28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

July 30,2019

ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต กับงานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ “ย้อนเรื่องเมืองโคราช”

         หลายๆ ครั้งที่คนเรานึกอยากย้อนอดีต ไม่ว่าจะเพื่อการกลับไปแก้ไขอะไรบางอย่าง หรือเพื่อเรียนรู้เรื่องราวในช่วงเวลานั้น แต่ทว่า...การย้อนกลับไปนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเรื่องราวในอดีตของบ้านเมืองแล้วนั้น...ยิ่งศึกษา ยิ่งเรียนรู้ ก็ยิ่งพบว่ามีเรื่องราวซับซ้อนมากมาย และในช่วงเวลาที่ผ่านมา “โคราชคนอีสาน” ก็ได้พาลูกหลานเมืองย่า ย้อนรอยไปหาอดีตเมืองโคราช ให้ลูกหลานคนรุ่นใหม่ได้รู้จักประวัติ และรากเหง้าของตัวเองกับคอลัมน์ “ย้อนเรื่องเมืองโคราช” ที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน และปัจจุบันรวมเล่มเป็นหนังสือ ย้อนเรื่องเมืองโคราช: โคราชในความทรงจำ ซึ่งเกิดจากมันสมองและการลงมือค้นคว้าอย่างจริงจังของ ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต ประธานชมรมอนุรักษ์ภาษา และวัฒนธรรมพื้นบ้านโคราช จิตอาสาราชประชาสมาสัย  และวันนี้เราจะมาพูดคุยถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้ และแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือย้อนเรื่องเมืองโคราชกัน...

• แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ 

         เรื่องแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมสนใจเขียนเรื่องเกี่ยวกับโคราชนั้น ก็เพราะผมเป็นคนโคราชโดยกำเนิด รักเมืองโคราช เมื่อครั้งผมอายุสัก ๓๐ ปีกว่าๆ ได้อ่านบทวิเคราะห์เสียงและความหมายภาษาถิ่นโคราชของท่านอาจารย์ถาวร สุบงกช ซึ่งท่านเคยสอนผมที่วิทยาลัยครูนครราชสีมา แต่เล่มที่ท่านจัดทำยังรวบรวมคำในภาษาโคราชได้จำนวนหนึ่งซึ่งถือว่ายังน้อยอยู่ เมื่อท่านเสียชีวิตไปก็ไม่เห็นมีใครสานต่อ ผมจึงเกิดความสนใจเรื่องภาษาโคราช โดยเริ่มจากการจัดรายการ “ภาษาโคราชวันละคำ” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา (สวท.นครราชสีมา) ในรายการ “บ้านเรา” ทุกวันอาทิตย์ช่วงเวลา ๐๖.๓๐-๐๗.๐๐ น. ปรากฏว่าเป็นรายการที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างชื่นชอบรับฟังกันมาก เพราะผู้พูดคืออาจารย์ณรงค์ เกียรติเกาะ พูดเป็นภาษาโคราช ด้วยลีลา น้ำเสียง ในการยกตัวอย่างการใช้คำภาษาโคราช ถึงขั้นที่อยากจะบอกว่าหลายคนต่างรอคอยว่าเมื่อไหร่จะถึงเช้าวันอาทิตย์ เพื่อจะได้ฟังรายการภาษาโคราช นับว่าเป็นรายการที่รู้จักกันแพร่หลายในสมัยนั้น

         นอกจากนี้ ผมมีความคิดที่จะอนุรักษ์ภาษาโคราชและต้องการให้แพร่หลาย จึงนำเสนอภาษาโคราชฉบับละคำลงตีพิมพ์ใน นสพ.โคราชรายวัน (โคราชคนอีสาน) ของคุณสุนทร จันทร์รังสี และจากจุดนี้ทำให้ผมเกิดความคิดที่จะรวบรวมคำต่างๆ ในภาษาโคราชเพิ่มเติมจากท่านอาจารย์ถาวร จึงเสาะหาคำภาษาโคราชจากเอกสาร จากการสนทนากับผู้คน โดยเฉพาะคนในชนบทอยู่หลายปี กระทั่งสามารถทำเป็นพจนานุกรมได้ ซึ่งในช่วงแรกๆ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลเป็นผู้จัดพิมพ์ และมีการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมคำมาถึงเล่มปัจจุบัน 

         เมื่อเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.๒๕๕๔ ผมกลับมาอยู่บ้านที่โคราช เห็นเด็กรุ่นใหม่พูดภาษากรุงเทพฯ (ภาษากลาง) ไม่ค่อยพูดภาษาโคราชกัน คิดว่าต่อไปเด็กพวกนี้จะไม่รู้จักภาษาของตนเอง คำบางคำจะสูญหายไป จะไม่มีใครรู้จัก ผมมองว่าถ้าเราบอกว่าเราเป็นคนโคราชแล้วพูดโคราชไม่ได้หรือพูดแล้วไม่คือไม่เหมือน หรือเมื่อมีคนมาถามเรื่องราวของเมืองโคราช แล้วคนโคราชตอบไม่ได้ คนที่ฟังจะคิดอย่างไร? บ่อยครั้งในงานเลี้ยงหลังอบรมสัมมนา พิธีกรถามว่า มาจากไหน? เมื่อตอบว่ามาจากโคราช พิธีกรบอกให้ร้องเพลงโคราชให้ฟัง ถ้าเราร้องไม่ได้ถือว่าเสียหายมากที่เป็นคนโคราช

         คนโคราชต้องรู้เรื่องโคราชว่า เป็นหัวเมืองเอกของกรุงสยามมาตั้งแต่โบราณกาล มีเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์มากมาย เช่น การสร้างเมือง สงครามระหว่างชาวเมืองนครราชสีมากับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ที่สนามรบทุ่งสัมฤทธิ์ รถไฟสายแรกของเมืองไทย เรื่องของมวยโคราช แมวโคราช นกเขาคารม และอีกหลายๆ เรื่อง เรามีภาษาเป็นของตนเอง เรามีเพลงโคราชที่ไม่ต้องใช้เครื่องดนตรีใดๆ ประกอบ เรามีอะไรอีกหลายอย่างที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ควรค่าแก่การภาคภูมิใจในความเป็นโคราช เด็กรุ่นหลังรู้เรื่องเหล่านี้ดีพอไหม? ผมว่าเด็กรุ่นหลังจะไม่รู้รากเหง้าที่แท้จริงของตนเอง เมื่อไม่รู้ซึ้ง เขาเหล่านี้ก็จะไม่รักบ้านเกิดเมืองนอน ไม่หวงแหน นึกอยากจะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองอย่างไรก็ได้ ที่สำคัญคือหากคนรุ่นอาวุโสอย่างเราๆ ล้มหายตายจากไป ใครล่ะจะสืบทอดความเป็นโคราชได้อย่างถูกต้อง มันเกิดความคิดแว็บหนึ่งขึ้นมา คือทำให้ผมคิดว่า ควรจะมีการรวบรวมเรื่องราวต่างๆ ของเมืองโคราชที่อยู่กระจัดกระจายไว้เป็นหนังสือสักเล่ม จึงเกิดเป็น “ย้อนเรื่องเมืองโคราช หรือโคราชในความทรงจำ” เล่มนี้ขึ้นครับ

• เวลาที่ใช้ในการเรียบเรียง

         ความจริงข้อหนึ่งคือไม่มีใครเกิดทันในสมัยนั้น การเขียนหนังสือเชิงประวัติศาสตร์จึงต้องแสวงหาข้อมูล หลักฐาน ที่เชื่อถือได้ใช้ในการอ้างอิง ต้องใช้เวลามาก กว่าจะได้ข้อมูลแต่ละเรื่อง เมื่อได้มาแล้วยังต้องวิเคราะห์อีกว่า จะเชื่อถือได้ไหม หลักฐานไหนเชื่อได้ หลักฐานไหนไม่น่าเชื่อถือ รู้สึกว่าจะใช้เวลาปีกว่าๆ ที่ทุ่มเทให้กับหนังสือเล่มนี้ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายแถมเข้ามาด้วย เช่น ซื้อหนังสือที่หายากในราคาแพงกว่าท้องตลาด ค่าสำเนาภาพประวัติศาสตร์จากหอจดหมายเหตุ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะผมต้องไปค้นข้อมูลที่ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะหอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุท่าวาสุกรี ต้องพักโรงแรมที่กรุงเทพฯ หลายครั้ง ผมไม่มีงบประมาณเหมือนกับการได้ทุนทำวิจัย มีทุนส่วนตัวเท่าไรก็ทำเท่ากำลังที่มี เพราะใจมันรัก งานจึงออกมาแบบไม่เต็มที่อย่างที่ตั้งใจอยากจะให้เป็น พูดถึงเรื่องทุนในการทำงานชิ้นนี้ ต้องขอขอบพระคุณ คุณสุนทร จันทร์รังสี แห่งมูลนิธิอักษรารังสี ที่ให้ทุนผมมา ๑๕,๐๐๐ บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน จึงอยากจะขอให้ช่วยกันอุดหนุนหนังสือเล่มนี้ด้วยครับ ถือว่าเป็นผลพวงที่จะได้คือ ต้องการเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้อ่าน และเรียนรู้ โดยเฉพาะคนโคราชได้อ่านเรื่องราวของตนเองเท่านั้น

• ข้อมูลจากวรรณคดีถือเป็นหลักฐานอ้างอิงประวัติศาสตร์ได้ไหม

         เรื่องหลักฐานจากวรรณคดี อยากจะเรียนว่า คนทั่วไปมักจะมองว่าวรรณคดีโดยเฉพาะนิราศเป็นเรื่องการพรรณนาการพลัดพรากจากคนรัก ใช้การสัมผัสอักษรได้สละสลวยไพเราะก่อให้เกิดความบันเทิง ที่จริงนิราศมักจะบันทึกเรื่องราวความเป็นอยู่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม คติชน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์ ที่พบเห็นระหว่างการเดินทาง ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่ผู้ประพันธ์มักจะสอดแทรกความคิดความรู้สึกต่างๆ ที่ประสบมาระหว่างการเดินทางนั้นลงไปด้วย

         ถ้าถามว่าจะใช้วรรณคดีเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ไหม ผมว่าต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ เป็นประเด็นๆ ไป ซึ่งวรรณคดีก็มีหลายประเภท เช่น วรรณคดีประยุกต์ หรือ applied literature เป็นประเภทที่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ เช่น ละลิตตะเลงพ่าย ลิลิตยวนพ่าย ซึ่งกล่าวถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถชนะสงครามพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ลิลิตโองการแช่งน้ำกล่าวถึงคำสวดในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กล่าวถึงการกรีธาทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสิน จากจันทบุรีมาธนบุรี การสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การปราบหัวเมืองต่างๆ เป็นต้นว่า นครราชสีมา นครศรีธรรมราช และสวางคบุรี เป็นต้น หรือแม้แต่นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องผู้ชนะสิบทิศ ก็ให้ความรู้ประวัติศาสตร์มอญ ดังนั้นจะเห็นว่ามีงานวิจัย วิทยานิพนธ์ รวมทั้งนักประวัติศาสตร์ยังใช้วรรณคดีในการอ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรม

         การจะใช้วรรณคดีเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จะต้องมีการวิเคราะห์ การพิจารณาตรวจตรา แยกแยะหาเหตุผลและประเมินค่า คือแยกสิ่งที่ผู้ประพันธ์ใช้ความรู้สึกนึกคิดออกไป ในความเห็นส่วนตัวยังเห็นว่า วรรณคดีบางเรื่องสามารถใช้อ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้ เพราะเป็นชุดความจริงที่ผู้ประพันธ์ไปสืบค้นมาได้ อีกประการหากจะคำนึงถึงแต่ว่าต้องใช้จดหมายเหตุ พงศาวดาร ใบบอก เท่านั้นที่เป็นหลักฐานได้ ถ้ามองเพียงแค่นี้การสืบค้นเรื่องราวประวัติศาสตร์จะแคบ ทำให้ประวัติศาสตร์ไม่สมบูรณ์ เพราะพงศาวดารหรือจดหมายเหตุไม่สามารถบันทึกทุกเหตุการณ์ได้ และมักจะบันทึกไว้เพียงสั้นๆ ที่สำคัญคือเป็นการบันทึกของราชสำนักที่เกี่ยวกับเรื่องราวของกษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง เท่านั้น จะไม่มีการบันทึกเรื่องของสามัญชน ดังนั้นหลักฐานจากบันทึกหรือข้อเขียนของสามัญชนก็จะเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน เช่น ทหารที่อยู่ในสงครามได้เห็นเหตุการณ์แล้วมีการบันทึกไว้ ขอถามว่า เราจะไม่เชื่อหลักฐานนี้เลยหรือ?

         ในหนังสือ “ย้อนเรื่องเมืองโคราช” ที่ผมเขียน บางเรื่องบางตอนได้นำ “นิราศหนองคาย” ของทิม สุขยางค์ (หลวงพัฒนพงศ์ภักดี) ที่กล่าวถึงเรื่องราวของเมืองโคราชหลายๆ ด้านมาอ้างอิง เช่น การบูรณะวัดกลาง จากนิราศหนองคายทำให้ทราบว่า วัดกลางถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์ทำลาย เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงซึ่งเป็นแม่ทัพไปปราบพวกฮ่อซึ่งก่อความไม่สงบที่เมืองเวียงจันทน์และเมืองหนองคาย เมื่อ ปีพ.ศ.๒๔๑๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้บูรณะปฏิสังขรณ์และจัดให้มีการแสดงโขนสมโภช อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งนิราศตอนนี้ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองโคราชได้เป็นอย่างดี 

• ฝากคนรุ่นใหม่ “รักษาไว้ให้กลมกลืนกับกาลเวลา”

         คนรุ่นใหม่ในที่นี้หมายถึงคนโคราชนะครับ คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้มาแรง สังเกตได้จากการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ได้เห็นพลังที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ผมคิดว่าพวกเขาไม่ศรัทธาความคิดของคนรุ่นเก่า มองว่าเป็นพวกล้าสมัย แต่ผมก็อยากจะบอกว่า คนรุ่นใหม่ยังต้องเรียนรู้และมีประสบการณ์เพื่อสร้างวุฒิภาวะอีกมาก ประสบการณ์นั้นเกิดจากการเรียนรู้ ได้เห็น ได้สัมผัส ซึ่งคิดว่าต้องใช้เวลา และยังไงก็ต้องอาศัยแนวคิดของคนรุ่นเก่าเป็นหลัก ดังนั้นความคิดบางเรื่องเป็นความอ่อนไหวทางสังคม บางวาทกรรมต้องการเพียงเพื่อความสะใจ เช่น การคิดที่จะยกเลิกคำสรรพนามที่ใช้เรียกเครือญาติที่มีมาแต่บรรพบุรุษ จากพี่ ป้า น้า อา อาแปะ อาม้า อากง ฯลฯ มาใช้คำว่า “คุณ” เช่นเดียวกับฝรั่งที่ใช้คำว่า “You” กับทุกคน นั่นหมายความว่า ต่อไปเราจะเรียก ครูบาอาจารย์ พ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย ว่า “คุณ” อย่างนั้นหรือ การที่จะหลงใหลวัฒนธรรมตะวันตกจนลืมวัฒนธรรมที่ดีงามของตนเอง อย่างนี้ผมว่าน่าเป็นห่วง

         กลับมาเรื่องคนรุ่นใหม่/รุ่นหลังซึ่งเป็นความหวังของคนรุ่นเก่า เพราะเขาเหล่านี้จะเติบโตมาแทนที่ อยากจะให้คิดให้มองอย่างสร้างสรรค์ว่า บรรพบุรุษพ่อแม่ปู่ย่าตายายล้วนแต่ได้เสียสละ ต่อสู้ สร้างบ้านแปงเมือง มาจนพวกเราได้อยู่สุขสบายถึงวันนี้ ควรแก่การให้ความเคารพท่าน หากจะนำเรื่องราวสมัยในช่วงเวลานั้นในอดีตมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันคงไม่ได้ จึงไม่ควรปรามาสโดยไม่ได้ใคร่ครวญไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน คนรุ่นหลังจะต้องตระหนักถึงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณี ภาษา ที่เป็นเอกลักษณ์รากเหง้าของโคราช และมีหน้าที่สืบสานรักษามรดกจากคนรุ่นก่อนโดยต่อยอดให้กลมกลืนกับกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ผมอยากจะเก็บไว้ให้คิดพิจารณาครับ

ในท้ายนี้ผมอยากจะฝากว่า โคราชจะยังคงความเป็นโคราชได้  ก็เพราะคนโคราชเท่านั้นที่จะเห็นความสำคัญ รัก หวงแหน และช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ในแผ่นดินเกิด.

• ปูมประวัติ “ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต”

         ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต เกิดที่บริเวณสี่แยกหลักเมือง (ศาลหลักเมือง) บิดาประกอบอาชีพเย็บเสื้อ-กางเกง (สายรูด) ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าผ้าโหลคือขายเป็นโหล (๑๒ ตัว) ต่อมาได้มีเสื้อผ้าทรงใหม่ที่เรียกกันว่าทรงฝรั่ง เช่น กางเกงหรั่ง เข้ามาตีตลาดจนคนไม่นิยมนุ่งกางเกงสายรูด ครอบครัวจึงต้องเลิกกิจการและย้ายไปอยู่ที่อำเภอโชคชัย แต่กิจการเย็บผ้าโหลก็ไปไม่รอด ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ ต้องอพยพครอบครัวกลับเข้ามาอยู่ที่โคราช ตั้งหลักแหล่งที่สี่แยกหลังวัดบูรพ์ (โรงพยาบาล ป.แพทย์ ๒ ปัจจุบัน) โดยเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ช่วงนี้ครอบครัวอยู่ในขั้นอัตคัดขัดสน กอปรกับทางบ้านมีลูกถึง ๑๑ คน เชื่อไหมว่าการศึกษาของพ่อแม่ของดร.เมตต์ถือว่าเป็นศูนย์คือ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่ลูกๆ ได้เป็นถึงนายพล รองผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนตัวเองได้เป็นนายอำเภอ น้องๆ เป็นรองปลัด อบจ. ปลัดอำเภอ นอกนั้นเรียนแค่มัธยมแต่ก็มีอาชีพเป็นหลักแหล่งกันทุกคน เพราะแม่ส่งเสริมให้ลูกๆ เรียนหนังสือ ซึ่งทุกคนก็เรียนด้วย ทำงานช่วยเหลือตัวเองด้วย 

         ตอนเรียนชั้นประถม วิชาเรียงความกับวิชาศิลปะได้คะแนนดี จึงชอบมาตั้งแต่นั้น ชอบเข้าห้องสมุด เคยชนะการประกวดวาดภาพเสมอๆ ครูเห็นแววแล้วแนะนำให้ไปเรียนเพาะช่าง และบอกว่าอนาคตจะสดใสแน่ แต่เนื่องจากครอบครัวอยู่ในสภาพย่ำแย่ ขณะเรียนต้องรับจ้างเขียนป้าย รับจ้างทั่วไป เช่นขุดดิน ขายข้าวเกรียบกุ้ง ขายลูกโป่งในงานท้าวสุระ (งานย่าโม) สามล้อก็ปั่นขี่รับจ้าง ชีวิตหักเหคือเมื่อจบ ม.ศ.๓ แล้วไม่ได้เรียนเพาะช่างตามที่ตั้งใจเพราะทางบ้านไม่สามารถส่งเรียนได้ อีกทั้งไม่มีญาติอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่มีที่พักจึงเรียนต้องต่อชั้นเตรียมแผนกวิทยาศาสตร์ที่ราชสีมาวิทยาลัย สมัยนั้นเรียนยากมาก ใช้ข้อสอบกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อจบ ม.ศ.๕ ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยผมเลือกเรียนนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ตามที่พี่ชายอยากให้เป็นนายอำเภอ ซึ่งต้องใช้ความรู้แผนกศิลป์ ปรากฏว่าสอบไม่ได้ และไม่มีที่เรียน แม่เสียใจมาก อายเพื่อนบ้านที่ดูถูกดูแคลนเพราะลูกไม่มีที่เรียนเหมือนลูกชาวบ้านคนอื่นๆ ที่เขาได้เรียนกันหมด แต่บังเอิญวิทยาลัยครูนครราชสีมาเปิดรับนักศึกษารอบสอง จึงได้สอบเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรครูประถม (ป.ป.) ใช้เวลาเรียน ๑ ปี จบออกมาทำงานเป็นครูประชาบาล ในปีนี้เอง (พ.ศ.๒๕๑๔) ได้มีการตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงไปสมัครเรียนนิติศาสตร์และทำงานเป็นครูไปด้วย เมื่อจบนิติศาสตร์ได้ไปทำงานที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นโอนไปรับราชการที่สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อกรมการปกครองเปิดสอบปลัดอำเภอ ซี ๖ ก็สอบได้ และต่อมาสอบเข้าเรียนนายอำเภอได้ และก็เป็นนายอำเภอหลายอำเภอ ครั้งหลังสุด ปีพ.ศ.๒๕๕๔ ปลดเกษียณในตำแหน่งนายอำเภอเมืองชัยภูมิ เมื่อภรรยาปลดเกษียณปีพ.ศ.๒๕๕๘ จึงได้กลับมาอยู่โคราชบ้านเกิดจุดนี้เอง ได้เกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะศึกษาเรื่องราวของเมืองโคราช.

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๕ วันศุกร์ที่ ๒๖ - วันพุธที่ ๓๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒


813 1450