29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

December 11,2019

บ้าน ๔๐ บ.จับมือผู้รับเหมา ผุด‘คอนโด’ขายสมาชิก หวังช่วยฟื้นฟูกิจการองค์กร

สหกรณ์บ้าน ๔๐ บาท จับมือภาคเอกชน ส่งมอบ พื้นที่ก่อสร้างคอนโดมิเนียม ๔ ชั้น และ ๗ ชั้น รวม ๔๕๐ ยูนิต มูลค่าประมาณ ๔๖ ล้านบาท หวังช่วยฟื้นฟูกิจการขององค์กรให้แก่สมาชิกกว่า ๕,๐๐๐ คน

เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่โรงแรมโคราชโฮเต็ล นครราชสีมา นายวรพงษ์  ภูศรีโสม ประธานสหกรณ์เคหะสถานเมืองโคราช และนายเรืองศิลป์ วงศ์บุญทิวา ประธานที่ปรึกษาสหกรณ์เคหะสถานเมืองโคราช ทำพิธีส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการแกรนด์โฮมโปรเจกต์ (Grand Home Project) ให้แก่ ดร.สมัย เหมมั่น ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเอทีแอล กรุ๊ป จำกัด และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงสัญญาจ้างการดำเนินโครงการเพื่อมวลสมาชิกสหกรณ์ฯ โดยมีคณะ กรรมการบริหารทั้ง ๒ องค์กรและผู้แทนภาคีเครือข่ายสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัด นครราชสีมาร่วมเป็นสักขีพยานและแสดงความยินดีกันอย่างชื่นมื่น

ดร.สมัย เหมมั่น ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเอทีแอล กรุ๊ป จำกัด ในฐานะประธานโครงการแกรนด์โฮมโปรเจกต์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ปัจจุบันมีสัดส่วน ๒๐% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็น กลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ประกอบกับสำรวจความคิดเห็นของมวลสมาชิก พบคนวัยทำงานต้องการความเป็นส่วนตัว บริษัท เอเอทีแอล กรุ๊ป จำกัด จึงมีแนวคิดดำเนินโครงการ โดยใช้ประสบการณ์ที่มีผลงานเป็นรูปธรรมทั้งโครงการประชารัฐ โครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ รวมทั้งการฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ที่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน โดยร่วมขับเคลื่อนกิจการเดิมต้องแบกภาระหนี้สินกลับมามีผลกำไรแบ่งปันให้สมาชิกได้ รูปแบบโครงการฯ ได้จัดแบ่งเป็นอาคารชุดคอนโดมิเนียมสำหรับสมาชิกที่มีรายได้น้อย พื้นที่ใช้สอย ๓๐ ตารางเมตร ราคาไม่เกิน ๘ แสนบาท และกลุ่มกลุ่มผู้สูงวัยและสมาชิกที่มีรายได้ปานกลาง เป็นคอนโดมิเนียมและ Senior Complex พื้นที่ ๔๐ ตารางเมตร ราคาเริ่มต้น ๑ ล้านบาท ทั้ง ๒ รูปแบบ ได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นพื้นที่ส่วนกลางสามารถจัดกิจกรรมได้หลากหลาย ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพรวมทั้งระบบรักษาความปลอดภัยที่ทันสมัย 

นายเรืองศิลป์ วงศ์บุญทิวา ประธานที่ปรึกษาสหกรณ์เคหะสถานเมืองโคราช หรือสหกรณ์บ้าน ๔๐ บาท กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายสำคัญของสมาชิกสามัญสหกรณ์เคหะสถานฯ ที่ส่งเงินออมวันละ ๔๐ บาท อย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันมีสมาชิกร่วม ๔ พันคน แต่สหกรณ์ฯ สามารถจัดสรรที่พักอาศัยให้สมาชิกฯ ในพื้นที่ ๔ โครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.หนองบัวศาลา ต.หนองระเวียง อ.เมือง ประมาณ ๙๕๐ คน คงเหลือสมาชิกประมาณ ๓ พันคน ที่ยังไม่มีบ้านพักอาศัยเป็นของตนเอง ทุกคนต้องการบ้านที่เป็นปัจจัย ๔ ในการดำเนินชีวิต แต่สหกรณ์ฯ ต้องแบกรับภาระหนี้สินจึงไม่มีทุนดำเนินโครงการฯ ต่อมาได้ประสานกับผู้บริหาร บริษัท เอเอทีแอล กรุ๊ป จำกัด ที่มีความเข้าใจในระบบสหกรณ์ จึงตอบรับมาร่วมปรับปรุงตามแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ตามกฎ ระเบียบข้อบังคับของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยใช้พื้นที่ ๙ ไร่ ตั้งอยู่โครงการ ๒ บ้านหนองตาคง หมู่ ๘ ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ดำเนินโครงการในรูปแบบอาคารชุดคอนโดมิเนียม ๔ ชั้น และ ๗ ชั้น รวม ๔๕๐ ยูนิต มูลค่าประมาณ ๔๖ ล้านบาท

ฟื้นฟูกิจการสหกรณ์

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. ดร.สมัย เหมมั่น ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเอทีแอล กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า โครงการแกรนด์โฮมโปรเจกต์เป็นการฟื้นฟูกิจการเนื่องจากสหกรณ์ในทุกฝ่ายทั้งเจ้าหนี้ และลูกหนี้มีการประชุมร่วมงานกัน เพื่อหาแผนฟื้นฟูการใช้หนี้ ระหว่างสหกรณ์เล็กและสหกรณ์ใหญ่ สหกรณ์เล็กคือ สหกรณ์เคหะสถาน ซึ่งมีภาระหนี้สินต่อสหกรณ์ใหญ่คือ สหกรณ์สงขลา สหกรณ์ออมทรัพย์ รวมทั้งปัญหาหนี้สินที่ไม่สามารถชำระได้ ทั้งนี้ตนก็เป็นสมาชิกในกลุ่มเพื่อนๆ สมาชิกของสหกรณ์และลูกบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จึงร่วมหาแนวทางเพื่อหาทางออกให้แก่สมาชิก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนฟื้นฟูทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้

“คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี ๒๕๖๓ ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป โดยขณะนี้ผมเริ่มจัดหาผู้รับเหมาที่จะมีจิตอาสามาทำในราคาทุน เก็บเงินในระยะยาว โดยมีข้อตกลงว่า สร้าง ๑ ปี ๖ เดือน จะต้องเสร็จทัน และรอให้สมาชิกสหกรณ์ลงทะเบียนเสร็จ มีการจำหน่ายจ่ายโอนเรียบร้อยถึงนำเงินมาชำระ นี่คือเป้าหมายของเรา ในส่วนนี้ผมในฐานะที่เป็นนิติบุคคลที่รับงานตรงนี้ ก็ต้องมาช่วยทำสินเชื่อให้กับสมาชิกที่ทำเรื่องซื้อ เพื่อให้การเงินไหลเข้าในระบบ ส่วนบริษัทก็จะได้ค่าดำเนินการหรือต้นทุนในการก่อสร้าง แต่จะขายในราคาเท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องของสหกรณ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ดินของเขา” ดร.สมัย กล่าว

ช่วยสหกรณ์ที่ใกล้ล้มละลาย

ดร.สมัย กล่าวอีกว่า หากถามว่า ทำไมถึงมาที่โคราช เนื่องจากเราใช้คำว่าฟื้นฟูกิจการ แสดงว่ากิจการเหล่านั้นมีสภาพล้มละลาย หากสหกรณ์อยู่ในสภาพที่ดีคงไม่ขอความช่วยเหลือจากเรา สหกรณ์ที่จะล้มละลายและทำให้สมาชิกของสหกรณ์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ซึ่งความจริงแล้วไม่มีสหกรณ์ไหนที่จะให้คนภายนอกเข้ามาช่วยตรงนี้ แต่หากเข้ามาก็หมายความว่าตัวสหกรณ์มีแนวโน้มล้มละลาย กระทั่งอาจจะต้องปิดกิจการ แต่ถ้าปิดกิจการสมาชิกกว่า ๕,๐๐๐ คน ที่ซื้อบ้านเป็นพันหลังเขาจะทำอย่างไร กลายเป็นปัญหาโลกแตก เพราะไม่มีใครเข้ามาฟื้นฟูช่วยเหลือ ซึ่งตนมีความรู้ ความชำนาญเรื่องนี้จึงอาสาช่วยเพื่อนที่อยู่ในโครงการ โดยมาสร้างในพื้นที่สหกรณ์ และนำไปจำหน่ายแล้วนำเงินไปใช้หนี้บางส่วน และต่อไปก็สามารถขยับขยายเพิ่มเติมได้ คนที่ลงทุนก็พอจะมีกำไรบ้าง

พัฒนาอสังหาริมทรัพย์

“ทิศทางของสหกรณ์ สามารถเอากำไรที่ขายตัวห้อง หรือตึกให้กับสมาชิก หลังจากหักต้นทุนแล้วสามารถที่จะทยอยคืนให้กับสหกรณ์ใหญ่ที่มีมูลค่าหนี้สินกันอยู่ร่วม ๕-๖ ร้อยล้าน ซึ่งต้องค่อยๆ ทำไปทีละส่วน มีส่วนร่วมกับเขาไปเรื่อยๆ และเปิดโอกาสให้สหกรณ์มารับจ้าง หรือเป็นโครงการส่วนตัวทางผมเอง ก็ให้สหกรณ์เขามารับจ้าง มาสร้างรายได้ ในพื้นที่ของสหกรณ์ก็ให้เขาจัดพื้นที่ขึ้นมาเราก็ไปสร้างให้เขา เพื่อให้สมาชิกกว่า ๕,๐๐๐ คน ได้โฉนด ใช้หนี้ใช้สินเรียบร้อยหมดแล้ว ปลดโฉนดทำเรื่องจัดสรร หรืออะไรต่างๆ ต่อไป มูลค่าหนี้สินกว่า ๖ ร้อยล้าน จริงๆ แล้วไม่มีใครจิตอาสาเข้ามาร่วม เพราะเป็นสิ่งที่ขาดทุน มีแต่ผลเสีย แต่ด้วยความที่ผมเป็นนักวิชาการมีความรู้ทางด้านนี้ จึงเข้ามาลงทุนโดยที่ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน ถือว่าเป็นสถานที่ให้คนงานก่อสร้างได้ทำงาน ถือว่าเป็นกำไรในการฝึกงานลูกน้อง นอกจากนั้นหากขายตึกได้ สหกรณ์ก็มีเงินชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ สมาชิกก็จะได้มีเงินปันผลแบ่งปันกำไร ทุกวันนี้จะให้สหกรณ์ทำสินค้าโอทอปจำหน่าย หรือทำโรงงานไม่มีแล้ว จะต้องมีที่ดินมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์” ดร.สมัย กล่าว

หาแหล่งทุนจากเอกชน

นายเรืองศิลป์ วงศ์บุญทิวา ประธานที่ปรึกษาสหกรณ์เคหะสถานเมืองโคราช เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า พื้นที่ของสหกรณ์มีพื้นที่เหลือไม่ได้ใช้ประโยชน์ประมาณ ๙ ไร่ เราจึงต้องลงทุนเพื่อหารายได้เพิ่มให้สหกรณ์ เนื่องจากสหกรณ์มีภาระหนี้สินค่อนข้างมาก การจะเก็บเฉพาะค่าบ้านจากสมาชิกไปผ่อนเจ้าหนี้นั้นไม่พอ เนื่องจากเงินออกนอกระบบเยอะ กรรมการชุดนี้จึงได้หาแนวทางว่า จะเพิ่มรายได้ให้สหกรณ์อย่างไร การที่จะขอความช่วยเหลือจากสหกรณ์อื่น เราถูกจำกัดจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ห้ามสหกรณ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าหนี้ลงมาช่วยเหลือสหกรณ์ที่พบปัญหาขาดทุน เราจึงต้องหาแหล่งเงินทุน ซึ่งทางบริษัทเอกชนที่มีกำลังพอจะช่วยเหลือสหกรณ์ก็เข้ามาลงทุนให้ โดยให้สหกรณ์เป็นเจ้าของที่ดิน ส่วนบริษัทจะเข้ามาช่วยเรื่องของทุนด้านการก่อสร้างให้ จากนั้นจะชดใช้หนี้ให้ต่อเมื่อเราขายได้ และจะมีการปรับโอนกำไรกันต่อไป ส่วนต่างที่เหลือก็จะนำมาพัฒนาสหกรณ์ และเป็นรายได้ของสมาชิก

ทำให้ถูกตามกฎหมาย

“ข้อบังคับของกรมส่งเสริมสหกรณ์ บริษัทเอกชนสามารถเข้ามาร่วมปรับปรุงกิจการสหกรณ์ได้ ซึ่งไม่ใช่การร่วมลงทุน แต่เป็นการร่วมฟื้นฟู คือ เข้ามาช่วยเหลือให้สหกรณ์มีรายได้เพิ่ม ทั้งนี้ เราเริ่มต้นโดยการทำให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย เราขออนุญาตก่อสร้างถูกต้องจาก อบต.แล้ว มีแบบก่อสร้าง และเมื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้าง เราก็จะขออนุญาตอาคารชุด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด คงไม่มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา เพราะเราจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย” นายเรืองศิลป์ กล่าว

อนึ่ง บริษัท เอเอทีแอลกรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ ด้วยทุน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตั้งอยู่เลขที่ ๓๐ หมู่ที่ ๙ ตำบลหมูม่น อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี มีคณะกรรมการ ๓ คน ได้แก่ นายศุภชัย บัวแพง นายสมัย เหมมั่น และนายสุรยุทธ มั่นเกษวิทย์ ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียนเป็นการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ส่วนวัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด (๒๕๖๑) ระบุว่า ประกอบกิจการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง 

บ้านออมวันละ ๔๐ บาท

สหกรณ์เคหะสถานเมืองโคราช จำกัด (The Korat Housing Cooperative.,ltd.) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักออมเพียงวันละ ๔๐ บาท ก็สามารถมีบ้านอยู่ได้ การดำเนินงานในระยะแรกไม่มีปัญหา แต่เริ่มขาดสภาพคล่องภายหลังการเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๕๖ และได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับนายประวิง (น้อย) รอดทะเล อดีตกรรมการบริหาร ซึ่งเป็นผู้ให้แนวคิดดำเนินโครงการ “บ้านออมวันละ ๔๐ บาท” และจากการบริหารจัดการสหกรณ์ฯ ทำให้ขาดทุน ๑๐๐ กว่าล้านบาท อีกทั้งที่ผ่านมาได้กู้เงิน ๔๐๐ กว่าล้านบาท และรับเงินฝาก ๑๙๒ ล้านบาท จากสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีเงินหมุนเวียนในลำดับต้นของประเทศ พร้อมกันนี้ยังขอสนับสนุนเงินฝากจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด อีกจำนวน ๓๕ ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถผ่อนชำระได้ต่อเนื่อง ทำให้สมาชิกกลุ่มหนึ่งร้องเรียนถึงการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใส หวั่นเกรงว่าจะไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตัวเอง ภายหลังสมาชิกขยายเพิ่มกว่า ๔,๐๐๐ คน และมีปัญหาเรื่อยมา ซึ่งในขณะที่นายเรืองศิลป์ วงศ์บุญทิวา เป็นประธานฯ มีการฟ้องร้องอดีตผู้บริหาร รวมทั้งยื่นขอฟื้นฟูกิจการด้วย

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๖ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 

 


809 1414