28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

May 27,2019

‘ไข้เลือดออก’ระบาด อุบลฯป่วยอันดับ ๒ นครชัยบุรินทร์’ตาย ๑

      ไข้เลือดออกระบาด แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ที่อุบลฯ พบผู้ป่วยมากเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ แนะผู้ป่วยที่มีไข้สูง อย่าชะล่าใจ รีบพบแพทย์ทันที

       เมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ที่ห้องประชุมชั้น ๗ อาคารผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นายแพทย์ประพนธ์  ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมนายแพทย์กิตติ์พงศ์  สัญชาตวิรุฬห์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๙ นครราชสีมา (สคร.๙ นม.) จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการกำจัดยุงลายด้วยกรรมวิธีต่างๆ รวมทั้งระดมบุคลากรในสังกัดกลุ่มงานป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ออกเดินรณรงค์ให้ความรู้แจกจ่ายอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ป้องกันแมลง โดยเฉพาะยุงลายให้กับผู้ป่วยและญาติที่มาติดต่อขอรับการรักษาในอาคารผู้ป่วยนอก นอกจากนี้ได้จัดทีมสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่โรงพยาบาลและในละแวกชุมชนใกล้เคียง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน ร่วมกำจัดตัดวงจรชีวิตลูกน้ำยุงลายไม่ให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคไข้เลือดออก

       รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ พบผู้ป่วย ๒๐,๗๓๓ ราย เสียชีวิต ๒๕ ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ จ.สมุทรสาคร จ.ตราด จ.นครปฐม จ.ลพบุรี และ จ.ราชบุรี ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ทั้งปี อาจมีผู้ป่วยถึง ๑ แสนราย ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ ๙ นครชัยบุรินทร์ (นครราช สีมา-ชัยภูมิ-บุรีรัมย์-สุรินทร์) มีผู้ป่วย ๒,๕๔๗ ราย และเสียชีวิต ๑ ราย จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย ๑,๒๘๒ ราย จ.บุรีรัมย์ ๔๘๑ ราย จ.ชัยภูมิ ๔๑๐ ราย และ จ.สุรินทร์ ๓๗๔ ราย

       ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการในการป้องกันควบคุม ๑.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ๒.ป้องกันผู้ป่วยเสียชีวิตโดยจัดตั้ง Dengue Corner ทุกโรงพยาบาล เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยอย่างรวดเร็วและการติดตามรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก ๓.ควบคุมยุง โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และทุกสัปดาห์ ๔.พัฒนาความรอบรู้ของประชาชนให้เกิดความตระหนักถึงการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องช่วยกันป้องกันด้วยมาตรการ ๓ เก็บ ป้องกัน ๓ โรค ได้แก่ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บภาชนะใส่น้ำ เพื่อชุมชนจะได้ไม่มีผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตรวมทั้งโรคไข้ปวดข้อยุงลายและโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอีกด้วย

       “นักเรียนเป็นกลุ่มที่ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงสุด ช่วงนี้โรงเรียนเปิดเทอม ฝากเตือนผู้ปกครอง และครูให้ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในโรงเรียน หากพบผู้ป่วยมีไข้สูง ๒-๓ วันแล้วไม่ดีขึ้น ปวดเมื่อย ตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขาหรือข้อพับต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วและไม่ควรซื้อยามากินเอง ฝากเตือนคลินิกและร้านขายยาห้ามจ่ายยากลุ่มแก้ปวดลดไข้และต้านการอักเสบ (NSAIDs) ให้         ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื่องจากยาประเภทนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยสงสัยไข้เลือดออกได้” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว  

       ด้านจังหวัดอุบลราชธานี จากสถิติของสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ ๑๐ อุบลราชธานี ปี ๒๕๖๑ จังหวัดอุบลราชธานี มีผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน ๑,๗๙๓ ราย เสียชีวิต ๓ ราย  คิดเป็นจำนวน ๙๖.๐๗ ต่อแสนประชากร ทั้งนี้ นายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดในปี ๒๕๖๒ ว่า ตั้งแต่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ จังหวัดอุบลราชธานี พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว ๗๓๗ ราย เสียชีวิต ๑ ราย โดยเป็นเด็กชายวัย ๑๒ ปี อาศัยอยู่ในอำเภอบุณฑริก ป่วยเป็นไข้นานกว่า ๗ วัน จึงมาพบแพทย์ ทำให้ช่วยชีวิตไม่ทัน

       “สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกขณะนี้ น่าเป็นห่วงกว่าปีก่อนๆ เพราะมีรายงานพบผู้ป่วยในหลายอำเภอที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีพื้นที่เป็นป่าเขา อาทิ บุณฑริก น้ำยืน น้ำขุ่น สิรินธร เดชอุดม สำโรง วารินชำราบ และอำเภอตระการพืชผล ปัจจุบันยังคงมีประชาชนขอเข้ารับการรักษาเฉลี่ย ๑๐-๒๐ คนต่อวัน จึงทำให้จังหวัดอุบลราชธานี มีสถานการณ์ความรุนแรงเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ” นายแพทย์สุวิทย์ กล่าว

       นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ขอความร่วมมือประชาชน หน่วยงานราชการ ภาครัฐ และเอกชน ร่วมมือกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ทั้งในและนอกบ้าน รวมทั้งกำจัดขยะ ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในทุกสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ โดยใช้หลัก ๕ ป ๑ ข เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ไม่ให้ระบาดหนักยิ่งขึ้นในช่วงฤดูฝนที่กำลังมาถึง สำหรับผู้ป่วยที่มีไข้สูง ซึมอย่าชะล่าใจให้รีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลในพื้นที่ทันที ไม่ควรปล่อยให้เป็นไข้นานหลายวัน พร้อมรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่จะได้เข้าควบคุมโรค ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลายด้วย

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๔ วันอาทิตย์ที่ ๒๖-วันศุกร์ที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒


780 1405