4thOctober

4thOctober

4thOctober

 

October 08,2018

ปชช.โวยระงมห้อง เวนคืนไม่เป็นธรรม วอนผู้ว่าฯช่วยจัดการ

          “ประชุมสรุปผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตอนแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๐๕–แยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๖” ประชาชนโวย ค่าเวนคืนไม่เป็นธรรม วอนให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าราชการจังหวัด ยื่นมือเข้ามาจัดการ

          เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ โรงแรมสีมาธานี กรมทางหลวงจัด “ประชุมเพื่อสรุปผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ตอนแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๐๕–แยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ จังหวัดนครราชสีมา” โดยมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานเปิดประชุม พร้อมด้วย นางสาวดาราวดี ใจคุ้มเก่า นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ นายอเนก สรงสระบุญ วิศวกรงานทาง นายนคร ศรีธิวงค์ ผู้จัดการโครงการหรือผู้เชี่ยวชาญการสิ่งแวดล้อม หัวหน้าหน่วยงานราชการและเอกชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เข้าร่วมการประชุมกว่า ๕๐๐ คน โดยกรมทางหลวงได้เล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีให้ประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีความเข้าใจที่ถูกต้องในการดำเนินโครงการ และมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลตลอดระยะเวลาการศึกษาและก่อสร้างโครงการ ทั้งนี้ บรรยากาศภายในการประชุม เต็มไปด้วยความตึงเครียดจากทั้ง ๒ ฝ่ายคือ ตัวแทนกรมทางหลวงกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งประชาชนที่มาร่วมประชุมส่วนใหญ่ มีเสียงตรงกันว่า ได้รับค่าเวนคืนในราคาที่ไม่เป็นธรรม และอยากให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแลและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

          นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “จังหวัดนครราชสีมาเป็นเหมือนประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เดินทางมายังจังหวัดนครราชสีมาจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดและช่วงเทศกาล ซึ่งจะต้องรองรับปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ประกอบกับอัตราการเติบโตของตัวเมืองนครราช สีมาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่เกิดจากการขยายตัวของพื้นที่พักอาศัย การพัฒนาภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่กรมทางหลวงมีโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ตอนแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๐๕–แยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อแก้ไขปัญหา และรองรับการจราจรในอนาคต”

          “ทั้งนี้ ในการพัฒนาดังกล่าว อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์ที่ดิน คุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญเกี่ยวข้องกับบุคคล ชุมชนท้องถิ่น และสภาพแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจในโครงการ ได้รับทราบข้อมูลโครงการ ตลอดจนให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินโครงการ โดยที่ผ่านมากรมทางหลวงและบริษัทที่ปรึกษาของโครงการ ได้ดำเนินการมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้มาถึงขั้นตอนสุดท้ายของโครงการ จึงมีการจัดประชุมเพื่อสรุปผลการศึกษาของโครงการ และนำเสนอผลการศึกษาโครงการ ทั้งทางด้านวิศวกรรม ด้านการจราจรขนส่ง ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลการดำเนินงานด้านการมีส่วนรวมของประชาชนด้วย” รองผวจ.นครราชสีมา กล่าว

          นางสาวดาราวดี ใจคุ้มเก่า นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กล่าวว่า “ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา เป็นการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีปริมาณจราจรสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นโครงข่ายที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับโครงข่ายอื่นๆ รอบตัวเมืองนครราชสีมา โดยในปี ๒๕๕๘ กรมทางหลวงมีการออกแบบรายละเอียดไว้แล้ว รวมระยะทางทั้งหมด ๑๐๙ กิโลเมตร เปิดใช้งานไปแล้วในบางช่วง และบางช่วงยังอยู่ในระยะการก่อสร้าง”

          “ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพื้นที่ ตอน ๒ แยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๐๕ ไปถึงแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ พบว่าแนวเส้นทางโครงการตั้งอยู่ใกล้แหล่งโบราณคดี โบราณสถาน แหล่งประวัติศาสตร์หรืออุทยานประวัติศาสตร์ ในระยะ ๑ กิโลเมตร ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างบริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ซิตี้ แพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ตอนแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๐๕ – แยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมทางหลวงได้จัดให้มีการประชุมไปแล้วจำนวน ๒ ครั้ง ซึ่งในครั้งล่าสุดที่ผ่านมาเป็นการประชุมเพื่อหารือมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่มีต่อโครงการ” นางสาวดาราวดี กล่าว

ถนนวงแหวนโคราช

          นายอเนก สรงสระบุญ วิศวกรงานทาง กล่าวว่า “ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ตอน แยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๐๕ ไปถึงแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ มีจุดเริ่มต้นด้านทิศเหนือ ตอน ๓ กม.๐+๐๐๐ อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ ๖ ตำบลโคกสูง จุดสิ้นสุดโครงการด้านทิศใต้ ตอน ๔ กม.๒๗+๐๔๑ อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ ๑ ตำบลพระพุทธ รวมระยะทาง ๒๗ กิโลเมตร มีพื้นที่ศึกษาครอบคลุม ๘ ตำบล ๓ อำเภอ ได้แก่ ๑.อำเภอเมืองนครราชสีมา มีตำบลโคกสูงและตำบลหนองไข่น้ำ ๒.อำเภอโนนสูง มีตำบลใหม่, ตำบลด่านคล้า และตำบลโตนด ๓.อำเภอเฉลิมพระ เกียรติ มีตำบลพระพุทธ ตำบลท่าช้าง ตำบลหนองงูเหลือม โดยรูปแบบการพัฒนาโครงการมีทั้งหมด ๓ รูปแบบ ได้แก่ ๑.ถนนทั่วไป เป็นขนาด ๔ ช่องจราจร โดยช่องจราจรกว้างช่องละ ๓.๕๐ เมตร ไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง ๒.๕๐ เมตร ไหล่ทางด้าวขวากว้าง ๑.๕๐ เมตร ซึ่งรูปตัดของทางหลวงจะเป็นแบบเกาะกลางกดเป็นร่อง ความกว้างเกาะกลาง ๙.๑๐ เมตร มีความกว้างของเขตทาง ๘๐ เมตร ๒.ถนนช่วงที่มีทางขนาน เป็นถนนขนาด ๗ ช่องจราจรต่อทิศทาง โดยช่องจราจรกว้างช่องละ ๓.๕๐ เมตร แบ่งเป็นทางหลักจำนวน ๔ ช่องจราจรต่อทิศทาง และทางขนาน ๓ ช่องจราจรต่อทิศทาง ไหล่ทางด้านซ้ายยกกว้าง ๒.๕๐ เมตร เกาะกลางถนนเป็นเกาะยกสูงกว้าง ๕.๑๐ เมตร โดยมีทางเท้ากว้าง ๔.๙๕ เมตร มีความกว้างขอบเขตทาง ๘๐ ๓.ถนนช่วงสะพานข้าวทางรถไฟ เป็นสะพานคู่ที่มีช่องจราจรขนาด ๖ ช่องจราจร โดยช่องจราจรกว้างช่องละ ๓.๕๐ เมตร ไหล่ทางด้านซ้ายกว้า ๑.๐๐ เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง ๐.๕๐ เมตร ช่องว่างระหว่างสะพานมีระยะห่างวัดจากนอกราวกันตก ๑๐.๑๐ เมตร โดยมีถนนทางกลับรถลอดใต้สะพานข้ามทางรถไฟขนาด ๑ ช่องจราจร กว้าง ๓.๕๐ เมตร ไหล่ทางด้านซ้ายกว้า ๒.๕๐ เมตร ไหล่ทางด้านขวา กว้าง ๑.๕๐ เมตร”

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

          นายนคร ศรีธิวงค์ ผู้จัดการโครงการหรือผู้เชี่ยวชาญการสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ ประกอบด้วย ๒ ขั้นตอน ได้แก่ ๑.การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เพื่อศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ หรืออาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงการ ๒.การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) เพื่อนำปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญตั้งแต่ระดับปานกลางถึงสูงของโครงการมาทำการประเมินผลกระทบในขั้นรายละเอียด และเสนอมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สามารถสรุปประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญและกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนี้ ๑.ด้านคุณภาพอากาศ มีการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากการเปิดหน้าดินช่วงก่อสร้างผิวจราจร อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและบรรยากาศ โดยมีมาตรการป้องกัน เช่น ฉีดพรมน้ำบริเวณที่มีการก่อสร้าง อย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง ๒.ด้านเสียงและการสั่นสะเทือน ซึ่งระดับเสียงจากการก่อสร้างอยู่ในช่วง ๖๑.๗-๖๗.๔ เดซิเบล ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์ ที่กำหนดไม่ให้เกิน ๗๐ เดซิเบล ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบถึงขั้นรุนแรงในด้านนี้ 

          ๓.ระบบนิเวศน์ทางน้ำ จากการก่อสร้างโครงสร้างสะพานข้ามลำน้ำจำนวน ๑๒ แห่ง อาจมีการร่วงหล่นของตะกอนดินและเศษวัสดุ จึงมีมาตรการป้องกันโดยการก่อสร้างบ่อดักตะกอนชั่วคราว และขุดบ่อดักตะกอนก่อนถึงลำน้ำประมาณ ๒๐๐ เมตร ทั้งสองฝั่งของลำน้ำ ๔.ด้านการคมนาคม จากกิจกรรมการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกต่างระดับ และการขยายผิวจราจรบริเวณทางหลวงหมายเลข ๒ ถนนมิตรภาพ จะมีการวางเศษวัสดุก่อสร้าง รวมถึงเครื่องจักร ซึ่งอาจทำให้เกิดการกีดขวางเส้นทางคมนาคมและก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

          ๕.การโยกย้ายและการเวนคืน จากการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง สาธารณูปโภค สิ่งกีดขวางในบริเวณเขตทาง ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อผู้ที่สูญเสียที่ดินทำมาหากินและที่อยู่อาศัย รวมพื้นที่เวนคืน ๑,๓๕๒ ไร่ จำนวน ๖๓๑ แปลง อาคารสิ่งปลูกสร้าง ๗ หลัง โดยเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ๑,๒๐๒ ไร่ ทั้งนี้ มีมาตรการการป้องกันโดยแจ้งกำหนดการก่อสร้างให้ผู้รับผลกระทบทราบล่วงหน้าก่อนการก่อสร้างอย่างน้อย ๑ เดือน และปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๕๓๐ และคู่มือการกำหนดเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๕๓๐ กระทรวงคมนาคม

          และ ๖.แหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ได้รับผลกระทบ จากการก่อสร้างโครงการในช่วงที่ตัดผ่านบริเวณบ้านโนนกราด แหล่งโบราณคดีสลักได รวมทั้งบริเวณศาลย่า คูเมืองเก่า บ้านวัดโคกน้อย และวัดโคกสูงที่อยู่ติดเขตทาง ซึ่งการก่อสร้างจะมีการขุดเปิดหน้าดิน อาจจะส่งผลกระทบได้ จึงมีมาตรการป้องกันคือ กำหนดให้ขุดค้นทางโบราณคดีบ้านโนนกราด แหล่งโบราณคดีบ้านสลักได วัดโคกสูง และคูเมืองเก่า กำหนดให้ติดตั้งสังกะสีบริเวณบ้านวัดโคกน้อย และกรณีที่ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีขณะก่อสร้าง ต้องหยุดการก่อสร้างทันที”

ค่าเวนคืนไม่เป็นธรรม

          นายไสว ทิพเวศาสตร์ ผู้ใหญ่บ้านลำเชิงไกร หมู่ที่ ๙ ตำบลโคกสูง กล่าวว่า “การทำถนนเส้นนี้ถือว่าดี สร้างความเจริญให้บ้านเมือง ซึ่งผมในฐานะเป็นผู้ใหญ่บ้านก็อยากจะเห็นพื้นที่หมู่บ้านของผมมีความเจริญมากขึ้น รวมถึงโคราช และภาคอีสานด้วย แต่สิ่งที่ห่วงใยคือ กลัวผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่จะตามมาในขณะก่อสร้าง ซึ่งหมู่บ้านจะได้รับผล กระทบเต็มๆ จากเดิมที่เคยใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สิ่งเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนไปได้ และในวันนี้ผมมาในนามตัวแทนชาวบ้าน เพื่อมาทวงถามเรื่องการเวนคืนที่ดิน ซึ่งด้านทิศเหนือ ตอน ๒ สัญญาก่อสร้างตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๑ จากการสอบถามลูกบ้าน ต่างบอกตรงกันว่ายังไม่ได้รับเงินค่าเวนคืน ซึ่งขณะนี้ผู้รับเหมาและคนงานได้ลงมือก่อสร้างแล้ว ดังนั้นที่ผมมาในวันนี้ก็เพื่อสอบถามและฝากไปยังผู้ดูแลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ที่มา มักไม่แสดงความคิดเห็น ถ้าหากโครงการนี้ดำเนินการไปถึงขั้นออกพระราชกฤษฎีกาแล้ว ก็จะเป็นที่น่าเสียดาย เพราะว่าค่าเวนคืนที่มีกำหนดในพระราชกฤษฎีกานั้นน้อยกว่าราคาที่ดินที่ประชาชนซื้อขายกันอยู่ในปัจจุบัน”

          นายชำนาญ กุลงูเหลือม ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า “ถนนสายนี้จริงๆ แล้วสร้างมานานมาก ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงสุดท้าย และประชาชนยังไม่ทราบชัดเจนว่าใครจะได้รับค่าเวนคืนที่ดินเท่าไหร่ ประชาชนที่มาร่วมประชุมทุกๆ ครั้ง อยากจะได้รับความชัดเจน ซึ่งประชาชนยินดีที่จะเสียสละที่ดินทำมาหากิน เพื่อความเจริญของบ้านเมือง แต่ตัวแทนของกรมทางหลวงที่มาชี้แจง กลับให้ความชัดเจนแก่ประชาชนไม่ได้ โดยอ้างว่าให้รอการตัดสินใจจากคณะกรรมการอย่างเดียว”

          นางประยูร เกนงูเหลือม ชาวบ้านตำบลหนองไข่น้ำ กล่าวว่า “มีที่ดินอยู่ ๔ ไร่ โดยได้รับผลกระทบจากโครงการ ๒ ไร่ ซึ่งขณะนี้มีคนมาขอซื้อที่ดินที่เหลือในราคาไร่ละ ๑.๕ ล้านบาท แต่ ๒ ไร่ที่ถูกโครงการตัดผ่านยังไม่ทราบว่าจะได้รับค่าเวนคืนเท่าไหร่ จากที่ได้ยินมาคือ ตารางเมตรละ ๔๐๐ บาท หรือตารางวาละ ๑,๐๐๐ บาท คิดว่าน่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะราคาต่างจากราคาที่มีการซื้อขายกันอยู่มาก และก็ไม่มีหน่วยงานราชการลงไปดูแล มีแต่การประชุมผลกระทบในครั้งที่ผ่านมาเท่านั้น”

          นางบัวลอย สิ่วไธสง ชาวบ้านตำบลพระพุทธ กล่าวว่า “อยากฝากให้กรมทางหลวงไปพิจารณาขึ้นราคาเวนคืน ให้ใกล้เคียงกับราคาที่มีการซื้อขายที่ดิน ที่ไม่ได้รับผลจากโครงการนี้ ซึ่งกรมทางหลวง จะให้ไปยื่นอุทธรณ์ เราก็แก่แล้วไม่รู้จะไปตรงไหน และต้องทำอย่างไร ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งนั้น ชาวบ้านเดือดร้อนไม่รู้จะปรึกษาใคร ซึ่งที่ดินของดิฉันมีเพียงไม่กี่ไร่ ทุกไร่โดนเวนคืนหมด ไม่คุ้มเหมือนที่ดินของคนอื่นที่ไม่โดนเวนคืน ถ้าต้องไปหาซื้อที่ดินใหม่เพื่อใช้อยู่อาศัย ค่าเวนคืนก็ไม่พอซื้อ ดังนั้นค่าเวนคืนจึงไม่เป็นธรรมกับชาวบ้านที่ได้รับผล กระทบ อยากให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องช่วยลงมาดูแลประชาชนด้วย”

วอนผู้ว่าฯ ดูแลประชาชน

          นายประพิศ นวมโคกสูง อดีตผู้สมัคร ส.ส.นครราช สีมา แสดงความเห็นว่า “จากโครงการถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดคือประชาชนที่ได้รับการเวนคืน เพราะการเวนคืนครั้งนี้ กรมทางหลวงยึดแต่ข้อกฎหมายการเวนคืนที่ดินอย่างเดียว จึงทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแล้วถูกเวนคืนที่ดิน ไม่ได้รับค่าเวนคืนที่เป็นธรรม ทำให้สูญเสียที่ทำมาหากินเกือบทั้งหมด ดังนั้นประชาชนก็เห็นว่าไม่เป็นธรรมที่จะต้องมารับค่าเวนคืนตารางเมตรละ ๔๐๐ บาท หรือตารางวาละ ๑,๐๐๐ บาท ทำไมหน่วยงานราชการจึงไม่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ หรือไปรับฟังความเดือดร้อนของประชาชนตามสภาพที่เป็นจริง เช่นในขณะนี้บริเวณแถวนั้นที่ไม่ถูกใช้ทำถนน มีการซื้อขายกันตั้งแต่ไร่ละ ๘ แสนบาท ถึงไร่ละ ๑ ล้านบาท ซึ่งประชาชนที่เสียสละที่ดินของตัวเอง ก็อยากมีโอกาสได้รับค่าเวนคืนเท่ากับที่มีการซื้อขายบ้าง และในวันนี้หน่วยงานที่มาชี้แจงก็ยังตอบคำถามประชาชนไม่ได้ และทำให้ประชาชนไม่พอใจอีกด้วย จากปัญหาดังกล่าว ทางกรมทาง หลวงก็อ้างว่าให้ประชาชนไปขอเอกสารราคาการซื้อขายมาให้ ทางกรมที่ดินก็ไม่ยอมเปิดเผยราคาการซื้อขายแก่ประชาชน ทั้งที่มีการซื้อขายและโอนเงินกันทุกวัน ผมอยากจะฝากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ช่วยกำชับกรมที่ดินส่งรายงานการซื้อขายให้ประชาชนทราบว่า ปัจจุบันมีการซื้อขายที่ดินอยู่ในราคาเท่าไหร่ หรือไม่ก็ให้ท่านผู้ว่าฯ ลงนำสืบในพื้นที่ซื้อขายโดยตรง ซึ่งผู้ซื้อขายเขาคงไม่หวงข้อมูล ต่อไปในวันข้างหน้าประชาชนจะได้รับความยุติธรรม การหลีกเลี่ยงภาษีก็จะน้อยลงด้วย จากปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ และสร้างให้โคราชเป็นโมเดลในการแก้ปัญหาในอนาคตต่อไป” 

ค่าเวนคืนชัดเจนปีหน้า

          นายครรชิต ราชพลสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรมทางหลวง กล่าวชี้แจงว่า “ราคาการเวนคืนหรือราคาประเมินที่ดิน ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ที่มีทั้งแขวงการทาง นายอำเภอ ปลัดจังหวัด และอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยค่าเวนคืนที่ประชาชนจะได้รับ ยึดจากราคาค่าเวนคืนที่ดินของกรมธนารักษ์เป็นหลัก ส่วนราคาที่ประชาชนถามว่า ‘จะได้เพิ่มเท่าไหร่’ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ซึ่งขณะนี้ยังสรุปราคาที่ชัดเจนไม่ได้ ยังต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น อาจจะสรุปและออกพระราชกฤษฎีกาเสร็จสิ้นภายซึ่งในปีหน้า”

          ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๙ วันเสาร์ที่ ๖ - วันพุธที่ ๑๐ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 


868 1,533