29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

January 02,2020

ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อหมื่นล้าน ชะลอขายข้าวเปลือกนาปี รับประกันเงินภัยแล้งปีใหม่ได้แน่

ธ.ก.ส.เตรียมปล่อยสินเชื่อหมื่นล้าน ชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ๑ ล้านตัน ในปีผลผลิต ๒๕๖๓ เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร เผยโคราช ได้เงินเยียวยาภัยแล้ง ๑.๖ พันล้าน รัฐบาลจ่ายแล้วไม่ริบเงินคืน คาดเกษตรกรได้รับเป็นของขวัญปีใหม่แน่

เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๒.๐๐ น. ที่ห้องประชุม ร้านขนมจีนครูยอด นายสุทธินันท์ บุญมี ผู้อํานวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สํานักงานจังหวัดนครราชสีมา แถลงข่าว “โครงการชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี” โดยมีนายสมยศ โยสาจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ธ.ก.ส. นายจักรภพ ศรีสุวรนันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานฯ นายทวี จารุพิสิฐไพบูลย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานฯ นายอัฏฐพล ศรีพุทธธางกูร ผู้จัดการสาขานครราชสีมา นายเดชาธร เบญจนวพร ผู้จัดการสาขาครบุรี และนางอโนมาส ประสานศักดิ์ ผู้จัดการสาขาจอหอ ซึ่งมีสื่อมวลชน ร่วมรับฟัง

นายสุทธินันท์ บุญมี ผู้อํานวยการ ธ.ก.ส.สํานักงานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคราวประชุมวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ อนุมัติ การดําเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๖๒/๒๕๖๓ และวงเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินโครงการฯ โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส.สํารองจ่ายเงิน เพื่อจ่ายเงินกู้ให้เกษตรกรเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนระหว่างรอการขายข้าวเปลือกในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันจํานวนมากเกินความต้องการของตลาด วงเงินสินเชื่อ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท เป้าหมายคือ ชะลอข้าวเปลือก ๑ ล้านตัน โดยให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของตนเองเพื่อรอขาย และนำออกขายเมื่อราคาตลาดเหมาะสม เป็นการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกในตลาด ซึ่งสาระสําคัญหลักและการดําเนินโครงการฯ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติรับรู้ถึงความสําคัญในการดําเนินโครงการฯ ได้แก่ ๑.เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ต้องมียุ้งฉางที่เก็บข้าวเปลือกเป็นของตนเองเท่านั้น ๒.สถาบันเกษตรกร หมายถึง สหกรณ์การเกษตรที่มีเกษตรกรรายคนเป็นสมาชิก กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าว ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ๓.เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่กรมส่งเสริมการเกษตรและมีเอกสารข้อมูลการขึ้นทะเบียนสามารถตรวจสอบได้ โดยชนิดข้าวและปริมาณที่จะใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ต้องสอดคล้องกับข้อมูลที่ขึ้นทะเบียนฯ และจ่ายเงินกู้ไม่เกินวงเงินโครงการฯ 

“หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ คือ ๑.ผู้เข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต ๒๕๖๒ กับกรมส่งเสริมการเกษตร ๒.เริ่มทําสัญญากู้เงินตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ สำหรับภาคใต้ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ กําหนดชําระ  คืนภายใน ๕ เดือน นับถัดจากเดือนที่รับเงินกู้ ๓.วงเงินกู้เกษตรกรรายละไม่เกิน ๓ แสนบาท และสถาบันเกษตรกรสามารถขอสินเชื่อได้ ๔.เก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของตนเองเท่านั้น ๕.สถานที่เก็บข้าวเปลือกต้องมีระบบระบายอากาศที่ดี ๖.จ่ายค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางตันละ ๑,๐๐๐ บาท พร้อมจ่ายสินเชื่อและจ่ายอีก ๕๐๐ บาท หลังเก็บข้าวอย่างน้อย ๓๐ วันและไถ่ถอนชําระหนี้ ระยะเวลาโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะไม่เสียดอกเบี้ย รัฐบาลจะชดเชยให้ราคาสินเชื่อ โดยข้าวหอมมะลิราคาสินเชื่อ ๑๑,๐๐๐ บาท ข้าวหอมมะลินอกฯ ราคาสินเชื่อ ๙,๙๐๐ บาท ข้าวเหนียวราคาสินเชื่อ ๘,๗๐๐ บาท โดยมีเงื่อนไข คือ ๑.เกษตรกรเก็บข้าวในยุ้งฉางตัวเอง ได้รับค่าฝากเก็บ ๑,๕๐๐ บาทต่อตัน ๒.เข้าร่วมผ่านสถาบันเกษตรกร ได้รับ ๕๐๐ บาทต่อตัน สถาบันเกษตรกรได้รับ ๑,๐๐๐ บาทต่อตัน”

นายสุทธินันท์ กล่าวอีกว่า “การดําเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สํานักงานจังหวัดนครราชสีมา ได้ดําเนินการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านโครงการสินเชื่อซะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้กับเกษตรกรลูกค้า และประชาชนทั่วไป โดยในปีบัญชี ๒๕๖๑ ให้จ่ายสินเชื่อโครงการชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๖๑/๖๒ ให้แก่เกษตรกรรายคน จำนวน ๕๓,๒๐๐ ราย เป็นเงิน ๓,๓๔๑.๔๐ ล้านบาท ส่วนในปีบัญชี ๒๕๖๒ ทีมงานสาขาในสังกัดสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนครราชสีมา กำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบยุ้งฉางเกษตรกร และจะเร่งดำเนินการจ่ายสินเชื่อให้เร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร”

ต่อข้อถามว่า “เงินเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งในจังหวัดนครราชสีมา คาดว่าจะจ่ายทันช่วงปีใหม่หรือไม่?”  นายสุทธินันท์ ตอบว่า “วงเงินที่โคราชได้รับอยู่ที่ ๑.๖ พันล้าน ซึ่งขณะนี้กำลังประสานกับสำนักงานเกษตรจังหวัด คาดว่าจะเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนได้แน่นอน ธ.ก.ส.หลายสาขาก็จะวางแผนนัดหมายกันอีกครั้งช่วงหลังปีใหม่ สำหรับประชาชนที่มีบัญชีเงินฝากของ ธ.ก.ส. สามารถไปรับตอนไหนก็ได้ ไม่ต้องกังวลว่า เมื่อรัฐโอนเข้าให้แล้ว เงินจะหายไปไหนหรือไม่ เพราะเงินจะอยู่ในบัญชี สามารถตรวจสอบผ่านช่องทางต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นตู้กดเงินสดหรือผ่านแอปพลิเคชันของ ธ.ก.ส. สะดวกช่องทางใดก็สามารถเบิกถอนได้ โดยบางสาขาอาจมีเกษตรกรไปรับจำนวนมาก ก็จะใช้วิธีนับเป็นตำบล เพื่อบริหารเงินให้ง่ายขึ้น หากจ่ายทีเดียว เงินจำนวนพันล้านอาจเกิดปัญหาได้ จึงต้องการให้ประชาชนไปรับตามสาขาที่นัดหมาย ส่วนค่าเก็บเกี่ยว บางสาขาได้แจ้งบ้างแล้ว จึงมีการประชาสัมพันธ์ผ่านแฟนเพจ ธ.ก.ส.จังหวัดนครราชสีมาว่า ใครจะได้รับเงินวันไหน ทั้งหมดถือเป็นของขวัญให้เกษตรกรหลังปีใหม่แน่นอน แต่เงินเยียวยาภัยแล้ง ต้องรอพูดคุยกับเกษตรจังหวัด เรื่องการโอนเงิน โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๙ วันพุธที่ ๑ - วันอังคารที่ ๗ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


799 1424