29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 22,2019

‘บิ๊กตู่’รับปาก‘ขุดลอกห้วยเสนง’ ส.ส.เสนอทำเกาะกลางอ่าง สร้าง‘สุรินทร์โมเดล’ท่องเที่ยว

นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งสุรินทร์ กำชับทุกส่วนบูรณาการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ส.ส.ฝ่ายค้าน-รัฐบาลพร้อมใจสนับสนุน “ส.ส.ปกรณ์” เสนอขุดลอก ๒ อ่างๆ ละพันล้าน พร้อมสร้างเกาะกลางอ่างเป็น “สุรินทร์โมเดล” เพื่อการท่องเที่ยว ด้านส.ส.ฝ่ายค้านยอมรับยกมือสนับสนุนนายกฯ ในสภา “บิ๊กตู่” สั่งน้ำประปาไม่ไหล ต้องงดจ่ายค่าน้ำ ๑ เดือน

วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีหลายกระทรวง อาทิ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายวราวุฒิ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์, พลเอกชาญชัย ช้างมงคล รมช.กลาโหม และนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ไปยังโครงการชลประทานสุรินทร์ ที่ตั้งอยู่ภายในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อตรวจราชการและติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน และการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ หลังจากพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ประสพกับปัญหาภัยแล้ง อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาเลี้ยงคนเมืองแห้งขอดจนเข้าขั้นวิกฤต ไม่มีน้ำดิบผลิตประปาได้อย่างเพียงพอ จนชาวบ้านประสบกับปัญหาไม่มีน้ำใช้ ในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองสุรินทร์และตำบลรอบนอก รวมไปถึงโรงพยาบาลสุรินทร์ หน่วยงานราชการต่างๆ ที่ขาดแคลนน้ำ

ที่ผ่านมาทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เร่งบูรณาการกัน เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ในขณะที่ปัญหาภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ซึ่งจังหวัดสุรินทร์ เป็นพื้นที่ที่ปลูกข้าวหอมมะลิขึ้นชื่อ โดยภัยแล้งได้คุกคามขยายวงกว้าง ทำให้ต้นข้าวเสียหายจำนวนมากในพื้นที่ แม้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้นำเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มาตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ เพื่อบินทำฝนเทียมมา ๒ เดือนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีปริมาณฝนยังไม่มากเท่าที่ควร

โดยการเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ มีส่วนราชการ ประชาชน ให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก ทันทีที่มาถึง นายกรัฐมนตรีมีสีหน้าที่ยิ้มแย้ม ทักทายประชาชนที่มาต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ก่อนกล่าวพบปะชาวบ้าน พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหาปัญหาที่เกิดขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ผู้แทนราษฎรในพื้นที่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ที่ได้ร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนโดยไม่มีการแบ่งฝ่าย ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ซึ่งจะต้องขุดลอกอย่างเร่งด่วน ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการซึ่งจะจัดงบประมาณให้ตามความเหมาะสมในส่วนที่ใช้ได้ ส่วนโครงการขนาดใหญ่คงยังไม่ได้เพราะอยู่ในแผนงานอยู่แล้วแต่จะต้องทำให้ได้ นายกมาแล้วจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรัฐบาลวันนี้เป็นของพี่น้องประชาชนทุกจังหวัดจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนให้ได้

งดเก็บค่าน้ำประปา

ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงเรื่องของค่าน้ำประปา ซึ่งที่ผ่านมาในพื้นที่เขตรับผิดชอบประปาสุรินทร์ไม่ไหลและไหลเบา รวมทั้งขุ่น ในเดือนสิงหาคมนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นไปได้ควรงดเก็บค่าน้ำประปาไปเลย ทำให้ประชาชนที่มาต้อนรับ ต่างดีใจปรบมือเสียงดังสนั่น ยืนยันไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงโครงการชลประทานสุรินทร์ (ห้วยเสนง) ระหว่างที่นายประภัสสร์ มาลากาญณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวรายงานถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.สุรินทร์ และแนวทางการแก้ไขปัญหา ยังไม่ทันจบ นายกรัฐมนตรี สั่งเบรกการรายงานกลางคันพร้อมพูดสั้นๆ ว่า เรื่องทั้งหมดตนเองทราบเรื่องหมดแล้ว ไม่ต้องพูดต่อ และสั่งให้เปิดวิดีทัศน์เรื่องสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.สุรินทร์ในพื้นที่

ส.ส.เสนอพักหนี้เกษตรกร

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เสนอโครงการและพูดถึงปัญหาในพื้นที่ โดยนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ เขต ๕ พรรค เพื่อไทย (พรรคฝ่ายค้าน) เสนอให้พักหนี้เกษตรกรอย่างน้อย ๒ ปี เพื่อเกษตรกรจะได้ลืมตาอ้าปากได้ และขอให้ยก จ.สุรินทร์เป็นโมเดลในการแก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศไทย  
‘ปกรณ์’ของบขุดลอก-สร้างเกาะ

ในขณะที่นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์ เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย เสนอว่า นอกจากจะของบประมาณขุดลอกอ่างเก็บน้ำอ่างละกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาทแล้ว ก็อยากให้ทำสุรินทร์โมเดล จะสร้างประวัติศาสตร์ให้จังหวัดสุรินทร์ใหม่โดยนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา สร้างเกาะกลางอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่ง เพื่อเป็นแหล่ง  ท่องเที่ยวและเป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดสุรินทร์ พร้อมทั้งหวังว่า การมาของนายกรัฐมนตรีในวันนี้จะไม่ใช่ ไฟไหม้ฟาง และย้ำว่า ของบพัฒนาอ่างห้วยเสนง ๑,๐๐๐ ล้านบาท อ่างอำปึล ๑,๐๐๐ ล้านบาท และเกาะแก้วกลางอ่างอีก ๑,๐๐๐ ล้านบาทด้วย โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า “โอเคๆ รับไว้ๆ”

นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า วิกฤตในปีนี้ อยากให้เป็นโอกาส ต้องรีบขุดลอกอ่างเก็บน้ำ เพื่อรอน้ำที่จะเข้ามาในปีหน้า หากงบกลางปีนี้ไม่ทัน ก็ขอเป็นงบกลางปีหน้าก็ทัน 

‘ตี๋ใหญ่’ยอมรับยกมือสนับสนุนในสภา

ด้านนายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล ส.ส.สุรินทร์ เขต ๔ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “ขอให้ฝ่ายค้านได้พูดบ้าง เมื่อวานผมไปรับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้บอกกับผมว่า มาพูดครั้งนี้อย่าพูดแบบที่พูดในสภา ผมก็เลยไม่พูดเหมือนในสภา ถ้ามีดีผมสนับสนุน งบประมาณปี ๒๕๖๓ จ.สุรินทร์ ได้ไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท ผมยกมือไม่สวนนายกฯ ผมสนับสนุน เพราะประชาชนไม่ได้เลือกผมมาเป็นฝ่ายค้าน แต่เลือกผมมาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย สิ่งไหนดีผมก็สนับสนุน สิ่งไหนไม่ดีก็ว่ากันไปในสภา”

จากนั้นนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี และส.ส.จังหวัดสุรินทร์ ได้ทำการปล่อยขบวนรถบรรทุกน้ำรวม ๕๐ คัน จากหน่วยงานต่างๆ ออกแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค 

ประชุมร่วมผู้ว่าฯ ๒๐ จังหวัด

ต่อมาได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ เข้าร่วมประชุมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ๒๐ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรัฐมนตรี อธิบดีกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ที่ห้องประชุมศรีณรงค์ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง ๒๐ จังหวัดภาคอีสาน ได้เตรียมข้อมูล ปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น
ลุงตู่’แก้ภัยแล้งบุรีรัมย์

จากนั้น ในเวลา ๑๔.๑๒ น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เดินทางมายังอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก โครงการชลประทานบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อตรวจสภาพอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และสถานการณ์น้ำของจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมพบปะประชาชนรับฟังปัญหาในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด บรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอในการอุปโภคบริโภค และด้านการเกษตร โดยมี นายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้ง ๒๓ อำเภอต้อนรับ 
เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึง ได้เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชนไทยเขมรสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกพืชอินทรีย์หรือพืชผักปลอดสารพิษ และนิทรรศการเกี่ยวกับการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย ซึ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อ ๑๕ ปีก่อน ปัจจุบันได้มีการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีตัวแทนยุวมัคคุเทศก์ในพื้นที่บรรยายสรุป

เยี่ยมชมห้วยจระเข้มาก

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เดินขึ้นไปยังหอชมนกเพื่อตรวจสภาพอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืด และสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน รวมถึงเป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อการประปาในเขตตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด   (ใช้น้ำดิบผลิตประปาวันละประมาณ ๕๐,๐๐๐ ลบ.ม.) รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำของจังหวัดบุรีรัมย์ และแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมทั้งสถานการณ์น้ำด้านการอุปโภคบริโภคในพื้นที่และน้ำที่เกี่ยวข้องในด้านการเกษตรจากผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบเกียรติบัตร และถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มประชาชนที่อนุญาตให้ทางการเข้าไปในที่ดินส่วนตัวเพื่อทำระบบผันน้ำลำปะเทีย-อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง จำนวน ๑๑๘ คน เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นขวัญกำลังใจและขอบคุณประชาชนที่มีจิตสาธารณะเสียสละที่ดินของตนเองเพื่อส่วนรวมในการดำเนินการดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า “การเดินทางมาวันนี้ก็เพื่อมาแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน โดยจังหวัดบุรีรัมย์ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพหลายด้าน ทั้งด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง นอกจากนี้การเดินทางมาจังหวัดบุรีรัมย์ก็มาด้วยความห่วงใย และอยากมาเห็นสภาพปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง รวมทั้งมาดูความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาและการเตรียมแผนรับมือในฤดูภัยแล้งในอนาคต โดยเมื่อเช้าได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคอีสาน ๒๐ จังหวัด เพื่อติดตามการแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยได้กำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลเพื่อให้สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายโดยเร็ว โดยได้มีการอนุมัติหลักการแก้ไขปัญหาที่เสนอมา โดยจะมีการจัดลำดับการดำเนินการตามความสำคัญเร่งด่วน

จับตาภัยแล้งอย่างใกล้ชิด 

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า “ขณะนี้รัฐบาลได้มีมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะที่เป็นเกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ทั้ง ๑๓ จังหวัด โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้แก่ ๑.การลดดอกเบี้ยเงินกู้ภัยแล้ง ๒.การพักหนี้ภัยแล้ง ๓.การให้สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และ ๔.การสนับสนุนต้นทุนค่าปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต ๒๕๖๒/๖๓ ขณะเดียวกันการปลูกพืชต้องสอดคล้องกับพื้นที่ และปริมาณน้ำ รวมทั้งเป็นไปตามแผน Agri-map และให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด โดยได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการในเรื่องของปุ๋ยสั่งตัดเพื่อให้ตรงกับพืชแต่ละชนิดและพื้นที่อย่างแท้จริง รวมทั้งได้สั่งการให้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบูรณาการข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้ทันท่วงที โดยได้เปิด “ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ” เพื่อแก้วิกฤตแล้งในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้ ขอฝากให้ทุกคนเตรียมในเรื่องการทำเกษตรยุคใหม่ โดยมีการนำเทคโนโลยีมาให้ในการทำการเกษตรและการประกอบอาชีพอื่นๆ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันต้องร่วมกันส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนในสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาดและการพัฒนาประเทศในอนาคต”

มาตรการแก้ไขภัยแล้ง ๓ ระยะ

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า “รัฐบาลได้มีมาตรการแก้ไขภัยแล้งใน ๓ ระยะ ประกอบด้วย ๑.มาตรการระยะเร่งด่วน ๖ มาตรการ ได้แก่ ปฏิบัติการฝนหลวงเหนืออ่างเก็บน้ำและพื้นที่เกษตร สำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำ/สนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ ปรับแผนระบายน้ำโดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีน้ำน้อยกว่า ๓๐% ปรับลดแผนระบายน้ำ ๔ เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา การประปานครหลวงวางแผนใช้น้ำจากลุ่มแม่กลองร่วมกับ กฟผ./กรมชลประทาน สร้างความเข้าใจสถานการณ์น้ำแก่ผู้เกี่ยวข้อง ๒.มาตรการระยะสั้น ๔ มาตรการ ได้แก่ เร่งรัดหน่วยงานที่ได้รับงบกลางเพื่อก่อสร้างและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำให้ทันรับน้ำในฤดูฝน ปรับแผนขุดเจาะบ่อบาดาล จัดทำแผนตามความเร่งด่วน โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค และกำหนดนโยบายช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย และ ๓.มาตรการระยะยาว ๓ มาตรการ ได้แก่ เร่งรัดโครงการตามแผน Area Based แผนน้ำ ๒๐ ปี ทำทะเบียนแหล่งน้ำ ทะเบียนผู้ใช้น้ำ และปรับแผน-ปฏิทินเพาะปลูกล่วงหน้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ”

“นอกจากนี้ ได้สั่งการให้เร่งรัดมาตรการระยะเร่งด่วนและระยะสั้น ทั้งการเร่งดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ การพิจารณาใช้พลังงานทางเลือกในการสูบน้ำบาดาล และการรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นระยะ เช่น ปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ การสนับสนุนเครื่องมือเครื่องจักร ตลอดจนตั้งศูนย์เฉพาะกิจต่างๆ ให้ทำงานสอดประสานกัน ตลอดจนให้ปรับแผนการระบายน้ำ การรับมือภัยแล้ง ต้องเร่งช่วยเหลือโดยเร็ว พร้อมกับวางแผนจัดสรรน้ำให้เพียงพอถึงปีหน้า”

มั่นใจศักยภาพนครชัยบุรินทร์

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า “บุรีรัมย์และกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ จะสามารถก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางของนักลงทุนนักท่องเที่ยว และการพัฒนาความเจริญคู่ไปพร้อมกันทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ ถนนหนทาง สุขภาพอนามัย การบริการทางการแพทย์สมัยใหม่ที่สะดวกรวดเร็ว ตลอดทั้งกิจกรรมการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดบุรีรัมย์ จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และขอให้เชื่อมั่นว่าโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ริเริ่มไว้ จะเริ่มเห็นผลในไม่ช้า ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใน EEC รถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และชาติบ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืน”

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๐ วันพุธที่ ๒๑ - วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


787 1424