27thDecember

27thDecember

27thDecember

 

June 12,2019

มข.ผนึก ๖ สถาบันชั้นนำระดับชาติ พัฒนา ๑๙ เมืองต้นแบบอัจฉริยะ

            ม.ขอนแก่น จับมือ ๖ สถาบันหลักของไทยเดินหน้าพัฒนานำร่อง ๑๙ เมืองต้นแบบอัจฉริยะ เน้นหนักการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และการสร้างคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน

            เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่ห้องประชุมชั้น ๔ โรงแรมริชมอนท์สไตลิส คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการเครือข่ายพันธมิตรพัฒนาเมือง “City Development Alliance : CDA” ซึ่งสมาคมการผังเมืองไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานขึ้นในพื้นที่นำร่อง ๑๙ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย โดยมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, นักวิชาการ รวมถึง           นักออกแบบผังเมืองจากทั่วทั้งประเทศร่วมเป็น              สักขีพยานจำนวนมาก

            รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงร่วมกัน ๖ หน่วยงานหลักฉบับนี้ ซึ่ง มข.จะเป็นคณะทำงานหลักในการขับเคลื่อนตามกรอบแนวทางการพัฒนาเมืองโดยมีกฎบัตรของเมืองต่างๆ นั้นเป็นหัวใจหลักในการพัฒนา ซึ่ง มข.และมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมดำเนินการตามโครงการดังกล่าวนี้จะนำหลักวิชาการและองค์ความรู้ด้านวิชาการ นำมาถ่ายทอดและต่อยอดจากสิ่งที่แต่ละเมืองนั้นได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งทุกเมือง และทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมตามแผนการดำเนินงานดังกล่าวนี้นั้นจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนและนำเสนอในสิ่งที่มี สิ่งที่ขาดและสิ่งที่ต้องการบนพื้นฐานที่เกิดขึ้นจากความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

            “ขณะนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งหมด ๑๙ แห่ง ที่เข้าร่วมกับการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือดังกล่าว จากนี้ไปคณะทำงานร่วม ๖ หน่วยงานหลักจะลงพื้นที่เพื่อเปิดเวทีสาธารณะ ในการรับฟังความคิดเห็นและความต้องการ และสิ่งที่คนในชุมชนนั้นอยากที่จะนำเสนอและอยากให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งบริบทของแต่ละพื้นที่ทั้ง ๑๙ เมืองนั้นล้วนแตกต่างกันไปแต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือคนในชุมชนนั้นมีความเข้มแข็งและอยากที่จะพัฒนาเมืองที่สอดรับกับนโยบายจากส่วนกลาง ตามแผนการกระจายอำนาจและนำมาดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ และที่สำคัญคือแต่ละเมืองนั้นมีกฎบัตรที่ชัดเจนและเข้มแข็ง ดังนั้นวันนี้จึงเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากภาควิชาการที่เข้าไปสนับสนุนการทำงานในพื้นที่นำร่อง ๑๙ เมืองที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไป” อธิการบดี มข. กล่าว

            รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า เครือข่ายพันธมิตรพัฒนาเมือง ที่เริ่มต้นขึ้นจาก ๖ หน่วยงานหลักร่วมกันเมืองต้นแบบ ๑๙ แห่ง จากนี้ไปจะเข้าสู่ขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมร่วมกันเริ่มจากการประชุมเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันอย่างน้อยปีละ ๔ ครั้ง การจัดทำตำราและเอกสารวิชาการทางด้านการพัฒนาเมือง การจัดการฝึกอบรมและจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเมือง การทำวิจัยร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การเป็นเครือข่ายการพัฒนานโยบายทางด้านการพัฒนาเมืองของประเทศไทยที่เข้มแข็ง

            “ทุกเมืองล้วนต้องการเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งการเป็นเมืองอัจฉริยะนั้นสามารถที่จะแยกรายละเอียดได้ในแต่ละประเภท ซึ่งวันนี้ความชัดเจนในการพัฒนาเมืองที่สอดีรับกับนโยบายของส่วนกลางและนโยบายในการบริหารพื้นที่ของผู้บริหารท้องถิ่นพบว่าทุกพื้นที่ต่างต้องการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การส่งเสริมในเรื่องของธุรกิจท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบเมือง การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน การสร้างคุณภาพชีวิตประชาชน การเพิ่มคุณภาพสิ่งแวดล้อม การร่วมกันปลูกต้นไม้ใหญ่และการลดสภาวะและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยได้มีการประกาศเจตนารมณ์กฎบัตรและสร้างข้อตกลงร่วมกันทุกภาคส่วนจนเกิดการจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองของแต่ละจังหวัดที่มีผลการดำเนินงานที่ชัดเจนและมีแผนแม่บทในการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้” รศ.ดร.ศุภวัฒนากร  กล่าวท้ายสุด 

 

 

 ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๗  วันอังคารที่ ๑๑ - วันเสาร์ที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


872 1,541