5thJanuary

5thJanuary

5thJanuary

 

November 11,2011

ร่างผังเมืองรวมเมืองโคราชใหม่ เขียวเป็นเหลือง-อนุรักษ์คูเมือง

หลายภาคส่วนกำลังจับจ้องไปที่ “ผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาใหม่” บางส่วนของอำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเมืองสูงเนิน ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเมืองตามความเหมาะสมต่อปัจจัยแวดล้อมด้านต่างๆ ภายหลัง ๒๙ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ในพื้นที่ มีข้อตกลงร่วมกันสนับสนุนงบประมาณว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด เป็นจำนวนเงิน ๑๐,๗๕๕,๐๐๐ บาท เพื่อประเมินและปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ ๓๑๔.๓ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๙๖,๔๔๑.๕๐ ไร่ ที่จะมีผลประกาศบังคับใช้เป็นเวลา ๕ ปี หลังจากผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาเดิมหมดอายุลง

ความคืบหน้าการจัดทำร่างผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาใหม่ ล่าสุดนายอนุกูล แสงทองฉาย โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ๒๙ แห่ง ในเขตผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา มีมติร่วมกันสนับสนุนงบประมาณ ๑๐,๗๕๕,๐๐๐ บาท ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด ดำเนินการประเมินและปรับปรุงการวางผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาใหม่ โดยผ่านขั้นตอนนำเสนออปท.ทั้ง ๒๙ แห่งรับทราบก่อน และให้แสดงความต้องการต่อร่างผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาใหม่ แล้วจึงนำเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาผังเมืองของกรมโยธาธิการและผังเมืองกลั่นกรองในเบื้องต้นว่า บริษัทที่ปรึกษา และอปท.ทั้ง ๒๙ แห่ง ปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงแก้ไขอย่างไรบ้าง ทางคณะกรรมการพิจารณาผังเมืองดังกล่าวไม่เห็นด้วยอย่างไรบ้าง ปรากฏว่ามีความคิดเห็นไม่ตรงกัน คือ อปท.มองเห็นการพัฒนาพื้นที่ในเขตปกครองของตนเองเป็นชุมชน ขณะที่คณะกรรมการพิจารณาผังเมืองมองว่า ลักษณะทางกายภาพบางแห่งไม่เหมาะสม เพราะเป็นพื้นที่น้ำหลาก ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในอำเภอเมืองนครราชสีมา เพราะมีกรเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการน้ำในระบบชลประทาน และการใช้พื้นที่ไม่สอดคล้องกับพื้นที่เดิม ซึ่งเป็นพื้นที่สวนผัก ชลประทานก็ส่งน้ำไป เมื่อน้ำไปแล้วก็ต้องมีจุดทิ้งน้ำ แต่ปรากฏว่าเกิดการพัฒนาโครงสร้างระบบพื้นฐานที่ไม่ได้พิจารณาตรงจุดนี้ ซึ่งในอดีตปัญหาไม่เกิด เช่น การพัฒนาเมืองที่ขวางทางไหลของน้ำ ไปพัฒนาในพื้นที่ที่น้ำหลาก และที่ผ่านมามีการครอบรองพื้นที่บริเวณนี้ ระบบการไหลของน้ำจึงสูญเสียไป ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เขตอำเภอเมืองนครราชสีมา

นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า นโยบายที่พูดคุยกับอปท. คือ ถ้าจะพัฒนาพื้นที่ส่วนตรงนี้ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการขยายตัวของเมอง ตามข้อจำกัดของเมืองนครราชสีมา จริงๆ แล้วเนื้อเมืองเก่าเต็มหมดแล้ว การจะขยับขยายไปก็จะไปติดพื้นที่ทางรถไฟ และเขตทหาร ผลสุดท้ายต้องขยับมาทางพื้นที่ลุ่ม ซึ่งเป็นพื้นที่ทิศเหนือของเมือง มาตรการต่างๆ เหล่านี้ได้ประสานอปท.ว่า เพื่อป้องกันเหตุอุทกภัยในเขตเมืองต้องเชื่อมโยงลำน้ำเดิม สิ่งใดที่กีดขวางก็คงต้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ ซึ่งเราก็ได้ศึกษาไว้ว่าสิ่งกีดขวางลำน้ำ เวลาน้ำหลากมาทางด้านทิศเหนือมีอะไรบ้าง เช่น By Pass (เส้นทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา) ต้องกำหนดให้ขยายช่องทางการระบายน้ำให้ไหลได้สะดวก คลองชลประทาน โดยประตูน้ำคนชุม ลำดับต่อมาก็ให้บริหารจัดการขุดลอกทางน้ำ ในส่วนของคลองชลประทานที่ส่งมาสุดสายที่แยกพีกาซัส ในอดีตเป็นจุดทิ้งน้ำของชลประทาน เพราะเป็นพื้นที่สวนผัก ดังนั้น เมื่อน้ำไหลเข้าคลองชลประทานจะท่วมแยกพีกาซัสแน่นอน จึงต้องเชื่อมโยงระบบระบายน้ำชลประทานตรงบริเวณนี้ออกไปผ่านถนนสุรนารีและผ่านทางรถไฟ ซึ่งมีโครงการที่จะเจาะเพิ่มพื้นที่การระบายน้ำให้สามารถมีประสิทธิภาพการระบายน้ำกรณีน้ำหลาก ถ้าอปท. และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสามารถจัดทำแผนงานดังกล่าวได้ การขยับขยายเมืองในเขตพื้นที่นี้ก็ไม่เป็นปัญหา ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในเรื่องของการใช้พื้นที่ ดังนั้น ควรต้องดำเนินการเพราะพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้ใช้ประโยชน์เชิงเกษตรกรรมหรือเป็นพื้นที่สวนผักแล้ว ปัจจุบันเป็นเนื้อเมืองไปหมดแล้ว อปท. หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องคงต้องประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องดำเนินการ เพราะมีส่วนกีดขวางลำบริบูรณ์ และลำตะคอง ด้วย

“ทางคณะกรรมการพิจารณาผังเมือง มองว่าเป็นพื้นที่น้ำหลากก็ไม่ควรใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่อื่น นอกจากพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งในข้อเท็จจริงก็ไม่ได้มองว่าปัญหาของเมืองคืออะไร ปัญหาที่แท้จริงคือข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ที่ขยับขยายของเมือง ซึ่งหนีไม่พ้นที่ต้องขยับขยายไปในพื้นที่พื้นที่ดงกล่าว พื้นที่ที่เป็นน้ำหลากอปท.ก็ได้ศึกษาแล้วว่าจะดำเนินการป้องกันในพื้นที่
ถ้าน้ำหลากมาก็ให้มาได้ และต้องสามารถไหลไปได้ด้วย ไม่ใช่หลากมาแล้วน้ำท่วมขัง เป็นประเด็นที่ต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาผังเมือง ไม่ว่าจะเป็นทิศเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองโคราชต้องพัฒนาใหญ่โตกว่านี้เยอะ เพราะฉะนั้น ปัญหาอยู่ในขั้นตอนที่จะนำมาเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมาว่า ในการนำเสนอความต้องการของอปท. บริษัทที่ปรึกษา และคณะกรรมการพิจารณาผังเมืองที่ให้ความเห็นไปนั้น ทางคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ มีความเห็นอย่างไร ซึ่งจะนำเสนอภายในเดือนนี้ แต่ทั้งนี้ ต้องติดตามสถานการณ์อุทกภัยในขณะนี้ด้วย” นายอนุกูล กล่าว

สำหรับร่างผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาใหม่ นายอนุกูล ระบุว่า ส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนจากโซนสีเขียวพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่น้ำหลากดังกล่าวมาเป็นโซนสีเหลือง เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง ซึ่งตามข้อกำหนดโซนสีเหลืองเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นน้อย หรือเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพหรือบ้านเดี่ยว แต่การปรับเปลี่ยนจะต้องให้ความสำคัญเรื่องการระบายน้ำของพื้นที่ราบลุ่มที่มีคุณภาพด้วย ในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องขยับขยายพื้นที่ก่อสร้างโครงการต่างๆ เช่น ถูกข้อจำกัดการเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หากพิจารณาแล้วมีศักยภาพเป็นโซนสีเหลืองก็จะเปิดโอกาสในการพัฒนา โดยปรับเปลี่ยนจากโซนสีเขียวมาเป็นสีเหลืองให้ ในส่วนใดที่มองว่ายังคงพื้นที่เกษตรกรรมไว้คงต้องยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการ ดำเนินการก่อสร้างเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทรอง คือ ทำอย่างอื่นได้ประมาณร้อยละ ๓๐ ตามข้อกำหนดเดิม เพื่อกำหนดกรอบในเรื่องเมืองให้กระชับ ถ้าเมืองกระจายออกไปมากๆ แล้ว ปัญหาก็คือพื้นที่อื่นจะเสียหาย เช่น รัฐต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยสิ้นเปลืองงบประมาณ ผู้ประกอบการก็สิ้นเปลืองงบประมาณเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังต้องการให้พื้นที่ในเขตคูเมืองนครราชสีมาทั้งหมดเป็นโซนสีน้ำตาลเพื่อการอนุรักษ์เมือง เช่น อาจจำกัดกิจกรรมบางประเภท ความสูงของอาคาร และรอยแตกร่นโบราณสถาน แต่ไม่ได้จำกัดให้ขัดแย้งการใช้พื้นที่ดินหรือกิจกรรมของเมือง  

“จากนี้ไปจะมีการนำร่างผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาใหม่ เสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา ที่มีท่านผู้ว่าฯ เป็นประธาน เพื่อให้รับรู้รับทราบ พร้อมทั้งอาจมีข้อเสนอแนะต่างๆ ก่อนที่จะนำภาพรวมทั้งหมดเสนอต่อบอร์ดใหญ่ คือ คณะกรรมการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยมีท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และท่านอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นเลขาธิการ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการบังคับใช้ต่อไป ซึ่งถ้าได้ข้อสรุปแล้วจะปิดประกาศผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาใหม่ให้ประชาชนรับทราบเป็นเวลา ๑๕ วัน พร้อมทั้งเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้านการใช้ประโยชน์พื้นที่ต่างๆ ภายในระยะเวลา ๙๐ วัน ก่อนที่จะพิจารณาคำร้องคัดค้าน หรือยกคำร้องคัดค้าน หรือปรับแก้ไขตามความเหมาะสมเพื่อให้ได้ข้อยุติ และนำมาซึ่งการประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาใหม่ต่อไป” โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา กล่าวท้ายสุด


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๒๐๔๙ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ - วันจันทร์ที่ ๑๔ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๔


839 2,848