August 22,2019
‘นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี’คืบหน้า จัดสรรที่ดินเฟส ๑ พร้อมขายแล้ว
ประธานหอการค้าอุดรฯ นำคณะลงพื้นที่ดูความก้าวหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ผู้บริหารเผยกำลังพัฒนาพื้นที่ให้พร้อม ติดแค่ระบบราชการเท่านั้น
เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เพื่อติดตามการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี และติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี นิคมสีเขียวแห่งแรกของอีสาน ในการเป็นศูนย์กลางส่งเสริมการลงทุนและศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยมี นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานกรรมการบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด นางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานฯ และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับนำเยี่ยมชมและบรรยายสรุปข้อมูลความก้าวหน้าโครงการ ตลอดทั้งปัญหาและอุปสรรคต่างๆ
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มีจุดเด่นคือ อยู่ในโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงทั้งในและนอกประเทศ มีเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อนบ้านและจีนตอนใต้โดยใช้เส้นทาง R12 R9 และ R8 อยู่ในเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ- หนองคาย เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ไปยังท่าเรือแหลมฉบังและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีศูนย์กระจายสินค้าทางรางและศูนย์โลจิสติกส์ในพื้นที่กว่า ๔๐๐ ไร่ที่ติดกับเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ-หนองคาย
ปัจจุบันโครงการได้ก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีไฟฟ้าย่อย 115 kv บนพื้นที่ ๑๒ ไร่ ดำเนินการเสร็จสิ้น บ่อหน่วงน้ำ ๘๑ ไร่ ความจุ ๑.๖ ล้าน ลบ.ม. จำนวน ๓ บ่อ เสร็จ ๑ บ่อ และอีก ๒ บ่อใกล้แล้วเสร็จ ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก เลียบทางรถไฟ ๑ กิโลเมตร พื้นที่จัดตั้ง ICD (๖๐๐ ไร่) และ Free Zone (๓๐๐ ไร่)พื้นที่โครงการ ๒,๑๗๐ ไร่ แบ่งการพัฒนาออกเป็น ๒ เฟส คือ เฟส ๑ พื้นที่ ๑,๓๒๕ ไร่ เขตอุตสาหกรรมทั่วไปและศูนย์กระจายสินค้า เฟส ๒ พื้นที่ ๘๔๕ ไร่ เขต FREE ZONE และท่าเรือบก DRY PORT และปัจจุบันงานปรับดิน ถมดินบริเวณเฟส ๑ ดำเนินการแล้วเสร็จ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ โดยโครงการฯ ได้เสนอขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การศึกษาความเหมาะสมโครงการท่าเรือบก (Dry Port) จ.อุดรธานี พัฒนาระบบการเดินรถไฟจากสถานีหนองตะไก้เข้ามายังพื้นที่โครงการ ๑.๘ กิโลเมตร พัฒนาหรือขยายโครงข่ายถนนรอบๆ พื้นที่โครงการ รวมทั้งการพัฒนาหรือขยายโครงข่ายถนนเชื่อมโยงเข้าพื้นที่โครงการ (Local Road ๑๕ กิโลเมตร) เป็นต้น ทั้งนี้โดยภาพรวมโครงการฯ มีความพร้อมให้นักลงทุนเข้าดำเนินงานภายในปลายปีนี้
นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ตนเองได้รับมอบหมายดูแลเรื่องของกระทรวงคมนาคม ต้องเตรียมการบ้าน เรื่อง มติครม.ต้องติดตาม จึงนำคณะกรรมการลงมาติดตาม ดูว่าอุดรฯเรามีความพร้อมที่จะเป็นนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือบก การขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งมีความคืบหน้าเกินกว่าที่เราคาดหมาย ไม่ว่าเรื่องของไฟฟ้า ประปา พื้นที่ต่างๆ น่าจะพร้อมที่จะเปิดได้ในปลายปี ๒๕๖๒ ที่มาดูอะไรต่างๆ บางเรื่องก็อาจจะคุยกับทางการรถไฟในการเชื่อมทางรถไฟ โดยเฉพาะการขนส่งโลจิสติกส์เนื่องจากว่ามีบริษัทใหญ่ๆ เริ่มที่จะหันมามองที่อุดร เป็นจุดที่จะพัฒนา เรามีความได้เปรียบเรื่องเส้นทางทั้งทางบก ทางอากาศ ตนเองคิดว่าสามารถที่จะเพิ่มขีดการแข่งขันสู่อินโดจีนได้
ขณะที่นางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการมีการปรับพื้นที่ ถมพื้นที่ ทำระบบระบายน้ำ ประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ รอแค่สาธารณูปโภคที่กำลังดำเนินการเพิ่มเติม ขณะนี้จัดสรรที่ดินเรียบร้อยแล้วพร้อมขาย ในเฟส ๑ ส่วนศูนย์กระจายสินค้าก็จะทำควบคู่กันไป มีการเตรียมพื้นที่เรียบร้อย อุปสรรคไม่มีอะไรมากเพียงแต่ขอความร่วมมือจากทางราชการ เรื่องทางรถไฟ ถนนเชื่อมเข้ามาให้เรา เพื่อจะได้ทำงานต่อได้ รถไฟเราไม่ได้ขออะไรมาก ขอเพียงเชื่อมโยงจากหนองตะไก้มาจอดตรงหน้าพื้นที่โครงการฯ ๑.๘ กม. ส่วนในพื้นที่โครงการฯ เราจะดำเนินการเอง ขณะนี้ก็รอแค่ระบบราชการ อยู่ที่ว่าผู้ใหญ่จะอนุเคราะห์เราได้ขนาดไหน ปัจจุบันจึงเตรียมนที่ของเราให้พร้อม ให้ทุกอย่างลงตัว ถ้าทุกอย่างจบ ก็จะเป็นศูนย์กระจายสินค้า จะมีหลายจังหวัดมาใช้บริการที่นี่ เพื่อส่งต่อไปที่แหลมฉบังและประเทศจีน ถ้าทางรางเรียบร้อย อุตสาหกรรมเบื้องต้นทางผู้บริหารต้องการจะต่อยอดสินค้าทางการเกษตรของเรา น้ำตาล อ้อย ยางพารา ข้าว ตรงนี้ก่อน ถ้าหากเป็นโรงงานอื่นๆ ก็จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๐ วันพุธที่ ๒๑ - วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
923 1,706