19thApril

19thApril

19thApril

 

November 07,2019

เชื่อระบบรางตอบโจทย์โคราช ‘เก่งคิด-พูด’แต่ไม่เก่งทำ หวั่นซ้ำรอยสายการบิน

กลุ่มตัวแทนขับเคลื่อนพัฒนาเมืองโคราชร่วมกันเสวนา ‘ระบบรางกับการพัฒนาจังหวัด’ หลายฝ่ายมั่นใจระบบรางตอบโจทย์ พร้อมกระตุ้นอสังหาฯ โคราช ด้านนักธุรกิจรถทัวร์เผย คนโคราชเก่งคิด เก่งพูด แต่ไม่เก่งหาทางออก ระบุไม่อยากให้เหมือนเรื่องสายการบิน แนะทุกหน่วยงานร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด

 

เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๘.๓๐ น. ที่ Korat Hall ชั้น ๔ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ภายในงาน NORTHEAST TECH 19 (Korat F.T.I) มีการเสวนาหัวข้อ “ระบบรางกับการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา” โดยมีนายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นครราชสีมา นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด และนครชัย ๒๑ ดร.จารุพงษ์ บรรเทา รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) และ ดร.ธนัดชัย กุลวานิชพงศ์ หัวหน้าสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมเป็นวิทยากร มีนางธิดารัตน์ รอดอนันต์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ดำเนินรายการ

การเชื่อมโยงคมนาคม

ดร.จารุพงษ์ บรรเทา กล่าวว่า สำหรับเรื่องการเดินทางมาที่โคราช สามารถเดินทางได้หลายช่องทาง โดยเฉพาะทางบก ระบบรางที่มาโคราช มีอยู่ ๒ หลัก คือรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่วิ่งจากกรุงเทพฯ มาโคราช อีกส่วนหนึ่งคือ ระบบรางที่อยู่ในตัวเมืองหรือระบบขนส่งมวลชนหลักที่เรียกว่า รถไฟฟ้ารางเบา (LRT)

“มทร.อีสานมี ๓ โลจิสติกส์ จาก ๓ คณะ คือคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะบริหาร โดยทั้ง ๓ คณะนี้มีหลักสูตรทาง      ด้านโลจิสติกส์ ซึ่งมีการพูดคุยกันตลอดว่า หากรถไฟความเร็วสูงมาถึงโคราช อะไรเป็นจุดที่ควรจะได้รับการซ่อมแซม และมีการพัฒนา ยกตัวอย่างจากจุดเล็กๆ คือ คนที่มาจากกรุงเทพฯ มาลงปากช่องจะเดินทางไปเที่ยว ควรทำอย่างไร มีโหมดการขนส่งใดบ้างที่จะรองรับด้านการท่องเที่ยวได้ และธรรมชาติของนักท่องเที่ยวที่มาจากกรุงเทพฯ ไปเขาใหญ่คงไม่เดินทางด้วยขนส่งมวลชน อาจจะเป็นการเช่ารถแทน ซึ่งจะต้องทำการศึกษาต่อไป หรือแม้กระทั่งเมื่อรถไฟความเร็วสูงมาถึงตัวสถานี การเดินทางของคนที่มาลงจะเดินทางอย่างไรต่อ คงไม่เดินลากกระเป๋าขึ้นรถสองแถว แน่นอนว่าจะต้องมีโหมดการเดินทางใหม่ๆ เกิดขึ้น สิ่งที่เราเห็นคือ LRT ดังนั้นคนโคราชจะต้องเข้าไปร่วมช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนลากกระเป๋าไปขึ้น LRT ได้ และสิ่งสำคัญคือการพัฒนาพื้นที่รอบ LRT ซึ่งค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดว่าสายที่จะเกิดขึ้นคือ สายสีเขียว ดังนั้นจะต้องมีการศึกษารายละเอียดพื้นที่ว่าประชาชนต้องการแบบใด และผมคิดว่าเส้นทางที่ รฟม.ออกแบบไว้น่าจะรองรับรถไฟความเร็วสูงด้วย” ดร.จารุพงษ์ กล่าว

LRT แบตเตอรี่ไร้สาย

ด้าน ดร.ธนัดชัย กุลวานิชพงศ์ หัวหน้าสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทส. กล่าวว่า โครงการ LRT สายสีเขียวจะเริ่มต้นเหมือนเดิม คือ ตลาดเซฟวัน ถึงบ้านนารีสวัสดิ์ โครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของทาง รฟม. ล่าสุดที่คุยกันอคือ เป็นระบบที่เป็นแบตเตอรี่ไร้สาย จะมีการชาร์จประจุไฟฟ้าเติมที่สถานี คล้ายๆ กับสถานีหยุดรถทุกๆ จุด เพื่อชาร์จแบตประมาณ ๑๐-๒๐ นาที เพื่อให้รถสามารถไปต่อได้เรื่อยๆ และจะไม่มีสายไฟฟ้าเกะกะ เนื่องจากว่าจังหวัดนครราชสีมามีโครงการนำสายไฟฟ้า และสายเคเบิ้ลลงใต้ดินแล้ว ดังนั้นโครงการจะเป็นแบตเตอรี่ ๑๐๐% และคาดว่าจะเป็นระบบรางแบบล้อยาง แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากต้องผ่านคณะกรรมการในหลายๆ หน่วยงาน 

“เป็นเรื่องที่ดีที่เราจะมีการเชื่อมต่อระบบขนส่ง มาใช้เป็นรถไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นการใช้พลังงานอย่างประหยัด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการขนส่งในตัวเมืองยังค่อนข้างแออัด จะสามารถลดการปล่อยก๊าซได้บ้าง และยังได้เชื่อมโยงกับโครงการอื่นๆ อย่างรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่อีกด้วย” ดร.ธนัดชัย กล่าว

ขนส่งช่วยกระตุ้นอสังหา

นายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อระบบคมนาคมขนส่งเข้ามา ก็จะนำคนมาในโคราชมากขึ้น ด้านอสังหาฯ มีความสัมพันธ์กับส่วนนี้แน่นอน เพราะจะมีการซื้อขายอสังหาฯได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีคนย้ายเข้ามาในจังหวัด และสัมพันธ์กับด้านอุตสาหกรรมด้วย หากภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดเติบโต ก็จะนำคนเข้ามาเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

“ในปัจจุบันนี้อัตราการเกิดค่อนข้างน้อยลง การแต่งงานหรือการขยายครอบครัวค่อนข้างลำบาก ภาคอสังหาฯ มีความคาดหวังว่าจะได้คนที่มาจากภูมิลำเนาอื่น ไม่ว่าจะมาเรียนหรือมาทำงาน ซึ่งจะทำให้มูลค่าอสังหาฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเรามองว่าเป้าหมายไม่ใช่เพียงแค่  จังหวัดรอบๆ เราต้องการกลุ่มคนจากกรุงเทพฯ เข้ามาด้วย เมื่อมีด้านการคมนาคมเข้ามาอำนวยความสะดวก จะทำให้คนกลุ่มนี้ขยับขยายเข้ามาในจังหวัดนครราชสีมาเพิ่มมากขึ้น และทางจังหวัด รวมถึงภาคอุตสาหกรรมก็ต้องมีการเตรียมตัวว่าจะทำอย่างไรให้เมืองสะอาด และดึงดูดประชากรจากกรุงเทพฯ” นายนราทร กล่าว

หาจุดดึงดูดคนต่างชาติ

นายนราทร กล่าวอีกว่า อสังหาฯของโคราช ยังสู้เชียงใหม่ ภูเก็ต หรือชลบุรีไม่ได้ เนื่องจากว่าจังหวัดเหล่านั้นได้เปรียบที่มีชาวต่างชาติ ซึ่งโคราชมีเปอร์เซ็นต์ที่ชาวต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างน้อย ดังนั้นเราก็ต้องหาจุดดึงดูดคนต่างชาติ เพื่อให้เขาเข้ามาในจังหวัดมากขึ้น และเมื่อเทียบราคาของอสังหาฯ กรุงเทพฯ และโคราชก็มีราคาที่แตกต่างกันชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งในแง่ตรงนี้ก็จะไม่ดึงดูดแค่คนกรุงเทพฯ แต่จะสามารถดึงดูคนต่างชาติเข้ามาได้ และเชื่อมไปถึงเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะเรามีความเท่าเทียมทั้งด้านเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม มีการบริการที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน เวลาเศรษฐกิจความการผันผวนขึ้นลง จะไม่สวิงมาก

“ยกตัวอย่างในจังหวัดที่เน้นการพึ่งพาด้านการท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ด้านอสังหาฯ ได้รับผลกระทบถึง ๕๐-๖๐% แต่โคราชเวลาที่อสังหาฯ เรามีผลกระทบ จะหายไปประมาณ ๒๐% เท่านั้น เราจึงคาดหวังว่าระบบรางต่างๆ ที่จะเข้ามา ช่วยย่นระยะเวลาการเดินทาง จะทำให้ดึงดูดคนเรานี้เข้ามาจังหวัดเรามากขึ้น ทั้งนี้ทุกหน่วยงานก็ต้องช่วยกันวางแผน เพื่อเตรียมความพร้อมของเมือง เนื่องจากด้านอสังหาฯ เราเน้นในเรื่องของคุณภาพชีวิตประชาชนเป็นหลักด้วย” นายนราทร กล่าว

รายได้คนในเมืองไม่สัมพันธ์กับราคา

นายนราทร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันที่ดินปรับราคาไปล่วงหน้า ๕ ปี ซึ่งการที่จะสร้างบ้านดีๆ มีคุณภาพ ต้องสัมพันธ์กับราคาที่ดิน เราจะเห็นว่า ถ้าเป็นบ้านเดี่ยว เราขยับไปไกลถึงบึงทับช้าง หรือแถวโคกกรวดแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์อยู่แล้วว่า เราได้ที่ดินมาราคานี้ และเราจะทำบ้านในราคานี้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ รายได้ของคนในเมืองไม่สัมพันธ์กับราคาที่ดิน ทำให้ความสามารถในการซื้อบ้านในปัจจุบันลดน้อยลง

ระบบรางตอบโจทย์

นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด และนครชัย ๒๑ กล่าวแสดงทัศนะว่า ตนมองว่า การขนส่งสาธารณะ หรือการขนส่งทั่วไป ทั้งคนและของ ประกอบไปด้วย ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ หากเรามองในทางอากาศค่อนข้างจะเป็นเชิงพาณิชย์ ทางน้ำจะเป็นการขนส่งแบบเฉพาะตัว เนื่องจากอาจจะไม่สามารถขนส่งได้อย่างทั่วถึง เมื่อเรามาถึงเรื่องของบนถนน เทรนด์ของการพัฒนาในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะไปในด้านของระบบราง เนื่องจากรองรับในหลากหลายมิติ คือ การลดต้นทุน ความปลอดภัย และเวลา 

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนพัฒนายุทธศาสตร์ ๒๐ ปี ของรัฐบาล หากเราไปอ่านดูจะเห็นได้ว่า เน้นในเรื่องของการพัฒนาระบบรางเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้ความสำคัญกับการขนส่งรูปแบบอื่น เพียงแต่จะให้น้ำหนักของความสำคัญน้อยลงเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว เมื่อระบบรางมาถึงโคราช จะนำมาซึ่งประชากรที่เข้ามา ความสะดวกในการเดินทาง และเป็นการเชื่อมต่อระหว่างเมืองมากขึ้น ดังนั้นแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ดีอยู่แล้ว อาจจะมีจุดอ่อนอยู่บ้างคือ ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนสาธารณะใหญ่ๆ เหล่านี้ แต่ที่ตนไม่เห็นคือ หลังจากที่ภาครัฐมีการลงทุน ฝั่งทางท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ หรือแม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีมุมมองต่างๆ มีการทำอะไรเพื่อเป็นการเชื่อมสิ่งที่ภาครัฐลงทุนเข้ามาสู่ท้องถิ่นให้เกิดความเจริญบ้าง

เก่งพูด เก่งคิด แต่ไม่เก่งหาทางออก

“ถ้าพูดถึงในโคราชสิ่งที่เรามักจะเห็นคือ การยึดมิติความคิด หรือ เก่งพูด เก่งคิด แต่ไม่เก่งหาทางออก ทุกคนสามารถพูด สิ่งที่คิดได้ดี แต่ผมมองว่าความคิดของทุกคน ทุกหน่วยงานมีทั้งมิติที่ดี และมิติที่ด้อย นี่คือธรรมชาติความคิด แต่ประเด็นคือ ทำไมถึงไม่แชร์ความคิดร่วมกัน และหาทางออกที่ดีที่สุด หากเป็นอย่างนั้นอาจจะดำเนินได้เสร็จเหมือนจังหวัดขอนแก่นไปแล้ว ซึ่งคือจุดอ่อนของบ้านเรา เพราะเราเน้นการอนุรักษ์นิยมมากกว่า” นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่โคราชควรจะเป็นคือ การคิดระบบเชื่อมต่อที่ทำให้เกิดมิติที่สมบูรณ์ขึ้น ในเมื่อมีการวาง Root (เส้นทาง) ไว้ให้แล้ว และโคราชเป็น ๑ ใน ๖ จังหวัดที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี นับว่าเป็นจังหวัดที่โชคดีมาก ที่มีคนเอาเงินมาลงทุนให้เป็นแสนล้านบาท ยังไม่ต้องเถียงกันว่า เส้นที่วิ่งนั้นพอใจหรือไม่พอใจ เราเอา Root มาดูก่อน และกลับมาดูในมิติที่ไม่เอาชนะกัน และมองว่าเชื่อมโยงอย่างไร คนโคราชถึงจะได้ประโยชน์ที่สุด

ธุรกิจต้องปรับตัว

“เมื่อระบบรางมีการพัฒนาแล้ว มีความปลอดภัย สามารถส่งของ หรือวิ่งทางไกลได้ เราก็ต้องมามองกันต่อว่า เมื่อมาถึงโคราชแล้ว เราจะส่งคนไปขึ้นเครื่องบินได้อย่างไร ถ้าคนในโคราชเอง ไม่ออกมิติความเห็นว่าควรจะเป็นอย่างไร แล้วไปรอว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ หลังจากเสร็จแล้วผมเชื่อว่าประสิทธิผลที่เกิดจากการลงทุนที่เกิดจากภาครัฐ คนโคราชได้ประสิทธิผลไม่ถึง ๒๐% ผมยอมรับว่าระบบรางคือสิ่งที่ดีที่สุดในอนาคต สำหรับด้านธุรกิจก็ต้องมีมิติที่จะให้อยู่รอดคือ ๑.ปรับตัว และดูว่าธุรกิจที่เราทำมีจุดแข็งกว่าระบบรางตรงไหน ก็ต้องรักษาไว้ ๒.ปรับตาม เราอาจจะรับในบางเรื่อง เรื่องที่เรากว่าอ่อนระบบรางก็ต้องยอมรับ และ ๓.ปรับต่อไปให้เก่งเป็นบางเรื่อง คือเราจะต้องมาวิเคราะห์ระบบรางว่า เราจะสามารถใช้ระบบรางให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจได้อย่างไร” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ทำอย่างไรให้เกิดสนามบิน

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า เมื่อมีความคิดที่จะให้ระบบขนส่งสาธารณะเข้ามาแล้ว และอยากให้มีคนเข้ามา เพื่อให้มีการเติบโต เช่น เรื่องของสนามบิน ในวันนี้ระบบรางยังไม่เสร็จ แต่เมื่อไหร่ที่ระบบรางมาแล้ว ตนคิดว่าคงไม่ต่างกับสนามบิน ความหมายคือ คนท้องถิ่นตั้งแต่ระดับภาครัฐ เอกชนในท้องถิ่น มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ยั่งยืน ทั้งนี้ทางจังหวัดรับนโยบายมาจากส่วนกลาง และมาเป็นแผนยุทธศาสตร์จังหวัด แต่แผนยุทธศาสตร์จังหวัดไม่ได้ตอบโจทย์ทุกเรื่อง ส่วนมากจะเน้นเรื่องของการปกครอง แต่ไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ ซึ่งตนมองว่าภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นหอการค้าจังหวัด หรือสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ต่างคนต่างมีมุมมองต่างกัน รวมถึงทางภาครัฐ ซึ่งมุมมองความเห็นไม่ถูกแชร์ร่วมกัน ทั้งนี้เรื่องงบประมาณที่เก็บจากภาษีเราไปหลายๆ เรื่อง เอาไปใช้กับเรื่องต้นไม้ หรือเรื่อง อื่นๆ แต่เราต้องคิดว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะเกิดความยั่งยืนที่แท้จริง

“มีหน่วยงานหนึ่งที่อยากให้มีสนามบินมาลงที่โคราช มีการติดต่อสายการบินต่างๆ ซึ่งผมตั้งคำถามว่า เครื่องบินที่มาเขาทำธุรกิจหรือไม่ ถ้าไม่เกิดกำไรเขาจะมาลงทุนไหม หามากี่รอบก็จะอยู่ในวังวนเดิม ดังนั้น เราต้องกลับมาวิเคราะห์ตัวเองว่า โคราชมีปัญหาอะไร ที่บอกว่าสนามบินไกล จริงหรือเปล่า ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี หรืออุบลราชธานี ถ้าเทียบระดับกิโลเมตรก็ไม่ต่างกันนัก และมีคำถามคือ ทุกวันนี้ไม่มีสนามบิน วิ่งไปสนามบินเดือนเมือง ๑๕๐ กม. ไม่มีบ่น แต่วิ่งแค่ ๓๐ กม. กลับบ่นกัน และหากต้องการให้มีสนามบิน เราต้องวิเคราะห์ดูว่า คนที่จะมาบินนั้นคือใคร เช่น โคราชมีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ทำไมถึงไม่เปิดโอกาสให้คนจากภาคเหนือ หรือภาคอื่นๆ มาเรียนมากขึ้น และจะทำให้เกิดกระบวนการบินที่เพิ่มมากขึ้น เราต้องหาเป้าหมายต่างๆ ที่รองรับ  ที่ผมยกตัวอย่างเรื่องสนามบิน เพราะผมคิดว่าถ้าระบบรางมาก็คงไม่ต่างกัน ตราบใดก็ตามที่ไม่มีการออกความคิดร่วมกันและสร้างความยั่งยืนจริงๆ ก็จะเกิดปัญหาแบบนี้ คนอยากได้ก็ไปคว้ามา พอได้มาอยู่ไม่ได้ เราต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าคนในจังหวัดต้องการอะไรเพื่อรองรับการเติบโต ถ้ามันหอมหวาน เขาก็มา การลงทุนสาธารณะขาดทุนอยู่แล้ว เมื่อเราอยากให้มีคนใช้บริการ ให้มีคนได้ประโยชน์ นั่นหมายความว่าคนในท้องถิ่นอย่างเราๆ ต้องมา  สร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดประโยชน์” นายชัยวัฒน์ กล่าวในที่สุด

ระบบรางลดตุ้นทุนขนส่ง

ท้ายสุด นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ LRT หรือรถไฟความเร็วสูงเข้ามาโคราช สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ เกิดการขาดทุนแน่นอน สิ่งที่เราจะสามารถช่วยกันรักษาไว้ได้คือ การช่วยกันใช้บริการ อย่าให้เป็นเหมือนเรื่องสายการบิน ที่มีความต้องการ แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่ค่อยมีคนใช้บริการ และเมื่อการขนส่งระบบรางเสร็จ การเดินทางมีความสะดวกมาก ภาคอุตสาหกรรมดีขึ้น มีช่องทางในการไปเลือกซื้อขายสินค้าเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันลูกค้าก็สามารถเดินทางมาหาเราได้บ่อยขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้จะทำให้มีการจัดงานสัมมนา การประชุมใหญ่ๆ มีงบจากรัฐบาลเข้ามาลงทุน ในส่วนของด้านอุตสาหกรรม ก็จะทำให้ลดต้นทุนในการขนส่งอีกด้วย

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๑ วันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๒ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


790 1359