4thOctober

4thOctober

4thOctober

 

June 12,2019

ทภ.๒ ห่วงไม้พะยูงทับลาน หลังพบเพื่อนบ้านลอบตัดอื้อ

           กอ.รมน.ภาค ๒ เผยสถานการณ์ไม้พะยูงที่อุทยานแห่งชาติทับลาน แหล่งไม้พะยูงสุดท้ายของประเทศ ยังน่าเป็นห่วง หลังพบเพื่อนบ้านแฝงตัวลอบตัด พร้อมตั้ง “หน่วยเฉพาะกิจทับลาน” ลาดตระเวนทั่วครบุรี-เสิงสาง

           เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๕.๐๐ น. พล.ท.ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ ๒ จัดกิจกรรม “พบปะพัฒนาสัมพันธ์และแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ครั้งที่ ๑ ประจำปี ๒๕๖๒” โดยมี พล.ต.อัครเดช บุญเทียม รองแม่ทัพภาคที่ ๒ ในฐานะโฆษกกองทัพภาคที่ ๒ พล.ต.ราชันย์ ประจันตะเสน เลขาธิการ กอ.รมน.ภาค ๒ พ.อ.อรรถชัย รักษาศิลป์ พ.ท.ภาคย์ โลหารชุน ผบ.พัน.สร.๓ พ.ต.หญิง เรณุกา จักรโนวัน พยาบาลโรงพยาบาลค่ายสุรนารี และพ.ท.ชิษณุชา กาญจนอัครเดช ผสธ.กยก.ทภ.๒ ร่วมแถลงข่าวการดำเนินงานของกองทัพภาคที่ ๒ ในห้วงปีที่ผ่านมา และเมื่อจบการแถลงข่าวจึงเป็นกิจกรรมพบปะสื่อมวลชน เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกัน ภายในงานเต็มไปด้วยความสุข และรอยยิ้มจากทั้งสองฝ่าย

           พล.ท.ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ ๒ กล่าวว่า “ผมในฐานะแม่ทัพภาคที่ ๒ ที่เพิ่งเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ ก็ถือโอกาสนี้แถลงผลงานที่ผ่านมาของกองทัพภาคที่ ๒ และเพื่อทำความรู้จักกับสื่อมวลชนในโคราชด้วย ซึ่งกองทัพภาคที่ ๒ มีหน้าที่รับผิดชอบกลุ่มจังหวัดในภาคอีสานทั้งหมด (๒๐ จังหวัด) มีอาณาเขตติดต่อกับเพื่อนบ้าน ๒ ประเทศ เราจึงจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันการบุกรุกอย่างเข้มงวด เพราะทุกวันนี้มีทั้งขบวนการยาเสพติด ขบวนการลักลอบตัดไม้ ขบวนการขนคนเข้าเมือง และอีกหลายสิ่งที่ผิดกฎหมายและทำลายความมั่นคงของชาติ กองทัพภาคที่ ๒ พยายามเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ผู้นำหน่วยทหารตามแนวชายแดนในทุกระดับได้ร่วมพบปะกัน เพื่อพัฒนาสัมพันธ์กับผู้นำหน่วยทหารประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การลาดตระเวนที่มีการประสาน, การร่วมกิจกรรมแข่งขันกีฬาและการร่วมประเพณีท้องถิ่น, การหารือร่วมระหว่างฐานปฏิบัติการ, การร่วมโครงการหมู่บ้านคู่ขนานตามแนวชายแดน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยทหาร โดยระดับผู้บังคับบัญชา มีการแลกเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ผู้ประสานงาน และการประชุมร่วมทุก ๓ เดือน ทำให้ช่วยยุติปัญหา และขจัดการสร้างเงื่อนไขตามแนวชายแดนด้วยการเจรจาได้อย่างรวดเร็ว โดยมีผลการพัฒนาสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในทุกระดับแล้วรวม ๑,๐๘๖ ครั้ง โดยมีผลการปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ มทภ.๒ ได้นำคณะนักกีฬา (๓ ประเภท ฟุตบอล, วอลเลย์บอล, ตะกร้อ) เดินทางเข้าร่วมแข่งขันกีฬามิตรภาพ ระหว่าง กองทัพไทย กับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ สนามกีฬากองทัพประชาชนลาว นครหลวงเวียงจันทน์ ในห้วงวันที่ ๙-๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ และมิตรภาพอันดีของผู้บังคับบัญชาระดับสูง, ผู้นำหน่วยทหารตามแนวชายแดน โดยใช้กีฬาเป็นสื่อกลาง อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการประสานงานการแก้ไขปัญหาชายแดนต่างๆ ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน ซึ่งปัจจุบันขบวนการขนยาเสพติด ขนกันครั้งละ ๑๐-๒๐ ล้านเม็ด ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่จับได้เพียงเล็กน้อย ดังนั้นกองทัพภาคที่ ๒ จะต้องเข้มงวดและจริงจังกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ”

           พล.ต.ราชันย์ ประจันตะเสน เลขาธิการ กอ.รมน.ภาค ๒ กล่าวว่า “จากสถานการณ์การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน โดยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าทั้งหมด ๑๓๘ ล้านไร่ หรือร้อยละ ๔๓ ของพื้นที่ประเทศ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๕๙ ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าทั้งหมด ๑๐๒ ล้านไร่ หรือร้อยละ ๓๑ ของพื้นที่ประเทศ ทำให้การป้องกันและรักษาทรัพยากรป่าไม้ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ ซึ่งในปี ๒๕๖๐-๒๕๖๑ เป็นครั้งแรกที่ได้นำข้อมูลภาพดาวเทียม Sentinel-2 ซึ่งเป็นภาพดาวเทียมที่มีความละเอียดมากที่สุดนับตั้งแต่มีการใช้ข้อมูลภาพดาวเทียมในภารกิจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทยมาใช้เป็นหลักในการจัดทำข้อมูล ผลการตรวจสอบ ณ ปัจจุบัน ดังนี้ ภาพรวมของพื้นที่ป่าไม้ ในปี ๒๕๖๐ มีพื้นที่ป่า ๑๐๒,๑๕๖,๓๕๐.๕๑ ไร่ ภาพรวมของพื้นที่ป่าไม้ ในปี ๒๕๖๑ มีพื้นที่ป่า จำนวน ๑๐๒,๔๘๘,๓๐๒.๑๙ ไร่ พบว่ามีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น ๓๓๑,๙๕๑.๖๗ ไร่ สำหรับจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น ได้แก่ ชัยภูมิพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ๕๖,๑๐๐.๐๖ ไร่ นครราชสีมาพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ๓๐,๐๙๖.๓๓ ไร่ และขอนแก่นพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ๑๘,๗๕๑.๒๐ ไร่”

           พล.ต.ราชันย์ กล่าวอีกว่า “สำหรับสถานการณ์การบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้านป่าไม้ (พื้นที่อีสานใต้) ในช่วงที่ผ่านมาไม่ปรากฏการบุกรุกพื้นที่ขนาดใหญ่ในเขตอุทยานและป่าสงวน ส่วนใหญ่เป็นการบุกรุกที่สาธารณ ประโยชน์โดยคนในชุมชนซึ่งอาศัยอยู่บริเวณโดยรอบพื้นที่เพื่อเข้าไปทำประโยชน์ ส่วนการลักลอบตัดไม้มีค่าโดยเฉพาะไม้พะยูง ทั้งการลักลอบตัดและการขนย้ายที่มีจำนวนมากไม่ปรากฏ ซึ่งกองทัพภาคที่ ๒ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๒ ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในพื้นที่ ในด้านการเข้าตรวจสกัดกั้นการลักลอบตัดไม้พะยูง กรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นพื้นที่เพ่งเล็งสำคัญ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ร่วมกับร้อย รส., ตำรวจ และฝ่ายปกครองของอำเภอต่างๆ ในเขตพื้นที่บูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกัน อีกทั้งตามเส้นทางที่เคยปรากฏการใช้ลำเลียงส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้มีการยกระดับประสิทธิ ภาพการตรวจ รวมถึงการตรวจโรงเลื่อยที่อาจเป็นเครือข่าย พักเก็บไม้ก่อนลำเลียงส่งไปขายต่อ สำหรับพื้นที่ป่าอื่นๆ ในภาคอีสาน แม้ไม่ปรากฏการลักลอบตัดหรือการขนย้ายจำนวนมาก ก็ได้นำมาตรการดังกล่าวเข้าไปดำเนินการด้วยเช่นกัน”

           “การดำเนินการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ ยังคงมีสถานการณ์การบุกรุกและลักลอบตัดไม้อยู่ในระดับรุนแรง และมีการจับกุมแรงงานต่างชาติ เข้ามาลักลอบตัดไม้ได้เป็นจำนวนมาก จึงได้จัดตั้ง “หน่วยเฉพาะกิจทับลาน” โดยใช้กำลังทหารบูรณาการสนธิกำลังร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครราชสีมา ตำรวจ ป่าไม้ และฝ่ายปกครอง ดำเนินการลาดตระเวนป้องกัน เพื่อตรวจสอบพื้นที่เป้าหมาย เส้นทางลำเลียง ขนย้ายไม้ จัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ร่วมตรวจจับกุม ตรวจสอบ การบุกรุกทำลายป่าไม้ในพื้นที่ ซึ่งมีพื้นที่เฝ้าระวังในเขตอำเภอครบุรี และอำเภอเสิงสาง”

           พล.ต.ราชันย์ กล่าวท้ายสุดว่า “ผลการดำเนินการ เมื่อปี ๒๕๖๑ สามารถตรวจยึด/จับกุมได้ ๒๐ คดี ไม้ของกลาง ๗๕๗ ท่อน ๑๑๘ แผ่น รถยนต์ ๔ คัน เลื่อยยนต์ ๑๘ เครื่อง ผู้ต้องหา ๑๙๕ คน (ชาวไทย ๓๕ คน ชาวกัมพูชา ๑๖๐ คน) และในปี ๒๕๖๒ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๒ ยังคงให้ความสำคัญและจัดกำลังพลเข้าดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้การลักลอบตัดไม้มีค่ามีสถิติการจับกุมลดลงอย่างชัดเจน แต่ความต้องการไม้มีค่าจากภายนอกประเทศยังคงมีอยู่ ทำให้กลุ่มขบวนการโยกย้ายพื้นที่ไปยังป่าอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลการดำเนินการ ในห้วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๑-มีนาคม ๒๕๖๒ สามารถตรวจยึด/จับกุม ผู้กระทำผิดได้ ๓๕ คน (ชาวไทย ๑๑ คน ชาวกัมพูชา ๒๔ คน) ไม้ของกลาง ๑๒๙ ท่อน ๒๒ แผ่น เลื่อยยนต์ ๑๘ เครื่อง”                                                                                                                                                         

 

 ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๗  วันอังคารที่ ๑๑ - วันเสาร์ที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

                                                                                          


862 1,512