May 02,2019
เสวนา’พัฒนามหานครโคราช อนาคตใหม่’เสนอย้ายสถานีรถไฟ
มทร.อีสาน จับมือจุฬาฯ จัดงานนำเสนอสาธารณะและนิทรรศการ “การพัฒนามหานครโคราช” เปิดมุมมอง “มหานครโคราชปี ๒๐๔๐” พร้อมเสวนาร่วมหัวข้อ “ภาพอนาคตกับโอกาสการพัฒนาเมืองนครราชสีมา” จากนักวิชาการชั้นนำของประเทศไทย ด้านวรพงศ์ โสมัจฉา ผู้สมัครส.ส.อนาคตใหม่ โคราช เสนอย้ายสถานีรถไฟหัวรถไฟ
เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) สถาบันระบบรางแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมกับ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานนำเสนอสาธารณะและนิทรรศการ “การพัฒนามหานครโคราช” โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพงษ์ พร้อมจิตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มทร.อีสาน เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ร่วมรับฟัง อาทิ นายธนาคม วิมลวัตรเวที ประธานกรรมกาธิการสถาปนิกอีสาน สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายวรพงศ์ โสมัจฉา หรือ ก้อง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต ๑ นครราชสีมา คณาจารย์ มทร.อีสานและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงาน
ภายในงานมีกิจกรรมการนำเสนอสาธารณะและนิทรรศการ “การพัฒนามหานครโคราช” ในหัวข้อ “มหานครโคราช ๒๐๔๐” จากนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเป็นกิจกรรมเสวนาร่วมในหัวข้อ “ภาพอนาคตกับโอกาสการพัฒนาเมืองนครราชสีมา” โดย ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายนราทร ธานินพิทักษ์ อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา และดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ รองหัวหน้าฝ่ายวิชาการ สถาบันระบบรางแห่ง มทร.อีสาน
เสวนา “อนาคตโคราช”
ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ กล่าวว่า “ทุกคนมีบทบาทในการขับเคลื่อนโคราช เมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว อนาคตเราสามารถกำหนดได้ ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องในการถักทอให้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน เหตุการณ์ในวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจาก มทร.อีสานเพียงแห่งเดียว แต่เกิดขึ้นจากจุฬาฯ หรือแม้กระทั่งที่ต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเสวนาองค์ความรู้ “โคราชคิดอะไรสำหรับภาพ ๒๐ ปี” โดยต่อไปต้องยอมรับว่า จีนเป็นมหาอำนาจ ควรคิดอะไรเพื่อพัฒนาด้วยเช่นกัน เพราะถ้ารถไฟความเร็วสูงเสร็จเรียบร้อย จะผลิตวิชาชีพขั้นสูง คือ แรงงาน ส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศที่ดี”
ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล กล่าวว่า “การเกิดขึ้นของเมืองใหญ่ๆ เศรษฐกิจซบเซาลง ถ้าทางออกของสิ่งนั้นคือ การพัฒนาพื้นที่เมืองให้สามารถเดินได้ แล้วการเดินได้ เดินดี มีงานวิจัยจากทั่วโลกพิสูจน์มาแล้วว่า สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นได้อย่างแท้จริงในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี จากตัวอย่างของย่าน ทองหล่อ (กรุงเทพฯ) จะเห็นได้ว่า การมีส่วนร่วม พูดคุยของผู้ประกอบการพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีส่วนรวม จะทำให้มีการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนด้วยเช่นกัน และการให้ค่าของเมืองในคนละแต่พื้นที่เป็นประเด็นที่สำคัญเช่นกัน ดังนั้น บริเวณเมืองเก่าของโคราช หากคิดจะพัฒนาก็สามารถทำได้ ขอเพียงทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกัน”
นายนราทร ธานินพิทักษ์ อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ในแง่มุมของสถานการณ์ในปัจจุบันพยามมองว่า คนโคราชให้คุณค่าสิ่งใด พยายามขับเคลื่อนสิ่งใดอยู่ ทางสภาอุตสาหกรรม หอการค้า เทศบาลนครนครราชสีมา และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จับมือกันเป็นภาคี ๔ องค์กร ร่วมกันพัฒนาเมืองโคราชให้เป็น สมาร์ทซิตี้ และเมื่อมีการตกผลึกกัน ทางจังหวัดได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง กระทั่งสามารถเข้าไปอยู่ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเมืองของจังหวัด โดยจังหวัดกำหนดยุทธศาสตร์มา ๗ ข้อ คนโคราชอาจจะเห็นโครงการดีๆ ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น”
อนาคตใหม่’เสนอย้ายสถานีรถไฟ
หลังจากจบกิจกรรมนำเสนอและกิจกรรมเสวนา ผู้จัดงานได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงาน ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขในอนาคต โดยนายวรพงศ์ โส มัจฉา ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต ๑ นครราช สีมา กล่าวว่า “ผมเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาระบบโลจิสติกส์ไอทีของกลุ่ม ปตท. งานแรกได้ทำเกี่ยวกับเชียงใหม่สมาร์ทซิตี้ เมื่อ ๔ ปีก่อน ในการใช้ไฟเขียว-ไฟแดงควบคุมการจราจร และได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากนั้นได้ไปศึกษาดูงานที่เกาหลีใต้ ระหว่างสนามบินอินชอนกับกรุงโซล ระบบการทำงานของเขาเป็นสมาร์ทซิตี้ทั้งระบบ ที่ผมฟังน้องๆ มา ต้องการฝากเรื่องของมุมมองของการจัดการน้ำและสวน เมื่อก่อนหลังโรงพยาบาลมหาราช ตรงลำตะคอง ในจินตนาการคงเหมือนกับคลองเมืองเกียวโต คือน้ำใสสะอาด แต่ปัจจุบันน้ำขุ่นมาก เพราะต้นน้ำที่ไหลรวมมาจากลำตะคองมีการปล่อยน้ำเสียหรือมลพิษลงไป น้ำขุ่นยาวไปจนถึงวัดศาลาลอย และสวนสาธารณะในโคราชน้อยมาก เมืองใหญ่ขนาดนี้น่าจะมีพื้นที่สีเขียวมากกว่านี้ ในเรื่องระบบ Universal Design เราสามารถดีไซน์เมืองมุมมองของทุกมิติ เรื่องของคนพิการ โคราชมีคนพิการอยู่ถึง ๘๔,๐๐๐ คน อีก ๔ ปีข้างหน้า โคราชจะเป็นเมืองผู้สูงอายุ คาดว่าเป็นอันดับ ๑ ของประเทศไทย เราอาจจะคิดดีไซน์เรื่องห้องน้ำ หรือการเดินทางของผู้สูงอายุด้วย สุดท้ายเรื่องของการคิดนอกกรอบ เราอาจจะติดกรอบว่า เดิมทีตรงโรงเรียนมารีย์วิทยาไม่มีถนนมิตรภาพ เราต้องย้อนดูประวัติถนนหลักของโคราชคือถนนมุขมนตรี ปัจจุบันนี้เวลาเปลี่ยนไป ซึ่งเราอาจจะคิดว่าเส้นนั้นเป็นทางของรถไฟ คือการเข้าไปกับการออกมาเป็นระบบของเมือง จะแน่นและแออัดอยู่ตรงนั้น แต่สิ่งที่ได้คือจะมีความเป็นเมืองอยู่ตรงนั้น เราต้องมองนอกกรอบมากกว่านั้นคือ เราสามารถสร้างสถานีรถไฟตรงอื่นแทนได้ไหม เช่น ๑.ตรงวัดหลักร้อยหรือว่าตรงถนนใกล้ๆ โรงแรมสีมาธานี ที่ติดกับถนนมิตรภาพ ซึ่งตรงนั้นสามารถลงรถไฟ ต่อสองแถวได้ ทุกคนนั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ มาถึงหัวรถไฟแล้วรถจะติดขนาดไหน จะแออัดอยู่ตรงนั้น แต่สิ่งที่ได้มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย”
ตัดพ้อคนโคราช
นายภาณุ เล็กสุนทร เจ้าของแฟนเพจเฟซบุ๊กหนึ่งในโคราช แสดงความคิดเห็นว่า “การแก้ไขปัญหาในเมืองโคราช ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ คนในพื้นที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อาจเกิดการปะทะกัน เช่น เรื่องของรถไฟทางคู่ สิ่งที่น้องๆ คิดก็คือ คนโคราชไม่เอาด้วยใช่ไหม แต่ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การรับรู้ของคนในพื้นที่ เขาจะรู้เยอะมากขนาดไหน เพราะปัจจุบันมีโซเชียล จึงอาจจะโดนต่อต้าน คนที่อยู่ในชุมชนหรือพื้นที่มีสวนร่วมได้เยอะ แบบนี้จะทำอย่างไร โดยความคิดของน้องๆ ทำอย่างไรถึงจะให้คนในพื้นที่เข้าใจได้ว่า ความเข้าใจของเขาคิดว่าเราจะทำอะไร เสียดายพื้นที่ ไม่มีที่ขายของ ไม่มีที่จอดรถ จึงกลายเป็นเรื่องของความเข้าใจของคนในพื้นที่เอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องการจะฝากให้น้องๆ คิดคือ นอกจากเรามีความรู้แต่อาจจะพูดเรื่องนี้ได้ยาก อย่างหน่วยงานราชการคุยยากมาก เช่น รถไฟทางคู่คิดว่าน้ำท่วม แต่ข้างบนกลับคิดอีกแบบหนึ่ง ข้างล่างก็คิดอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นทำอย่างไรถึงจะประสานงานในชุมชน ผู้มีอำนาจ หรือแม้กระทั่งเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วม ต้องชื่นชมน้องๆ ที่จะมาทำ โคราชสมาร์ทซิตี้ แต่ทำไปแล้วได้อะไร อาจจะไม่ได้เห็นอะไรที่ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ คนเริ่มตระหนักขึ้นมาว่า เรื่องขยะมีปัญหา เรื่องของขนส่งมวลชนมีปัญหา หรือแม้กระทั่งเรื่องของสวนสาธารณะมีเยอะหรือน้อยไป ซึ่งเรื่องในเมืองก็ยังมีปัญหาคือพื้นที่สีน้ำตาลว่า สร้างตึกได้หรือไม่ได้ อย่างที่วิทยากรบอกว่า พื้นที่สีน้ำตาลสามารถเดินได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากให้อาจารย์และน้องๆ ตระหนักก็คือว่า ขอให้มีความรู้มากๆ เข้าไว้ จากนั้นอยากให้น้องๆ เชื่อมั่นในตัวเอง ถ้าได้ไม่ได้ก็ลองมาว่ากันอีกที ตรงนี้เราเสนอแค่ในห้อง งานก็อยู่แค่ในห้อง ทำอย่างไรที่จะสื่อสารถึงกลุ่มคนให้ได้ อีกเรื่องหนึ่ง อยากให้สนใจเรื่อง P.M.2.5 ปรากฏว่า ช่วงหนึ่งกรุงเทพฯ แย่มาก พอมีสื่อเอาไปลงก็ตื่นเต้น เช่นเดียวกันที่โคราช สงสารคนกรุงเทพฯ จากนั้น P.M.2.5 ก็มาโคราช พอนำเสนอข่าวขึ้นไป ก็เกิดการว่ากันว่ามาทำลายสถานที่ท่องเที่ยวในโคราช สุดท้ายทำอย่างไรให้คนไทยรู้ ถึงการสร้างเศรษฐกิจ ทุกสิ่งทุกอย่างแก้ได้ หากเข้าใจบริบทของคนพื้นที่”
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของงาน ผู้เข้าร่วมงานต่างกระจายเยี่ยมชมผลงานการออกแบบของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้คำแนะนำ และพูดคุยถึงความเป็นไปได้ของโครงงานต่างๆ ที่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำมาแสดงในครั้งนี้
ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๖๙ วันพุธที่ ๑ - วันอาทิตย์ที่ ๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
882 1,552