January 09,2020
ดีเดย์กำจัดสิ่งรุกล้ำลำตะคอง พบ ๔๔๗ จุดแย่งน้ำสาธารณะ เจ้าท่า’ขู่จัดการตามกฎหมาย
จิตอาสาพระราชทานโคราชลุยรื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำตะคองตอนบน หลังพบ ๔๔๗ จุด ทั้งโรงแรม รีสอร์ต บ้านผู้มีอันจะกินแย่งน้ำและมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำตะคอง เริ่มรื้อระยะแรก ๑๔ มกราคมนี้ ด้านเจ้าท่าฯ ขู่ให้รีบรื้อถอน ไม่เช่นนั้นจัดการตามกฎหมาย มีโทษทั้งจำและปรับ
เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๓ ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น ๓ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา พลเรือเอกปวิตร รุจิเทศ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ผอ.ศอญ.จอส.พระราชทาน) เป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินการสำรวจสิ่งล่วงล้ำลำน้ำลำตะคอง โดยมีพลโทธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ ๒ พร้อมด้วยนายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงผลการดำเนินงานฯ ในระเบียบวาระการหารือและการสรุปมอบแนวทางให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และเป็นรูปธรรม
นายชยุธพงศ์ อำรุงสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำลำตะคอง มีต้นน้ำมาจากผืนป่ามรดกโลกแห่งที่ ๕ ดงพญาเย็น เขาใหญ่ และเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคที่สำคัญ รวมทั้งมีประโยชน์ใช้สอยต่อการดำรงชีพของประชาชนกว่า ๔ แสนคน ในพื้นที่ อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ การสำรวจลำตะคองตอนบน ซึ่งเป็นเส้นทางคลองน้ำธรรมชาติพื้นที่ อ.ปากช่อง เริ่มจากศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ผ่านเทศบาลตำบลหมูสี อบต.หมูสี อบต.ขนงพระ อบต.หนองน้ำแดง เทศบาลเมืองปากช่อง อบต.หนองสาหร่าย ก่อนไหลลงเขื่อนลำตะคอง ที่ อบต.จันทึก อ.สีคิ้ว รวมความยาวตลอดลำน้ำ ๒๑๙ กิโลเมตร พบสิ่งกีดขวางทั้งสิ้น ๔๔๗ แห่ง รวมทั้งการลักลอบปล่อยน้ำเสียและทิ้งขยะมูลฝอยลงลำตะคอง โดยพบท่อระบายน้ำ ๕๓ ตัว ขยะสิ่งปฏิกูล วัชพืชลอยบนพื้นผิวน้ำหลายจุด ส่งผลให้เส้นทางลำตะคองบางจุดตื้นเขินและแคบ คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม
นางวิมลมาน สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครราชสีมา ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานตามคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๑๒๔๐๖/๒๕๖๒ ลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ กล่าวว่า ได้กำหนดแผนปฏิบัติการ ดังนี้ กรณีสิ่งปลูกสร้างมีใบอนุญาต แยกเป็นให้รื้อถอนและคงไว้แต่ต้องปรับปรุงให้เหมาะสม หากไม่มีใบอนุญาต ต้องรื้อถอนพร้อมแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา ๑๑๘ อัตราโทษผู้ใดฝ่าฝืนหรือได้รับอนุญาตแต่ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ที่รุกล้ำอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละ ๑,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยระวางโทษปรับเป็นรายวันละไม่เกินตารางเมตรละ ๒๐,๐๐๐ บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าท่าหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
“อย่างไรก็ตาม ก่อนดำเนินการให้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อกฎหมายและให้ความรู้ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้านรวมทั้งผู้นำชุมชนและนัดประชุมทำความเข้าใจกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองในแต่ละพื้นที่ โดยให้เวลารื้อถอน ๒ สัปดาห์ หากเพิกเฉยจะต้องดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ต่อไป”
ด้านนายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวสรุปข้อสั่งการ ว่า ๑.ที่ประชุมรับทราบข้อมูลการสำรวจสิ่งรุกล้ำลำน้ำลำตะคองตามที่ที่ประชุมเสนอ จำนวน ๔๔๗ แห่ง ๒.รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน (กลางน้ำและปลายน้ำ) ๓.การดำเนินการรื้อถอนระยะแรกดำเนินการในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๓ จำนวน ๓ แห่ง เป็นฝายน้ำพื้นที่ อบต.หมูสี และปลายเดือนมกราคมอีก ๒ แห่ง ในพื้นที่ อบต.ขนงพระ และดำเนินการต่อไป อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ๔.การแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำพื้นที่ลำตะคองตอนล่าง ช่วงไหลผ่านอำเภอเมืองนครราชสีมา เริ่มดำเนินการต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ๕.การพิจารณาใช้แผนที่ของกองบิน ๑ และ DSI ในการบริการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ๖.การแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ชลประทานของบ่อเลี้ยงปลา ฟาร์มเลี้ยงจระเข้ ๗.การพัฒนาและฟื้นฟูลำน้ำ มอบหมายหน่วยงานในพื้นที่ผู้รับผิดชอบ โดยศูนย์จิตอาสาฯ จังหวัดและกองทัพภาคที่ ๒ เป็นหน่วยสนับสนุน ๘.การบริหารจัดการน้ำแล้ง โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ๙.การใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลโดยนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า ๑๐.ใช้นวัตกรรมเพื่อนำน้ำใต้ดินมาใช้ประโยชน์ ๑๑.การแก้ไขปัญหาแจ้งภัยด้วยจิตอาสาพระราชทาน ขอให้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ๑๒.การนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดมาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร และ ๑๓.รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดโดยจิตอาสาพระราชทาน
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๐ วันพุธที่ ๘ - วันอังคารที่ ๑๔ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๓
889 1,596