4thOctober

4thOctober

4thOctober

 

September 05,2019

หวั่น ‘LRT สายสีเขียว’ เจ๊ง อ้างเส้นทางไม่ตอบโจทย์ รฟม.อย่าโยนภาระให้โคราช

เปิดเวทีรับฟังความเห็น รถไฟฟ้ารางเบา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์) ตัวแทนหลายภาคส่วนกังวล เส้นทางเชื่อมต่อยังไม่ครอบคลุม เสี่ยงขาดทุน แนะ ‘การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)’ ศึกษา ปรับเส้นทางใหม่ให้ครอบคลุม ย้ำภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการ ไม่ใช่การโยนภาระให้ท้องถิ่นดูแลผู้เดียว

ตามที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำการศึกษาและวิเคราะห์ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดระบบการจราจรจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ แผนแม่บทการจัดระบบการจราจร และแผนพัฒนาพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดทำโครงการนำร่องการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะหลักจังหวัดนครราชสีมา และดำเนินการศึกษารูปแบบระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสม โดยเชื่อมโยง โครงข่ายกับระบบขนส่งขนาดรอง รถไฟ รถโดยสารสาธารณะ โดย สนข. ได้ดำเนินการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit : LRT) หรือ Tram way เงินลงทุน ๓๒,๖๐๐ ล้านบาท ดำเนินการ ๓ ระยะ โดยระยะที่ ๑ ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ วงเงิน ๑๓,๖๐๐ ล้านบาท มีสายสีเขียว จากตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ โดยใช้แนวถนนมิตรภาพ และเลี้ยวเข้าถนนสืบศิริ ระยะทาง ๑๑.๑๗ กม. ๒๐ สถานี และสายสีส้ม แยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า ระยะทาง ๙.๘๑ กม. ๑๙ สถานี, ระยะที่ ๒ ปี ๒๕๖๖-๒๕๖๘ มีสายสีม่วงช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ๑๒.๑๖ กม. ๑๗ สถานี และระยะที่ ๓ ส่วนต่อขยายสายสีส้ม สีเขียว และสีม่วง หลังจากนั้นมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการในรูปแบบของการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP โดยเริ่มจากสายสีเขียว

จ้างที่ปรึกษา

จากนั้นในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ รฟม. ได้ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน–สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) แล้ว โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า รฟม.ได้ลงนามสัญญาจ้าง กับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำโดย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอ็นทิค จำกัด และบริษัท เอ ๒๑ คอนซัลแตนท์ จำกัด โดยมีวงเงินค่าจ้าง ๘๕,๖๐๐,๐๐๐ บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) โดยการเซ็นสัญญาในครั้งนี้เป็นการเซ็นสัญญาจ้างที่ปรึกษา ออกแบบ รายละเอียดก่อสร้างโครงการ

เปิดเวทีปฐมนิเทศ

ล่าสุดวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงแรมสีมาธานี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ ๑ (ปฐมนิเทศ) งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์) พร้อมด้วยนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยมีนายเทิดศักดิ์ พ่วงจินดา ผู้จัดการโครงการ, นายอภิชาติ สมทอง ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ และวิศวกรงานทาง, นายบรรจบ กิติกาศ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม ร่วมนำเสนอรายละเอียด มีผู้เข้าร่วมกว่า ๓๐๐ คน

LRT ตอบโจทย์ลดความแออัดจราจร

นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า โครงการนี้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในเมืองโคราช ประชาชนควรให้ความสำคัญร่วมพิจารณารูปแบบรวมทั้งเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์มากที่สุด ทั้งรอบด้าน ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมกับลักษณะกายภาพของท้องถิ่นและไม่เกิดความขัดแย้งเห็นต่าง  รฟม.นำเสนอรูปแบบเส้นทางระดับเดียวกับพื้นดินที่อาจมีปัญหาการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง ทุกภาคส่วนต้องบริหารจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งผลกระทบต่อการเดินทางให้น้อยที่สุด

“คนโคราชอาจจะต้องการข้อเสนอต่างๆ หรือต้องการความชัดเจน แต่ไม่ทราบว่าจะติดต่อกับใคร จังหวัดจึงจะจัดหาสถานที่เพื่อให้บริษัทมีเจ้าหน้าที่มาประจำตลอดระยะเวลาที่มีการศึกษา ออกแบบ เพื่อที่จะให้คนโคราชสามารถมาขอข้อมูล หรือมาเสนอข้อคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการเกิดปัญหาในภายหลัง ซึ่งเชื่อว่าหากมีการรับฟังข้อเสนอ ความคิดเห็นต่างๆ ของคนโคราช และรีบหาทางแก้ไข มีการสื่อสารกันตลอดเวลา จะทำให้การศึกษา และการออกแบบเป็นไปด้วยดีมากขึ้น ตั้งแต่ สนข.มีการศึกษาว่า เราจะต้องมีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้ง ๓ เส้นทาง ซึ่งในครั้งนี้จะเป็นการรับฟังในสายแรก คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวโคราช เพียงแต่อาจจะเกิดผลกระทบระหว่างที่มีการก่อสร้าง หรือรูปแบบ ซึ่งชาวโคราชค่อนข้างให้ความสนใจ และให้คำแนะนำ ข้อเสนอ” นายวิเชียร กล่าว

ผวจ.นครราชสีมา กล่าวอีกว่า จะมีการเวทีประมาณ ๓ ครั้ง แต่หากมีข้อเสนอใดที่ต้องหารือกันระหว่างประชาชนกับบริษัทที่ปรึกษา ก็อาจจะต้องจัดประชุมเพิ่มเติม โดยจังหวัดจะรับเป็นเจ้าภาพจัดเป็นครั้งคราว เพื่อให้มีความเห็นตรงกัน ไม่มีความขัดแย้ง เพื่อให้มีการออกแบบก่อสร้างต่อไป และเรื่องการจัดการจราจรในระหว่างก่อสร้าง และหลังการก่อสร้าง ต้องมาจัดประชุมอีกครั้ง รวมดูรูปแบบการก่อสร้างว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาแจ้งว่า สามารถที่จะพูดคุย และเสนอความคิดเห็นกันได้ จึงอยากให้ประชาชนเสนอความคิดเห็น เพื่อเสนอแบบแต่เนิ่นๆ ดีกว่ามีการศึกษา ออกแบบไปแล้ว แต่มีข้อเสนอภายหลัง หากเราเสนอเรียบร้อย ก็จะสามารถของบประมาณ และเริ่มดำเนินการในปีต่อไปได้

นายธีรพันธ์  เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า สภาพการจราจรในเขตเมืองนครราชสีมา ไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพรองรับอย่างเพียงพอ จึงมีความแออัดคับคั่ง โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ผลการศึกษาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพทั้งรวดเร็วและปลอดภัย ระบุว่าควรเป็นรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) ที่สามารถตอบโจทย์ได้ดีที่สุด

งบประมาณ ๘,๔๐๐ ล.

“จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาการจราจร จากการลงพื้นที่พบว่า เป็นจังหวัดที่มีความเหมาะสมที่จะนำระบบขนส่งมวลชนมาให้บริการประชาชน และคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาด้านการจราจรได้ ทั้งนี้เราจะดูพื้นที่ หากที่ไหนมีความเหมาะสมก็จะเริ่มในพื้นที่นั้น โดยปัจจุบันมีโครงการที่ภูเก็ต เชียงใหม่ และที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม เพื่อที่จะมาออกแบบ และศึกษารายละเอียดโครงการ ซึ่งจะใช้เวลาในการศึกษาประมาณ ๑ ปี และคาดว่าจะช่วยปัญหาด้านการจราจร ซึ่งคิดว่าหากมีระบบขนส่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน มีความรวดเร็ว ทันสมัย ก็จะทำให้การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลน้อยลง และช่วยให้การจราจรคล่องตัวขึ้น”

รองผู้ว่าการ รฟม. กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม รฟม.รับช่วงต่อ ก็อาจจะต้องดูความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง เช่น เส้นทางการเดินรถ ทั้งนี้จะใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ ๑ ปี จากนั้นเป็นการคัดเลือกผู้รับจ้างในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและอนุมัติให้ดำเนินโครงการโดยประมาณการค่าดำเนินการกิโลเมตรละ ๗๕๒ ล้านบาท รวม ๘,๔๐๐ ล้านบาท ดำเนินโครงการได้ช่วงปลายปี ๒๕๖๔ ใช้เวลาก่อสร้าง ๓-๔ ปี ช่วงปลายปี ๒๕๖๘ ชาวโคราช ก็จะได้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสม และอาจจะเสร็จเร็วกว่าภูเก็ต

ที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม

นายเทิดศักดิ์ พ่วงจินดา ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้ลงนามสัญญากับบริษัทที่ปรึกษาเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ โดยมีระยะสัญญาเริ่มดำเนินการวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๒ และสิ้นสุดสัญญาวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ซึ่งตามผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดนครราชสีมา ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) ระยะทาง ๑๑.๑๗ กิโลเมตร จำนวน ๒๐ สถานี ผ่านสถานที่สำคัญ เช่น ตลาดเซฟวัน สำนักงานคุมประพฤติ สวนภูมิรักษ์ เทศบาล นครฯ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โรงเรียนสุรนารีวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ มทร.อีสาน และบ้านนารีสวัสดิ์ เป็นต้น

แนวเส้นทางรถไฟฟ้า

นายอภิชาติ สมทอง ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ และวิศวกรงานทาง กล่าวว่า จากผลการศึกษาของ สนข.ที่เสนอไปยัง คจร. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับทราบเรียบร้อยแล้ว และให้ศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งนครราชสีมา ซึ่งจากการศึกษาทาง สนข.จึงเห็นว่า ให้ดำเนินการเส้นทางสายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน–สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เป็นลำดับแรก โดยแนวเส้นทางในเบื้องต้นของระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว จากการศึกษาของ สนข. มีจุดเริ่มต้นที่ตลาดเซฟวัน และมีจุดสิ้นสุดบริเวณบ้านนารีสวัสดิ์ รวมระยะทาง ๑๑.๑๗ กิโลเมตร โดยการศึกษาและออกแบบแนวเส้นทางรถไฟฟ้าของโครงการฯ จะกำหนดตำแหน่ง รูปแบบสถานี และรูปแบบทางวิ่งที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงแนวเส้นทางและสถานีรถไฟฟ้า ถนน ทางลอด ทางยกระดับ และทางพิเศษอื่นๆ ที่ตัดกันหรือ เชื่อมต่อกับแนวเส้นทางของโครงการ รวมทั้งผลกระทบต่อประชาชนข้างเคียงและกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีผลกระทบต่อการเวนคืนที่ดินข้างเคียงให้น้อยที่สุด และหลีกเลี่ยงผลกระทบกับโบราณสถาน ทั้งนี้แนวเส้นทางและตำแหน่ง รวมทั้งรูปแบบและจำนวนสถานีที่เสนอแนะ อาจแตกต่างจากผลการศึกษาและการออกแบบที่มีอยู่แล้วหากมีความเหมาะสมและดีกว่าแบบเดิม

กังวลจุดจอดรถส่วนตัว

จากนั้นมีการเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดยนายจักริน เชิดฉาย ผู้ประกาศตัวจะลงสมัครนายกเทศมนตรีนครราชสีมา กล่าวว่า วันนี้มีหลายโครงการที่เข้ามาในโคราช เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และตอนนี้จะมีรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งสองโครงการก่อนหน้า ไม่มีการประสานงานกัน ต่างคนต่างศึกษา ทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินการ จึงต้องการให้โครงการรถไฟฟ้ารางเบามีการประสานงานกับโครงการอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ ยังมีหลายคนกังวลเรื่องจุดจอดรถ และการจราจร บางเส้นมีถนนที่แคบ ต้องดูว่า มีการดำเนินอย่างไรที่จะลดผลกระทบได้บ้าง นอกจากนี้บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเรามีการจัดกิจกรรมบ่อยครั้ง โครงการมีเส้นทางเลือกหรือไม่ เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนการจราจร

นายเทิดศักดิ์ ชี้แจงว่า ในส่วนของการประสานงานกับโครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง โดยได้ทำการส่งหนังสือไปยัง รฟท. เพื่อขอรูปแบบทั้งสองโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงาน และจัดทำรูปแบบที่เหมาะสมต่อไป สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการในอนาคต เราได้ลงพื้นที่ทั้งในส่วนที่เป็นถนนทางแคบ และเขตเมืองเก่า จากการอ้างอิงสภาพการจราจรทั้งช่วงเช้า และเย็นค่อนข้างมีปัญหา และในช่วงที่พื้นที่แคบมีการจอดรถริมทาง ซึ่งการศึกษาเราได้มีการจัดทำแผนเดินรถและแผนการจราจร เพื่อสำรวจผลกระทบและหาแนวทางแก้ไข ซึ่งทางบริษัทที่ปรึกษาได้มีการเก็บปริมาณและคาดการณ์เรื่องการจราจรในพื้นที่ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว

ค่าโดยสารไม่ชัดเจน

นายอรชัย ปุณณะนิธิ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในโครงการที่ศึกษาต้องมีจุดจอดรถใหญ่ๆ ให้คนสามารถเข้าไปจอดและไปขึ้นรถ แต่จากการศึกษาไม่มีจุดไหนเลย เช่นหากตนมาจากเซฟวัน และจะไปบ้านเกาะ จะต้องจอดรถไว้ส่วนใด หากต้องจอดรถไว้ข้างทาง ก็จะทำให้เกิดปัญหาจราจรได้ ดังนั้นในเส้นทางทั้ง ๓ สาย ควรจะหาจุดจอดรถเป็นหลักให้คนโคราชใช้บริการ ส่วนหลังจากนั้นไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็มีรถสามล้อ รถสองแถวในเมืองคอยให้บริการอยู่แล้ว ดังนั้นควรที่จะมีจุดจอดรถส่วนกลางถาวร ส่วนเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เสียง ฝุ่น ต้องทำให้คนโคราชมั่นใจได้ว่า สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น และการเป็น Smart City ต้องเป็นได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ว่า ทำไปแล้วก่อให้เกิดปัญหาภายหลังตามมา และค่าโดยสาร ต้องบอกให้ชัดเจนว่าค่าโดยสารเท่าไหร่ หากทำเสร็จแล้ว แจ้งค่าโดยสารทีหลังอยู่ที่ ๕๐ บาท ตนมั่นใจว่า คนโคราชไม่ขึ้นแน่นอน ซึ่งจะต้องมีการเสนอไปยังรัฐบาลว่า ค่าโดยสารระยะ ๓-๕ ปีแรกต้องไม่เกิน ๓๐ บาท เพื่อให้คนโคราชสามารถใช้บริการได้

ควรเริ่มต้นที่โรงเรียนราชสีมาฯ

นายอัคคชา พรหมสูตร อดีตผู้สมัคร ส.ส. นครราชสีมา พรรคประชาชาติ กล่าวว่า โครงการที่คิดว่าดีจากกรุงเทพฯ แต่ไม่แน่ใจว่าคนในพื้นที่เห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่มีดีอย่างเดียวแน่นอน อาจจะทำให้มีผลกระทบ หรือมีสิ่งที่ต้องสูญเสียไป ตนเห็นว่า โครงการนี้อาจจะมีผลดีมาก และดีน้อย ผลเสียอาจจะมีน้อย ทั้งนี้ เส้นทางแรก ผ่านตลาดเซฟวัน ตนเข้าใจเรื่องค่าใช้จ่าย แต่หากเริ่มต้นที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จะได้ผู้โดยสารขาประจำวันละไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ คน และขยายเส้นทางไปถึงจอหอ รวมทั้งควรมีการเชื่อมต่อกับจุดขนส่งสาธารณะ และเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลด้วย

ดร.กฤษดา พัฒนพงษ์ไพบูลย์ ตัวแทนว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา พรรคอนาคตใหม่โคราช (ดร.สาธิต ปิติวรา) กล่าวว่า สิ่งที่คนโคราชค่อนข้างกังวลคือ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ซึ่งเราไม่รับทราบข้อมูลพวกนี้มาก่อน ซึ่งการประชุมรับฟังความคิดเห็นเป็นกิจกรรมเพียงส่วนหนึ่ง โดยที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่กำหนดการในการทำงาน ไม่ใช่เกิดขึ้นจากการทำงานที่มีส่วนร่วมจริง เพราะการทำงานต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้ที่ได้รับผลกระทบ เข้ามามีบทบาทตั้งแต่เริ่มโครงการ ซึ่งระบบขนส่งแบบนี้ถือเป็นขนาดใหญ่ จึงมีเรื่องของงบประมาณ ซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม 

อย่าโยนภาระให้ท้องถิ่น

นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “มี ๒ ประเด็น โดยประเด็นแรก เรื่องความทันสมัย สำหรับคนรุ่นใหม่ LRT ต้องทันสมัยอยู่แล้ว แต่สำหรับคนวัยเดียวกับผมก็ถือว่าทันสมัย แต่เป็นความทันสมัยแบบย้อนยุค ส่วนประเด็นที่ ๒ ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจริง รฟม.ต้องมาบริหารจัดการเอง อย่าโยนภาระให้ท้องถิ่น ไม่อย่างนั้นท้องถิ่นก็ต้องไปหางบประมาณมาทำ ขอให้ รฟม.หางบมาทำเองดีกว่า จะตั้งหน่วยงานใหม่ก็ได้ เช่น รฟภ. (รถไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) แล้วก็เข้ามาบริหารจัดการเอง”

อ้างไม่ค้าน แต่ต้องเหมาะกับเมือง

นายสหพล กาญจนเวนิช รองนายกเทศมนตรีฯ กล่าวว่า “วันนี้ประชาชนยังแยกไม่ออกระหว่าง ๓ โครงการที่จะมาลงในโคราช ๑.รถไฟความเร็วสูง ๒.รถไฟทางคู่ และ ๓.รถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งตามหลักแล้ว รถไฟความเร็วสูงจะเป็นโครงการระดับ ๓ คืออยู่สูงในระดับที่ ๓ รองลงมาระดับ ๒ คือรถไฟทางคู่ และระดับภาคพื้นคือรถไฟฟ้ารางเบา โดยจะมาวิ่งบนถนนมุขมนตรี ซึ่งในปีที่แล้วผมได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ศึกษาออกแบบ ในขณะนั้นผมถามขึ้นมาว่า รถไฟฟ้ารางเบาที่จะวิ่งบนถนน จะต้องไปติดไฟแดงที่ ห้าแยกหัวรถไฟพร้อมกับรถยนต์ไหม ทำให้ผมเกิดคำถามต่อ รฟม.ขึ้นมา คือ ๑.ความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย แน่นอนว่ารถไฟฟ้ารางเบานั้นสะดวก แต่เมื่อต้องมาติดไฟแดงกับรถยนต์แล้ว เราจะทำอย่างไรให้ตรงเวลา ๒.ค่ารถไฟต่อคนเท่าไหร่ ถ้าดูจากค่าครองชีพของคนโคราชแล้ว ซึ่งไม่ได้มากอย่างในกรุงเทพฯ ดังนั้นค่าโดยสารจะต้องเป็นเท่าไหร่”

“ผมไม่ได้ค้านการก่อสร้าง แต่เราต้องมองหาโมเดลที่ดีที่สุดสำหรับเมืองของเรา สิ่งที่เป็นปัญหาคือระบบ ระบบที่มารบกวนวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น สิ่งที่น่ากังวลคือ โครงการนี้จะก่อสร้างได้ช้า ถ้าดูอย่างขอนแก่นเขาทำเสร็จไปแล้ว และปัญหาอีกเรื่องคือดีไซน์ไม่ตอบโจทย์ เพราะเราวิ่งระดับพื้น หากวันหนึ่งมีรับปริญญาที่ มทส.หรือมีการแข่งกีฬาระดับนานาชาติ รถไฟฟ้ารางเบาก็จะไปไม่ได้เพราะเราเป็นระดับพื้นดิน ผมขอยืนยันว่าให้ทำ มิได้คัดค้านอย่างใด แต่ รฟม.จะต้องเริ่มต้นด้วยการติดกระดุมให้ถูกตั้งแต่เม็ดแรก ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดปัญหาเหมือนรถไฟทางคู่” นายสหพล กล่าว

รัฐควรร่วมบริหารจัดการ

ด้านนายภานุ เล็กสุนทร เจ้าของแฟนเพจ ‘โคราชเมืองที่คุณสร้างได้’ กล่าวว่า ขณะนี้คนโคราชตื่นตัวกับระบบขนส่งสาธารณะมากพอสมควร ซึ่งหลายๆ คนได้ยินว่า จะมี LRT มาก็ดีใจ แต่ทุกอย่างมีข้อดีและข้อเสีย ซึ่งระบบขนส่งที่เข้ามาก็ตอบสนองการสัญจรไปมาของคนเป็นหลักอยู่แล้ว หลังจากที่โครงการสร้างเสร็จแล้ว เห็นว่าจะเป็นทรัพย์สินของคนโคราช ซึ่งถ้าเป็นได้ก็คงจะดี  แต่จากการที่ศึกษามา จำนวนคนที่จะเข้ามาใช้บริการ อาจจะไม่คุ้มทุนในเรื่องของการดำเนินการ อาจจะมีติดลบบ้าง จึงเห็นว่าอยากให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ ไม่ใช่เป็นการโยนภาระให้ทางท้องถิ่น หากวันหนึ่งท้องถิ่นไม่มีงบในการบริหารจัดการ อาจทำให้ต้องปิดตัวไป จึงอยากให้มีการคำนึงถึงด้านนี้ด้วย

นายเทิดศักดิ์ ชี้แจงว่า โครงการนี้เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่เข้ามาให้บริการในเมือง อาจไม่คุ้มในเรื่องของเม็ดเงิน เนื่องจากที่เราคาดการณ์ว่า จะมีผู้โดยสารประมาณวันละ ๙,๐๐๐ คน ซึ่งจะดูผลการตอบแทนเรื่องเงินอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะดูในเรื่องการคมนาคม การแก้ไขปัญหาจราจร ที่ต้องการให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และการฟื้นฟูเขตเมืองเก่าให้เกิดเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หรือการพัฒนาพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวให้มีรูปแบบที่เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นโครงการเหล่านี้จะเป็นที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนโครงการ แต่ต้องดูผลการศึกษาว่าในส่วนใดที่รัฐจะสามารถยอมรับได้ เพื่อให้ดำเนินการไปได้ด้วยดี ซึ่งการสร้างภาระให้ทางท้องถิ่นก็เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น อีกทั้งเรื่องผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ จะเป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลจะต้องพิจารณาให้มากขึ้น เนื่องจากจะทำให้มีผลกระทบค่อนข้างมาก

แนะปรับเส้นทางให้ครอบคลุม

ด้านนายศรรบ หล่อธราประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บจก.ไทยสงวนบริการ ผู้บริหาร บขส.แห่งที่ ๒ กล่าวว่า ตนมีโอกาสร่วมในการศึกษาแผนแม่บท ซึ่งวัตถุประสงค์หลักๆ ของโครงการคือ เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาจราจร โดยส่งเสริมให้คนหันมาใช้รถขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ในการออกแบบจะเห็นว่ามีการเชื่อมต่อชุมชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาทำกิจกรรม ซื้อขายสินค้าในเมืองได้ง่ายขึ้น เพื่อให้ในเมืองฟื้นตัวขึ้นมาได้ โดยเห็นว่าหากเริ่มทำสายสีเขียวก่อน จะเห็นได้ว่าเป็นการเชื่อมชุมชนเข้ากับแนวรถไฟ แต่ไม่มีการเชื่อมต่อจุดที่เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารทั้ง ๒ แห่ง ห้างสรรสินค้า หรือโรงพยาบาล ดังนั้น ในความเห็นของตนเห็นว่า หากจะทำสายสีเขียวก็ควรทำสายสีส้มพร้อมไปด้วย เพื่อให้มีจุดเชื่อมต่อสถานีในสถานที่ที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่หากต้องทำสายเดียว ก็อยากเสนอให้ทำสายสีม่วงก่อน เพื่อทำให้มีการเชื่อมต่อระหว่างสถานีขนส่งผู้โดยสารทั้ง ๒ แห่ง และสถานีรถไฟ

ลดความเสี่ยงขาดทุน

นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ปัญหาของเส้นทางหลักสายสีเขียว โดยบริเวณถนนมุขมนตรี ถนนโพธิ์กลาง มีความกว้าง ๑๒ เมตร ซึ่งหลายท่านกังวลในส่วนของปัญหาเรื่องรถติด ปัญหาหลักๆ คือ หากรถติด ก็จะทำให้ LRT ติดเช่นกัน อีกทั้ง LRT ที่นำมาใช้จะเป็นแบบพื้นยกสูงจากถนน ๑ เมตร ฉะนั้น ปัญหาจุดจอดต่างๆ ที่อยู่ในแนวถนนมุขมนตรี ถึงถนนโพธิ์กลาง แม้กระทั่งแถวถนนราชดำเนิน ถึงถนนจอมพล จะต้องยกระดับขึ้น ๑ เมตรทั้งหมด ซึ่งนี่ไม่ใช่การตอบโจทย์ว่า เมืองน้ำท่วม จึงต้องยกรถให้สูงขึ้นจากพื้น และการที่เราต้องยกระดับจุดจอดขึ้นมาอีก ๑ เมตร ทำให้เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่ง

“ถ้า รฟม.จะมาลงทุน LRT ในโคราช ผมคิดว่าการลงทุนสายแรกสำคัญที่สุด ถ้าสายแรกไม่คุ้มทุน สายอื่นๆ ก็จะไม่เกิด สิ่งหนึ่งที่สายสีเขียวต้องตอบโจทย์คือ ต้องเชื่อมสถานีนครราชสีมา (สถานีรถไฟ) ซึ่งมีการออกแบบใหม่เป็น ๓ ชั้น ชั้นล่างเป็นของ LRT ชั้น ๒ คือรถไฟทางคู่ และชั้น ๓ คือรถไฟความเร็วสูง ดังนั้น ถ้าต้องการไปโครงข่ายใดก็ตาม ต้องไปที่สถานีนครราชสีมาเท่านั้น เพราะเป็นสถานีที่สมบูรณ์แบบที่สุดในภูมิภาค อีกส่วนหนึ่งอยากจะบูรณาการ อยากจะเชื่อมจุดต่าง โดยนำสายสีเขียว ผสมสายสีม่วง และสายสีส้ม ซึ่งหากเริ่มต้นจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เชื่อมเข้ามาในเมือง และไปถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จะได้ลูกค้าใช้บริการมากขึ้นอย่างน้อย ๑๐,๐๐๐ คน โดยคิดจากนักเรียนจากโรงเรียนที่จุด LRT จะผ่าน จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ ๙,๐๐๐ คนต่อวัน โอกาสที่จะขาดทุนก็น้อยลง”

สร้างจิตสำนึกใช้ขนส่งมวลชน

“ปัจจุบันหากถนนมิตรภาพรถติด ในเมืองก็ติดเช่นกัน และโครงการนี้จะเป็นการสร้างจิตสำนึกให้คนโคราชหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เมื่อคนในเมืองมีจิตสำนึกการใช้รถสาธารณะแล้ว รถในเมืองจะโล่งขึ้น หลังจากนั้นเราก็เริ่มดำเนินการตาม เฟส ๒ และเฟส ๓ ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบกับเมืองน้อยที่สุด ถ้าเราเริ่มทำในเมืองโดยที่คนในเมืองยังไม่มีจิตสำนึกการใช้รถสาธารณะจะทำให้เกิดปัญหากับเมืองได้” นายสมเกียรติ กล่าว

รฟม.กลับไปทบทวนเพิ่ม

นายเทิดศักดิ์ พ่วงจินดา ผู้จัดการโครงการ เปิดเผยกับสื่อมวลชนภายหลังประชุมเสร็จว่า จากการประชุมในวันนี้มีข้อเสนอแนะในเรื่องการปรับเส้นทาง โดยให้ขยายไปถึงจอหอ และเชื่อมต่อกับสถานีขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร ทั้งนี้ทางบริษัทที่ปรึกษา และ รฟม.จะนำข้อคิดเห็นทั้งหมดนี้ไปศึกษาและพิจารณา แล้วจะกลับมารายงานกับทางจังหวัดให้ทราบว่า เมื่อไปทบทวนการศึกษาแล้วผลเป็นอย่างไร โดยรูปแบบรถไฟฟ้า เบื้องต้นเป็นระบบ LRT หรือ Tram ซึ่งระบบที่เลือกใช้เราจะคำนึงถึงปริมาณผู้โดยสารเป็นหลัก ซึ่งแทรมสามารถรองรับผู้โดยสารได้ ๑๐,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ คนจึงมีความเหมาะสม และการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เราจะต้องศึกษาเพิ่มเติม และดูบริบทของพื้นที่อีกครั้ง หากถามว่า จำเป็นต้องเป็นระบบรางหรือไม่ เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องมีเส้นทางหลักที่ชัดเจน และ รฟม.สามารถเข้ามากำกับดูแลได้ ดังนั้นเบื้องต้นจึงต้องเป็นระบบราง แต่จะเป็นล้อยางหรือล้อเหล็กต้องมาดูกันอีกครั้งหนึ่ง ในปีแรกที่เปิดใช้ เราคาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร ๙,๖๐๐ คนต่อวัน ปีปลายคาดไว้ที่ ๓๐,๐๐๐ คน นอกจากนี้เรามีการสำรวจ และจะมีการจำลองสถานการณ์การเดินทาง เพื่อให้รู้ว่า ถ้ามีโครงการแบบนี้จะมีผู้ใช้งานกี่คน และเพื่อนำไปคำนวณระบบได้ว่ารถของเราควรมีรถกี่ตู้ จึงจะเหมาะสม

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๒ วันพุธที่ ๔ - วันอังคารที่ ๑๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 

 


934 1,590