19thApril

19thApril

19thApril

 

August 07,2019

มทส.จับมือ‘ปทุมธานีคอนกรีต’ พัฒนาคอนกรีตมวลเบา จากวัสดุเหลือใช้สู่เชิงพาณิชย์

         มทส.ร่วมมือเอกชน ‘ปทุมธานีคอนกรีต’ ด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตมวลเบา พัฒนาวัสดุเหลือใช้ให้เป็นสินค้าที่เกิดมูลค่าเพิ่ม นำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมทั้ง เป็นแนวทางในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ภายใต้นโยบายมหาวิทยาลัยในการสร้าง Industry Linkage

         เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และบริษัท ปทุมธานีคอนกรีต จำกัด (PACO) ร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตมวลเบา การพัฒนาวัสดุเหลือใช้ให้เป็นสินค้าที่เกิดมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี ผู้บริหารและคณาจารย์ มทส. พร้อมด้วย นายภัทริศ คุณกิตติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะผู้บริหารของบริษัท ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มทส.

         รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความก้าวหน้าของงานวิจัย มุ่งเน้นการต่อยอดงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยในการสร้าง Industry Linkage รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งความร่วมมือกับ บริษัท ปทุมธานีคอนกรีต จำกัด ด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตมวลเบาในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การต่อยอดงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์คอนกรีตมวลเบา และยังเป็นแนวทางในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ รวมถึงด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กร ทั้งในด้านเทคโนโลยี งานวิจัย เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศต่อไป” 

         รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา หัวหน้าสถานวิจัยสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. เผยว่า “ความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและขยายผลความก้าวหน้าของงานวิจัยที่เกิดจากคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาวัสดุเหลือใช้เป็นสินค้าที่เกิดมูลค่าเพิ่มสามารถนำไปหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรม เกิดการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้งานได้จริง นอกจากนี้ ยังร่วมกันพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาด้านการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมโยธา และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักศึกษาจะได้ไปสหกิจศึกษากับทางบริษัท ได้ฝึกปฏิบัติการกับเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานจริง เสริมสร้างคุณลักษณะของวิศวกรที่พึงประสงค์ตรงความต้องการของสถานประกอบการ รวมไปถึงร่วมกันพัฒนาศักยภาพบุคลากรของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการจัดฝึกอบรมความรู้ การให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือการศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาในมหาวิทยาลัย”

         นายภัทริศ คุณกิตติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปทุมธานีคอนกรีต จำกัด กล่าวว่า “บริษัทดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายเสาเข็มมานานกว่า ๔๐ ปี ทั้งนี้ในกระบวนการผลิตเสาเข็มกลมแรงเหวี่ยง ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก.๓๙๘-๒๕๓๗ จะมีวัสดุที่ต้องทิ้งจากการผลิตจากแรงเหวี่ยง คือ น้ำซีเมนต์มอร์ต้า (ซีเมนต์+ทราย+น้ำ) ประมาณ ๑๖ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้ต้องหาวิธีการกำจัด เนื่องจากไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด มีบางส่วนทิ้งไว้ให้แห้งเกิดเป็นเศษของแข็งของซีเมนต์มอร์ต้าในปริมาณมาก ต้องเสียพื้นที่ในการจัดเก็บ และอาจทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศตามมาได้ จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อหาวิธีการนำน้ำซีเมนต์มอร์ต้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยสามารถสร้างมูลค่าและกำจัดของเสียด้วย”

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรวัฒน์ สินศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (SIE-CON) มทส. กล่าวถึงความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตมวลเบาว่า  “โครงการวิจัยนำ Mortar Cement Waste (MCW) มาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมหาวิทยาลัยส่งเสริมการแก้ไขปัญหาให้สถานประกอบการในรูปแบบการวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ จากองค์ความรู้ด้านการวิจัยเกี่ยวกับคอนกรีตเซลลูล่า หรือ คอนกรีตมวลเบาแบบเติมฟองอากาศ ที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางแล้วนั้น ทางศูนย์ SIE-CON ได้ทำการทดสอบเบื้องต้น โดยนำงานวิจัยด้านคอนกรีตเซลลูล่าไปแก้ปัญหาดังกล่าว พบว่ามีแนวโน้มที่จะนำน้ำซีเมนต์มอร์ต้า ซึ่งเป็นวัสดุที่เหลือจากการผลิตเสาเข็มกลมแรงเหวี่ยง มาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตคอนกรีตเซลลูล่าได้ นำไปผลิตเป็นวัสดุก่อสร้างได้ อาทิ คอนกรีตบล็อกมวลเบาแบบเติมฟองอากาศ มอก.๒๖๐๑-๒๕๕๖ ผนังสำเร็จรูปมวลเบา ซึ่งต้องศึกษาขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการต่อไป ในการวิจัยและพัฒนาอัตราส่วนผสมคอนกรีตเซลลูล่าที่เหมาะสมกับวัสดุที่เหลือจากการผลิต กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณขยะ สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้งจากการผลิต ให้เป็นวัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ตลอดจนสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจด้านใหม่ด้วย นับเป็นการใช้การวิจัยและพัฒนา (R&D) มาแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน”

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๗ วันอังคารที่ ๖ - วันเสาร์ที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

815 1365