November 21,2019
LRT โคราชยังยึดเส้นทางเดิม ทางลอดประโดกชวดงบ’๖๔
อจร.นม. ประชุมคืบหน้าจัดระบบการจราจรโคราช หลายโครงการใกล้แล้วเสร็จ สำหรับ LRT สายสีเขียวยังคงยึดเส้นทางตามแผนแม่บท ลดสถานีไป-กลับ เหลือ ๑๖ สถานี ทางลอดประโดกชวดงบปี ๖๔ ต้องรองบสนับสนุนปี ๖๕
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทร โณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๒ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมประชุม
โดยการประชุมมีทั้งหมด ๕ วาระ ซึ่งระเบียบวาระที่สำคัญคือ ระเบียบวาระที่ ๔ การติดตามผลความคืบหน้าการประชุม สำหรับแผนงาน/โครงการแก้ไขปัญหาจราจรในระยะยาว โดยมีหัวข้อที่สำคัญๆ ดังนี้ สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย นายพรชัย พัฒนาพงษ์สถิต ผู้แทนจากสำนักงานส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค (สนข.) กล่าวว่า ในระยะที่ ๑ อยู่ระหว่างก่อสร้าง ช่วงที่ ๑ กรุงเทพ-นครราชสีมา สัญญาที่ ๑ กลางดง-ปางอโศก (๓.๕ กม.) การก่อสร้างงานโยธาและระบบรถไฟ คาดว่าจะมีการก่อสร้าง จนครบ ๒๕๓ กิโลเมตร และเปิดให้บริการในปี ๒๕๖๖ ระยะที่ ๒ นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง ๓๕๕ กิโลเมตร รฟท. อยู่ระหว่างจัดทำรายงานทบทวนผลการศึกษาโครงการฯ กระทรวงคมนาคมเตรียมดำเนินการเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ ภายในปี ๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ครม.มีมติอนุมัติงบกลางประจำปีรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และอนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงิน ๗๕๑ ล้านบาท ให้กับ รฟท. ในการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดงานโยธาเรียบร้อยแล้ว
ทางคู่จิระ-ขอนแก่น ๑๐๐% แล้ว
วาระต่อมา ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ผู้แทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ขณะนี้ผลการดำเนินการเรียบร้อย ๑๐๐% โดยขอบเขตของโครงการ งานก่อสร้างทางรถไฟเพิ่ม ๑ ทาง ระยะทางรวม ๑๘๖.๘ กม. ทางวิ่งระดับพื้น ระยะทาง ๑๗๙.๖ กม. ทางรถไฟยกระดับ ๒ แห่ง ที่สถานีขอนแก่น ระยะทาง ๕.๒ กม. และที่สถานีบ้านไผ่ ระยะทาง ๒.๐ กม. งานก่อสร้างสะพานรถไฟ จำนวน ๘๖ แห่ง งานก่อสร้างสถานีรถไฟระดับพื้นดิน ๑๘ แห่ง สถานีรถไฟยกระดับ ๑ แห่ง ก่อสร้างที่หยุดรถไฟ ๖ แห่ง ลานเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) ๓ แห่ง งานก่อสร้างโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ โดยแยกเป็น สะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass) ๘ แห่งสะพานข้ามทางรถไฟรูปตัวยู (U-Turn Bridge) ๒๖ แห่ง ทางลอดรูปแบบท่อเหลี่ยม (Box Under pass) ๘๑ แห่ง รวมทั้งงานออกแบบ จัดหา และติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและสื่อสารโทรคมนาคม และงานก่อสร้างด้านโยธาและอื่นๆ เช่น งานระบบระบายน้ำ งานถนนเลียบทางรถไฟ สะพานลอยคนเดินข้าม และงานรั้ว
ผู้แทนจาก รฟท. กล่าวอีกว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ ๑ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร รายงานความก้าวหน้าโครงการถึงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ สรุปแผนงานสะสมเท่ากับ ๔๕.๒๐% ผลงานสะสมเท่ากับ ๔๙.๗๓% เร็วกว่าแผนงานเท่ากับ +๔.๕๓%
“โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ ๓ งานอุโมงค์รถไฟ รายงานความก้าวหน้าโครงการถึงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ สรุปแผนงานสะสมเท่ากับ ๑๙.๑๕๖ % ผลงานสะสม เท่ากับ ๑๙.๑๘๔ % เร็วกว่าแผนงานเท่ากับ +๐.๐๒๘% สำหรับความคืบหน้าผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม โดยเส้นทางรถไฟ สายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ EIRR ๑๗.๒๐ มูลค่าการก่อสร้างประมาณ ๙๕,๐๐๐ ล้านบาท เส้นทางรถไฟ สายบ้านไผ่-นครพนม ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ๒๕๕๗ อนุมัติโครงการโดย ครม.ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ EIRR ๑๓.๔๙ มูลค่าการก่อสร้างประมาณ ๖๖,๘๔๘ ล้านบาท” ผู้แทนจาก รฟท. กล่าว
ลดสถานี LRT
ในวาระความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมาสายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) นายอภิชาต สมทอง ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ เผยว่า จากการศึกษาแนวเส้นทางทั้งแนวเส้นทางที่มีการศึกษาเพิ่มเติม และแนวเส้นทางตามแผนแม่บท อย่างไรแล้วแนวเส้นทางตามแผนแม่บทยังคงเป็นแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ทั้งนี้ ได้มีการปรับสถานี จากตลาดเซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์ จากเดิม ๑๗ สถานี โดยจะรวมสถานีสำนักงานคุมประพฤติ และสถานีชุมชนประสพสุข เข้าเป็นสถานีเดียวกัน เหลือ ๑๖ สถานี และจากบ้านนารีสวัสดิ์-สถานีตลาดเซฟวัน จากเดิมมี ๑๙ สถานี ซึ่งจะทำการตัดสถานีชุมพล และสถานีคลังพลาซ่า รวมทั้งจะรวมสถานีสำนักงานคุมประพฤติ และสถานีชุมชนประสพสุข เข้าเป็นสถานีเดียวกัน เหลือ ๑๖ สถานี
นายจรูญ จงไกรจักร หัวหน้ากลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงความคืบหน้าการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะจากสถานีรถไฟถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา, อำเภอปากช่อง และอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมาว่า เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในส่วนของแผนการออกแบบโครงการระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ที่เข้ามา ซึ่งหากมีความชัดเจนเมื่อไหร่ ทางสำนักงานขนส่งก็พร้อมที่จะจัดระเบียบการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะต่อไป
สภาพัฒน์เตรียมเสนอประชุมท่าเรือบก
วาระต่อมา สำหรับความคืบหน้าโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค นายพรชัย พัฒนาพงษ์สถิต ผู้แทนจากสำนักงานส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค (สนข.) กล่าวว่า จากที่ รมว.คมนาคมมอบหมายให้ สนข. เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ จัดทำข้อมูลเตรียมเสนอ คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) พิจารณาให้ความเห็นชอบปรับปรุง/บรรจุเป็นส่วนหนึ่ง ในแผนแม่บทโลจิสติกส์ระยะ ๓ (พ.ศ.๒๕๖๐–๒๕๖๔) และปรับปรุงตัวชี้วัดให้มีความเหมาะสม โดยให้จัดเตรียมข้อมูลเสนอ กบส. พิจารณาให้ความเห็นชอบและนำเสนอ ครม.ทราบ ในวาระของรัฐบาลชุดใหม่ ตามลำดับ โดยมีหนังสือถึงสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ ในฐานะฝ่ายเลขาฯ กบส.บรรจุเป็นวาระเพื่อนำเสนอ กบส.พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ สศช.มีความเห็นให้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมการ สศช.ก่อนเสนอ กบส. โดยขณะนี้ อยู่ระหว่าง สศช.จัดเตรียมข้อมูลประกอบวาระการประชุมคณะกรรมการ สศช.ซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒
ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์ เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา ผู้แทนจากกรมทาง หลวง กล่าวว่า ทั้งหมด ๒๐ ช่วง ลงนามสัญญา ๒๐ สัญญา ขนาด ๔-๖ ช่องจราจร ระยะทาง ๑๙๖ กม. วงเงินลงทุน ๘๔,๖๐๐ (ล้านบาท) ค่าก่อสร้าง ๗๗,๙๗๐ (ล้านบาท) ค่าเวนคืน ๖,๖๓๐ ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ ๑๙ แผนดำเนินงานก่อสร้าง ปี ๒๕๕๙–๒๕๖๒ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ ๙ โครงการ เหลืออีก ๑๑ โครงการ แผนงานสะสมช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ อยู่ที่ ๙๕.๑๐๘% ผลงานสะสมอยู่ที่ ๘๘.๙๓๙%
ทางลอดประโดกรองบปี’๖๕
“ในส่วนของโครงการก่อสร้างทางลอด บริเวณแยกนครราชสีมา (บิ๊กซี) ขณะนี้อยู่ระหว่างรองบประมาณศึกษา EIA ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอขอรับงบประมาณ ปี ๒๕๖๕ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกประโดก ค่าก่อสร้างประมาณ ๑,๕๐๐ ล้านบาท กม.๑๔๙+๔๕๐–กม. ๑๕๑+๒๐๐ ระยะทางทางประมาณ ๑.๗๕๐ กม. อยู่ระหว่างเสนอขอรับงบประมาณปี ๒๕๖๕ ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จ โดย บริษัท เทสโก้ จำกัด และบริษัท ธารา ไลน์ จำกัด” ผู้แทนจากกรมทางหลวง กล่าว
วงแหวนรอบเมืองล่าช้ากว่าแผนงาน
โครงการทางหลวงหมายเลข ๒๙๐ ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา มีทั้งหมด ๗ ตอน โดยผู้แทนกรมทางหลวง รายงานว่า ขณะนี้แผนงานรวมช่วงเดือนตุลาคมอยู่ที่ ๕๗.๔๑๙% ในส่วนของผลงานรวมอยู่ที่ ๔๙.๑๓๘% โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ ตอน อ.กบินทร์บุรี–อ.ปักธงชัย สาย อ.กบินทร์บุรี–อ.ปักธงชัย (ทางเชื่อมผืนป่า) จ.ปราจีนบุรี กม.๑๙๑+๘๖๐-กม.๑๙๕+๓๑๐ ระยะทาง ๓.๔๕๐ กม. งบประมาณ ๑,๓๑๙.๒๕๗ ล้านบาท สาย อ.กบินทร์บุรี–อ.วังน้ำเขียว ตอน ๓ ส่วนที่ ๑ กม.๒๐๗+๗๖๐-กม.๒๑๖+๕๖๐ ระยะทาง ๘.๘๐๐ กม. งบประมาณ ๗๙๕.๓๖๕ ล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๐๐% ในส่วนของ สาย อ.กบินทร์บุรี–อ.วังน้ำเขียว ตอน ๓ ส่วนที่ ๒ กม.๒๑๖+๕๖๐-กม.๒๒๓+๒๖๙ ระยะทาง ๖.๗๐๙ กม. งบประมาณ ๗๙๔.๒๐๐ ดำเนินการไปแล้ว ๔๒.๙๐๐% ซึ่งช้ากว่าแผนงาน -๕.๖๑๖% ในส่วนของปัญหาที่ทำให้ล่าช้ากว่าแผนงานเนื่องจาก ผู้รับจ้างปฏิบัติงานได้ล่าช้า วัสดุสำหรับงานก่อสร้างไม่เพียงพอ เครื่องจักรไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน แพล๊นผสมคอนกรีตผลิตคอนกรีตได้ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน รวมทั้งคนงานมีน้อย ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานด้วย
“สำหรับทางเชื่อมต่อจากมอเตอร์เวย์ เข้าถนนสุรนารี ๒ จังหวัดได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว และจะดำเนินการออกแบบและเสนอเข้างบประมาณปี ๒๕๖๔ จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ เพื่อทันกับที่มอเตอร์เวย์เปิดใช้บริการ” ผู้แทนกรมทางหลวง กล่าว
งบถนนเลียบทางรถไฟกว่า ๓๐ ล.
นายเอกภพ โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล ชี้แจงถึงความคืบหน้าการขออนุญาตก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟของเทศบาลตำบลหัวทะเลว่า ขณะนี้มีการออกแบบแล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการระบายรถ โดยอยู่ระหว่างการของบประมาณ คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งระบบกว่า ๓๐ ล้านบาท ทั้งนี้ในส่วนของการขยายถนนบริเวณแยกโลตัสหัวทะเล ถึงศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง มทร.อีสาน ผู้แทนจากกรมทางหลวงชนบทนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้ใกล้ดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าจะไม่เกินวันที่ ๒๐ พฤศจิกายนนี้ ในส่วนที่อยู่ทางหน้า มทร.อีสาน เป็นความรับผิดชอบของ อบจ.นครราชสีมา คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนมีการรับเสด็จกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาเส้นทางสาย ง๑ ง๒ และ ง๕ ผู้แทนจากสำนักงานทางหลวงชนบทที่ ๕ กล่าวว่า ถนนผังเมืองรวมนครราชสีมา สาย ง๑ และ ง๒ งานศึกษาความเหมาะสมดำเนินการแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างขอรับการสนับสนุนงบประมาณงานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และ EIA ส่วนถนนผังเมืองรวมนครราชสีมา สาย ง๕ ดำเนินการสำรวจเบื้องต้นแล้ว อยู่ระหว่างการสนับสนุนงบประมาณสำรวจและออกแบบ ระยะทาง ๑๓.๕๐๐ กม.
“โครงการถนนเชื่อมต่อพื้นที่ทหาร ถึงบริเวณวัดป่าศรัทธาธรรม มีการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแบบร่าง โดยระยะทางอยู่ที่ ๒.๙๑๕ กม. ในส่วนของการขออนุญาตเชื่อมทางบนถนนสาย ทล.๓๐๔-บ้านหนองบัวศาลา ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการอนุมัติแบบจากแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๓ กรมทางหลวง และรอการอนุมัติตัดต้นไม้จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๘ (นครราชสีมา) กรมป่าไม้” ผู้แทนจากสำนักงานทางหลวงชนบทที่ ๕ กล่าว
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๓ วันพุธที่ ๒๐ - วันอังคารที่ ๒๖ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒
892 1,640