29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 27,2019

อุดรเสนอจัด‘พืชสวนโลก’ปี ๖๙ ยกระดับมรดกโลกบ้านเชียง ดันสู่ไมซ์ซิตี้นานาชาติ

             “อุดรธานี” เสนอตัวและความพร้อมจัดงานพืชสวนโลก ปี ๒๕๖๙ หวังยกระดับการท่องเที่ยวแหล่งอารยธรรมมรดกโลกบ้านเชียงและเมือง Mice city ระดับนานาชาติ ยกคณะนำเสนอความพร้อมต่อคณะกรรมการพิจารณาฯ และทีเส็บ ใช้สวนสาธารณะ “หนองแด” จัดงาน เดือนกันยายนเตรียมบินไปจีนเพื่อเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ

 

             นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า จังหวัดอุดรธานี ได้สมัครร่วมการประมูลสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ปี ๒๕๖๙ หรือ ค.ศ.๒๐๒๖ เนื่องจากเห็นว่า อุดรธานีมีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพได้ อันจะเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างคุณค่าแหล่งอารยธรรมมรดกโลกบ้านเชียง และยกระดับเมืองท่องเที่ยว เมืองไมซ์ (Mice city) ที่มีคุณภาพระดับนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดอุดรฯ อีกด้วย การจัดงานพืชสวนโลกในปี ๒๕๖๙ หรือในอีก ๗ ปีข้างหน้า ซึ่งต้องใช้พื้นที่จัดงานอย่างน้อย ๑๕๐ ไร่ นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่จะสร้างประวัติศาสตร์ระดับนานาชาติให้กับจังหวัดอุดรธานีในอนาคต

             ต่อมานายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมพืชสวนโลก ปี ๒๐๒๖ ที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี โดยมี ผู้บริหารบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาในการจัดทำข้อมูลและเอกสารความพร้อมของจังหวัดอุดรธานี ร่วมประชุม โดยเลือก “สวนสาธารณะหนองแด” เป็นสถานที่สำหรับใช้ในการประมูลสิทธิ์ และบริษัทที่ปรึกษาและคณะจังหวัดอุดรธานี ได้ลงพื้นที่สวนสาธารณะหนองแด เพื่อจัดเก็บข้อมูลพื้นที่การจัดงาน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เป็นการร่วมหารือถึงคอนเซ็ปต์จัดงานพืชสวนโลก เพิ่มเติมข้อมูลที่ใช้ในการนำเสนอ เช่น ระบบคมนาคมทั้งในจังหวัด ในประเทศ และการเชื่อมโยงต่างประเทศ ความโดดเด่นของจังหวัดในด้านพืชสวน เช่น ประเภทของพืชสวน ด้านการตลาด ความหลากหลายของชีวภาพ พืชสวนกับความสำคัญด้านสังคมและวัฒนธรรม ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดงานทั้งระหว่างจัดงานและภายหลังจาการจัดงาน และการชูจุดเด่นของพืชสวนในด้านต่าง เป็นต้น 

             สำหรับกรอบแนวคิดด้านการออกแบบ พื้นที่สาธารณประโยชน์ “หนองแด” สำหรับเป็นสถานที่จัดงานแบ่งเป็น ๓ ส่วน พื้นที่รวม ๘๘๗ ไร่ ประกอบด้วย ส่วนที่ ๑ พื้นที่จัดแสดงหลัก ขนาดพื้นที่ ๑๙๐ ไร่ เน้นพืชนานาพันธุ์ ผัก สมุนไพร ไม้ดอก ไม้ประดับ มีองค์ประกอบหลักคือ พิพิธภัณฑ์พืช ออกแบบอาคารที่มีแรงบันดาลใจมากจาก “ป่าคำชะโนด” อาคารศูนย์ วิจัยและพัฒนาอาหารและพืชสมุนไพร ศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการนานาชาติ ส่วนที่ ๒ เป็นพื้นน้ำ ความลึกเฉลี่ย ๑.๕ เมตร ขนาดพื้นที่ ๔๖๐ ไร่ ทำเป็น “บึงสวนสาธารณะบัวแดง” และพื้นที่ส่วนที่ ๓ เป็นพื้นที่ตามแนวโดยรอบพื้นที่ส่วนที่ ๒ ขนาดพื้นที่ ๑๓๘ ไร่ ทำเป็น “ถนนพืชสวนนานาชาติ” ซึ่งจะได้นำเสนอข้อมูลทั้งด้านภาพรวมของจังหวัด ด้านศิลปวัฒนธรรมและความหลากหลายของชีวภาพ ดานพื้นที่จัดงาน การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาเมือง และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ให้ สสปน.ต่อไป

             ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๒ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราขการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยคณะหัวหน้าส่วนราชการและผู้นำองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาความพร้อมของจังหวัดที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมพืชสวนโลก ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยจังหวัดอุดรธานี ได้กำหนดผู้นำเสนอจำนวน ๖ คน ประกอบด้วย นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นำเสนอศักยภาพความเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงโอกาสในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงของจังหวัด ความพร้อม  จุดเด่นด้านต่างๆ และด้านพืชสวน รวมถึงความเข้มแข็งของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ต่อด้วยนายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี นำเสนอสภาพพื้นที่สาธารณะหนองแด ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน โดยเน้นย้ำว่า หนองแดมีพื้นเพียงพอในการจัดงาน และห่างตัวเมืองเพียง ๓ กม. ซึ่งเตรียมสถานที่เชื่อมโยงกว่า ๕ จุด ทั้งใจกลางเมืองและโดยรอบเมือง เพื่อเป็นจุดจอดและการเดินทางเข้าร่วมงาน ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์พื้นที่หนองแดเพื่อเป็นสถานที่จัดงาน สิ่งสำคัญอันดับแรกเลยที่จังหวัดอุดรธานีคำนึงถึง คือการพัฒนาพื้นที่หนองแด เพื่อเป็นสถานที่จัดงาน ต้องไม่เป็นการไปลดขนาดพื้นที่แหล่งน้ำที่มีอยู่เดิมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ และไม่สร้างผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่

             ในขณะที่นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี นำเสนอแนวคิด และรายละเอียด แผนการจัดงาน รวมถึงกล่าวว่า การจัดงานพืชสวนโลกของชาวอุดรธานีในครั้งนี้นั้น เป็นเพียงเป้าหมายส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การสร้างแลนด์มาร์คใหม่ของภาคอีสานและของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ด้านพันโทวรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกฏบัตรจังหวัดอุดรธานี นำเสนอด้านการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองทุกกลุ่มวัยในพื้นที่ โดยใช้กลไกแผนพัฒนาจังหวัด แผนของ อปท.รวมถึงกฎบัตรของคณะกรรมการกฏบัตรอุดรธานี ทั้ง ๑๑ ด้านที่ภาคประชาชนในพื้นร่วมกับภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่ร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างยั่งยืน

             นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการ กกร.จังหวัดอุดรธานี และประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กล่าวถึงประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชน ซึ่งไม่เฉพาะชาวอุดรธานีเท่านั้น แต่รวมถึงชาวอีสานทั้งภาค ดังนั้นในฐานะที่ตนเป็นประธานหอการค้าภาคอีสานด้วย จึงต้องการขอโอกาสจากคณะกรรมการพิจารณาฯ และรัฐบาล ว่า ภาคอีสานยังไม่เคยได้รับโอกาสแบบนี้มาก่อน จึงขอให้พิจารณาให้โอกาสกับจังหวัดอุดรธานีและภาคอีสานในครั้งนี้ด้วย

             จากนั้น นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ หัวหน้าคณะทำงานประมูลสิทธิ์งานพืชสวนโลก ปี ๒๐๒๖ จังหวัดอุดรธานี ได้นำเสนอปิดท้ายถึงความต้องการด้านงบประมาณและความจำเป็นที่ต้องขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล 

             อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาฯ แสดงความชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีและคณะที่ได้แสดงถึงความพร้อม ของจังหวัดอุดรธานีได้อย่างชัดเจน โดยนายธานินทร์ ผะเอม หนึ่งในกรรมการ อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ ได้แนะนำให้จังหวัดจัดทำรายละเอียดผลกระทบทางเศรษฐกิจ (Economic impact) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเห็นว่าการเสนอตัวของจังหวัดอุดรธานี ในครั้งนี้ถือเป็น “คานงัด” ที่จะช่วยสร้างผลประโยชน์อีกมากมายให้แก่ภาคอีสานและประเทศไทย

             ด้าน นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แสดงความชื่นชมความพร้อมของจังหวัดอุดรธานี โดยเห็นว่า ข้อเสนอของจังหวัดสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและ การกระจายจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเติบโตมากขึ้นในอีก ๗ ปีข้างหน้าให้กระจายไปยังเมืองในภูมิภาค เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งมากขึ้น

             ส่วนนายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยหนึ่งในคณะกรรมการฯ ได้แสดงความชื่นชมจังหวัดอุดรธานีเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ขอให้จังหวัดพิจารณาปรับลดแผนการก่อสร้างอาคารลง เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่ AIPH กำหนด รวมทั้งขอให้มีการเตรียมแผนการปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะ ต้นรวงผึ้ง และต้นไม้อื่นๆ เพื่อให้มีความพร้อมและบานสะพรั่งในช่วงของการจัดงานพอดี

             ด้านนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและแสดงนิทรรศการ (สสปน.) หรือ ทีเส็บ ในฐานะประธานที่ประชุมฯ กล่าวขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะ ที่เตรียมพร้อมและทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ต่อจากนี้ไปทาง สสปน.จะรวบรวมข้อเสนอแนะและร่วมกับจังหวัดในการจัดทำรายละเอียดเพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขอเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลกในปี ๒๐๒๖ ทั้งนี้ เมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่ง สสปน. มีแผนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคมนี้ แล้ว สสปน. และผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีจะต้องเดินทางเข้าร่วมงานพืชสวนโลกประจำปี ๒๐๑๙ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อแสดงความจำนง ขอเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลกประจำปี ๒๐๒๖ ในเดือนกันยายน ๒๕๖๒ ต่อไป

 

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๕ วันศุกร์ที่ ๒๖ - วันพุธที่ ๓๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


802 1431