29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 04,2019

สั่งรง.น้ำตาลรื้อทิ้ง สิ่งปลูกสร้างล้ำลำน้ำ ‘ครบุรี-สีคิ้ว’ร่วมต้าน

ชาวสีคิ้วจับมือชาวครบุรี รวมพลังต้านโรงงานน้ำตาลครบุรีสูบน้ำลำตะคอง เผยที่เขื่อนมูลบนก็โดนสูบน้ำ พร้อมยังรุกล้ำที่สาธารณะ วอน ‘ผู้ว่าฯวิเชียร’ ทำผลงานก่อนเกษียณ “ทนายอ๋อย” ยื่น ป.ป.ช.เอาผิดนายก อบต.ลาดบัวขาว ด้านโรงงานน้ำตาลครบุรีชี้ หากรุกล้ำพร้อมรื้อถอน ล่าสุดพบก่อสร้างล้ำลำน้ำจริง สั่งรื้อด่วน

ตามที่กลุ่มเรารักษ์สีคิ้ว นำโดย นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล หรือทนายอ๋อย พร้อมกับประชาชนในอำเภอสีคิ้ว ได้รวมตัวคัดค้านการสร้างโรงสูบน้ำ ของบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด มาตลอดนั้น

ครบุรี-สีคิ้ว’ร่วมต้าน

ต่อมาวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล ประธานกลุ่มเรารักษ์สีคิ้ว พร้อมด้วยนายไพรัตน์ แซ่อือ ตัวแทนผู้ใช้น้ำจากลำตะคอง นายภัทร ระวังครบุรี ผู้ใหญ่บ้านจระเข้หิน หมู่ ๘ ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา นางธันยพร วงศ์สวัสดิ์ สมาชิกสภา อบต.จระเข้หิน หมู่ที่ ๒ อำเภอครบุรี และประชาชนในอำเภอสีคิ้วและครบุรีจำนวนกว่า ๑๐๐ คน เดินทางมากราบไหว้สักการะขอพรท้าวสุรนารี พร้อมตั้งขบวนภาคประชาชนคัดค้านบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) กรณีโครงการก่อสร้างสะพานรับท่อน้ำดิบและโรงสูบน้ำข้างคลองบุ่งยาง ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา และกรณีการสูบน้ำบริเวณเขื่อนมูลบนและรุกล้ำพื้นที่สาธารณะในเขตอำเภอครบุรี บรรยากาศในครั้งนี้ ขณะที่เดินขบวนจากลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีไปยังศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ประชาชนต่างส่งเสียงร้อง “พวกเราสู้ๆ” และ “ผู้ว่าช่วยด้วย” โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่เทศกิจ คอยติดตามการชุมนุมและการเดินขบวนตลอดเวลา

นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล กล่าวว่า “วันนี้กลุ่มคนรักษ์สีคิ้วมารวมตัวกันที่ลานย่าโม จากนั้นเดินขบวนไปยังศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อสั่งรื้อถอนการก่อสร้างอุปกรณ์สูบน้ำและสะพานรองรับท่อน้ำดิบของโรงงานน้ำตาลครบุรี ในขณะนี้ทราบความมาแล้วว่า การสร้างอุปกรณ์สูบน้ำและสะพานรองรับท่อน้ำดิบนั้นผิดกฎหมายผังเมืองชัดเจน ซึ่งบริเวณลำตะคองถูกกำหนดเป็นที่ดินหมายเลข ๕ เป็นพื้นที่สงวนเอาไว้เพื่อการสันทนาการและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ห้ามทำการปลูกสร้างอาคารหรืออุปกรณ์ใดๆ แม้ว่าโรงงานน้ำตาลครบุรีจะเป็นเจ้าของที่ดินโดยรอบ แต่ก็ต้องทำตามกฎหมายผังเมืองรวม ที่ห้ามทำการก่อสร้างในบริเวณตลิ่งใกล้กว่า ๑๐ เมตร จากการดูด้วยสายตาก็พบว่าไม่ถึงแน่นอน และเราก็ได้แบบการก่อสร้างของโรงสูบน้ำมาแล้ว มีส่วนหนึ่งในแบบกำหนดชัดเจนว่า ห่างจากลำน้ำเพียง ๗.๕๐ เมตรเท่านั้น ดังนั้นฟันธงได้เลยว่า ผิดกฎหมายผังเมืองรวมนครราชสีมา”

“การกระทําดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อแผนพัฒนาจังหวัด ขัดต่อ พ.ร.บ.ผังเมือง และการรักษาสภาพแวดล้อมของจังหวัด ทั้งยังเป็นการสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ที่ต้องใช้น้ำในลําตะคองหลัง สถานที่สูบน้ำของบริษัทน้ำตาลครบุรี ที่กําลังขออนุญาต โดยเฉพาะสถานีผลิตน้ำประปาหมู่บ้านอีกกว่า ๘๐ สถานีตลอดทางน้ำ และพื้นที่การเกษตรของประชาชนตั้งแต่อําเภอสีคิ้วถึงอําเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอโนนสูงบางส่วน จะขาดแคลนน้ำซึ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนจํานวนมาก จากภัยแล้งที่ประสบกันแทบจะทุกปี แม้แต่ กปภ.สาขาสีคิ้ว ยังขอความร่วมมือให้งดสูบน้ำที่บ้านคลองตะแบก โดยให้วางหัวสูบที่วางท่อจากเขื่อนลําตะคองโดยตรง เพราะท่อสูบที่บ้านคลองตะแบกขวางลําน้ำ และเมื่อทําการสูบจะทําให้น้ำในลำตะคองที่ส่งจากเขื่อนลําตะคองลดน้อยลง ทำให้ไหลไปไม่ถึงสถานีอื่นๆ และอําเภอที่อยู่ท้ายลําน้ำ จึงต้องการให้ผู้ว่าฯ โปรดมีคําสั่ง ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ดําเนินการให้บริษัทฯ ทําการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและสะพานรองรับท่อส่งน้ำดิบ และมีคําสั่งไม่อนุญาตให้บริษัทฯ สูบน้ำดิบจากลําตะคอง ไปใช้ในการผลิต ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจส่วนตน อันเป็นการทําลายทรัพยากรน้ำ ทําให้ประชาชนจํานวนมากได้รับความเสียหาย”

ครบุรี’เสริมทัพร้องผู้ว่าฯ

นายภัทร ระวังครบุรี ผู้ใหญ่บ้านจระเข้หิน หมู่ ๘ ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี กล่าวว่า “ในวันนี้ผมและคนครบุรี เดินทางมาเพื่อร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในประเด็นที่ว่า น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ แต่โรงงานน้ำตาลครบุรีก็ยังสูบน้ำเพื่อใช้ในการทำอุตสาหกรรม ซึ่งไม่เป็นธรรมกับประชาชนในหลายหมู่บ้านโดยรอบ ชาวบ้านก็ทำใจได้ในเรื่องของการทำเกษตร แต่การนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคต้องมีอย่างเพียงพอ และอีกหนึ่งปัญหาที่พบคือ มีการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานด้วย”

นางธันยพร วงศ์สวัสดิ์ สมาชิกสภา อบต.จระเข้หิน กล่าวว่า “โรงงานน้ำตาลมีการสูบน้ำใช้ทุกเดือน และในช่วงเร่งการผลิตจะสูบน้ำเพิ่มเป็นสองเท่า อยากจะบอกผู้ว่าราชการจังหวัดว่า กับประชาชนยังขอให้ประหยัดการใช้น้ำ แต่โรงงานน้ำตาลกลับสามารถสูบน้ำได้ทุกวัน นอกจากนี้ โรงงานยังได้บุกรุกทางสาธารณะและคลองสาธารณะ ซึ่งใช้เวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ ๓ ปี และเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ได้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปรังวัดเรียบร้อย กระทั่งปัจจุบันคดีไม่มีความคืบหน้าใดๆ เจ้าหน้าที่ที่ดินก็ไม่สามารถชี้แนวเขตได้ ถามเรื่องไปยังนายอำเภอครบุรีก็เงียบ ในวันนี้จึงเดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เร่งรัดติดตามคดีนี้ คนครบุรีก็คาดหวังว่า อีก ๑ ปีที่เหลือสำหรับเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องการให้ทำผลงานชิ้นโบว์แดงนี้ เพราะคดีการบุกรุกที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นเส้นทางหรือคลอง ควรจะเอาคืนกลับมา ไม่ใช่เอาไปใช้ทำธุรกิจเพียงคนเดียว และถ้าเรื่องนี้แพร่ออกไปถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็อยากให้ตรวจสอบดูแลเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย”

สำหรับการยื่นหนังสือร้องเรียนในครั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ติดภารกิจไม่สามารถมารับได้ด้วยตนเอง โดยมอบหมายให้นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้รับแทน พร้อมกับกล่าวว่า “หลังจากผมรับหนังสือร้องเรียนฉบับนี้ไป จะส่งให้ถึงมือท่านผู้ว่าฯ และเร่งตรวจสอบ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวสีคิ้วและครบุรีต่อไป”

ร้อง ป.ป.ช.เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ

จากนั้น ในเวลา ๑๑.๓๐ น. กลุ่มเรารักษ์สีคิ้วได้เดินทางไปที่สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน ร้องทุกข์กล่าวโทษการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบของ นายก อบต.ลาดบัวขาว และข้าราชการในสํานักงาน อบต.ลาดบัวขาว ที่ทําให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและจังหวัดนครราชสีมา โดยมีเนื้อหาสรุปว่า 

๑.เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๒ บริษัทน้ำตาลครบุรี จํากัด (มหาชน) ได้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโรงสูบน้ำและสะพานวางท่อน้ำดิบข้ามคลองบุ่งยาง ต่อ อบต.ลาดบัวขาว อําเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ อบต.ลาดบัวขาว ได้อนุมัติและออกใบอนุญาตก่อสร้าง เลขที่ ๐๔๔/๒๕๖๒ ให้แก่บริษัทน้ำตาลครบุรี จํากัด (มหาชน) โดยในการออกใบอนุญาตนี้ มีการกระทําความผิดต่อกฎหมายหลายฉบับกล่าวคือ พ.ร.บ.ผังเมือง และกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๖๐ ข้อ ๕ (๕) ข้อ ๑๐ และรายการประกอบแผนผังกําหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จําแนกประเภทท้ายกฎกระทรวง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๖๐ ลําดับที่ ๕ ที่ดินใน บริเวณหมายเลขที่ ๕ ซึ่งกําหนดให้ลําตะคองเป็นที่ดินที่โล่งเพื่อสันทนาการและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งกําหนดระยะขนาน ๑๐ เมตร จาก ๒ ริมฝั่งลําตะคองให้เป็นพื้นที่สีเขียวอ่อน แต่สิ่งปลูกสร้างที่ อบต.ลาดบัวขาวอนุญาตนี้ ขัดต่อ พ.ร.บ.ผังเมืองและกฎกระทรวง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๖๐ ข้อ ๕ (๕) ข้อ ๑๐ และรายการประกอบ แผนผังกําหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จําแนกประเภทท้ายกฎกระทรวง ให้ใช้บังคับผังเมือง รวมจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๖๐ ลําดับที่ ๕ ที่ดินในบริเวณหมายเลขที่ ๕ ซึ่งกําหนดให้ลําตะคองเป็นที่ดินที่โล่งเพื่อสันทนาการและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยชัดแจ้ง แต่ อบต.ลาดบัวขาวโดยนายก อบต.ลาดบัวขาว กลับไม่พิจารณาตรวจสอบตามอํานาจหน้าที่ที่กฎหมายกําหนด และออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและสะพานวางท่อส่งน้ำดิบผ่านคลองบุ่งยางให้แก่ บมจ.น้ำตาลครบุรี  โดยเฉพาะสะพานวางท่อน้ำยกผ่านคลองบุ่งยาง เป็นสิ่งรุกล้ำลําน้ำที่จะต้องได้รับอนุญาตจากสํานักงานกรมเจ้าท่า โดยจังหวัดนครราชสีมาต้องมีหนังสือรับรองเสียก่อนว่า สะพานและสิ่งรุกล้ำดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาจังหวัด ไม่ขัดต่อผังเมืองและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยจะต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อน

จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายโดยชัดแจ้ง และอนุญาตให้ก่อสร้างสะพานวางท่อน้ำดิบผ่านคลองบุ่งยางโดยไม่มีอํานาจตามกฎหมาย กระทั่งมีสิ่งปลูกสร้างบางส่วนรุกล้ำเข้าในลําตะคอง มีการวางท่อส่งน้ำผ่านที่เอกชนและที่ดินที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน ซึ่งไม่ทราบว่า มีการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ทําให้เกิดความเสียหายกับสภาพแวดล้อมริมลําตะคอง และการไหลของกระแสน้ำ ซึ่งในอนาคตจะทําให้เกิดการแย่งชิงน้ำขึ้นระหว่างประชาชน 

๒.เมื่อวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด บมจ.น้ำตาลครบุรี ก่อสร้างอาคารโรงสูบน้ำและสะพานวางท่อน้ำดิบข้ามคลองบุ่งยางในพื้นที่ที่อบต.ลาดบัวขาว อําเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ดูแลโดยได้รับการมอบอํานาจจากสํานักงานเจ้าท่า ภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งการก่อสร้างดังกล่าวได้กระทําขณะที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากสํานักงานเจ้าท่า ภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา อันเป็นการกระทําความผิดในข้อหาการก่อสร้างรุกล้ำลําน้ำโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ (เจ้าท่า) ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๖๓ (พ.ศ.๒๕๓๗) ข้อ ๕ ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านไทย ๒๕๔๖ ข้อ ๘ และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านไทย ๒๕๔๖ มาตรา ๑๑๗, ๑๑๙ แต่ อบต.ลาดบัวขาวในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ กลับมีเจตนาละเลยและเพิกเฉยไม่ดําเนินการตามกฎหมายกับบมจ.น้ำตาลครบุรี  ผู้กระทําความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านไทย ๒๕๔๖ โดยในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นวันที่อบต.ลาดบัวขาวจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งกลุ่มเรารักษ์สีคิ้วได้ทราบตามหนังสืออําเภอสีคิ้วที่ส่งมาด้วยลําดับที่ ๔ ข้าพเจ้าได้ชี้แจงในเวทีประชุม และได้แจ้งให้ทราบถึงการกระทําความผิดของบมจ.น้ำตาลครบุรี  แล้ว แต่ อบต.ลาดบัวขาวโดยนายกฯ ก็ยังไม่ ดําเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษใดๆ ตามอํานาจหน้าที่ กระทั่งข้าพเจ้าต้องมีหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชา อบต.ลาดบัวขาว โดยนายก อบต.ลาดบัวขาว จึงได้มอบอํานาจให้เจ้าหน้าที่มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับ อบต.ลาดบัวขาว จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ การกระทําดังที่กล่าวมานี้ของ อบต.ลาดบัวขาว, และนายก อบต.ลาดบัวขาว ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่ท้ายลําตะคองที่ต้องใช้น้ำจากลําตะคอง

ผอ.ป.ป.ช.รับปากไม่ทิ้งประชาชน

นายณัฐวุฒิ ขมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “สำหรับการร้องเรียนของกลุ่มเรารักษ์สีคิ้วในวันนี้ ก็พอทราบแล้วว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดนครราชสีมา จะติดตามตรวจสอบและดำเนินคดี หากมีการกระทำผิดจริง แต่อาจจะต้องใช้เวลา เพราะหนึ่งคดีจะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ ๑๘๐ วัน และเพิ่มไปอีก ๙๐ วัน ต้องขอให้ประชาชนเข้าใจว่า เหตุที่การทำงานของป.ป.ช.ต้องใช้เวลามาก เนื่องจากเรามีคดีที่ต้องทำกว่า ๗๐๐ คดี และเราไม่ได้ไปดำเนินคดีกับชาวบ้านตาสีตาสา โจรลักเล็กขโมยน้อย เราทำคดีกับกลุ่มคนมีสีต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า พวกเขาเหล่านี้ไม่ยอมรับผิดง่ายๆ ทำให้คดีต้องยืดเยื้อและใช้เวลานาน แต่ขอยืนยันว่า ผมไม่ทิ้งพี่น้องประชาชนแน่นอน”

โรงงานน้ำตาลชี้ทำถูกแล้ว

จากนั้น “โคราชคนอีสาน” โทรศัพท์สัมภาษณ์ นายไพบูลย์ เศวตโสภิณ ซึ่งมีชื่อระบุว่าเป็นผู้ควบคุมงานโครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำดิบ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) ที่อำเภอสีคิ้ว โดยชี้แจงว่า “เรื่องการคัดค้านนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งเราก็ได้รับการเห็นชอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การใช้น้ำเราก็มีว่าจะต้องใช้เท่าไหร่ น้ำในเขื่อนจะเหลือเท่าไหร่ และจะสามารถสูบได้เท่าไหร่ คำถามเหล่านี้มาจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม หากมีความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นเราก็พร้อมจะพูดคุยและชี้แจง แต่ในขณะนี้กลับกลายเป็นว่ากล่าวหาว่าเราสูบน้ำ ทั้งที่ยังไม่ได้สูบเลย เรื่องปริมาณการสูบก็ไม่ใช่เรื่องจริง ทุกประเด็นเรามีหลักฐานชัดเจนว่า ทุกอย่างเป็นไปตามผลการศึกษา”

นายก อบต.ก็รักสีคิ้ว

นอกจากนี้ “โคราชคนอีสาน” โทรศัพท์ไปสัมภาษณ์ นายณรงค์ ภูมิจันทึก นายก อบต.ลาดบัวขาว โดยชี้แจงว่า “ในกรณีที่มีการฟ้อง ป.ป.ช. ผมได้มอบหมายให้ทนายเป็นคนดูแล เพราะผมเป็นคนไม่เก่งกฎหมาย ซึ่งการวางท่อนี้ ก็มีผู้ประกอบการบางรายทำเช่นกัน แต่เขาก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อโรงงานน้ำตาลครบุรีเข้ามาก่อสร้าง เรื่องก็แดงขึ้นมาทันที ผมเป็นคนหนึ่งที่รักอำเภอสีคิ้วเหมือนกับกลุ่มผู้คัดค้าน ต้องการให้มีโครงการต่างๆ เข้ามา ประชาชนจะได้มีอาชีพมีรายได้ ซึ่งประชาชนในตำบลลาดบัวขาวที่เป็นเกษตรกรไร่อ้อย เห็นว่าโรงงานเป็นสิ่งที่ดี แต่คนในอำเภอสีคิ้วเขาคัดค้าน เพราะเขาอยู่ที่ปลายน้ำลำตะคอง ก็คงจะกลัวว่าไม่มีน้ำใช้”

ผู้ว่าฯสั่งตรวจสอบด่วน

จากนั้น เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเจรจาหย่าศึกแย่งน้ำ ระหว่างโรงงานน้ำตาลครบุรี สาขาสีคิ้ว กับชาวตำบลลาดบัวขาว โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเจรจากว่า ๘๐ คน อาทิ นางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายอนุชา นิ่มอยู่ ผู้จัดการฝ่ายมวลชนสัมพันธ์และพัฒนาสังคม บมจ.น้ำตาลครบุรี, ตัวแทนประชาชนตำบลลาดบัวขาว, ตัวแทนบริษัทฯ, นายอำเภอสีคิ้ว, ตัวแทนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง, ตัวแทนกรมเจ้าท่า, ตัวแทนสำนักงานโยธาธิการฯ, ตัวแทน อบต.ลาดบัวขาว, และเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา

ภายหลังจากชาวบ้านไม่พอใจที่อบต.อนุญาตให้โรงงานน้ำตาลครบุรี มีการก่อสร้างโรงสูบน้ำบริเวณหมู่บ้านสำโรง หมู่ที่ ๓ ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา และมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในเขตลำรางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการท่า ซึ่งเกรงว่าน้ำที่เขื่อนลำตะคองปล่อยลงมา เพื่อให้ชาวบ้านใช้สำหรับผลิตน้ำประปาของกว่า ๘๐ หมู่บ้าน จะถูกโรงงานเอกชนแย่งสูบไปใช้จนไม่พอให้ประชาชนทั่วไปใช้ ดังนั้นจึงได้ร้องเรียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของขาวบ้าน ซึ่งบรรยากาศในการประชุมเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด โดยมีการโต้เถียงเรื่องการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในลำรางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น มีตอม่อ และเสาไฟรุกเข้าไปในริมลำน้ำสาธารณะ ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า และตัวแทนโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ระบุว่าการก่อสร้างดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายรุกล้ำเข้ามาในลำรางสาธารณะจริง เพราะตามกฎหมายต้องห้ามมีสิ่งปลูกสร้างรุกเข้ามาใกล้ตลิ่งในระยะ ๑๐ เมตร

ถ้าไม่ถูกต้องก็พร้อมรื้อ

นายอนุชา นิ่มอยู่ ผู้จัดการฝ่ายมวลชนสัมพันธ์และพัฒนาสังคม บมจ.น้ำตาลครบุรี กล่าวว่า “ในการก่อสร้างเราได้ว่าจ้างผู้รับเหมา ซึ่งโรงงานฯ ไม่ได้ลงไปกำกับดูแลการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด ฝั่งโรงงานน้ำตาลพร้อมที่จะชี้แจง หลังจากนี้ถ้าหน่วยงานราชการลงไปตรวจสอบ ถ้าพบว่ามีจุดไหนไม่ถูกต้องขัดต่อกฎหมาย บริษัทฯ ก็พร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมายให้ถูกต้อง”

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมาเปิดเผยว่า “จากข้อมูลที่ชาวบ้านนำมาเสนอก็พบว่า มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในเขตลำรางสาธารณะจริง ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๓ จุด ดังนั้นจึงขอให้ทางโรงงานทำการรื้อถอนออกภายในสัปดาห์หน้า ส่วนตัวอาคารโรงสูบน้ำ ขณะนี้ยังระบุไม่ได้ว่ามีการอนุญาตให้ก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะต้องไปดูระยะห่างจากตลิ่งว่าถึง ๑๐ เมตรหรือไม่ จึงต้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปตรวจสอบอีกครั้ง และรายงานให้ตนทราบภายในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๒ ขณะที่เรื่องการขออนุญาตสูบน้ำจากลำน้ำลำตะคองของโรงงาน ตนก็จะได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งตนขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”

สั่งรื้อสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด

ล่าสุดวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๓๐ น. ที่คลองบุ่งยาง บ้านใหม่สำโรง หมู่ ๓ ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา พันเอกวีระศักดิ์ สาระชาติ หัวหน้ากลุ่มงานแผนนโยบายและการข่าว กอ.รมน.จังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายวิทยา เรืองฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานผังเมือง สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา นายกฤษฎา ไฝขาว ปลัดอำเภอสีคิ้ว นายธีรพล จันทโรทัย ผู้อำนวยการกองช่าง อบต. ลาดบัวขาว และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างสะพานวางท่อส่งน้ำดิบและอาคารโรงสูบน้ำของ น้ำตาลครบุรี ซึ่งเป็นการสูบน้ำดิบจากคลองบุ่งยาง ลำน้ำธรรมชาติสาขาลำตะคอง เพื่อนำไปใช้ในกิจการผลิตน้ำตาลส่งออกต่างประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจวัดสิ่งปลูกสร้างซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการได้ประมาณ ๘๐% โดยมีพนักงานและลูกจ้างของบริษัทฯ ได้มาร่วมตรวจสอบพร้อมบันทึกภาพการปฏิบัติหน้าที่ทุกขั้นตอน เมื่อพบสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล พร้อมตัวแทนภาคประชาชนรุมสอบถาม โดยตัวแทนบริษัทฯ ยอมรื้อถอนสิ่งที่รุกล้ำออกโดยเร็ว

นายวิทยา เรืองฤทธิ์ เปิดเผยว่า “ตนและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของคณะกรรมการล่วงล้ำลำน้ำ โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานและลงนามให้ตรวจสอบ ตามที่นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล พร้อมพวก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อดำรงชีพเขต ๕ อำเภอ ประกอบด้วย อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ได้ยื่นหนังสือผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ให้ตรวจสอบการอนุมัติและออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงสูบน้ำ จากการวัดระยะพื้นที่สิ่งก่อสร้าง ปรากฏอาคารโรงสูบน้ำห่างจากลำน้ำ ๘.๔๗ เมตร และสะพานวางท่อส่งน้ำดิบ ๗.๓๕ เมตร ซึ่งสิ่งก่อสร้างทั้งสองจุดไม่สอดคล้องและขัดต่อ พ.ร.บ.ผังเมือง โดยจะมีหนังสือสั่งการให้ อบต.ลาดบัวขาว ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำลำน้ำ ประกอบด้วยอาคารโรงสูบน้ำและอุปกรณ์ส่วนควบ เช่น เสาไฟฟ้า ตอม่อสะพาน ฯลฯ ออกไปทั้งหมด”

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๒ วันพุธที่ ๔ - วันอังคารที่ ๑๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 

 


786 1466