August 18,2018
๒๕ ปี‘รอยัลพลาซ่า’ถล่ม โศกนาฏกรรมสะเทือนโลก
ช่วงเวลา ๑๐.๐๐ น.เศษ ของวันศุกร์ที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๖ เกิดเสียงดังสนั่นราวกับแผ่นดินไหวกลางเมืองโคราช สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นอย่างมาก รวมถึงสำนักงานหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสานที่ตั้งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุไม่ถึง ๑๐๐ เมตร ไม่มีใครคาดคิดว่า เสียงนั้นจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา...
...ศพแล้วศพเล่าถูกลำเลียงออกจากซากตึกมโหฬาร การช่วยเหลือของหน่วยกู้ภัยเป็นไปด้วยความยากลำบาก วินาทีนั้นเสียงกรีดร้องจากความเจ็บปวดของผู้ที่ติดอยู่ในซากตึกดังระงมไปทั่วทุกพื้นที่ เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนไปทั้งประเทศ
โรงแรมหรูกลางใจเมืองโคราช “รอยัลพลาซ่า” ที่เคยสร้างความสะดวกสบายให้ผู้มาใช้บริการอย่างล้นหลาม กลับกลายเป็นสุสานที่ฝังร่างผู้คนมากถึง ๑๓๗ ชีวิต มีผู้บาดเจ็บกว่า ๒๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครูสังกัดกรมสามัญศึกษา (ชื่อเดิม) ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในขณะกำลังนั่งประชุมสัมมนาอยู่ภายในห้องประชุมชั้นล่าง รวมทั้งพนักงานโรงแรม ลูกค้าที่มาใช้บริการห้องพักและห้องประชุม ทั้งชาวไทยและต่างชาติ
“รอยัลพลาซ่า” เติบโตมาจาก “เมืองใหม่เจ้าพระยา” อาณาจักรบันเทิงที่มีโรงแรมเป็นตัวนำ เน้นธุรกิจอาบอบนวด และเมื่อธุรกิจไปต่อไม่ไหว จึงมีกลุ่มผู้บริหารชุดใหม่เข้าไปดำเนินการภายใต้ชื่อใหม่ว่า “โรงแรมรอยัลพลาซ่า” โดยเปิดบริการตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ และมีการบริหารงานของหุ้นส่วน คือ นายเลอพงศ์ พัฒนจิตวิไล ประธานกรรมการ และกรรมการบริษัทฯ ที่สำคัญประกอบด้วย นายชาตรี ล้อเลิศรัตนะ, นายสัญชัย สุรโชติมงคล, นายซิม แตมสำราญ และนายเลิศ เอี่ยมวงษ์ศรีกุล ภายใต้การบริหารงานของนายวิทยา วงศ์วัชรกาญจน์ ผู้จัดการทั่วไป
จากเดิมเป็นเพียงอาคาร ๓ ชั้น แต่ผู้บริหารต้องการลบภาพของธุรกิจอาบอบนวดให้กลายเป็นโรงแรมหรูอันดับต้นๆ ของเมืองโคราช จึงดำเนินการต่อเติมให้กลายเป็นอาคาร ๖ ชั้น รวมทั้งเตรียมสร้างลานจอดรถ ๘ ชั้น บริเวณอาคารใหม่ด้วยงบกว่า ๓๐ ล้านบาท และวางแผนจัดงานฉลองไว้อย่างยิ่งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๖ เมื่อถึงวันแห่งอาถรรพ์ตามความเชื่อ “ศุกร์ ๑๓” ในเดือนสิงหาคม ขณะที่บุคลากรด้านการศึกษาในภาคอีสานกำลังสัมมนาอยู่ในห้องประชุมใหญ่ รวมทั้งนักท่องเที่ยวไม่น้อยที่เข้าพักในโรงแรมสุดหรูแห่งนี้ กลับต้องพบความเหตุการณ์ไม่คาดฝันในชีวิตที่ยากจะลบเลือน
ชวลิต ตัณฑเศรณีวัฒน์ อายุ ๗๗ ปี อดีต ผอ.โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ต้องสูญเสียขา ๑ ข้าง เพื่อรักษาชีวิตเอาไว้จากเหตุการณ์นี้ เปิดเผยด้วยแววตาที่ยังคงเศร้าสลดว่า “ตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น ร่างกายก็มีแต่ทรงกับทรุด นอกจากนั้นความสะดวกสบายต่างๆ ที่เคยมีก็เปลี่ยนแปลงไปหมด เวลาไปไหนต้องเตรียมการมากกว่าปกติ”
ปรารถนา ศรีชนะกุล ครูผู้สอนโรงเรียนบุญวัฒนา ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่ม ซึ่งมาร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพที่ล่วงลับในวาระครบรอบ ๒๕ ปี รอยัลพลาซ่าถล่ม เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ เล่าถึงนาทีชีวิตว่า “ในวันเวลาดังกล่าว กรมสามัญศึกษาได้จัดประชุมสัมมนาให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ธุรการและการเงินที่ห้องประชุมชั้นล่าง ขณะเกิดเหตุคือเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ซึ่งเป็นช่วงรับประทานอาหารว่าง ทุกคนได้ยินเสียงดัง ได้แต่มองหน้าด้วยความตกใจและชั่วเวลาไม่กี่วินาที อาคารโรงแรมได้ถล่มพังลงมา ทำให้เราติดอยู่ในซากตึกนาน ๑ วัน ต้องผจญความมืดมิด ความทรมานจากความเจ็บปวดบาดแผล และเพื่อนครูที่ถูกเศษซากอาคารถล่มทับร่าง จากเสียงร้องขอความช่วยเหลือระงม ได้ทยอยสิ้นเสียงเงียบไปทีละราย รู้สึกสะเทือนใจที่สุด เมื่อได้รับการช่วยเหลือออกมาด้วยอาการบาดเจ็บสาหัส ขาทั้งสองข้างหัก กระดูกสันหลังกระทบกระเทือนรวมทั้งจมูกแตก ต้องเข้ารับการรักษาผ่าตัดหลายครั้ง นอนพักรักษาที่สถานพยาบาลร่วม ๑๒๐ วัน และเข้ารับการฟื้นฟูโดยกายภาพบำบัดกว่า ๑๐ ปี ส่วนเงินชดเชย ได้รับแต่เพียงสิทธิ์ของข้าราชการเท่านั้น จึงไม่เพียงพอที่จะเยียวยาผู้เคราะห์ร้ายทั้งหมดได้อย่างเหมาะสม เหตุการณ์นี้ยังคงติดอยู่ในความทรงจำไปชั่วชีวิต โดยเฉพาะใน ๒ ปีแรกหลังจากเกิดเหตุ มีความกลัวการเข้าไปใช้อาคารที่มีความสูงเกิน ๒ ชั้น ปัจจุบันการใช้ชีวิตไม่สามารถเดินเท้าได้เหมือนคนปกติ เมื่อเดินนานๆ ก็จะปวดหลัง ฝากถึงผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ต้องมีความเข้มงวดในการควบคุมทุกขั้นตอน และการบำรุงรักษารวมทั้งการเข้าถึงสิทธิประกันภัยต่างๆ”
หลังเกิดเหตุการณ์พนักงานสอบสวนได้สอบสวนและเสนอความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น ๑๕ คน และในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ พนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องวิศวกร สถาปนิก ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องในการก่อสร้าง ที่ศาลจังหวัดนครราชสีมา คดีหมายเลขดำที่ ๑๓๖๑/๒๕๓๖ ได้แก่ จำเลยที่ ๑ นายบำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ วิศวกรออกแบบและควบคุมอาคาร, จำเลยที่ ๒ นายสุวัฒน์ ตัณฑนุช สถาปนิก, จำเลยที่ ๓-๘ นายอนุสรณ์ ซ้อนพิมาย, นายยุทธนา อาจารยานนท์, นายมนัส ชัยนิคม ทั้งสามคนเป็นนายช่างและวิศวกรประจำเทศบาล, นายพูนสุข จิตต์สุวรรณ ผู้อำนวยการกองช่างเทศบาล, นางยุพยง พรหมพันธ์ ปลัดเทศบาล และนายประชิต วงษ์มณี เทศมนตรี ซึ่งจำเลยที่ ๓-๘ เป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ของเทศบาลเมืองนครราชสีมา, จำเลยที่ ๙ บริษัท รอยัลพลาซ่า จำกัด, จำเลยที่ ๑๐ นายเลอพงศ์ พัฒนจิตวิไล ประธานกรรมการบริษัทฯ, จำเลยที่ ๑๑-๑๕ ได้แก่ นายชาตรี ล้อเลิศรัตนะ, นายสัญชัย สุรโชติมงคล, นายซิม แตมสำราญ, นายเลิศ เอี่ยมวงษ์ศรีกุล กรรมการบริษัทฯ และนายวิทยา วงศ์วัชรกาญจน์ ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมรอยัลพลาซ่า ในข้อหาความผิดฐานเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบควบคุมการก่อสร้างอาคารไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้นๆ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส ได้รับอันตรายแก่กาย ฐานประกอบการงานในวิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จโดยประการน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย บาดเจ็บสาหัส และบาดเจ็บ
เจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐานและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมลงความเห็นว่า โครงสร้างอาคารรับน้ำหนักไม่ไหว โดยเฉพาะห้องจัดเลี้ยงและห้องสัมมนาของโรงแรมในชั้นที่ ๔, ๕ และ ๖ มีเสารับน้ำหนักเพียง ๓ ต้น และถูกตัดเสาไป ๑ ต้น เพื่อขยายพื้นที่ของห้อง และเสาขนาดเล็กรับน้ำหนักได้เพียง ๘๓ ตัน แต่การต่อเติมอาคารทำให้ต้องรับน้ำหนักถึง ๒๐๐ ตัน เป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมในครั้งนี้
การดำเนินคดีอาญาได้สิ้นสุดเมื่อปลายปี ๒๕๔๓ ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตนายบำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ วิศวกรควบคุมการก่อสร้าง ส่วนผู้บริหารโรงแรมทั้งหมดพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลจากคำพิพากษา เพราะผู้บริหารโรงแรมไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้าง โดยได้ว่าจ้างวิศวกรคือ นายบำเพ็ญ ซึ่งมีความรู้มารับผิดชอบในการต่อเติมอาคารโรงแรม ดังนั้นผู้บริหารจึงไม่มีความผิด ศาลจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนคดีแพ่งสำหรับการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิต ศาลพิพากษาให้ บริษัท รอยัลพลาซ่า จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมด โดยชดใช้เงินให้กับผู้เสียชีวิตรวม ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท และเงินที่รับบริจาคอีก ๕๐๐,๐๐๐ บาท เฉลี่ยแล้วผู้เสียชีวิต ญาติได้รับเงินรายละ ๘๐,๐๐๐ บาท และ ผู้พิการได้รับรายละ ๕๐,๐๐๐ บาท
เมื่อถึงวันครบรอบเหตุการณ์รอยัลพลาซ่าถล่มในทุกๆ ปี ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลเป็นประจำทุกปี และในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นวันครบรอบ ๒๕ ปี โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ณ ศาลาการเปรียญ วัดพระนารายณ์วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายทองขาว โคตรโยธา ประธานมูลนิธิสามัญศึกษาจังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะกรรมการมูลนิธิฯ และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งผู้รอดชีวิตและญาติผู้เสียชีวิตได้ร่วมประกอบพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ข้าราชการครูสังกัดกรมสามัญศึกษา (ชื่อเดิม) ที่เสียชีวิตจากเหตุโรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม โดยถวายภัตตาหารเพลพระภิกษุสงฆ์ จำนวน ๑๙ รูป และกรวดน้ำให้ดวงวิญญาณผู้ล่วงลับ
ปัจจุบันจำเลยที่ ๑ นายบำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ วิศวกรออกแบบและควบคุมอาคาร, จำเลยที่ ๑๐ นายเลอพงศ์ พัฒนจิตวิไล ประธานกรรมการบริษัทฯ, และจำเลยที่ ๑๕ นายวิทยา วงศ์วัชร กาญจน์ ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมรอยัลพลาซ่า ทั้งสามคนเสียชีวิตแล้ว ส่วนที่ดินบริเวณโรงแรมรอยัลพลาซ่าเป็นกรรมสิทธิ์ของ “ศิลาปาร์ค” ของ “เสี่ยแก้ม” หรือ “ศิริพงษ์ เก่งสุรการ” เจ้าของโรงแรม ดิไอยราและศิลาบริการขนส่ง ซึ่งขณะนี้กลายเป็นลานจอดรถ โดยไม่มีการประกอบกิจการใดๆ แต่เชื่อว่าทุกอย่างยังคงฝังแน่นในความทรงจำของผู้คนอย่างไม่มีวันลบเลือน
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๑ วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ - วันจันทร์ที่ ๒๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑
992 1,846