28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

October 02,2019

หมดเวลาอนุมัติสนามกองบิน ๑ ‘วิเชียร’ทาบเครื่อง ๘ ที่นั่ง ‘บัดเจ็ทแอร์’เสนอ ๙ เส้นทางบิน

 

มทร.อีสานทำโพลสำรวจ “การกลับมาของสายการบินพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานนครราชสีมา” พบ ๙๗% คนโคราชยังต้องการให้มีสายการบิน ชี้การเดินทางคือปัญหาหลัก ขอขนส่งระบบรางเชื่อมสนามบิน ๙๓.๖% ด้านผู้ว่าฯ เผยกำลังเจรจาสายการบินใหม่ “บัดเจ็ทแอร์” หลังเสนอบินเครื่อง Piper Chieftain ขนาด ๘ ที่นั่ง ที่นั่งละไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท พร้อมแผนบินระยะยาว ๙ เส้นทาง

เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา มีการประชุม กรมการจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนครราชสีมา ประจำเดือนกันยายน ๒๕๖๒ โดยมีนายวิเชียร จันทร โณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วยนายอภินันท์ เผือกผ่อง และนางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม โดยในการประชุมนี้ ดร.อนิรุธ พิพัฒน์ประภา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการและบริการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) นำเสนอหัวข้อการกลับมาของสายการบินพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานนครราชสีมา

ดร.อนิรุธ พิพัฒน์ประภา กล่าวว่า “ศูนย์บริการวิชาการด้านบริหารธุรกิจฯ ได้จัดทำข้อมูลเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีการจัดทำโพลในหัวข้อ “การกลับมาของสายการบินพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานนครราชสีมา” ซึ่งมีหัวข้อสอบถามว่า ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา ต้องการให้มีการกลับมาให้บริการของท่าอากาศยานนครราชสีมาหรือไม่ จากการสำรวจมีความต้องการให้กลับมามากถึง ๙๗% สำหรับหัวข้อย่อยคือ ต้องการให้มีเส้นทางการบินใด ซึ่งเส้นทางในประเทศที่ประชาชนสนใจมากที่สุดคือ โคราช-เชียงราย ร้อยละ ๓๕.๘ รองลงมาคือ โคราช-ภูเก็ต ร้อยละ ๓๑.๒ ในส่วนที่เหลือเป็นความต้องการให้เกิดเส้นทางต่างประเทศ โดยมากกว่าร้อยละ ๒๕ สนใจในเส้นทางโคราช-ญี่ปุ่น รองลงมาคือ โคราช-สิงคโปร์ และโคราช-จีน ตามลำดับ”

“สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ในการใช้บริการท่าอากาศยานนครราชสีมา จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการเดินทาง โดยร้อยละ ๙๓.๖ ต้องการให้มีการขนส่งสาธารณะระบบรางเชื่อมระหว่างท่าอากาศยานกับตัวเมือง รองลงมาร้อยละ ๑๘ เปอร์เซ็น ต้องการให้มีรถตู้โดยสารให้บริการที่ห้างสรรพสินค้า ไม่ว่าจะเป็น เดอะมอลล์, เทอร์มินอล ๒๑ และเซ็นทรัลโคราช ทั้งนี้กว่าร้อยละ ๗ ต้องการให้มีรถขนส่งสาธารณะที่ให้บริการในจุดเชื่อมต่อไปยังท่าอากาศยาน ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจากการจัดทำแบบสำรวจ เพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ภายใต้ชื่อของ มทร.อีสาน โดยเราจะมีการจัดทำโพลในทุกๆ เดือน โดยเดือนที่ผ่านมาได้จัดทำโพลในหัวข้อ ในโครงการของภาครัฐที่จัดให้จังหวัดนครราชสีมา ทำให้ประชาชนในจังหวัดมีความสุขหรือไม่ พบว่า กว่าร้อยละ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ มีความสุข สำหรับในเดือนถัดไป จะจัดทำโพลในหัวข้อท่าเรือบกและรถไฟความเร็วสูงตามลำดับ

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า “ในช่วงที่ผ่านมา จังหวัดได้ขอใช้พื้นที่ของกองบิน ๑ สำเร็จ แต่หาเครื่องบินมาลงไม่ได้ ซึ่ท่าอากาศยานนครราชสีมา คนโคราชมักพูดว่า อยู่ไกล โดยท่านพล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบิน ๑ ท่านได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ โดยมีข้อแม้ว่า ต้องสำเร็จภายในเดือนกันยายนนี้เท่านั้น ซึ่งขณะนี้ท่านเกษียณแล้ว และเราก็ไม่สามารถโน้มน้าวผู้บัญชาการท่านใหม่ได้ ซึ่งครั้งนั้นจังหวัดได้ติดต่อกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ครั้งแรกเป็นการพูดคุยกันด้วยวาจาเท่านั้น แม่ทัพภาคที่ ๒ ก็จะมอบอาคาร รด. ให้เป็นเทอร์มินอล (อาคารผู้โดยสาร) หลังจากนั้นก็ได้ประชุมกันอีก ๒-๓ รอบ ท้ายที่สุดสายการบินไม่พร้อม ดังนั้น วันนี้ก็จะใกล้วันที่ ๓๐ กันยายนแล้ว ถือว่าเราเสียโอกาสไป”
“ส่วนในขณะนี้ ก็มีการพูดคุยกับสายการบินที่มี ๘ ที่นั่งอยู่ ซึ่งสายการบินเสนอมาว่า บินโคราช-กรุงเทพฯ ราคาไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท ซึ่งเราก็ดีใจมาก ๘ ที่นั่ง ที่นั่งละไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม แต่เขามีเงื่อนไขว่า ให้จังหวัดรับผิดชอบทั้งเที่ยวไปและกลับ ผมจึงกังวลว่า เที่ยวกลับใครจะมาขายตั๋วที่กรุงเทพฯ ให้ จึงคิดไปถึงบริษัทรถทัวร์ที่ขายตั๋วอยู่ในบขส.รับไปขายตั๋วให้ จากนั้นผู้โดยสารก็ไปขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ นี่เป็นแผนที่วางไว้ แต่เมื่อเขากลับไป เขาติดต่อมาว่า จะขอเที่ยวละ ๖ หมื่นบาท และให้เราเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ทั้งไปและกลับ จังหวัดจึงไม่ตกลง เพราะก่อนหน้าเขาพูดไว้ว่า ที่นั่งละไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท เราก็ต้องการแบบนั้น ซึ่งสายการบินที่มาติดต่อกับเรา ตอนมาติดต่อกับในช่วงที่จะไปจริง ก็ไม่ไป เมื่อจะไปจริงๆ ก็ตั้งเงื่อนไขอีกมาก เหมือนครั้งที่สายการบินนิวเจนมา ผมได้โทรศัพท์ให้ขนส่งจังหวัดนำรถแท็กซี่ไปรอรับคน คอยบริการทั้งไปและกลับ ปรากฏว่า ไม่มีคนขึ้น เพราะส่วนใหญ่ประชาชนเอารถส่วนตัวกันไปหมด ทำให้เกิดปัญหายุ่งยากในช่วงที่ผ่านมา คนบ้านเราก็บ่น อยากได้ของดีทั้งนั้น พอจะเอาจริงๆ มีการเชิญบริษัททัวร์มาพูดคุย ต้องการให้ลดค่าทัวร์ลงหน่อย เพื่อจะให้สายการบินอยู่ได้ เขาก็ไม่ยอม แต่จะให้สายการบินลดราคาตั๋วลงมา สุดท้ายก็ไม่เข้าใจกัน ขนาดเอาสินค้าโอทอปไปวางขายที่สนามบิน กลัวจะน้อยหน้าเขา ให้นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติไปรอรับทุกเที่ยวบิน ปรากฏว่า ก็ยังไม่มีคนไป สุดท้ายเราก็ยังไม่มีสายการบินเกิดขึ้น ผมเข้าใจที่สายการบินมีค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังต้องการ ๘ ที่นั่ง ที่นั่งละไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท เชื่อว่า ราคานี้ทุกคนสามารถใช้บริการได้” นายวิเชียร กล่าว

ล่าสุด วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ นายวิเชียร จันทร โณทัย เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” เพิ่มเติมว่า ทางจังหวัดมีการพูดคุยหารือกับประธานสายการบินบัดเจ็ทแอร์เงียบๆ มาโดยตลอด ซึ่งช่วงแรกเขาเสนอเป็นเครื่องบินขนาด ๘ ที่นั่ง เที่ยวละ ๒,๐๐๐ บาท ไปกลับ ๔,๐๐๐ บาท ซึ่งหากประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับที่ดีก็จะนำเครื่องบินขนาด ๗๐ ที่นั่งมาบริการ

นายวิเชียรได้เปิดเผยหนังสือที่ทางบริษัท แอร์ อินเตอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด ส่งมายังผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการบิน ซึ่งลงนามโดยนายทศพล วงศ์กิติกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฯ ลงวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นการเสนอทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเคยมาร่วมประชุมที่ศาลากลางจังหวัดฯ เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๒ เพื่อร่วมเสนอแนวทางร่วมกัน ในการพัฒนาการบิน ของจังหวัดนครราชสีมานั้น  

บริษัทฯ ขอสรุปรายละเอียด และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินของบริษัทฯ รวมถึงบริษัทในเครือ ดังต่อไปนี้  ๑.บริษัท แอร์อินเตอร์ ทรานสปอร์ต จํากัด ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการสายการบินเลขที่ AOC 61/2528 ตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ บริษัทฯ ได้ดำเนินการบินแบบเช่าเหมาลํา “Air Taxi” โดยใช้เครื่องบินแบบ Piper Chieftain ขนาด ๘ ที่นั่งผู้โดยสาร จำนวน ๓ ลำ ใช้ฐานปฏิบัติการหลัก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง และท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ รวมถึงใช้ท่าอากาศยานในภูมิภาค เป็นสถานีให้บริการ ประกอบด้วย ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ สำหรับภาคเหนือ, ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต สำหรับภาคใต้ และ ท่าอากาศยานหัวหิน

 ๒.บริษัท พรีเมี่ยม แอร์ไลน์ จํากัด ได้ใบรับรองสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน ที่ CAATL/FTO 05/2017 ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ โดยเปิดอบรมในหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี (CPL) และหลักสูตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบิน เพื่อผลิตนักบินให้กับสายการบินของบริษัทฯ และสายการบินทั่วไป มีฐานปฏิบัติการเพื่อใช้ในการฝึกอบรมภาคอากาศ ณ สนามบินโพธาราม จังหวัดราชบุรี

หนังสือระบุอีกว่า จากการสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางที่มีความเป็นไปได้ในการที่จะมีสายการบิน ขึ้น-ลง ณ ท่าอากาศยานนครราชสีมานั้น บริษัทฯ ขอเสนอแนวทางเป็นสองระยะ ดังต่อไปนี้ แผนงานระยะสั้น เนื่องจากบริษัทฯ มีเครื่องบินขนาด ๘ ที่นั่งผู้โดยสาร ที่สามารถนำมาปฏิบัติการบินได้ทันที บริษัทฯ ขอเสนอเส้นทางบิน ดอนเมือง-นครราชสีมา-ดอนเมือง กำหนดการบิน วันละ ๒ เที่ยวบิน โดยออกจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เวลา ๐๖.๐๐ น. ถึงท่าอากาศยานนครราชสีมา เวลา ๐๗.๑๐ น., ออกจากท่าอากาศยานนครราชสีมา เวลา ๐๗.๔๐ น. ถึงท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เวลา ๐๘.๕๐ น. ส่วนในช่วงบ่าย  ออกจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เวลา ๑๖.๐๐ น. ถึงท่าอากาศยานนครราชสีมา เวลา ๑๗.๔๐ น. และออกจากท่าอากาศยานนครราชสีมา เวลา ๑๘.๑๐ น. ถึงท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เวลา ๑๙.๒๐ น. โดยมีค่าเช่าเครื่องบิน (Round Tip) เที่ยวละ ๖๐,๐๐๐ บาท

ส่วนเส้นทางอื่นๆ ประกอบด้วย นครราชสีมา-อุบล–นครราชสีมา ระยะเวลาบิน ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที, นครราชสีมา-อุดร-นครราชสีมา ระยะเวลาบิน ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที และนครราชสีมา-อู่ตะเภา-นครราชสีมา ระยะเวลาบิน ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที

สำหรับแผนงานลงทุนระยะยาว กำหนดใช้เครื่องบินใบพัด แบบ ATR 72-600 ขนาด ๗๐ ที่นั่ง พิสัยการบิน ๑-๓ ชั่วโมงบิน จำนวน ๒ ลำ โดยข้อมูลเส้นทางบิน ที่เห็นควรพิจารณา ได้แก่ นครราชสีมา-หัวหิน-นครราชสีมา, นครราชสีมา-แม่สอด-นครราชสีมา, นครราชสีมา-เชียงใหม่-นครราชสีมา, นครราชสีมา-สิบสองปันนา(จีน)-นครราชสีมา, นครราชสีมา-หลวงพระบาง(ลาว)-นครราชสีมา, นครราชสีมา-เวียงจันทน์(ลาว)-นครราชสีมา, นครราชสีมา-ปากเซ (ลาว)-นครราชสีมา, นครราชสีมา-เสียมเรียบ(กัมพูชา)-นครราชสีมา และนครราชสีมา-ดานัง(เวียตนาม)-นครราชสีมา ซึ่งในส่วนของแผนงานระยาว จะเป็นการร่วมมือกันในอนาคต

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๖ วันพุธที่ ๒ - วันอังคารที่ ๘ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


805 1441