September 11,2018
วท.ใช้“STEM ศึกษา” พัฒนาเยาวชนอีสานใต้ หวังผลิตนักวิทย์ฯยุคใหม่
กระทรวงวิทย์ฯ จับมือ มทส. ใช้ “STEM ศึกษา” พัฒนาเยาวชนนครชัยบุรินทร์ กว่า ๑,๒๐๐ คน เพื่อให้มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สอดคล้องกับนโยบาย “วิทย์สร้างคน วิทย์แก้จน วิทย์เสริมแกร่ง” หวังผลิต “Start Up” นักพัฒนาเทคโนโลยี และนักนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อน Thailand 4.0
เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๐.๑๐ น. ณ อาคารสุรพัฒน์ ๒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน “โครงการขยายโอกาสการเรียนรู้ STEM ของเยาวชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และเยี่ยมชมการนำนโยบายรัฐมาใช้ในจังหวัดนครราช สีมา โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงสู่ชุมชน ตามแนวคิด “วิทย์สร้างคน วิทย์แก้จน วิทย์เสริมแกร่ง” โดยมีนายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราช สีมา, รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.), ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยเทคโน โลยีสุรนารี พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ, คณะครูอาจารย์และนักเรียนในเขตพื้นที่ “นครชัยบุรินทร์” ให้การต้อนรับอย่างคับคั่งกว่า ๑,๒๐๐ คน ภายในงานมีกิจกรรมจำนวนมา อาทิ การเยี่ยมชมสวนพฤกษศาสตร์ มทส., การเยี่ยมชมอุทยานผีเสื้อเฉลิมพระเกียรติ, การเยี่ยมชมห้องไทยศึกษานิทัศน์และวัฒนธรรมอาเซียน, การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณ, นิทรรศการ Energy and Storage ณ อาคารกาญจนาภิเษก และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา
นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราช การจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “โครงการขยายโอกาสการเรียนรู้ STEM ของเยาวชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เป็นโครงการที่ดีมากในมิติของการพัฒนาเยาวชน ให้มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทค โนโลยี และนวัตกรรม มุ่งขับเคลื่อนนโยบาย ๓ ด้าน คือ “วิทย์สร้างคน วิทย์แก้จน วิทย์เสริมแกร่ง” ของกระทรวงวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี”
“โครงการ STEM เดินหน้าตามนโยบาย “วิทย์สร้างคน” เพื่อพัฒนา “เยาวชน” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างมากในการพัฒนาประเทศ ในขณะที่โครงการโคเนื้อโคราชวากิว และไก่เนื้อโคราช เป็นโครงการตามนโยบาย “วิทย์แก้จน” ตอบโจทย์เกษตรกรที่เป็นอาชีพหลักของประเทศ หรือเป็นรากฐานของปิรามิด จะต้องเปลี่ยนให้เป็นเกษตรกรยุคใหม่ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปช่วยในภาคการผลิตหรือภาคการเกษตรให้มากขึ้น ซึ่งมั่นใจอย่างยิ่งว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จะสามารถสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมให้ประสบผลสำเร็จ และเกิดประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาประเทศชาติได้อย่างแน่นอน” นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “การพัฒนาสู่ทศวรรษที่ ๓ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรีนารี ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย SUT Re-Profile 2020 ได้มุ่งดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบาย และเป้าหมายของประเทศรวมถึงสังคมโลกด้วย ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ การ เมือง และวัฒนธรรม ดังนั้นการสร้างเยาวชนยุคใหม่ให้เข้าใจและมีทักษะในการปรับตัว ให้เข้ากับสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง”
“มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสถาบันอุดมศึกษา (พี่เลี้ยง) เป็นลูกข่ายของศูนย์ STEM ศึกษาแห่งชาติ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัด “โครงการขยายโอกาสการเรียนรู้ STEM ของเยาวชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง” ตามนโยบาย “วิทย์สร้างคน” ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยนำศักยภาพในการจัดการศึกษาด้าน STEM ศึกษาของมหาวิทยาลัย ทั้งในเรื่องของบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ และพื้นที่แหล่งเรียนรู้ที่มีศักยภาพขั้นสูง และยังมีหน่วยงานภายนอก ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมาช่วยสนับสนุน และส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ ตามแนวทาง STEM ศึกษา ผ่านกิจกรรมฐานการเรียนรู้ต่างๆ” ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ กล่าว
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “โครงการขยายโอกาสการเรียนรู้ STEM ของเยาวชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือ Project C ณ มหาวิทยาลัยเทคโน โลยีสุรนารี ในวันนี้ แสดงถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยที่มุ่งสานต่อนโยบาย “วิทย์สร้างคน” ให้เกิดการขยายผลไปสู่ระดับภูมิภาค เพื่อให้เยาวชนได้รับโอกาสในการเข้ามาเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา โดยนำ STEM ศึกษา (STEM Education) ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน ๔ สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มาสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนไทย ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ส่งเสริมให้เยาวชนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัว สนุก และจับต้องได้ ให้เยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดยนำแรงบันดาลใจที่ได้รับจากกิจกรรมทั้งหลาย มาประดิษฐ์เป็นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ในเชิงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาต่อยอดไปเป็น Start Up เป็นนักพัฒนาเทคโนโลยี นักนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อน Thailand 4.0 ภายใต้นโยบาย “วิทย์สร้างคน” ไปสู่การรองรับอาชีพใหม่ๆ ในอนาคต นำไปสู่ความมั่นคงของประเทศในด้านอื่นๆ ต่อไป”
“ทั้งนี้ เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโน โลยีสุรนารี ได้นำนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาห้องเรียนปกติ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา, บุรีรัมย์, ชัยภูมิ และสุรินทร์ รวมจำนวนทั้งสิ้น ๒,๖๐๐ คน มาทำกิจกรรมที่สร้างและเสริมทักษะกระบวนการเรียนรู้ทางวิชาการ และการปฏิบัติการในด้านต่างๆ ได้แก่ ทักษะกระบวนการสำคัญทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การคิดวิเคราะห์ และทักษะภาษาต่างประเทศ เพื่อนำทักษะดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ผ่านกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ เช่น เกม การทดลองทางวิทยา ศาสตร์ และการประดิษฐ์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว และต้องต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันหรือพัฒนาการศึกษาไทยให้มีมาตรฐาน และสอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ พร้อมขยายโอกาสไปยังเยาวชนในภาคอีสานตอนล่าง โดยการจัดกิจกรรมค่ายบูรณาการการเรียนรู้ฐาน STEM เพื่อเยาวชนนครชัยบุรินทร์ขึ้น โดยมุ่งหวังให้นักเรียนในภาคอีสานตอนล่างให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง “STEM ศึกษา” มากยิ่งขึ้น และมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมสนับสนุนการใช้ความคิดสร้าง สรรค์ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีในการนำไปสู่การคิด ค้นนวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป” ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าว
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๔ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑
858 1,530