19thApril

19thApril

19thApril

 

August 17,2019

ดำริสร้างพิพิธภัณฑ์วัดพระนารายณ์ ชูเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์

        หารือพัฒนาโครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดพบบริเวณวัดพระนารายณ์ พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เสนอสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อจัดแสดงประวัติศาสตร์โคราชแต่ละยุค

        เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่ห้องประชุมอินทนากรวิวัฒน์ ชั้น ๔ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาโครงกระดูกมนุษย์ที่ค้นพบที่วัดพระนารายณ์ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ พร้อมด้วย พระสีหราชสมาจารมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร, พล.ต.ท.บุญเรือง      ผลพานิชย์ อดีตผู้ช่วยผบ.ตร., นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา, นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา, นายสุรสิทธิ์ สิงห์หลง ท่องเที่ยว และกีฬาจังหวัดนครราชสีมา, นางรุ่งทิพย์ บุกขุนทด ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา และตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม

        นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เนื่องจากทางหอการค้าได้รับข่าวว่า มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงไปติดตามในเรื่องของแนวทางที่จะพัฒนาวัดพระนารายณ์ ซึ่งได้ทราบมาว่า มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ รวมทั้งยังพบเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งหอการค้ามีโยบายอยู่แล้วที่จะยกจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ตามวัดที่อยู่ตามคูเมืองเก่า โดยเฉพาะวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร ถือว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สุด และมีประวัติความเป็นมาที่น่าจะยกระดับในเรื่องของการท่องเที่ยวทางศาสนาและวัฒนธรรมได้ และยังมีอีกหลายๆ ประการที่น่าติดตาม ทั้งนี้ตนและพล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์มีการพูดคุยกันตลอดมา เพื่อที่จะพลิกเมืองโคราชให้เป็นเมืองที่เติบโต ซึ่งเราจะต้องรวมตัวกัน และความเป็นเมืองโคราชจะต้องกลับคืนมา หลายท่านอาจจะไม่ใช่คนโคราช แต่เมื่อได้เข้ามาอยู่ในจังหวัดนี้ มีตำแหน่งต่างๆ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกันพัฒนาให้จังหวัดนี้เติบโตไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ขณะนี้โคราชได้มาครบ ถือว่าเป็นจังหวัดที่เป็นตัวอย่างของประเทศไทยไปแล้ว แต่เนื่องจากเราต้อง เตรียมความพร้อมหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ทางหอการค้าจึงเชิญทุกท่านร่วมหารือกันในการที่จะพัฒนาสิ่งที่เราขุดพบโครงกระดูก และโบราณวัตุทั้งหลาย ที่วัดพระนารายณ์ฯ  และหารือแนวทางที่จะทำให้จังหวัดนี้ โดยเฉพาะวัดพระนารายณ์ฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุด

        นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กล่าวว่า ทางสำนักศิลปากรที่ ๑๐ ดำเนินการขุดค้นสถานพระนารายณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีการขุดค้นบริเวณด้านทิศตะวันตกของสถานพระนารายณ์ จากการขุดค้นพบแจกันน้อย เนื้อดินธรรมดาผลิตจากเตาแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี และชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ จากนั้นมีการขุดตรวจบริเวณด้านทิศตะวันตกนอกสถานพระนารายณ์ จากการขุดค้นพบโครงกระดูก เพศหญิง สูงประมาณ ๑๕๙ เซนติเมตร หันศีรษะไปทางด้านทิศตะวันตก แขนซ้ายวางบนเชิงกราน แขนขวางอพับขึ้น สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ กำหนดอายุเบื้องต้น ๒,๐๐๐ ปี โดยในปัจจุบันมีการเก็บกู้โครงกระดูก ไปเก็บรักษาไว้ ณ พระอุโบสถกลางน้ำ วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร นอกจากนี้ยังมีการขุดตรวจบริเวณพระอุโบสถกลางน้ำ พบฐานอิฐระดับบนสมัยรัตนโกสินทร์ และต่อลงไปถึงสมัยอยุธยา ลดระดับลงไปเป็นฐานหน้ากระดาน ก่ออิฐหุ้ม หินทรายสีแดง น่าจะเป็นส่วนของฐานปราสาทหินเดิม ใต้ระดับอิฐลงไปอีก ๕๐ เซนติเมตร พบซากภาชนะดินเผาสีดำ แบบพิมายดำ อายุราว ๒,๐๐๐ ปี เมื่อเทียบกับการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านส่วย ทิศตะวันออกเมืองพิมาย

        พระสีหราชสมาจารมุณี กล่าวว่า จากที่ผอ.จารึกให้คำอธิบายสิ่งที่พบ อาตมาอยากให้คนโคราชมีหลักเกณฑ์ หรือมีความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเรา เพราะจังหวัดเราเป็นเมืองที่โต มีพื้นที่ มีประชากรมาก แต่เมื่อจะเอาแก่นสารจริงๆ ยังไม่สามารถไปเล่าต่อได้ บางทีเล่าไปก็ขัดกัน ไม่เป็นทางเดียวกัน อาตมามีความมุ่งมั่นว่า จังหวัดนครราชสีมาจะต้องเป็นเมืองสำคัญมาก เพราะจากความใหญ่ และมีประวัติศาสตร์ที่เราปะติดปะต่อมาเป็นช่วงๆ แต่เมื่อมาคุยกันก็หาลำบากว่าจุดเริ่มคืออย่างไร ไม่รู้จะภูมิใจอย่างไร รักเมืองอย่างไร ไปถามคนโตก็ไม่รู้ คนเล็กก็ไม่รู้ จึงมีความมุ่งมั่นอยากให้บันทึกประวัติอย่างชัดเจน จะเริ่มจากตรงไหนก็มาพูดคุยกัน ก็จะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการพัฒนาเชิงทองเที่ยว จะได้มีเรื่องเล่าเชิญชวนเขามาดู

        “อาตมาสันนิษฐานว่า ตรงกลางอุโบสถวัดพระนารายณ์ เป็นสถานที่ตั้งของปราสาทของขอมแน่นอน แต่เนื่องจากแต่ละยุคต้องการสร้างบทบาทของตนเองสมัยอยุธยาก็มีการสร้างอิฐกลบทับ ทำให้ส่วนประกอบถูกนำไปวางไว้ตรงมุมสระด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ การขุดครั้งนี้ชัดเจนว่าหินทรายแดงแท่งยาวเป็นหินของปราสาทที่อยู่ตรงนั้น และถูกกลบด้วยอิฐของสมัยอยุธยา ตรงนี้ได้ความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วว่า ศาลพระนารายณ์จริงๆ แล้วอยู่ตรงโบสถ์ ทั้งนี้หากจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป ทางวัดก็ยินดีให้ความร่วมมือ ทุกประการ” พระสีหราชสมาจารมุณี กล่าว

        นายสุรสิทธิ์ สิงห์หลง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากการศึกษาด้วยตนเอง เชื่อว่าวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหารมีมาหลายยุคหลายสมัย ไม่ว่าจะเป็นรัตนโกสินทร์ อยุธยา สุโขทัย ล้านนา ล้านช้าง จนถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ เลยทับซ้อนกันอยู่ และคิดอยู่แล้วว่าดินแดนแห่งนี้ต้องมีความเจริญ ในฐานะที่เป็นลูกหลานคนโคราช แม้ตนจะไม่ใช่คนโคราช แต่มาอยู่ที่นี่ก็เท่ากับเป็นลูกหลานโคราช ต้องการที่จะให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองกับเมืองโคราช จึงมาปรึกษากับผู้ช่วยเจ้าอาวาสว่า เราจะทำอย่างไรบ้าง ที่คิดไว้คือ การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ศาลพระนารายณ์ เนื่องจากตัวเดิมเล็ก และมีวัตถุโบราณจำนวนมาก อัดกันแน่นไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มีทั้งเทพ พุทธ อิสลาม ฮินดู อยู่รวมกัน จึงพูดคุยกันว่าทำอย่างไรจึงจะแยกเป็นสัดส่วนหมวดหมู่ให้คนมาสักการะกราบไหว้ ในการสร้างพิพิธภัณฑ์คิดว่าคนออกแบบได้มี ๒ หน่วยงานคือกรมศิลปากรและโยธาธิการฯ หากสมัยใหม่ก็คิดว่าทาง โยธาธิการสามารถทำได้ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และนำสิ่งที่เรามีอยู่มาจัดไว้

        ด้านนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า หากจะดำเนินการออกแบบสามารถดำเนินการได้ แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ของกรมศิลปากร การทำกิจกรรมใดในพื้นที่หากเป็นหน่วยงานอื่นเข้าไปทำ อาจเป็นประเด็นภายหลังได้ จึงอยากให้กรมศิลปากรเป็นหน่วยงานตั้งต้น หากต้องการออกแบบรูปแบบใด สามารถออกแบบมาได้ ทางโยธาธิการฯ ยินดีที่จะสนับสนุนในเรื่องงบประมาณหรือการออกแบบ เพราะอย่างไรแล้ว หน่วยงานหลักต้องเป็นกรมศิลปากร ส่วนหน่วยงานอื่นๆ จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนอีกทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาทภายหลัง

        นางรุ่งทิพย์ บุกขุนทด ผู้อำนวยการททท. สำนักงานนครราชสีมา กล่าวว่า ในมุมมองของ ททท. เคยทำเส้นทางเที่ยวโคราชสามยุคแล้วเราก็เคยมองและตื่นเต้นมากที่วัดพระนารายณ์ได้ทั้ง ๔ ยุคด้วยกัน โดยมาที่วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร เริ่มต้นยุคทวารวดี ยุคขอม ยุคอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งหากเราทำตรงนี้เป็นจุดศูนย์กลางเวลาคนมา แล้วจะเชื่อมโยงไปตามยุคต่างๆ หากจะไปทวารวดี ไปสูงเนินได้ ยุคขอมออกไปทางพิมายได้ ยุครัตนโกสินทร์ไปแถวปักธงชัยได้ เรามองต่ออีกว่า ขณะนี้ตัวเมืองโคราช มีกฎหมายเมืองเก่า ซึ่งเกี่ยวโยงกับกรมศิลปากร หากทำการพัฒนาอะไรต้องเริ่มจากกรมศิลปากรเพื่อนำเสนอออกมา และเมื่อเราเปิดเมืองโคราช โดยให้จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้น เช่น เรื่องศาสนา โดยพิพิธภัณฑ์ตรงนี้แบ่งให้เป็นสัดส่วน เป็นหมวดหมู่ ก็จะเหมือนเป็นจุดศูนย์รวมทั้งประเทศ ให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ และให้เห็นถึงศาสนาแต่ละยุคแต่ละสมัย เรื่องราวต่างๆ ต้องอ้างอิงกับกรมศิลปากร หากเราทำเป็นสตอรี่ มีเรื่องราว ร้อยเรียงจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ทำให้รู้สึกว่าครั้งหนึ่งต้องมาที่จังหวัดนครราชสีมา

        พล.ต.ท.บุญเรือง กล่าวสรุปว่า เราต้องเขียนมาก่อนว่าประวัติศาสตร์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ต้องรู้อย่างชัดเจน เมื่อเรารู้แล้ว จากวัตถุพยานที่มีคนโคราชอยู่ตรงนี้ตั้งแต่เริ่มต้น และมาแยกว่าเป็นสมัยอะไร เป็นทวารวดี ขอม อยุธยา รัตนโกสินทร์ ถ้าเป็นแบบนี้ เรานำมาร้อยเรียงโดยมีวัตถุพยานยืนยัน แต่อาจจะฝากทีมงานวิจัยศึกษาให้ชัดเจน หากชัดเจนว่าโคราชเป็นอย่างไร เพื่อรู้ประวัติศาสตร์และรู้ความเป็นมา ขณะเดียวกันก็สร้างให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้รู้ความเป็นมาของโคราช ซึ่งในที่ประชุมมีความเห็นตรงกัน ดังนั้นการออกแบบ เคยมีการพูดคุยกับผอ.จารึกไว้อยู่บ้างว่า หากต้องการรูปแบบใด ก็ให้ทางโยธาธิการฯ ออกแบบ ทางผอ.จารึกก็ยินดีที่จะเซ็นอนุมัติให้ เป็นการเริ่มต้นจากกรมศิลปากร ทั้งนี้ เรื่องของการของบประมาณ อาจขอเป็นปีที่ ๑, ๒ หรือ ๓ เนื่องจากการก่อสร้าง รื้อถอนจะต้องใช้เวลาอยู่แล้ว หากของบทีเดียวหากทำไม่ทันอาจเกิดปัญหาภายหลังได้

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๙ วันศุกร์ที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

794 1359