October 14,2018
สุรวุฒิ’ทุบสะพานสีมาธานี ลั่น ๑,๓๓๖ ล.เรื่องเล็ก สะพานหัวทะเลก็ทำลาย
เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น ‘รถไฟทางคู่’ สัญญา ๒ คลองขนานจิตร-จิระ หลังที่ปรึกษาเสนอว่า ไม่ต้องทุบสะพานสีมาธานีก็ได้ หวั่นจราจรติดขัดยาว ๓๐ เดือน หากทุบต้องสูญเสียงบอีก ๑,๓๓๖ ล้านบาท ท้ายสุดโดนจวกเละ ‘อุทัย มิ่งขวัญ’ ยันต้องทุบเท่านั้น ‘สุรวุฒิ เชิดชัย’ อ้างงบแค่ ๑,๓๓๖ ล้านบาทไม่ใช่เรื่องใหญ่ เมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจโคราช แถมทุบสะพานหัวทะเลด้วยจะดีมาก ที่ปรึกษาชี้จะทุบหรือไม่ตัดสินใจเองไม่ได้ สะพานเป็นของกรมทางหลวง
ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวกรณีบริษัทที่ปรึกษาโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ซึ่งก่อนนี้มีนักการเมืองและนักธุรกิจโคราชบางกลุ่มรวมตัวเรียกร้องให้มีการยกระดับทางรถไฟผ่านตัวเมือง และการเรียกร้องประสบความสำเร็จ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายนที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษาฯ ได้มาประชุมร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา เสนอข้อมูลและแนวทางว่าไม่จำเป็นต้องมีการรื้อสะพานบริเวณโรงแรมสีมาธานี ซึ่งจะทำให้ไม่มีปัญหาการจราจรติดขัดเป็นเวลา ๓๐ เดือน และยังช่วยประหยัดประมาณอีกจำนวน ๑,๓๓๖ ล้านบาท ซึ่งนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เชิญชวนประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ ๒ คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ มาร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนให้มีการรื้อสะพาน นำป้ายไปติดบริเวณดังกล่าวด้วย
ล่าสุดวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา มีประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (นำเสนอผลการศึกษาร่างรูปแบบโครงการ) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ งานปรับรูปแบบรายละเอียดก่อสร้างทางรถไฟ บริเวณอำเภอสีคิ้วและตัวเมืองนครราชสีมา โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานในการประชุม พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายกฤษดา มัชฌิมาภิโร ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการ ท่ามกลางผู้เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นกว่า ๓๐๐ คน อาทิ ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นายอุทัย มิ่งขวัญ รองนายกอบจ.นครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราช สีมา นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ นายอรชัย ปุณณะนิธิ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายกิติพงศ์ พงศ์สุรเวท รองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา นายธนาคม วิมลวัตรเวที ประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ อาจารย์สาขาการจัดการผังเมือง มทร.อีสาน พร้อมด้วยนักธุรกิจและประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอสีคิ้ว
ที่มา“รถไทยทางคู่”ต้องยกระดับ
เวทีเริ่มขึ้นจากนายกฤษดา มัชฌิมาภิโร ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวรายงานความเป็นมาของการจัดเวทีครั้งนี้ว่า “ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนช. ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นระบบรถไฟทางคู่ เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์ (ระยะที่ ๑) การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดของโครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๕ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๙ อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา–ชุมทางถนนจิระ ซึ่งได้แบ่งออกเป็น ๔ สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ ๑ ช่วงมาบกะเบา–คลองขนานจิตร, สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร–ชุมทางถนนจิระ, สัญญาที่ ๓ งานอุโมงค์รถไฟ และสัญญาที่ ๔ โครงการจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา–ชุมทางถนนจิระ ซึ่งต่อมาจังหวัดนครราชสีมาและอำเภอสีคิ้ว ได้นำเสนอข้อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแบบก่อสร้าง ในช่วงที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมาและอำเภอสีคิ้วใหม่ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยต้องการให้ก่อสร้างเป็นทางรถไฟยกระดับพื้นดิน ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการแบ่งแยกชุมชนออกเป็นสองฝั่งและกังวลถึงผลกระทบด้านจราจร ซึ่งกระทรวงคมนาคม, การรถไฟแห่งประเทศไทย, จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอสีคิ้ว ได้พิจารณารูปแบบแก้ไขร่วมกันแล้ว มีข้อสรุปในเบื้องต้นบางช่วงจะทำการยกระดับทางรถไฟ และบางช่วงจะเป็นคันทางรถไฟสูง โดยก่อสร้างเป็นคันทางรถไฟสูงแล้วก่อสร้างเป็นถนนลอดใต้ทางรถไฟ
นำเสนอการปรับแบบ
“จากนั้นสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งออกแบบการปรับปรุงทางยกระดับรถไฟทางคู่ ช่วงคลองขนานจิตร–ชุมทางถนนจิระ (สัญญาที่ ๒) และสถานีรถไฟสีคิ้ว เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมือง การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้ว่าจ้างบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนชัลแต้นส์ จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการปรับแบบรายละเอียดบริเวณอำเภอสีคิ้วและตัวเมืองนครราชสีมา ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา–ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร–ชุมทางถนนจิระ ตามสัญญาจ้างเลขที่ กส.๐๔/ทค./๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑ มีระยะเวลาการดำเนินงาน ๑๖๐ วัน สิ้นสุดในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ โดยจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งทางด้านกายภาพ การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ และต้นทุนค่าก่อสร้างเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วน นอกจากนี้จะต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ โดยเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมไปสู่ศูนย์กลางเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนอกจากนี้จะต้องสอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ระยะที่ ๑ กรุงเทพ–นครราชสีมา ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการปรับแก้ไขแบบและได้เริ่มการก่อสร้างบางช่วงอยู่ในระหว่างการเตรียมการก่อสร้าง ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาและพัฒนาของโครงการมีรอบคอบ ครบถ้วนสมบูรณ์โปร่งใสและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงได้ดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ควบคู่ไปกับการปรับแบบรายละเอียดของโครงการในครั้งนี้ด้วย สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวันนี้ เป็นการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ ๒ (นำเสนอผลการศึกษาร่างรูปแบบโครงการ) ซึ่งมีความมุ่งหมายที่สำคัญเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในเขตอำเภอสีคิ้ว และอำเภอเมืองนครราชสีมา ได้มีส่วนร่วมรับรู้รับทราบข้อมูลและผลการศึกษาโครงการ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการพิจารณาประกอบการปรับแบบรายละเอียดโครงการให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น” นาย กฤษดา กล่าว
เสนอตามหลักการและเหตุผล
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “เวทีวันนี้เกิดขึ้นเนื่องจากว่า ทีมที่ปรึกษาและการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มาพบผม พูดถึงการเปลี่ยนการยกระดับรถไฟทางคู่ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา หลักใหญ่คือจะมีการทุบสะพานสีมาธานี แต่ทางที่ปรึกษากับทางรถไฟแห่งประเทศไทยมีข้อเสนอว่า อาจจะมีปัญหาเรื่องการจราจร และสามารถขยับจุดจอดเดิมห่างจากสถานีรถไฟเดิม ๑๖๐ เมตร เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องทุบสะพานสีมาธานี จะใช้วิธีการมาโผล่ยกระดับเมื่อพ้นสะพานสีมาธานี ผมรับทราบและเสนอกับผู้ศึกษาว่า เรื่องนี้จะกระทบกับพี่น้องประชาชน จึงอยากให้เปิดรับฟังข้อคิดเห็นของพี่น้องประชาชนอีกสักครั้ง ทางคณะที่ปรึกษาบอกว่าจะมีการประชุมเวทีสุดท้ายในปลายเดือนอยู่แล้ว เป็น final report แต่ผมขอให้เพิ่มเวทีครั้งนี้เข้ามา ก่อนจะไปถึงเวทีสุดท้าย เพื่อให้พี่น้องชาวนครราชสีมาได้มีโอกาสแสดงข้อคิดเห็น เพราะเกรงว่า ถ้าไปถึงเวทีสุดท้ายแล้วจะแก้ไม่ได้ ซึ่งเวทีสุดท้ายก็ยังมีอยู่ โดยคาดหวังว่า เวทีนี้จะเกิดประโยชน์ในการพัฒนารถไฟทางคู่ ซึ่งวันนี้มีชาวสีคิ้วมาร่วมด้วย และขอให้แสดงข้อคิดเห็นได้เต็มที่ เพียงแต่เป็นการแสดงเสนอข้อคิดเห็นด้วยหลักเหตุผล”
ยกระดับได้โดยไม่ต้องทุบสะพาน
จากนั้นผู้แทนบริษัทที่ปรึกษา บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด นำโดยนางรัชนี สุโภภาค รองผู้จัดการโครงการ นาย บุญพา สืบสินสัจจวงศ์ วิศวกรโยธา และนางสาวเกศฎาภรณ์ ชัยวงษ์ วิศวกรจราจร ร่วมนำเสนอข้อมูลงานปรับแบบสถานีนครราชสีมาและสีคิ้ว ซึ่งรวมถึงเหตุผลในการไม่รื้อสะพานบริเวณโรงแรมสีมาธานี รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ ทั้งด้านการจัดการจราจร การสร้างจุดตัด รวมทั้งเส้นทางกู้ภัยหากเกิดเพลิงไหม้ เป็นต้น
นางรัชนี สุโภภาค รองผู้จัดการโครงการ บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด กล่าวว่า “ตามสัญญาเดิม รถไฟทางคู่จะมีการก่อสร้างในระดับพื้นดิน แต่เนื่องจากประชาชนชาวโคราชบางกลุ่มเรียกร้องให้ยกระดับ ทางการรถไฟจึงออกแบบรายละเอียดให้ยกระดับตั้งแต่ภูเขาลาดไปถึงชุมทางถนนจิระ ซึ่งจะทำให้การยกระดับมาชนกับสะพานข้ามแยกหน้าโรงแรมสีมาธานี จึงเสนอให้ทุบสะพาน จากนั้น ทางโครงการรถไฟความเร็วสูงได้มีการปรับแบบ และขยับสถานีรถไฟออกไปด้านชุมทางถนนจิระอีก ๑๖๐ เมตร ทำให้บริษัทที่ปรึกษาโครงการรถไฟทางคู่เห็นว่า ทางรถไฟสามารถลอดใต้สะพานสีมาธานีได้โดยไม่ต้องทุบสะพานทิ้ง แล้วจึงค่อยไต่ระดับขึ้นไปยังชั้น ๒ ของสถานี ในวันนี้จึงทำความคิดเห็นดังกล่าว มานำเสนอให้ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมารับทราบ และแสดงความคิดเห็นด้วย”
นางสาวเกศฎาภรณ์ ชัยวงษ์ วิศวกรจราจร ที่ปรึกษาโครงการฯ ด้านการจราจร ได้เน้นตามข่าวที่ “โคราชคนอีสาน” นำเสนอไปก่อนหน้านี้ว่า “สนับสนุนแนวทางที่ไม่ต้องรื้อสะพานข้ามแยกโรงแรมสีมาธานี เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาและอุปสรรคด้านการจราจรที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต หากการออกแบบทางวิศวกรรมสามารถดำเนินงานได้”
จวกที่ปรึกษาฯ ทำการบ้านไม่ดี
หลังจากมีการนำเสนอข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาแล้วเสร็จ มีการเปิดเวทีให้แสดงความคิดเห็น โดยเริ่มจากนายอุทัย มิ่งขวัญ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และ ผู้จัดการสำนักงานสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสะพานสีมาธานี กล่าวว่า “นั่งฟังที่ปรึกษาโครงการฯ นำเสนอ ความละเอียดของที่ปรึกษาโครงการฯ นั้นละเอียดรอบคอบขนาดไหน ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนหนองไผ่ล้อมหากมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้น ท่านไปเอารถดับเพลิงจากที่ไกลๆ วิ่งมาทำไม ที่หนองไผ่ล้อมเองก็มีรถดับเพลิงอยู่แล้ว จากข้อมูลนี้ท่านก็สอบตกแล้ว (มีเสียงโห่และปรบมือสนับสนุนดังสนั่น) แล้วจะให้พวกเราคนโคราชเชื่อมั่นท่านได้อย่างไร ๔ ปีที่ท่านใช้เวลาก่อสร้าง ท่านบอกว่าการจราจรจะติดขัด แล้วพวกผมต้องอยู่ที่นี่จนตาย เราต้องวางแผนไว้เผื่อ ๑๐-๒๐ ปี ข้อมูลของท่านจะต้องแน่นกว่านี้ เรื่องการจราจรติดขัดอะไรที่ท่านว่ามา ท่านไม่ต้องมาพูด เพราะต้องทำให้เสร็จตามสัญญาเท่านั้น ถ้าไม่เสร็จบริษัทรับเหมาก่อสร้างก็จะเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ดี เรื่องที่จะทุบสะพานหน้าโรงแรมสีมาธานีนั้น คือเรื่องที่ตรงใจคนโคราชมากที่สุดแล้ว”
จากนั้น ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ อาจารย์ มทร.อีสาน กล่าวว่า “วันนี้มีนักวิชาการผังเมืองเข้าร่วมประชุมมากมาย ทั้งจากสีคิ้วและอำเภอเมือง บางคนต้องเดินทางมาไกล เพื่อมาดูว่าที่ปรึกษาโครงการฯ ทำการบ้านมามากน้อยแค่ไหน ผมก็ค่อนข้างจะเห็นใจที่ปรึกษาโครงการฯ ผมเคยไปนั่งบนโต๊ะหน้าเวที ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งเช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมต้องพูดวันนี้คือ ทางลอดรถไฟที่ทำตรงสีคิ้ว มีขนาดนิดเดียว ดูช่องที่ทำมามีช่อง ๑.๙ เมตร, ๓.๕ เมตร และ ๔.๕ เมตร ดังนั้นความหน้าเชื่อถือของพวกเราที่มีต่อปรึกษาโครงการฯ ว่า ทำการบ้านมาดีจากพวกเราหมดไปแล้ว ซึ่งที่ปรึกษาโครงการฯ ไม่มีการเตรียมตัวมาเลย กับวาระการประชุมที่อ่อนไหวแบบนี้ ผมนั่งอยู่ข้างหลัง ผมได้ยินพี่น้องคนโคราชเถียงกันว่า “รื้อก็ดีนะ ไม่รื้อก็ดีนะ” ทั้งหมดนี้เราตกเป็นเหยื่อของการไม่เตรียมตัวของที่ปรึกษาโครงการฯ และไม่ต้องมาถามประเด็นอื่นๆ เพราะผมไม่ไว้วางใจที่ปรึกษาโครงการฯ แล้ว เพราะเตรียมตัวมาไม่ดี” หลังกล่าวจบเดินกลับไปยังที่นั่ง พร้อมกับเสียงปรบมือและเสียงร้องเห็นด้วยกับ ผศ.นิคม บุญญานุสิทธิ์
สุรวุฒิ’ให้ทุบสะพานหัวทะเลด้วย
นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ซึ่งครอบครัวประกอบธุรกิจอู่ต่อรถโดยสารอยู่ไม่ห่างจากสะพานสีมาธานี กล่าวว่า “ผมคิดว่าวันนี้ที่มาจะมาประชุมเรื่องทุบสะพานสีมาธานีสะพานเดียวไม่พอ แต่อยากจะให้ทุบสะพานหัวทะเลให้ด้วย และน่าจะยกระดับยาวไปหัวทะเลเลย โคราชจะได้สะดวกขึ้นกว่าเดิม (เสียงโห่ร้องสนับสนุนดังกึกก้อง) ก่อนท่านจะมาประชุม น่าจะถามพวกเราก่อน เช่นท่านบอกว่ารถดับเพลิงต้องไปทางไหน ผมอยากจะอธิบายให้ฟังว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาทางเทศบาลนครฯ มีการปรับศูนย์ดับเพลิงตามการเจริญเติบโตของเมือง สมมุติว่าท่านมีสะพานยกระดับเรียบร้อย และมีจุดไหนสูงเท่าไหร่บ้างแล้วทำให้รถดับเพลิงเราผ่านไม่ได้ เราก็สามารถปรับศูนย์ดับเพลิงตามท่านได้ ซึ่งท่านควรจะถามข้อมูลจากเราว่า ที่จริงแล้วเรามีศูนย์ดับเพลิงกี่ศูนย์กันแน่ และเรื่องการทุบสะพานสีมาธานี ท่านบอกว่าถ้าทุบจะทำให้เสียเวลาในการก่อสร้างค่อนข้างนาน ต้องบอกว่าผมอายุ ๕๐ กว่าปีแล้ว ผมรอสะพานยกระดับมา ๕๐ กว่าปีแล้วเช่นกัน เพราะถ้ารถไฟยกระดับ ผมมั่นใจว่าลูกหลานผมได้ใช้แน่นอน ผมขอฝากไว้ว่า เงิน ๑,๓๐๐ ล้าน ที่เป็นค่าก่อสร้าง เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของโคราชแล้ว ผมว่าน้อยนิดมาก เพราะถ้าเมืองเติมโตแล้วมีการค้าขายที่ดีขึ้น เงินทุกบาทก็จะส่งกลับไปยังรัฐบาลอยู่ดี และราคาน้ำมันทุกวันนี้ ๓๐ บาท ถ้าเกิดเราลดปัญหาการจราจรได้ ก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย
สุรวุฒิ’อ้างเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่
นายสุรวุฒิ กล่าวอีกว่า “นอกจากนี้ ที่ท่านบอกว่าใช้เวลาก่อสร้าง ๔-๕ ปี โดยไม่รู้ว่ารถไฟทางคู่กับรถไฟความเร็วสูงจะสร้างเสร็จและจะเชื่อมกันเมื่อไหร่ ซึ่งท่านกำลังจะบอกพวกเราว่าอะไร และถ้าหากการก่อสร้างใช้เวลา ๔-๕ ปี ทำไมไม่เอาการทุบสะพานไปไว้สัญญาสุดท้าย ซึ่งท่านสามารถสร้างจุดอื่นๆ รอก่อนได้เลย แล้วให้การทุบสะพานสีมาธานีอยู่ท้ายสุด ดังนั้น อะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของเมือง ก็ควรปรับ ถ้าหากทุบแล้วทำให้ถนนเส้นไหนมีการจราจรติดขัด เราก็จะปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับการเดินทางของรถไฟและการเข้าสถานีรถไฟในอนาคต ผมเชื่อว่า ผู้ว่าราชการ จังหวัดฯ หัวหน้าส่วนราชการ และเทศบาล สามารถปรับถนนหนทาง การเดินทางต่างๆ เพื่อรองรับการเข้ามาถึงของรถไฟได้อย่างแน่นอน วันนี้พวกเราห่วงว่า อยากได้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมากๆ เพื่อช่วยกันเห็นใจโครงการเหล่านี้ และอยากเห็นโครงการนี้ไม่สร้างความขัดแย้งให้กับคนในพื้นที่ ผมมั่นใจว่าเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่กว่าคือการทำความเข้าใจและปรับโครงสร้างต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน พวกเราไม่มีเจตนาที่ไม่อยากเห็นความเจริญ อยากให้เห็นใจคนที่อยู่ที่นี่ทุกวัน ซึ่งผมมองแล้วว่าอะไรจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง และมองแล้วว่าอะไรที่จะทำให้เราอยู่แล้วมีความสุขขึ้น และถ้าเกิดเป็นไปได้ กลับไปครั้งนี้ไปเติมอีกสะพานคือ สะพานหัวทะเล”
ทางเลือกที่ ๓ ยกข้ามสะพาน
นายวีรพล จงเจริญใจ ผู้แทนบริษัทโคราชพัฒนาเมือง และอดีตนายกสมาคมอสังหาริม ทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะต่างคนต่างทำ ซึ่งตัวรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งเข้าเมือง น่าจะต้องใช้ความเร็วสูงในการวิ่งเข้าสถานี ซึ่งรถไฟน่าจะวิ่งมาในแนวตรงตลอดทาง ดังนั้นอาจจะต้องชนกับตัวสะพานสีมาธานี แล้วทางที่ปรึกษาโครงการฯ ให้ตัวเลือกเรามาแค่ ๒ ตัวเลือก คือ ทุบกับไม่ทุบ ซึ่งถ้าทุบก็จะเกิดปัญหาตามที่นำเสนอ แต่ถ้าไม่ทุบปัญหาก็จะอยู่กับพวกเราไปตลอด ดังนั้นผมขอเสนอทางเลือกที่ ๓ ว่า ไหนๆ ก็จะยกระดับแล้วก็ยกให้สูงขึ้นไปอีก ให้ทางรถไฟข้ามสะพานไป จากงบประมาณ ๑,๓๐๐ ล้านบาท อาจจะต้องเพิ่มขึ้น แต่เพียงไม่กี่ปีเราก็สามารถสร้างมูลค่าที่สูงกว่าได้ ทั้งหมดนี้สรุปได้ ๓ ประเด็นคือ ๑.รถไฟความเร็วสูงกับรถไฟทางคู่จะใช้ทางร่วมกันหรือไม่ ๒.สามารถเพิ่มตัวเลือกที่ ๓ ให้กับคนโคราชได้หรือไม่ว่า ให้ยกระดับทางรถไฟให้สูงกว่าสะพาน และ ๓.เรื่องงบประมาณ สำหรับประเทศอาจจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าโครงการฯ ทำให้จังหวัดมีการเติบโต และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น”
ลดการวิ่งรถไฟแก้รถติด
นายอรชัย ปุณณะนิธิ อดีตประธานหอการ ค้าจังหวัดนครราชสีมา และสำเร็จการศึกษาปริญญาโทวิศวกรรมจราจร จากสหรัฐอเมริกา แสดงความคิดเห็นว่า “ผมมองว่ารัฐบาลขาดความจริงใจ เท่าที่ชี้แจงมา ถ้ารถไฟความเร็วสูงไม่เกิดขึ้น รถไฟก็จะวิ่งบนดินเหมือนเดิม ซึ่งรถไฟความเร็วสูงอาจจะเกิดยาก เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน และในเมื่อจะยกระดับตั้งแต่สะพานสีมาธานี ทำไมไม่ยกระดับยาวไปถึงสะพานหัวทะเล จะยกทั้งทีก็ยกทีเดียวผ่านเมืองไปเลย ไม่ต้องมายกขึ้นยกลงแบบนี้ ในอนาคตหากจะสร้างจะทำอะไรก็จะสามารถทำได้หมด และยังไม่ทำให้ทางข้างล่างต้องได้รับ ผลกระทบด้วย นอกจากนี้ ถ้าท่านกลัวรถติด ทำไมไม่ลดการวิ่งของรถไฟลง ไม่ต้องมาวิ่งทั้งวันทั้งคืน ไหนๆ ก็ขาดทุนอยู่แล้ว จะขาดทุนอีกสักหน่อยจะเป็นอะไร”
มั่นใจทุบสะพานรถไม่ติด
นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการเเละผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา แสดงความคิดเห็นว่า “ผมคิดว่าท่านหลงประเด็น เพราะคนโคราชได้เรียกร้องและ ครม.ก็เห็นด้วยให้ยกระดับรถไฟทางคู่ เพราะรถไฟทางคู่ได้มีการทำรั้วสองด้านเป็นการแบ่งเมืองระหว่างทิศเหนือและทิศใต้ของเมือง ซึ่งถ้าท่านศึกษาการเติมโตของเมือง จะพบว่าทางทิศเหนือและทิศใต้จะมีการเติมโตพอๆ กัน ประเด็นที่ท่านพูดว่าสะพานจะทุบไม่ทุบ ซึ่งรัฐบาลเขาก็มียุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แต่ท่านมอง ๓๐ เดือน ในระยะยาวท่านไม่มอง การจัดการงานก่อสร้าง (Construction Management) สามารถทำได้หมด อย่างเช่นทำในปีสุดท้ายก็ได้ รถหรือการจราจรก็ยังสามารถวิ่งได้อยู่ ถ้ามาอ้าง ๓๐ เดือน ไม่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบในการยกระดับทางรถไฟมาให้โคราช ๓,๕๐๐ ล้านบาท เดิมทีจะยกในระยะทาง ๗ กิโลเมตร แต่มีปัญหาว่าติดโครงสร้างบริเวณสามแยกปักธงชัย ที่เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่มาก ทำให้การยกระดับข้ามบริเวณนั้นเป็นเรื่องยาก ซึ่งถ้าท่านยกระดับทั้งหมดก็จะไม่มีปัญหาอะไร แล้วถ้ายกระดับหลังสะพานสีมาธานี จะมีเพียงจุดเดียวที่ได้ประโยชน์คือ บริเวณห้าแยกหัวรถไฟ ในที่ท่านนำเสนอมาก็ไม่มีถนนสืบสิริ และถ้าหากทุบแล้วเกิดปัญหาการจราจรขึ้นจริง เราก็ยังมีถนนเลี่ยงเมืองมารองรับได้ถึง ๒ เส้นทาง และในปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ถนนวงแหวนรอบนอกอีกวงหนึ่งของกรมทางหลวงก็จะเสร็จแล้ว ดังนั้น การเลี่ยงถนนมิตรภาพก็สามารถออกไปยังถนนเลี่ยงเมืองและวงแหวนรอบนอกได้ ซึ่งปริมาณรถที่จะเข้ามาในเมืองจะเป็นรถที่ต้องการเข้าเมืองจริงๆ รถขนส่งต่างๆ ก็จะใช้เส้นทางเลี่ยงทั้งหมดได้”
การรถไฟฯ ต้องยืนยันคำเดิม
นายภาณุ เล็กสุนทร เจ้าของแฟนเพจ ‘โคราชเมืองที่คุณสร้างได้’ กล่าวว่า “ครั้งแรกที่ได้ยินว่าจะมีการสร้างรถไฟทางคู่มา ก็รู้สึกว่าเมืองโคราชจะเจริญแล้ว ความเจริญจากเมืองหลวงก็จะขยายมาแล้ว พอบอกว่าจะมีรถไฟความเร็วสูงมาอีก เราก็ยิ่งดีใจขึ้นไปอีก และเราก็เชิดชูชื่นชมการรถไฟมาก เมื่อมาเห็นแบบเรื่องของการรถไฟ เราก็เริ่มลดความดีใจลง และเมื่อท่านบอกว่าไม่ยกระดับ ความรู้สึกดีๆ หายหมดเลย ซึ่งเราชื่นชมการรถไฟมาตลอด ดังนั้นเราขออีกนิดเดียว”
นายกิติพงศ์ พงศ์สุรเวท รองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “จากการชี้แจงของการรถไฟฯ ครั้งก่อนที่ว่า มีสัญญาเฉพาะเส้นทาง มาบกะเบามาถึงชุมทางถนนจิระ ดังนั้นสะพานหัวทะเลจึงไปยุ่งเกี่ยวด้วยไม่ได้ เราก็เข้าใจ โดยจะเริ่มยกระดับตั้งแต่ภูเขาลาด ลอดใต้สะพานสามแยกปัก แล้วจึงมาชนกับสะพานสีมาธานี ตอนนั้นบอกว่าทุบแน่นอน โดยมีระยะทางรวมกว่า ๕ กิโลเมตร ซึ่งประชาชนโคราชก็เห็นด้วย แต่การรถไฟฯ มาเสนออีกว่า ถ้าทุบสะพานสีมาธานีแล้วจะสร้างสะพานกลับรถให้ แต่เราพบว่าอาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้ จึงอยากเสนอให้ทำทางลอด เพื่อเพิ่มโอกาสให้โคราชได้มีการเจริญเติบโตมากขึ้น ฉะนั้น งบประมาณที่อนุมัติมา ๓,๕๐๐ ล้านบาท น่าจะรวมกับงบในการทุบสะพานด้วย จึงอยากขอให้ยืนยันตามแบบเดิมที่เคยคุยกันไว้”
วอนรถไฟลงมาดูแลประชาชน
นางอมรรัตน์ ทุดาดิษฐ์ หรือผู้ใหญ่ไข่ ชุมชนหนองไผ่ล้อม กล่าวว่า “อยากให้การรถไฟฯ ลงพื้นที่มาศึกษาปัญหาที่ชาวบ้านเดือดร้อนจริงๆ เพราะหมู่บ้านหนองไผ่ล้อมอยู่ใกล้บริเวณทางรถไฟทั้งสองฝั่ง ประชาชนมีความวิตกอย่างมากว่า รั้วที่ออกแบบมานั้นจะห่างจากบ้านเรือนเท่าไหร่ แล้วถ้าถูกรื้อถอนที่อยู่อาศัยจะได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ ดังนั้นเราจึงอยากให้การรถไฟลงพื้นที่ ไปรับฟังปัญหา และความเดือดร้อนของประชาชนด้วย”
นายอุดม สร้อยแสงพันธุ์ ประธานสภา อบต.พันชนะ อ.ด่านขุนทด และกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งยังเป็นเจ้าของร้านโคราชโปรเกรทรวมช่าง ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานสีมาธานี ซึ่งนำคณะมาชูป้ายสนับสนุนให้มีการทุบสะพาน แสดงความคิดเห็นว่า “รู้สึกดีใจมากที่จะมีการรื้อสะพาน แล้วล่าสุดมาบอกว่าจะไม่รื้อ ความรู้ดีใจนั้นหายไปหมด ผมอยู่บริเวณตีนสะพานมาหลายสิบปี ประชาชนบริเวณนั้นก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นความเจริญที่จะเกิดขึ้นตรงสี่แยกอัมพวัน แล้วที่มาอ้างว่าตรงนั้นการจราจรติดขัด ขอให้เลิกคิด เพราะโคราชมีถนนที่จะช่วยระบายรถในเขตเมืองอีกหลายเส้น และที่บอกว่าประหยัดงบไป ๑,๓๐๐ ล้านบาท ก็เลิกคิดไปเลย ถ้าจะมาทำสะพานกลับรถอีก เมืองที่เจริญแล้วไม่มีสะพานข้ามอยู่กลางเมืองแบบนี้ เพราะเขาจะสร้างเป็นอุโมงค์หรือเป็นอย่างอื่นก็ว่ากันไป การรื้อสะพานสีมาธานีวันนี้ผมขอความชัดเจนว่า จะมีการรื้อจริงๆ ไหม?”
ฝากที่ปรึกษาฯ กลับไปทำการบ้าน
พล.ต.ต.วณัฐ อรรถกวิน อดีต ผบก.ศฝร.ภ.๓, อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า “ผมคิดว่าที่ปรึกษาโครงการฯ คงจะหนักอกหนักใจมาก แต่ตามที่ทุกคนพูดมาว่า ทุกความเดือดร้อนของประชาชนคนโคราช อยากให้ที่ปรึกษานำไปทบทวน ศึกษาให้จริง และลงพื้นที่ให้ชัดเจน แล้วที่ปรึกษาโครงการฯ จะได้รับคำตอบเอง ขณะนี้ยังมีเวลา อย่าปล่อยให้เวลาหมดไป ไม่อยากให้ต้องสรุปและตัดสินใจว่า ต้องทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ แต่ต้องดูข้อมูลให้ชัดเจนว่า ประชาชนเดือดร้อนอย่างไรหรือแบบไหน อย่างที่หลายๆ คนบอกว่าข้อมูลที่ทำมานำเสนอวันนี้ไม่ถูกต้อง เป็นผมก็รับไม่ได้ ฉะนั้นต้องกลับไปศึกษารายละเอียดให้มากกว่านี้ ทุกความเดือดร้อนของประชาชนต้องได้รับความแก้ไข งบประมาณเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น อะไรที่ปรับได้แก้ได้ ผมเชื่อว่าการรถไฟฯ ทำได้ ขอแค่ปรับแล้วช่วยแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนได้”
เสนอทางแก้ที่สีคิ้ว
นายสิทธิศักดิ์ จันทรรวงทอง ประธานมูลนิธิพรหมธรรม สถานสงเคราะห์สีคิ้ว กล่าวว่า “จากการประชุมด้วยกันหลายครั้ง สีคิ้วค่อนข้างพึงพอใจในระดับหนึ่ง แต่สักครู่ที่บอกว่าจุดตัดตรงถนนชุมค้า ถ้าเป็นไปได้เราอยากให้ลดลงเป็น ๑ เมตร ไม่ใช่ ๑.๕ เมตร และทางลอดอยากให้มีความสูงตามมาตรฐาน คือ ๕ เมตร เพราะถนนเส้นนี้เป็นจุดที่สำคัญ ซึ่งจะมีรถดับเพลิง รถทัวร์ และรถสิบล้อ สัญจรผ่านถนนเส้นนี้ กลัวว่าถ้าทางลอดสูง ๔.๕ เมตร จะเกี่ยวคานสะพานได้”
นายไพรรัฐ แซ่อือ ประชาชนอำเภอสีคิ้ว แสดงความคิดเห็นว่า “ข้อห่วงใยจากการกดถนนลง เช่นเดียวกับที่อำเภอบัวใหญ่ และอำเภอโนนสูง พบว่าบริเวณที่มีการกดถนนลงเพื่อลอดใต้รางถนนไฟ เมื่อมีฝนตกลงมาหนักๆ จะทำให้น้ำท่วมได้ เพราะเครื่องปั๊มน้ำทำงานไม่ทันบ้าง หรือบางครั้งปั๊มน้ำเสีย ในบริเวณถนนชุมค้าก็ควรวางท่อให้ระดับน้ำไหลลงไปสู่ลำตะคอง จะได้ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาในทางลอดได้ อย่ามัวหวังพึ่งแค่เครื่องสูบน้ำ แต่ควรให้น้ำไหลลงตามธรรมชาติได้ด้วยอีกทาง เดิมทีเลียบทางรถไฟก็มีคลองที่ช่วยให้น้ำไหลลงไปในลำตะคอง ปัญหาเรื่องนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะที่กรุงเทพฯ ก็เพิ่งมีคนเสียชีวิตจากเรื่องนี้เช่นกัน และอยากฝากให้ทางที่ปรึกษาโครงการฯ จัดวางระบบท่อระบายน้ำให้ประชาชนด้วย”
ทำไมสู้ขอนแก่นไม่ได้???
ท้ายสุดนายรัฐกิตติ์ วัชรไพศาลสิน (ชื่อเดิม นายเรืองชัย รังสิโรจน์) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ออสซี่ อันเดอร์ วิฮิเคิ้ลส์ จำกัด และอนุกรรมการขนส่งทางราง สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) กล่าวแสดงความคิดว่า “วันนี้ผมรู้สึกสงสารบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ เรื่องทำสำคัญแบบนี้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไม่ครบ การไฟฟ้าไม่มา กรมทางหลวงไม่มา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก็ไม่มา ผมเห็นว่าคนโคราชมีการแบ่งฝ่ายเป็น ๒ ด้านแล้ว ซึ่งการยกระดับนั้นมี ๒ แบบด้วยกันคือ ๑.ยกระดับคันดิน และ ๒.ยกระดับด้วยเสา ผมเห็นด้วยกับทางเลือกที่ ๓ คือยกระดับให้สูงกว่าสะพานสีมาธานี และถ้าจะยกระดับทั้งที ทำไมไม่ยกให้ไปถึงสถานีบ้านเกาะ เพราะความเจริญจะขยายไปทางนั้น ที่สำคัญคือ ในการทำประชาพิจารณ์ที่ปรึกษาโครงการ ควรจะเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาคุยกันนอกรอบเสียก่อน ก่อนที่จะจัดทำการประชุมกับประชาชน และสิ่งที่ผมน้อยใจมากที่สุดคือ โคราชประชากร ๒.๖ ล้านคน มีเนื้อที่ใหญ่ที่สุด แต่ทำไมเราสู้ขอนแก่นไม่ได้ กลายเป็นว่าเราคือลูกเมียน้อย จะยกระดับทั้งที่ทำให้ดีไปเลย ผมว่างบ ๓,๕๐๐ ล้านบาทไม่พอ”
“วันนี้ผมได้ยินแต่ทุกคนพูดแต่ปัญหา ทำไมไม่เสนอแนะกัน เราควรเสนอแนะให้ความรู้ที่ปรึกษาโครงการฯ อย่ามัวมาตำหนิกันเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และทำไมวันนี้ไม่มีผู้ใหญ่ในจังหวัดมา หรือไม่ให้ความสนใจกับการประชุมในครั้งนี้ โคราชเป็นเมืองอะไร ทำไมไม่มีคนสนใจ (เสียงปรบมือดังสนั่น) ซึ่งอย่าเพิ่งตัดสินใจว่าโครงการนี้จะต้องเป็นอย่างนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ที่ปรึกษาโครงการฯ ก็หนักใจ เพราะรูปแบบเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันนี้จะย้ายสถานีรถไฟความเร็วสูงออกไป จากเดิมต้องทุบสะพานเพราะสถานีอยู่ใกล้สะพาน แต่วันนี้เขาขยับออกไปก็ทำให้ลอดใต้สะพานได้ วันนี้ทุกคนควรเอาผลประโยชน์โยนไว้ข้างหลัง แล้วเอาความเดือนร้อนของประชาชนมาก่อน ผมอยากเห็นโคราชเจริญ โคราชเป็นเมืองหลวงแห่งที่ ๒ ได้ไหม” (เสียงปรบมือดังสนั่น) นายรัฐกิตติ์ กล่าวท้ายสุด
รถไฟทางคู่แค่เสนอเท่านั้น
หลังจากนั้น เมื่อสิ้นสุดเวที นายบุญพา สืบสินสัจจวงศ์ วิศวกรโยธา บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “ในการประชุมวันนี้การรื้อสะพานหรือไม่รื้อสะพานมีผลอย่างไร ในทางวิศวกรรมนั้น หากมีการรื้อสะพานเกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการติดตั้งไฟแดงที่บริเวณนั้น ซึ่งอาจจะส่งผลกับการจราจรในระยะเวลาที่มีการรื้อสะพาน โดยไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะประชาชนเมืองโคราชเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลกับผู้สัญจรใช้ถนนที่เดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย ในวันนี้ที่ปรึกษาโครงการฯ เพียงแค่มานำเสนอให้ชาวโคราชรับรู้ว่า รื้อหรือไม่รื้อมีผลกระทบอย่างไร ซึ่งทางที่ปรึกษาโครงการฯ พยายามแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดต่อสะพานให้ทราบ โดยนำเสนอเป็นทางเลือกแก่พี่น้องประชาชน สืบเนื่องจากรถไฟความเร็วสูงมีการขยับสถานีเดิมออกไปทางชุมทางถนนจิระ จึงทำให้รถไฟทางคู่สามารถลอดใต้สะพานแล้วค่อยไต่ระดับขึ้นไปยังชั้น ๒ ของสถานีได้ สิ่งที่เรากังวลมากคือ แม้ในวันปกติปริมาณรถที่สัญจรผ่านสะพานมีจำนวนมาก แล้วถ้าเป็นในช่วงเทศกาลรถจะติดขนาดไหนหากมีการติดตั้งไฟแดงเกิดขึ้น ซึ่งหลังจากนี้เราจะรวบรวมความคิดเห็นของประชาชน นำไปเสนอให้คณะกรรมการเพื่อตัดสินใจ ส่วนทางเลือกที่ ๓ ที่ประชาชนเสนอมาว่า ให้ยกระดับทางรถไฟสูงขึ้นไปอีกเพื่อข้ามสะพานไป เราไม่สามารถทำได้ในขอบเขตโครงการนี้ เพราะว่างบที่ตั้งไว้ของโครงการไม่เพียงพอที่จะยกให้สูงกว่านี้ หากต้องยกระดับให้สูงกว่าสะพานจริงๆ อาจจะต้องทำเป็นโครงการใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็ต้องรอการอนุมัติจากกระทรวงฯ อีกที นอกจากนี้ ทางการรถไฟฯ ไม่ได้เป็นเจ้าของสะพาน แต่สะพานสีมาธานีเป็นของกรมทางหลวง ดังนั้น การตัดสินใจอาจจะขึ้นอยู่กับกรมทางหลวงด้วย”
ความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๓๐ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ - วันจันทร์ที่ ๑๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑
914 1,635