29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 13,2019

๒๖ ปี ‘รอยัลพลาซ่า’ ถล่ม ประวัติศาสตร์สะเทือนโลก

ประมาณ ๑๐.๐๐ น. ของวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๖ ขณะที่คนหลายอาชีพกำลังมุ่งหน้าทำงานเพื่อเลี้ยงชีพอย่างขะมักเขม้น พลันทันใดนั้น ที่กลางเมืองโคราชก็มีเสียงดังครืนพร้อมกับแผ่นดินสะท้านสะเทือนไปทั่ว สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนละแวกนั้น และเมื่อรู้ว่า โรงแรมใหญ่โตที่ตั้งอยู่กลางเมืองโคราช “โหง่ย” ก็ยิ่งสร้างความตระหนกอีกร้อยเท่าพันทวี

โคราชรายวัน ซึ่งตั้งห่างจากที่เกิดเหตุไม่ถึง ๑๐๐  เมตร รีบรุดไปทำข่าวและขอกำลังนักข่าวเพิ่มเติม เมื่อพบว่าสิ่งที่พินาศเบื้อหน้านั้นใหญ่หลวงอย่างคาดไม่ถึง

“รอยัลพลาซ่า” เติบโตต่อมาจาก “เมืองใหม่เจ้าพระยา” อาณาจักรบันเทิงที่มีโรงแรมเป็นตัวนำ แต่เน้นธุรกิจอาบอบนวดที่ยิ่งใหญ่ ทว่ากิจการไม่อาจดำเนินต่อไปตลอดรอดฝั่ง ที่สุดแล้วก็พบกับการยึดทรัพย์ และมีกลุ่มผู้บริหารชุดใหม่เข้าไปฟื้นฟูกิจการ และเพิ่มทุนกลายเป็นโรงแรม “รอยัลพลาซ่า” เปิดบริการตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ ภายใต้การบริหารงานของหุ้นส่วนเหล่านี้ ได้แก่

นายเลอพงษ์ พัฒนจิตวิไล ประธานกรรมการ และกรรมการบริษัทฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย นายชาตรี ล้อเลิศรัตนะ, นายสัญชัย สุรโชติมงคล, นายซิม แตมสำราญ และนายเลิศ เอี่ยมวงษ์ศรีกุล ภายใต้การบริหารงานของนายวิทยา วงศ์วัชรกาญจน์ ผู้จัดการทั่วไป

เดิม “เมืองใหม่เจ้าพระยา” มีเพียง ๓ ชั้นเท่านั้น แต่ผู้บริหารต้องการลบภาพของอาบอบนวดให้กลายเป็นโรงแรมระดับแนวหน้าในเมืองโคราช พรั่งพร้อมด้วยความบันเทิงครบวงจร และห้องประชุมสัมมนาที่มีมาตรฐาน หลังการประชุมหลายครั้งจึงมีมติขยายและเพิ่มเติมเป็น ๖ ชั้น รวมทั้งเตรียมสร้างลานจอดรถ ๘ ชั้น บริเวณอาคารใหม่ ด้วยงบกว่า ๓๐ ล้านบาท และวางแผนที่จะจัดงานฉลองไว้อย่างยิ่งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๖ แต่ที่สุดแล้วก็พังครืนลงมา ในวันที่หลายๆ คน โดยเฉพาะชาวตะวันตกที่เชื่อในเรื่องอาถรรพ์คือ ซึ่งในวันศุกร์ที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๖ ขณะที่บุคคลในวงการศึกษาในภาคอีสานทั้งหลายกำลังสัมมนาอยู่ในห้องประชุมใหญ่ รวมทั้งนักท่องเที่ยว นักธุรกิจอีกไม่น้อยที่พักในโรงแรม โศกนาฏกรรมครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ๑๓๖ ศพ บาดเจ็บสาหัส ๓๖ คน และบาดเจ็บอีกกว่า ๑๒๔ คน นับเป็นความสูญเสียที่ร้ายแรงที่สุดในรอบปี เป็นการสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และสร้างความสะเทือนขวัญให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในการก่อสร้าง รวมทั้งมีการเผยแพร่ข่าวไปทั่วโลกด้วย

หลังเกิดเหตุ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี รุดเดินทางมาตรวจสอบซากอาคารและการช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบภัยด้วย ขณะนั้น นายดำรง รัตนพานิช เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนางชูศรี ศรีวิไลลักษณ์ เป็นนายกเทศมนตรี หลังเกิดเหตุการณ์พนักงานสอบสวนได้สอบสวนและเสนอความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น ๑๕ คน และในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ พนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องวิศวกร สถาปนิก ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องในการก่อสร้างอาคารโรงแรมรอยัลพลาซ่า รวม ๑๕ เป็นจำเลย ที่ศาลจังหวัดนครราชสีมา คดีหมายเลขดำที่ ๑๓๖๑/๒๕๓๖ ได้แก่

จำเลยที่ ๑ นายบำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ วิศวกรออกแบบและควบคุมอาคาร

จำเลยที่ ๒ นายสุวัฒน์ ตัณฑนุช สถาปนิก

จำเลยที่ ๓–๘ นายอนุสรณ์ ซ้อนพิมาย, นายยุทธนา อาจารยานนท์, นายมนัส ชัยนิคม ทั้งสามคนเป็นนายช่างและวิศวกรประจำเทศบาล, นายพูนสุข จิตต์สุวรรณ ผู้อำนวยการกองช่างเทศบาล, นางยุพยง พรหมพันธ์  ปลัดเทศบาล และนายประชิต วงษ์มณี เทศมนตรี ซึ่งจำเลยที่ ๓ – ๘ เป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ของเทศบาลเมืองนครราชสีมา

จำเลยที่ ๙ บริษัท รอยัลพลาซ่า จำกัด

จำเลยที่ ๑๐ นายเลอพงษ์ พัฒนจิตวิไล ประธานกรรมการบริษัทฯ

จำเลยที่ ๑๑–๑๕ ได้แก่ นายชาตรี ล้อเลิศรัตนะ, นายสัญชัย สุรโชติมงคล, นายซิม แตมสำราญ, นายเลิศ เอี่ยมวงษ์ศรีกุล กรรมการบริษัทฯ และนายวิทยา วงศ์วัชรกาญจน์ ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมรอยัลพลาซ่า 

 ในข้อหาความผิดฐานเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบควบคุมการก่อสร้างอาคารไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้นๆ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส ได้รับอันตรายแก่กาย ฐานประกอบการงานในวิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จโดยประการน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย บาดเจ็บสาหัส และบาดเจ็บ

 

หลังจากการถล่มของ “รอยัลพลาซ่า” มีการตรวจสอบถึงสาเหตุการถล่มอย่างแท้จริงโดยนักวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น .ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ รองประธานคณะกรรมการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) ที่ให้การต่อศาลถึงผลการศึกษาและวิเคราะห์ว่า

 

“สาเหตุของการวิบัติเกิดจากเสาจำนวนหนึ่งรับน้ำหนักอาคารไม่ได้ ทำให้อาคารพังทลายลงมาพร้อมกัน ซึ่งเกิดจากการออกแบบค่าความปลอดภัยต่ำกว่ามาตรฐานเนื่องจากผู้ออกแบบมีความประมาท เหตุที่ว่าผู้ออกแบบมีความประมาทเนื่องจากเดิมโรงแรมเป็นอาคาร ๓ ชั้น เมื่อมีการต่อเติมเป็น ๖ ชั้นและก่อสร้างอาคารด้านข้างอีก ๕ ชั้น เป็นการฝากน้ำหนักไว้กับฐานรากของอาคารเดิม ทำให้เสารับน้ำหนักไม่ได้........ สาเหตุที่ทำให้เกิดการวิบัติของโครงสร้างอาคารโดยทั่วไป วิเคราะห์ได้ ๔ ประการ คือ

๑) เกิดจากความผิดพลาดในการคำนวณออกแบบ ๒) เกิดจากการก่อสร้างผิดแบบและไม่ได้มาตรฐาน ๓) เกิดจากการใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐานหรือเสื่อมคุณภาพ และ ๔) เกิดจากการใช้ประโยชน์ของอาคารผิดจากที่กำหนดไว้ .....”

 

คดีอาญาดำเนินการยืดเยื้อเรื่อยมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นและไปสิ้นสุดในศาลฎีกาเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๓ รวมเวลา ๗ ปี ๔ เดือน ๑๕ วัน ศาลฎีกาพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๒๔๒/๒๕๔๐ โดยนายพิทยา หมื่นแก้ว, นายอารมณ์ จำปานิล และนายสถาบัน บุญเติม ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาว่า

“ศาลพิพากษาจำเลยที่ ๑ นายบำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ วิศวกรออกแบบอาคารมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๗ ประกอบมาตรา ๒๓๘ วรรคแรก ลงโทษฐานเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อันพึงกระทำเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย จำคุก ๑๘ ปี ฐานประกอบวิชาชีพวิศวกรรมทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ จำคุก ๒ ปี รวมจำคุก ๒๐ ปี จำเลยที่ ๙ และจำเลยที่ ๑๑–๑๕ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ปรับจำเลยที่ ๙ บริษัท รอยัลพลาซ่า จำกัด เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๑๑ – ๑๕ คนละ ๖ ปี ส่วนจำเลยที่ ๒–๘ กลุ่มเจ้าหน้าที่เทศบาล และจำเลยที่ ๑๐นายเลอพงษ์ พัฒนจิตวิไล ประธานบริษัทฯ ให้ยกฟ้อง เหตุที่ยกฟ้องเพราะนายเลอพงษ์พอฟังได้ว่า ป่วยเป็นอัมพาตมิได้เข้าร่วมประชุมลงมติต่อเติมอาคาร

 

“ต่อมาจำเลยอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยที่ ๑ ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่กำหนด ๕ ปี พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๙ และจำเลยที่ ๑๑ – ๑๕ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์

และจำเลยที่ ๑ ฎีกา ส่วนจำเลยที่ ๒–๑๑ และจำเลยที่ ๑๓ โจทก์ไม่มีฎีกา คดีสำหรับจำเลยดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า อาคารวิบัติขึ้นเนื่องจากความผิดพลาดในการคำนวณออกแบบให้มีการต่อเติมอาคาร โดยจำเลยที่ ๑ ส่วนกรรมการของจำเลยที่ ๙ และจำเลยที่ ๑๕ ไม่ได้เป็นวิศวกรย่อมไม่อาจทราบถึงความมั่นคงแข็งแรงของอาคารว่า จะต่อเติมได้หรือไม่ ทั้งพยานโจทก์เบิกความด้วยว่า ก่อนจะให้การต่อเติมอย่างไรกี่ชั้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ นอกจากนี้พยานโจทก์และพยานจำเลยเบิกความทำนองเดียวกันว่า การประกอบกิจการโรงแรมต้องต่อใบอนุญาตทุกปี โดยก่อนออกใบอนุญาตในแต่ละปี ต้องมีเจ้าพนักงานทั้งของเทศบาลและของจังหวัดรวมหลายหน่วยงาน ตรวจสอบอาคารเกิดเหตุในด้านของความมั่นคงปลอดภัย ประกอบกับกรรมการของจำเลยที่ ๙ ตลอดจนจำเลยที่ ๑๕ ล้วนแต่ทำงานในอาคาร หากทราบว่าอาคารไม่ปลอดภัยย่อมไม่เสี่ยงชีวิตเข้าไปทำงาน พยานโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ ๙, ๑๐ และ ๑๒ – ๑๕ จึงยังไม่ชัดเจน มีความสงสัยต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรค ๒ ส่วนจำเลยที่ ๓–๘ ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้คำนวณแบบแปลนเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาแต่เฉพาะ ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับรายละเอียดตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คำขอก่อสร้างอาคารมีจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกแบบคำนวณโครงสร้างและลงชื่อรับรอง จำเลยที่ ๓ – ๘ จึงไม่มีหน้าที่ตรวจสอบรายการคำนวณโครงสร้างว่า ถูกต้องหรือไม่ จำเลยที่ ๓ – ๘ จึงไม่มีความผิด พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อันพึงกระทำ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ตลอดชีวิต เมื่อรวมโทษความผิดกระทงฐานประกอบวิชาชีพวิศวกรรมทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ จำคุก ๒ ปี คงให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ คงให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ – ๑๕”

 

คดีอาญาปิดฉากลงแล้ว และหลายคนก็เชื่อในอาถรรพ์ของศุกร์ ๑๓ ผู้ที่รับรู้และสูญเสียจากเหตุการณ์นี้ ต่างก็ไม่ต้องการให้ความอาถรรพ์ของศุกร์ที่ ๑๓ ซึ่งบางคนเชื่อนั้นเกิดขึ้นอีก เช่นเดียวกับนายชวลิต ตัณฑเศรณีวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ต้องตัดขากลายเป็นคนพิการ และเป็นที่มาของวลีที่ว่า “ผมใช้หัวทำงาน ไม่ได้ใช้ขา” ซึ่งตำแหน่งที่ได้มาพร้อมกับความพิการขาคือ “ประธานสภาคนพิการทุกประเภท จังหวัดนครราชสีมา”...

แม้คดีอาญาจะสิ้นสุดแล้ว ในส่วนของคดีแพ่งที่นอกจากผู้ประสบเคราะห์กรรมและญาติของผู้เสียชีวิตที่ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแล้ว และส่วนใหญ่ก็ได้รับค่าชดใช้แล้ว แต่ในส่วนของบริษัท รอยัลพลาซ่า จำกัดได้ดำเนินการฟ้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑, เทศบาล และบริษัทรับเหมา มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ และศาลสั่งให้จำเลยที่ ๑ จ่ายเพียงคนเดียวคือ ให้นายบำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ จ่ายแก่บริษัท รอยัลพลาซ่า จำกัด เป็นจำนวนเงิน ๑๓๐ กว่าล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมดอกเบี้ย แต่ทางบริษัทฯ ยื่นอุทธรณ์เพื่อเรียกร้องค่าชดใช้จากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะจากเทศบาลและบริษัท วงษ์สินไทย จำกัด ผู้รับเหมา

ส่วนคดีแพ่งสำหรับการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิต ศาลพิพากษาให้ บริษัท รอยัลพลาซ่า จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมด โดยชดใช้เงินให้กับผู้เสียชีวิตรวม ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท และเงินที่รับบริจาคอีก ๕๐๐,๐๐๐ บาท เฉลี่ยแล้วผู้เสียชีวิต ญาติได้รับเงินรายละ ๘๐,๐๐๐ บาท และ ผู้พิการได้รับรายละ ๕๐,๐๐๐ บาท

ปัจจุบันจำเลยที่ ๑ นายบำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ วิศวกรออกแบบและควบคุมอาคาร, จำเลยที่ ๑๐ นายเลอพงศ์ พัฒนจิตวิไล ประธานกรรมการบริษัทฯ, และจำเลยที่ ๑๕ นายวิทยา วงศ์วัชรกาญจน์ ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมรอยัลพลาซ่า ทั้งสามคนเสียชีวิตแล้ว ส่วนที่ดินบริเวณโรงแรมรอยัลพลาซ่าเป็นกรรมสิทธิ์ของ “ศิลาปาร์ค” ของ “เสี่ยแก้ม” หรือ “ศิริพงษ์ เก่งสุรการ” เจ้าของโรงแรม ดิไอยราและศิลาบริการขนส่ง ซึ่งขณะนี้กลายเป็นลานจอดรถ โดยไม่มีการประกอบกิจการใดๆ แต่เชื่อว่าทุกอย่างยังคงฝังแน่นในความทรงจำของผู้คนอย่างไม่มีวันลบเลือน

แม้บางคนจะพยายามลืมโศกนาฏกรรมนี้  ที่ผ่านมา ๒๖ ปีแล้ว และต่างมุ่งหวังว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก...

แต่ถ้าทุกคนลืม การป้องกันก็จะไม่มี

---------------------

• ข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก หนังสือที่ระลึก ๓๐ ปีโคราชรายวัน


981 1566