

15thDecember

 

July 30,2011

อ้างปชช.นิยมสองแถวเมินปรับอากาศ เปิดทางปรับมาตรฐานต่ำลง

ประชาชนร้องผู้ประกอบการรถโดยสารปรับรูปแบบรถเปลี่ยนมาตรฐาน หวั่นการสวมสิทธิ์กระทำผิดเงื่อนไขที่ระบุในการขอสัมปทาน ด้านขนส่งจังหวัดแจงกฎหมายไม่กำหนดให้ใช้รถประเภทเดียวตลอด สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม และไม่ใช่เหตุที่จะเพิกถอนใบอนุญาต ระบุสองแถวได้รับความนิยมกว่ารถปรับอากาศ

ตามที่มีประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาร้องเรียนเข้ามายัง “โคราชคนอีสาน” กรณีที่รถโดยสารปรับอากาศสายสีม่วงคาดขาว เดินรถระหว่างสถานีขนส่งแห่งใหม่(บขส.๒)-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) สาย ๑๗ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท พฤษภาเดินรถ จำกัด ที่ได้เคยให้บริการประชาชนนั้น ปัจจุบันเหลือเพียงรถโดยสารธรรมดาและรถสองแถวให้บริการ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเอกชนที่ได้รับสัมปทานเดินรถ ปฏิบัติดำเนินการตามเงื่อนไขตามที่ระบุในการยื่นขอสัมปทานหรือไม่ หรือมีการสวมสิทธิ์ให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาดำเนินการแทนโดยเรียกเก็บค่าหัวคิวหรือไม่ ทั้งนี้ “โคราชคนอีสาน” ติดต่อไปยังนายวัฒนา พัทรชนม์ ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งนครราชสีมา แต่ได้รับแจ้งว่าไปราชการต่างประเทศ และมอบหมายให้นายชาติชาย ยุวชิต หัวหน้ากลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งนครราชสีมา เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแทน

ปรับอากาศแบกรับต้นทุนไม่ไหว

นายชาติชาย ยุวชิต หัวหน้ากลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา ชี้แจงกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ตามข้อมูลที่ประชาชนแจ้งมาเป็นรถโดยสาร สาย ๑๗ ซึ่งเป็นรถเมล์ปรับอากาศที่ให้บริการเส้นทางระหว่าง บขส.๒-มทส. โดยเริ่มให้บริการประมาณปี ๒๕๓๗-๒๕๓๘ แต่เมื่อช่วงต้นปี ๒๕๕๔ ผู้ประกอบการรถเมล์ปรับอากาศสาย ๑๗ ยื่นเรื่องขอปรับปรุงการให้บริการโดยนำรถโดยสารสองแถวมาดำเนินการแทน ซึ่งทางขนส่งจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า หากเปลี่ยนแปลงจากปรับอากาศมาเป็นรถสองแถวนับว่าเป็นการให้บริการที่ถอยหลัง แต่ไม่มีอำนาจบังคับผู้ประกอบการให้ใช้รถปรับอากาศมาดำเนินกิจการ ที่อาจเป็นสาเหตุของการขาดทุนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ปัจจุบันการให้บริการด้วยรถสองแถวมีความคุ้มทุนกว่า สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมาจึงนำเรื่องการขอปรับเปลี่ยนรถดังกล่าวเข้าที่ประชุม โดยทางคณะกรรมการอนุมัติให้เปลี่ยนจากรถปรับอากาศมาเป็นรถมินิบัสหรือรถสองแถว

สองแถวได้รับความนิยม

“เดิมสำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมามีนโยบายให้ผู้ประกอบการนำรถปรับอากาศมาให้บริการประชาชน แต่เมื่อต้นทุนสูงขึ้น ผู้ประกอบการแบกรับสภาวะขาดทุนไม่ไหว รวมทั้งสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป รถเมล์ปรับอากาศจะมีขนาดใหญ่วิ่งเทอะทะอาจจะล่าช้ากว่ารถโดยสารสองแถวซึ่งมีความคล่องตัวมากกว่า ขณะที่ประชาชนก็นิยมใช้บริการมากกว่า ทำให้รถเมล์ปรับอากาศสาย ๑๔-๑๖ ทยอยขอเปลี่ยนเป็นรถโดยสารสองแถวตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา เนื่องจากต้นทุนของรถปรับอากาศต่อคันต่อเที่ยวจะสูงกว่ารถโดยสารทั่วไปหรือรถโดยสารสองแถว ขณะเดียวกันประชาชนเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางโดยใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนตัวมากขึ้น” นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย อธิบายต่อไปว่า เช่นเดียวกับรถโดยสารประจำทางมินิบัสปรับอากาศ สาย ๑๗ (สีขาวคาดม่วง) เส้นทางสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ ๒ นครราชสีมา-มทส. ของบริษัท พฤษภาเดินรถ จำกัด ที่เคยมีอยู่ ๖-๘ คัน ก็ยกเลิกบริการแล้ว โดยเป็นเส้นทางล่าสุดที่ผู้ประกอบการดำเนินการปรับเปลี่ยนมาตรฐานรถยนต์ เมื่อช่วงต้นปี ๒๕๕๔ อย่างไรก็ตาม สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา ตระหนักถึงคุณภาพและความปลอดภัยในการให้บริการระบบขนส่งมวลชน และพยายามจะผลักดันให้มีรถบัส หรือมินิบัสเพื่อให้บริการ แม้จะมีต้นทุนจะสูงกว่า โดยกำหนดเงื่อนไขการปรังปรุงมาตรฐานเป็นรถโดยสารธรรมดา และหรือรถสองแถว เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้รถสองแถวในคราวเดียว แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการที่พิจารณาแล้วเห็นว่าต้นทุนและความต้องการของประชาชนยังมีอยู่หรือไม่ หากผลประกอบการและการตอบรับมีมากขึ้น ก็อาจจะนำรถมินิบัสกลับมาให้บริการอีก

เปลี่ยนแปลงประเภทรถได้

ต่อคำถามว่าการอนุมัติให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานในครั้งแรกได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่ระบุนั้น จะไม่ทำให้ผู้ประกวดราคารายอื่นเสียสิทธิ์หรือไม่ ขนส่งจังหวัดมีอำนาจอย่างไรในการอนุมัติที่จะเปลี่ยนแปลงได้? นายชาติชาย ชี้แจงว่า “กรณีนี้ถือเป็นการข้ามขั้นตอนการประกวดราคา เพราะหากจะมีการยื่นขอสัมปทานจากผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาประกวดราคานั้น ต้องมีการเพิกถอนใบอนุญาตผู้ได้รับสัมปทานเสียก่อน ซึ่งการเพิกถอนต้องตรวจสอบดูว่ามีความผิดอย่างไร แต่การขอปรับเปลี่ยนรถนั้นไม่เป็นการผิดเงื่อนไขเพราะสามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ในเมื่อมีการขอเปลี่ยนแปลงสำนักงานขนส่งจังหวัดก็มีอำนาจในการปรับเปลี่ยนมาตรฐานรถให้เป็นไปตามความเป็นจริง ไม่มีกฎตายตัวว่าต้องใช้รถประเภทเดียวตลอด ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน เพื่อให้เกิดการใช้รถให้คุ้มกับเศรษฐกิจด้วย โดยเป็นอำนาจกฎหมายที่คณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขปรับเปลี่ยนมาตรฐานรถ โดยขนส่งจังหวัดจะพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อเห็นอย่างไรก็นำเสนอต่อคณะกรรมการ”

อำนาจขนส่งกำหนดเงื่อนไข

“เมื่อผู้ประกอบการยื่นเรื่องขอปรับเปลี่ยนรถที่จะนำมาให้บริการ ทางขนส่งจังหวัดจะต้องตรวจสอบคำร้องตามหลักเหตุผล พร้อมทั้งพิจารณาด้วยว่าอะไรคือสาเหตุที่ผู้ประกอบการจำต้องปรับเปลี่ยน ทั้งนี้เหตุผลเนื่องจากผู้ประกอบการสู้ต้นทุนที่ผ่านมาไม่ไหว จะสังเกตเห็นว่ารถเมล์ปรับอากาศในโคราชค่อยๆ ทยอยปิดตัว เนื่องจากประสบภาวะขาดทุน สำหรับการกำหนดเงื่อนไขอนุญาตให้ผู้ได้รับสัมปทานเปลี่ยนแปลงรถที่จะนำมาใช้บริการประชาชนนั้น ต้องทำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาร่วมกัน อ้างถึงอำนาจตามกฎหมายการขนส่งทางบก คือ ในการกำหนดเงื่อนไขใบอนุญาต ควบคุมจำนวนรถจำนวนเที่ยวรถ ที่เป็นอำนาจคณะกรรมการการควบคุมการขนส่งทางบกจังหวัดนครราชสีมา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พร้อมทั้งอัยการ, เจ้าหน้าที่ตำรวจ, ประธานหอการค้า, กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท, และสายการทาง ซึ่งสำนักงานขนส่งจังหวัดจะเป็นเลขานุการในการรวมรวมเรื่องราวทั้งหมดนำเสนอเข้าที่ประชุมเพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลง”  “พระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๓๒ มาตรา ๓๑ ว่าด้วยการกำหนดเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ระบุอำนาจของสำนักงานขนส่งจังหวัดไว้หลายข้อ ยกตัวอย่างเช่น อำนาจการกำหนดเส้นทาง, กำหนดค่าโดยสาร และกำหนดเที่ยวเวลา เป็นการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม หากต้องการจะเปลี่ยนจากรถเมล์ปรับอากาศเป็นสองแถวต้องเสนอเข้าที่ประชุม หากคณะกรรมการพิจารณาให้เปลี่ยนแปลงได้จึงจะนำรถมาจดทะเบียนและให้บริการได้ เมื่อหมดอายุสัมปทานที่มีระยะเวลา ๗ ปี ก็ต่อสัญญาใหม่ หรือหากมีการเปิดเส้นทางเดินรถใหม่ก็ต้องยื่นคำขอเป็นการทั่วไป เพื่อให้สำนักงานขนส่งจังหวัดพิจารณาเบื้องต้น ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมเพื่อดำเนินการอนุมัติ และเมื่อได้รับจัดสรรเส้นทางแล้ว ต้องนำรถยนต์โดยสารมาจดทะเบียน เพื่อบรรจุในฐานข้อมูลของกรมขนส่งทางบก จึงจะนำไปวิ่งให้บริการได้” นายชาติชาย กล่าว

ขนส่งไม่มีอำนาจก้าวก่ายธุรกิจ

ต่อคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถโดย สารสองแถวซึ่งมาแทนที่รถเมล์นั้น นายชาติชาย กล่าวยอมรับว่า “รถโดยสารสองแถวคงจะไม่มีความปลอดภัยเทียบเท่ารถเมล์ปรับอากาศ เพราะมีทางขึ้นลงด้านท้าย และจะสั่งห้ามไม่ให้มีรถสองแถวคงเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพนักงานขับรถที่จะมีความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด จึงไม่สามารถนำมาเป็นตัวชี้วัดความปลอดภัยได้” เมื่อถามต่อถึงกรณีการสวมสิทธิ์และเก็บค่าหัวคิวของผู้ได้รับสัมปทานว่า “ในระเบียบไม่ได้บังคับว่า บริษัทที่ได้รับสัมปทานจะต้องมีรถเป็นของตนเองทั้งหมด สามารถรับผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาร่วมได้ โดยอาจจะทำข้อตกลงกันเอง ซึ่งในส่วนนี้สำนักงานขนส่งจังหวัดไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่ายทางธุรกิจ ทำได้เพียงแต่การกำหนดใบอนุญาต กำหนดรถ เส้นทาง และเงื่อนไขต่างๆ โดยต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องของเอกชน แต่ต้องมีความสามารถในการเดินรถตามเงื่อนไข ถ้าทำไม่ได้ก็สามารนำกรณีนี้มาใช้เพิกถอนใบอนุญาตได้”

อนึ่ง บริษัท พฤษภาเดินรถ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘ โดยกรรมการบริษัทมี ๓ คน คือ ๑. นายประกิจ วิเศษจินดาวัฒน์, นายธวัชชัย วงศ์วนิชกังวาฬ และ ๓. นางเบญจพรรณ โรจน์รัชดากร มีทุนจดทะเบียน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตั้งอยู่เลขที่ ๓๒๕๘ ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา


ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๒๐๒๙ วันเสาร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม - วันพฤหัสบดีที่ ๔ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔


744 1,474