July 31,2019
เรื่องเล่าจากกรุงเทพฯ .... “หนังสือพิมพ์ไม่ตายก็ปรับตัว”
ผมมาเยือนจังหวัดนครราชสีมาครั้งล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ รู้สึกดีใจที่ยังเห็นพี่น้องชาวนครราชสีมารายหนึ่ง ยังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ “โคราชคนอีสาน” ฉบับล่าสุดบริเวณหน้าห้างคลังพลาซ่า จอมสุรางค์ บรรยากาศนี้อาจเห็นได้น้อยลงในกรุงเทพฯ ซึ่งถูกแทนที่ด้วยผู้คนยืนก้มหน้าอ่านเฟซบุ๊ก ตอบไลน์ รีทวีตบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
นับตั้งแต่โลกโซเชียลเข้ามามีอิทธิพลต่อข่าวสาร สื่อดั้งเดิมทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างประสบปัญหาผู้บริโภคสื่อเข้าถึงลดลง รายได้ลดลง กระทั่งยุติบทบาทและปิดกิจการ แม้จะมีคนที่ติดตามส่วนหนึ่งอาวรณ์กับการปิดตัวลง แต่ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะกลับมาเหมือนเดิม ในยามที่ผู้บริโภคสื่อสามารถติดตามข่าวสารได้เพียงปลายนิ้ว
ขณะที่การเติบโตของสื่อใหม่ อย่างเช่นเว็บไซต์หรือสื่อโซเชียล ยังคงต้องแข่งขันเพื่อช่วงชิงผู้อ่านที่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ ท่ามกลางความลำบากในการหารายได้ คุณภาพเนื้อหา และพฤติกรรมผู้อ่านของที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่นับรวมปัญหาข่าวปลอม พาดหัวเกินจริง (Clickbait) และสื่อออนไลน์ที่ละเมิดจริยธรรมเพื่อหวังยอดวิว ยอดไลค์ ยอดแชร์
ในช่วงที่สื่อถูกเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Disruption) ต้องล้มหายตายจาก มีหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อย ๖ ฉบับหายไปจากท้องตลาด เริ่มตั้งแต่ “หนังสือพิมพ์บ้านเมือง” อายุ ๔๔ ปี ๖ เดือน หยุดผลิตตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๐ และเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด เนื่องจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไป ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย
ตามมาด้วย “หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์” หนังสือพิมพ์ภูมิภาคในจังหวัดเชียงใหม่ อายุ ๒๗ ปี ของนายสราวุฒิ แซ่เตี๋ยว ตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๑ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยหันมาเน้นสื่อออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดียแทน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลง และสามารถเพิ่มฐานผู้อ่านได้กว้างมากขึ้น
ส่วนหนังสือพิมพ์กีฬาอย่างเช่น “มวยสยามรายวัน” อายุ ๒๔ ปี ๙ เดือน ของค่ายสยามสปอร์ต ตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เพื่อรวมเนื้อหาอยู่ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน โดยเพิ่มหน้าเป็น ๔๐ หน้า เพิ่มเซกชั่นฟุตบอลสยาม, มวยสยาม และ สยามดารา ส่วนข่าวสารความเคลื่อนไหวจะไปอยู่ในเว็บไซต์แทน
เข้าสู่ปี ๒๕๖๒ สิ่งที่น่าตกใจก็คือ ค่ายสื่อยักษ์ใหญ่ที่เชื่อว่ามั่นคงก็ทยอยปิดหัวหนังสือ เฉกเช่น “เครือบางกอกโพสต์” ที่คณะกรรมการ บริษัทฯ มีมติหยุดพิมพ์ “หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์” อายุ ๑๖ ปี ตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒ และ “หนังสือพิมพ์เอ็มทูเอฟ” (M2F) อายุ ๗ ปี ตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๒ เลิกจ้างพนักงานกว่า ๒๐๐ คน
เครือบางกอกโพสต์ให้เหตุผลว่า เนื่องจากต้องการปรับการผลิตสื่อให้มีความกระชับ และมุ่งเน้นสื่อดิจิทัลมากขึ้นอย่างเต็มตัว ยังคงเหลือ “หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์” ฉบับภาษาอังกฤษ ทั้งสื่อรูปแบบหนังสือพิมพ์และดิจิทัล จะยังคงเป็นสื่อหลักของบริษัท ขณะที่ผลประกอบการปี ๒๕๖๑ รายได้สื่อสิ่งพิมพ์และโฆษณาลดลงจาก ๙๕๐ ล้านบาท เหลือ ๙๒๒ ล้านบาท
ขณะที่ “เครือเนชั่น” หลังกลุ่มนายฉาย บุนนาค เข้ามาบริหารแทนกลุ่มนายสุทธิชัย แซ่หยุ่น ที่ยุติบทบาทเมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๑ พบว่ามีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง กระทั่งตัดสินใจหยุดผลิต “หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น” ฉบับภาษาอังกฤษ อายุ ๔๘ ปี ตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ โดยหันมาทำเว็บไซต์ข่าวออนไลน์แทน
สมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือเนชั่น ระบุว่า ยอดขายเดอะเนชั่นล้วนไม่ได้ขายปลีก แต่ขายให้ลูกค้าองค์กรตามโรงแรม โรงพยาบาล สายการบิน ซึ่งผู้อ่านส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ แม้ราคาขายปลีกฉบับละ ๓๐ บาท จะมีต้นทุนฉบับละ ๑๖ บาท แต่ขายให้ลูกค้าองค์กรตกฉบับละ ๘ บาท เมื่อเก็บตัวเลขมา ๕ ปี พบว่าขาดทุนเฉลี่ยปีละ ๓๐ ล้านบาท
ขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นแม้จะยังไม่ปิดตัว แต่ก็ปรับรูปแบบ ปรับโฆษณา และปรับโครงสร้างองค์กร
เฉกเช่น “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” จากที่เมื่อก่อน หน้าหนึ่งแทบจะไม่มีโฆษณาแทรก ก็ได้เปิดพื้นที่โฆษณาแบบใหม่ที่เรียกว่า Cover Wrap ขายพื้นที่โฆษณาหน้าหนึ่ง ราคาเริ่มต้นที่ ๒ หน้า ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท และ ๔ หน้า ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ไม่รวมค่ากระดาษ หากเป็นกระดาษปอนด์ขาว ๖๐ แกรม) ลูกค้ารายแรกๆ คือ “คิง เพาเวอร์ รางน้ำ” ตีพิมพ์วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๑
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา หน้าหนึ่งถือเป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ฝ่ายการตลาดหรือโฆษณาไม่มีสิทธิ์มาแตะต้อง แต่ด้วยสถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบัน การหารายได้ลำบากมากขึ้น จึงถูกรุกล้ำโดยอิทธิพลทางการตลาดมากขึ้น ฝ่ายโฆษณาก็ต้องการให้ประชาชนเห็นโฆษณาให้ได้มากที่สุด
หรือจะเป็น “เครือมติชน” ประกอบด้วย หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (ราย ๓ วัน) ตัดสินใจยุบแผนกการพิมพ์และแผนกขนส่ง ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เป็นต้นมา โดยให้กลุ่มสยามสปอร์ตเป็นผู้เข้ามารับจ้างพิมพ์และจัดส่งหนังสือพิมพ์รวมทั้งนิตยสารในเครือ ทำให้เครือมติชนประหยัดต้นทุนมากขึ้น
ขณะที่ “หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ๓๖๐” พยายามเพิ่มเนื้อหาข่าวธุรกิจในเชิงวิเคราะห์ ภายใต้ชื่อ “ไอบิซิเนส” (Ibusiness) จำนวน ๘ หน้า ประจำทุกวันจันทร์ และพฤหัสบดี ตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นมา โดยประเมินจากผู้อ่านที่ต้องการอ่านข่าวธุรกิจ และติดตามความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจ-การค้า-การลงทุน อย่างถูกต้องและแม่นยำ
ไม่นับรวมค่ายสื่อฉบับอื่น นอกจากจะหารายได้ผ่านช่องทางสื่อใหม่ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่มียอดติดตามจำนวนมากแล้ว ยังใช้การจัดอีเวนต์เพื่อหารายได้ เช่น รายการกีฬา งานวิ่ง งานแสดงสินค้า (เอ็กซ์โป) งานรางวัล งานอบรมสัมมนา งานฝึกอาชีพ ยิ่งถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจจะพบว่าหันมาจัดเวทีเสวนา ปาฐกถาพิเศษ และดินเนอร์ ทอล์ค ที่เจาะกลุ่มนักธุรกิจ
จากที่ไล่เรียงเหตุการณ์มาทั้งหมดนี้ ในฐานะที่มีความผูกพันกับหนังสือพิมพ์ นับตั้งแต่สมัยประถมศึกษาเมื่อประมาณ ๒๐ ปีก่อน กระทั่งเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มาแทบจะครึ่งชีวิต ยอมรับตามตรงว่า รู้สึกใจหายที่ได้ยินข่าวหนังสือพิมพ์ปิดตัวลง และหายไปจากชั้นวางหนังสือพิมพ์ บางฉบับติดตามอยู่เป็นประจำ พอจะฝากผีฝากไข้กันได้ก็หายไป
ไม่นับรวมผู้สื่อข่าว พนักงานฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดหน้า ฝ่ายพิสูจน์อักษร และแผนกอื่นๆ ต่างพากันตกงานหลังถูกเลิกจ้าง ยิ่งรับรู้ข่าวร้ายกับพี่ๆ เพื่อนๆ สื่อมวลชนด้วยกันก็ยิ่งสงสาร ยิ่งหดหู่ และสงสารตัวเองที่วิชาชีพนี้มีแต่ความไม่แน่นอน
จึงมีความรู้สึกว่า หนังสือพิมพ์ในยุคปัจจุบันนอกจากจะเป็นหนังสือพิมพ์หัวสีที่ขายความหวือหวา ขายความเชื่อ รวมทั้งละเมิดจริยรรมบ่อยครั้งแล้ว หนังสือพิมพ์บางฉบับถูกใช้เป็นเครื่องมือของนายทุน มีไว้ปั่นหุ้น รังแกคน ราวกับตบทรัพย์ เพียงเพื่อสร้างอำนาจต่อรองด้านโฆษณา บางครั้งเห็นพาดหัวข่าวเชิงลบ ก็รู้ได้ทันทีว่าสื่อค่ายนี้คงไปมีเรื่องกับบริษัทนั้นแน่ๆ
ส่วนการทำข่าวออนไลน์ในยุคนี้เป็นไปอย่างมักง่าย นอกจากจะพาดหัวให้หวือหวา ล่อคนให้เข้ามาอ่านแล้ว มักจะมีคำบอกเล่าจากนักข่าวรุ่นพี่ว่า “นักข่าวสมัยนี้เขียนข่าวไม่เป็น จับประเด็นไม่ได้” ส่วนวิธีค้นหาข้อมูลก็พบว่าเข้าไปค้นกูเกิล หรือวิกิพีเดียอย่างง่ายดาย โดยไม่มีการกลั่นกรอง ทั้งที่หากข้อมูลผิด เนื้อหาก็ผิดทั้งหมด ลามไปถึงสังคมก็เข้าใจผิด
ทำให้นึกถึงเฟซบุ๊กของ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการบริหารคนสุดท้าย หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เคยกล่าวเอาไว้ทำนองว่า ถ้าหนังสือพิมพ์ทำข่าวง่ายๆ (Straight News) ใครเขาจะอ่าน เพราะมีถมไปในอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องรออ่านในหนังสือพิมพ์ ถือเป็นความยากลำบากในการทำหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ ๒๑
“สื่ออิเล็กทรอนิกส์รายงานข่าวกันทุกชั่วโมงจนไม่มีอะไรเหลือให้หนังสือพิมพ์ ยิ่งทุกวันนี้ใครๆ ก็เข้าถึงสื่อได้ เรื่องราวต่างๆ ถูกรายงานแบบเรียลไทม์ ก็ยิ่งไม่มีใครอ่านหนังสือพิมพ์ สิ่งที่นักข่าวหนังสือพิมพ์ต้องทำคือ ๑. หามุมมองใหม่ให้กับเรื่องเดิม ข้อมูลชุดเก่า ๒. พยายามคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ๓. หาคำอธิบายเรื่องนั้นๆ ว่ามันคืออะไร”
ในโอกาสที่หนังสือพิมพ์ “โคราชคนอีสาน” ครบรอบ ๔๕ ปี เป็นที่เชื่อถืออย่างยาวนาน ในยุคที่หนังสือพิมพ์จากกรุงเทพฯ ต่างล้มหายตายจากและไม่เหมือนเดิม ขอให้หนังสือพิมพ์ภูมิภาคฉบับนี้ยังคงแข็งแกร่ง และขยายไปสู่สื่อใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่ โดยคงไว้ซึ่งจรรยาบรรณและจริยธรรมในฐานะ “คนหนังสือพิมพ์” ตลอดไป.
• กิตตินันท์ นาคทอง
หัวหน้าข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online / ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ sakhononline.com
---------------------------------
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๕ วันศุกร์ที่ ๒๖ - วันพุธที่ ๓๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
915 1,682