January 11,2018
นามเมืองนครราชสีมา (๑)
นครราชสีมา คนทั่วไปเรียกย่อๆ ว่า “ราชสีมา” แต่นิยมเรียกกันว่า “โคราช” สำหรับคนกัมพูชาเรียกว่า “คอนเรียด”
มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ รถโดยสารสายต่างๆ มักนิยมใช้คำว่า “ราชสีมา” มากกว่า “โคราช” เช่น ราชสีมา-อุดร, กรุงเทพฯ-ราชสีมา, ราชสีมา-พิมาย เป็นต้น
สำหรับภาษาพูดที่ใช้พูดกันมักใช้คำว่า “โคราช” มากกว่าราชสีมา เช่น ไปโคราช, มาจากโคราช, โคราชเป็นยังไง เพราะถ้าพูดว่า “นครราชสีมา” มีความรู้สึกว่ายาวไป
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษของคนโคราชได้ตั้งหลักแหล่งที่บริเวณต้นน้ำมูลก่อนปี ๒๒๒๕ นับถึงวันนี้เป็นเวลาประมาณ ๓๕๐ กว่าปีมาแล้ว (ขรรค์ชัย บุนปาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ๒๕๕๘ : กิตติกรรมประกาศ, ๔๙) ถือว่าเป็นเมืองโบราณที่สำคัญในการปกครอง เป็นแหล่งอารยธรรมและโบราณสถานที่ทรงด้วยคุณค่า มีคนเปรียบโคราชว่า เสมือนเป็นเมืองหลวงแห่งที่สองรองจากกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของภาคอีสานบ้าง เป็นประตูสู่อีสาน-อินโดจีนบ้าง แต่ที่แน่ๆ คือปัจจุบันโคราชเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และทางอากาศที่เชื่อมกับภูมิภาคต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
“นครราชสีมา” มีตำนานเรื่องเล่า รวมทั้งที่เป็นนิทาน เอกสารที่เป็นทางการ บอกที่มาของชื่อเมืองและการสร้างเมืองนครราชสีมาที่น่าสนใจ และเพื่อมิให้สับสน จึงได้แยกกล่าวที่มาจากหนังสือนิทานและเอกสารทางราชการ/งานเขียนทางวิชาการ ดังนี้
หนังสือนิทาน
๑. อมรา อยู่มั่น (๒๕๐๗ : ๑๑๘-๑๒๐) เล่าว่า ในหนังสือนิทานคำกลอนเรื่องหนึ่ง กล่าวถึงประวัติเมืองนครราชสีมาว่า ในระหว่างการสร้างเมืองได้ปรากฏศุภนิมิตเป็นมหัศจรรย์ คือ มีพญาราชสีห์ ซึ่งถือกันว่าเป็นสัตว์ประเสริฐเดินเยื้องกรายเข้ามาทำทักษิณาวัตรอยู่กลางใจเมือง โดยมิได้ทำอันตรายแก่ผู้ใด พระเจ้าแผ่นดินจึงประทานนามเมืองนั้นว่า “นครราชสีมา”
นอกจากนี้ อมรา อยู่มั่น ยังเล่าว่า ในหนังสือเก่าเล่มหนึ่งเรื่อง “หนังราชสีห์” มีข้อปรารภถึงปัญหาที่ว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินได้ราชาภิเษกเสวยราชสมบัตินั้น จะต้องเสด็จประทับบนหนังราชสีห์หรือไม่ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ ได้อ้างหนังสือวชิรญาณ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ ทรงกล่าวถึงภาพเขียนสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะราชสีห์ ราชสีห์มีชุมในทวีปอาฟริกา และคนอาฟริกาเดินทางมาอยู่ที่เกาะลังกาและนำราชสีห์มาด้วย พระเจ้าแผ่นดินไทยในครั้งนั้นพระองค์หนึ่งทรงฟังตำราพราหมณ์ว่า พระที่นั่งภัทรปิฐราชาภิเษกให้ทอดลาดหนังราชสีห์เป็นมงคล จึงประกาศรับสั่งให้ลูกเรือที่ไปทะเลว่า ใครได้หนังราชสีห์มาถวายจะได้รับพระราชทานรางวัล มีลูกเรือผู้กล้าทะเลนายหนึ่งรับอาสาจะไปเกาะลังกา เพื่อสืบหาหนังราชสีห์มาถวายให้ได้ พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงตั้งให้เป็นขุนสิงหฬสาคร เมื่อขุนสิงหฬสาครแล่นสำเภาไปแล้ว กลับมาเล่าว่า ไปพบราชสีห์นอนตายตัวหนึ่ง จึงลอกเถือเอาแต่หนังมาทั้งตัว ครั้งเดินทางกลับระหว่างทางพบชาวบ้านเมืองต่างๆ ก็ตัดเอาหนังราชสีห์ทีละเล็กละน้อยแลกเป็นเสบียงกิน เมื่อมาถึงเมืองโคราชจึงได้หนังราชสีห์เป็นแต่ท่อนย่อม พระเจ้าแผ่นดินจึงพระราชทานนามเมืองว่า “เมืองนครราชสีมา”ท่อนหนังราชสีห์นั้นเก็บไว้ปูพระที่นั่งภัทรปิฐ เป็นที่ราชาภิเษกอย่างหนึ่ง เป็นที่สำหรับโสกัณต์เจ้าฟ้าอย่างหนึ่ง อันเป็นธรรมเนียมสืบมา
๒. ในนิทานเพลงพื้นบ้านโคราช (ศศิธร ธัญลักษณานันท์ ๒๕๓๐ : ๔๐) ที่คนเฒ่าคนแก่เล่าสู่ลูกหลานถึงตำนานเมืองนครราชสีมาว่า นานมาแล้วมีกษัตริย์องค์หนึ่งจะขึ้นครองเมืองได้มีรับสั่งให้นายจันทน์ไปหาหนังราชสีห์ที่ยืนตายมาผืนหนึ่ง นายจันทน์ดั้นด้นไปพบฤาษีตนหนึ่งในป่าและขอให้ฤาษีช่วย ฤาษีสั่งการให้บริวารออกหาหนังราชสีห์ยืนตายตามที่นายจันทน์ต้องการ นายจันทน์จึงรอเพื่อจะได้หนังราชสีห์มา เมื่อบริวารได้มา จึงเอาหนังราชสีห์พันรอบตัวนายจันทร์ แล้วจับตัวนายจันทร์เหวี่ยงไปตกยังที่แห่งหนึ่ง ต่อมาเรียกที่แห่งนั้นว่า เมือง“เหวี่ยงจันทน์” ภายหลังเพี้ยนเป็น “เวียงจันทน์” จากนั้นนายจันทน์เร่งรีบเอาไม้คอนหนังราชสีห์มาถวายกษัตริย์พระองค์นั้น เมื่อเข้ามาในเมืองพบว่า ชาวเมืองกำลังทำพิธีลงเสาหลักเมืองตามประเพณีการสร้างเมือง ซึ่งในระหว่างทำพิธีจะมีการเรียกชื่อคนที่ชื่อ “อยู่ จัน มั่น คง” เพื่อให้บ้านเมืองอยู่เจริญมั่นคงถาวร ซึ่งนายจันทน์ไม่ล่วงรู้ถึงพิธีกรรมนี้ พอคอนหนังราชสีห์มาถึงบริเวณพิธี คิดว่าเขาเรียกชื่อตนจึงขานรับ เป็นเหตุให้ถูกจับฝังลงไปในหลุมพร้อมกับประกอบการลงเสาหลักเมือง ผู้คนต่างนำเรื่องราวมาขานเป็นนามเมืองนี้ว่า “เมืองคอนราชสีห์มา” ต่อมาเพี้ยนเป็น “เมืองนครราชสีมา”ดังบทกลอนของ บุญส่ง ครูศรี (๒๕๓๘ : ๒๔-๒๕) ดังนี้
กล่าวฝ่ายนายจันทน์ พลันคอนหนังราชสีห์
เร่งรุดสู่บุรี ถวายองค์ราชา
เข้ามาเมืองนั้น วันลงหลักเมือง
โบราณาจารย์ กล่าวขานเรียกหา
คนที่ชื่อว่า อยู่ จัน มั่น คง
นายจันทน์ไม่รู้ เขากู่เรียกตน
ขานรับบัดดล เขาจับลงฝัง
พร้อมเสาหลักเมือง ครบเครื่องแยบยล
ตามพิธีมนตร์ โบราณสร้างเมือง
จึงเรียกเมืองว่า คอนราชสีมาแล้วเพี้ยนเสียงไป
กลายเป็นชื่อใหม่ “นครราชสีมา”
(อ่านต่อฉบับหน้า) http://koratdaily.com/blog.php?id=7112
ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๗๙ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ - วันจันทร์ที่ ๑๕ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๑
696 1,490