29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 18,2018

มทส.คว้ารางวัลแพลตินั่ม ๒ ปีซ้อน รับถ้วยสมเด็จพระเทพฯ

          ปลื้ม “มทส.”ร่วมมหกรรมวิจัยแห่งชาติ คว้าถ้วยรางวัลพระราชทานประเภท Platinum Award จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล ๑๒๐,๐๐๐ บาท และเกียรติบัตร 

          ตามที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา เข้าร่วมจัดนิทรรศการและแสดงผลงานวิจัยในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ๒๕๖๑ (Thailand Research Expo 2018) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ระหว่างวันที่ ๙-๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ Highlight Stage ห้องคอนเวนชั่น ชั้น ๒๒ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศ์ ที่ทรงมีต่องานวิจัยของประเทศมาโดยตลอด ตลอดจนเพื่อเป็นเวทีในการเชื่อมโยงการวิจัยที่มีศักยภาพของไทยออกไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ระดับประเทศและระดับนานาชาติ 

          โดยในปีนี้ มทส. นำผลงานวิจัยเรื่อง “เทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์สามมิติ และเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์” โดย ผศ. ดร.พนมศักดิ์ มีมนต์ และอาจารย์วิวัฒน์ นวลสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์  เข้าร่วมจัดแสดง และได้รับรางวัลสุดยอดผลงานวิจัยและจัดแสดงนิทรรศการ รับถ้วยรางวัลพระราชทานประเภท Platinum Award จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล ๑๒๐,๐๐๐ บาท และเกียรติบัตร โดยมี รศ. ดร.พีระพงษ์ อุฑารสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทส. เข้ารับรางวัลดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ 

          สำหรับผลงานเทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์สามมิติ ผลงานของ ผศ.ดร.พนมศักดิ์ มีมนต์ เป็นกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรดความเร็วสูงเพื่อการถ่ายภาพตัดขวางสามมิติของเนื้อเยื่อชีวภาพแบบไม่ทำลายวัตถุตัวอย่าง พัฒนาโดยอาศัยหลักการทำงานของการถ่ายภาพตัดขวางด้วยแสงเลเซอร์ที่เรียกว่า Optical Coherence หรือ OCT เน้นออกแบบให้มีต้นทุนการสร้างต่ำ แต่ให้ประสิทธิภาพสูง เทียบเท่ากับระบบที่ใช้งานด้านงานวิจัยในต่างประเทศและเน้นออกแบบให้ใช้งานได้เหมาะสมกับตัวอย่างทางชีวภาพแต่ละชนิดที่นักวิจัยต้องการศึกษา เครื่องต้นแบบสามารถถ่ายภาพสามมิติความละเอียดสูงในระดับ ๑๐ ไมโครเมตร มีความเร็วในการถ่ายภาพกว่า ๑๐๐ ภาพต่อวินาที ทำให้สามารถถ่ายภาพมิติเนื้อเยื่อชีวภาพได้ภายในเวลาไม่ถึง ๑๐ วินาที โดยไม่ต้องเตรียมสไลด์หรือตัดชิ้นตัวอย่าง และไม่มีผลข้างเคียงหรืออันตรายต่อเซลล์สิ่งมีชีวิต ทั้งนี้ระบบถูกออกแบบให้สามารถถ่ายภาพโหมดแนวตั้งและแนวราบ มีระบบประมวลผลข้อมูลและประมวลผลภาพที่สามารถถ่ายภาพโครงสร้างสองมิติโดยใช้โหมดถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายภาพสองมิติและแสดงผลตามเวลาจริง โหมดถ่ายภาพสามมิติที่บันทึกสัญญาณสเปคตรัมของข้อมูลภาพสามมิติ และโหมดถ่ายภาพสัญญาณด็อปเปลอร์ ที่แสดงตำแหน่ง ความลึก ขนาด ทิศทางและความเร็วของการไหลภายใต้พื้นผิวของชิ้นตัวอย่าง

          ผลงานเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติ ผลงานของ ดร.วิวัฒน์ นวลสิงห์ พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในด้านการศึกษาและสนับสนุนการวินิจฉัยทางการแพทย์ สามารถประดิษฐ์แบบจำลองทางการแพทย์เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน มีประโยชน์ในการสื่อสาร ทำให้สามารถวิเคราะห์ตัดสินใจ เข้าใจในสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ง่าย ช่วยให้การวินิจฉัยทางการแพทย์สะดวกถูกต้องมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังใช้วางแผนการผ่าตัดและผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือต้นแบบอุปกรณ์อื่นๆ ในอุตสาหกรรมการแพทย์แบบครบวงจร โดยกระบวนการสร้างชิ้นงานสามมิติเริ่มต้นจากการนำไฟล์สามมิติที่อยู่ในรูปแบบไฟล์ STL หรือ OBJ ที่ผ่านกระบวนการวินิจฉัยทางการแพทย์แล้ว มาปรับปรุงคุณภาพหรือซ่อมแซมทางดิจิทัลและใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เตรียมชิ้นงานสำหรับการพิมพ์สามมิติ โดยต้องพิจารณาเลือกใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ วัสดุการพิมพ์ และกำหนดเงื่อนไขการพิมพ์สามมิติที่เหมาะสม เช่น วัสดุที่ใช้ความละเอียดในการพิมพ์ และอุณหภูมิหัวฉีด เนื่องจากบางชิ้นงานต้องการความละเอียดสูง บางชิ้นงานต้องมีขนาดใหญ่ บางอุปกรณ์ต้องมีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้หรือแข็งแรงเป็นพิเศษจากนั้นจึงนำข้อมูลในรูปแบบไฟล์ G-CODE ที่ได้จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เข้าสู่เครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อทำการพิมพ์ชิ้นงานสามมิติ

          อนึ่ง ผลงานวิจัยของ มทส. ได้รับรางวัลการประกวดนิทรรศการในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ มาแล้วจำนวน ๓ ประเภทรางวัล ดังนี้ Platinum Award จำนวน ๔ ครั้ง คือ ปี ๒๕๕๕ จากผลงานวิจัย “งานวิจัยเพื่อการเกษตร” ปี ๒๕๕๖ จาก “ผลงานวิจัยเชิงประยุกต์ ด้านเศรษฐกิจ” ปี ๒๕๖๐ จากผลงานวิจัย “มันสำปะหลังเพื่ออุตสาหกรรมอาหารและพลาสติกชีวภาพ” และล่าสุดปี ๒๕๖๑ จากผลงานวิจัย “เทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์สามมิติ และเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์” รางวัล Gold Award จำนวน ๒ ครั้ง คือ ปี ๒๕๕๔ จากผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร ปี ๒๕๕๙ จากผลงานวิจัยโคพันธุ์โคราชวากิว ให้เนื้อนุ่ม ไขมันแทรกสูง เพิ่มกำไรให้เกษตร และรางวัล Silver Award ในปี ๒๕๕๓ จากผลงานวิจัยสินค้าเกษตรและอาหารที่สร้างมูลค่าเพิ่ม

 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๑ วันพฤหัสบดีที่  ๑๖ - วันจันทร์ที่  ๒๐  เดือนสิงหาคม  พุทธศักราช ๒๕๖๑

 

791 1408