15thJanuary

15thJanuary

15thJanuary

 

January 16,2020

ค้ำหนี้ ๘ หมื่นยึดที่ ๑๔ ไร่ ทนายให้ฟังเหตุผล

ป้าวัย ๕๖ ปี ขึ้นป้ายให้ “ลุงตู่ช่วย” หลังถูกยึดบ้าน-ที่ดิน ๑๔ ไร่ ถูกฟ้องขับไล่ เพราะค้ำประกันรถจักรยานยนต์ ๘ หมื่น ทนายความวอนสังคมฟังความ ๒ ฝ่าย คาดไม่นานความจริงจะปรากฏ ล่าสุดทนายยอมขายบ้าน-ที่ดินคืน ในราคาประมูล

เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๓ ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านบ้านสายโท ๒ ใต้ ตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอ้างว่ากำลังประสบปัญหาเดือดร้อนหนักและต้องการขอความช่วยเหลือ กรณีถูกแจ้งจับฐานบุกรุกและฟ้องขับไล่ให้ออกจากบ้านตัวเอง ผู้สื่อข่าวจึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบบ้านหลังดังกล่าว พบว่า เป็นบ้านของนางวัฒนา คงงาม หรือป้าวรรณ อายุ ๕๖ ปี โดยบริเวณหน้าบ้านขึ้นป้ายข้อความว่า “ท่านนายกฯ ลุงตู่ ช่วยชาวบ้านด้วย ค้ำประกันรถมอเตอร์ไซค์ ๘๐,๐๐๐ บาท ยึดที่ดิน ๑๔ ไร่ ถูกจับขังคุก ไม่มีที่ยืนในสังคมแล้ว เดือดร้อนมากจริงๆ”

จากการสอบถามนางวัฒนา คงงาม เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี ๒๕๕๘ คนรู้จักกันต่างหมู่บ้าน ขอให้ช่วยค้ำประกันซื้อรถจักรยานยนต์กับบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งในอำเภอบ้านกรวด ตนก็ไม่ขัดเพราะเห็นเป็นคนรู้จักกัน จากนั้นตนก็ใช้ชีวิตตามปกติ ต่อมาเมื่อปี ๒๕๖๐ เจ้าของบริษัทรถจักรยานยนต์มาแจ้งกับตนว่า ผู้เช่าซื้อรถไม่ได้ส่งค่างวด จึงมาทวงถามกับตนในฐานะผู้ค้ำประกัน และให้ไปร่วมไกล่เกลี่ยที่บริษัท แต่ขณะนั้นตนไปไม่ได้เพราะป่วย จากนั้นก็ได้รับการประสานจากทนายความว่า ถ้าไปไม่ได้ให้เซ็นใบมอบอำนาจ ไม่ได้เอะใจอะไรจึงเซ็นให้ กระทั่งมีป้ายมาติดที่บ้านว่า โดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาด เป็นบ้านและที่ดินจำนวน ๑๔ ไร่ ที่ตนอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ก็แปลกใจมาก เพราะเป็นเพียงแค่คนค้ำประกัน กระทั่งมาทราบภายหลังว่า บริษัทให้ทนายความฟ้องเรียกเงินค่าผิดสัญญาจำนวน ๘๒,๐๔๐ บาท

“จากนั้นทนายคนเดิมให้ตนไปร่วมประมูลทรัพย์ โดยทนายคนดังกล่าวก็กระซิบบอกตนว่า “ป้าไม่ต้องคัดค้านอะไรนะ ไม่มีประโยชน์ เดี๋ยวผมจะช่วยเอง” กระทั่งมีการเคาะประมูลทั้งบ้านและที่ดิน ๑๔ ไร่ เป็นเงิน ๓๔๐,๐๐๐ บาท โดยทนายคนดังกล่าวเป็นคนประมูลซื้อไป ด้วยความที่ตนไม่รู้ขั้นตอนของกฎหมายเขาบอกให้ทำอะไรก็ทำ จากนั้นจึงได้ไปขอเจรจาซื้อบ้านและที่ดินคืนจากทนายในราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่ทนายกลับบอกว่าไม่ได้ ถ้าจะซื้อคืนจะขายในราคา ๔ ล้านบาท ตนถึงกับเข่าอ่อนไม่รู้จะทำยังไง เครียดมากจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ” นางวัฒนา กล่าว

นางวัฒนา เล่าอีกว่า “เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๒ ทนายคนดังกล่าว ได้ให้ตำรวจ สภ.บ้านกรวด มาเชิญตัวไปโรงพัก เมื่อไปถึงตำรวจก็แจ้งข้อกล่าวหาว่าตน “บุกรุก” และนำตัวส่งศาลจังหวัดนางรอง จึงขอให้ผู้ใหญ่บ้านไปช่วยประกันตัวที่ศาล โดยใช้เงินสดยื่นประกัน ๕,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ทนายยังได้ฟ้องขับไล่ให้ป้า ย้ายออกจากบ้านหลังดังกล่าว ภายในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์นี้ พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายช่วงที่อาศัยในบ้านอีก ๓ แสนบาทด้วย”

“ตนก็ไม่รู้จะทำยังไงเพราะไม่รู้กฎหมายเลย ประกอบกับฐานะยากจนไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร ส่วนบ้านที่อาศัยอยู่ที่ถูกขับไล่ให้ออกมาก็เป็นบ้านมรดกตกทอดจากพ่อแม่ หากถูกขับไล่ออกก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน หากเรื่องคดีหรือกฎหมายตนเองยอมรับว่าคงไม่มีอะไรไปสู้ได้ แต่อยากจะวิงวอนให้ทนายคนที่ฟ้อง ได้เมตตาให้ตนได้ไถ่บ้านและที่ดินคืนในราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท จากที่ทนายประมูลมาในราคา ๓๔๐,๐๐๐ บาทด้วย ซึ่งตนก็จะพยายามไปหยิบยืมญาติพี่น้อง มาเป็นค่าไถ่ถอนบ้านคืน ต้องการจะขอความเห็นใจ เพราะตนคงไม่มีปัญญาหาเงิน ๔ ล้านมาซื้อบ้านคืนแน่นอน” นางวัฒนา กล่าว

ขณะที่นายรังสรรค์ วาลีประโคน ทนายความที่เข้ามาช่วยเหลือป้าวัฒนา เล่าว่า “ความจริงแล้วราคารถจักรยานยนต์ที่ป้าวัฒนา ไปเซ็นค้ำประกันราคาเพียง ๔๐,๐๐๐ กว่าบาทเท่านั้น แต่เมื่อผู้เช่าซื้อค้างชำระทางบริษัทจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินกว่า ๘๐,๐๐๐ บาท ยอมรับว่า กรณีที่เกิดขึ้นเพราะคุณป้าไม่รู้ขั้นตอนของกฎหมายและไม่มีเงินที่จะจ้างทนายความไปสู้คดี จึงทำให้ถูกฟ้องยึดบ้านและที่ดิน ซึ่งหากจะสู้คดีในตอนนี้ก็คงจะยาก คงจะขึ้นอยู่กับศีลธรรมและขอความเห็นใจจากผู้ที่ซื้อไปแล้วมากกว่า ต้องการให้กรณีที่เกิดขึ้นกับคุณป้า เป็นตัวอย่างสำหรับคนที่จะไปเซ็นค้ำประกันให้ใคร ควรจะรอบคอบให้มาก ไม่เช่นนั้นอาจจะประสบชะตากรรมเหมือนคุณป้า”

จากนั้น ผู้สื่อข่าวพยายามโทรศัพท์ติดต่อเพื่อจะขอสัมภาษณ์ทนายความที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นผู้ซื้อบ้านและที่ดิน แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จึงขอสัมภาษณ์ตัวแทนบริษัทจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ซึ่งอนุญาตให้บันทึกเสียงได้ แต่ไม่ขอเปิดเผยใบหน้าหรือชื่อของบริษัท โดยชี้แจงให้ฟังว่า กรณีดังกล่าวนายปรีชาได้มาเช่าซื้อรถที่ร้านเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๗ จากข้อมูลพบว่าลูกค้ารายดังกล่าวมีการชำระเงินเพียง ๔ งวด หลังจากนั้นก็ไม่ได้ชำระอีกเลย ซึ่งช่วงที่ค้างชำระ บริษัทมีการติดตามทวงถาม ทั้งการโทรศัพท์ และส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายเร่งรัดไปติดตามทวงถามที่บ้านหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีการชำระ ผิดนัดถึง ๓๖ งวด กระทั่งเมื่อปี ๒๕๖๒ ได้ให้   เจ้าหน้าที่ไปติดตามที่บ้านก็ไม่พบทั้งผู้เช่าซื้อและรถจักรยานยนต์ บริษัทจึงจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายโดยการฟ้องผู้ค้ำประกัน ซึ่งได้มอบหมายให้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย โดยทนายความเป็นผู้ไปทำการสืบทรัพย์เอง เพราะทางบริษัทไม่ได้มีนโยบายที่จะไปซื้อที่ดินของชาวบ้านเพื่อมาขายเก็งกำไรอยู่แล้ว 

ตัวแทนบริษัทจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ชี้แจงอีกว่า ทนายความที่ดำเนินการนี้ ไม่ได้เป็นพนักงานประจำของบริษัท แต่ทางบริษัทจ้างมา ซึ่งทุกวันนี้ไม่ได้จ้างแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นเขาจึงไปทำการติดต่อซื้อขายตามกระบวนการของกฎหมายบังคับคดี บริษัทไม่ได้เกี่ยวข้องรู้เห็นด้วย แต่เมื่อทางบริษัททราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น ตนในฐานะที่เคยว่าจ้างก็พยายามพูดคุยกับทนายคนดังกล่าวหลายครั้งว่า อย่าทำแบบนั้นเลย บวกกำไรนิดๆ หน่อยๆ ก็พอแล้ว อย่าไปทำนาบนหลังคน เป็นบาปกรรม แต่คนที่ไม่รู้ก็มาพาดพิงและเข้าใจผิดว่าบริษัทมีส่วนรู้เห็นด้วย ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายถูกกล่าวหาว่า ไปร่วมมือหรือสมรู้ร่วมคิดกับทนาย ซึ่งตนเองขอยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับกรณีที่เกิดขึ้น พร้อมให้ไปตรวจเช็คเส้นทางการเงินได้เลยว่าไม่มีการโอนเงินให้ทนายไปซื้อที่ดินหรือเล่นละครตบตาชาวบ้านอย่างแน่นอน ขอยืนยันด้วยศักดิ์ศรีที่ทำการค้าขายรถจักรยานยนต์มากว่า ๓๐ ปี ไม่เคยทำเรื่องอะไรแบบนี้เลย

ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. นายบรรณวิชญ์ มุกดาม่วง ทนายความที่ถูกกล่าวหา ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เพื่อชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “ขณะนี้กำลังรวบรวมหลักฐานหรือเอกสารราชการต่างๆ เกี่ยวกับกระบวนการการได้มาของที่ดินและบ้านว่า ได้มาแบบใด โดยจะเสนอต่อสภาทนายความจังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากผู้เสียหายได้ไปร้องเรียนกับสภาทนายความฯ ไว้ คาดว่า เร็วๆ นี้คงจะได้เอกสารครบถ้วน และผมต้องการให้ผู้สื่อข่าวรับข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย โดยมารับฟังจากฝั่งผมด้วย ไม่ใช่ว่า รับฟังความข้างเดียว แล้วไปประโคมข่าวให้เป็นกระแส เรื่องแบบนี้ต้องรับฟังทั้งสองฝั่ง ไม่ใช่อีกฝ่ายพูดอะไรก็เชื่อไปหมด หลังจากที่มีการเสนอข่าว ผมก็ถูกกดดันทางสังคม แต่ความจริงก็คือความจริง ไม่มีใครหนีพ้นไปได้ เดี๋ยวความจริงทั้งหมดก็จะปรากฏเองว่า ที่ผ่านมาที่ป้าพูด ร้องห่มร้องไห้มีความจริงเท็จอย่างไร เดี๋ยวก็จะปรากฏ ซึ่งผมขออยู่เฉยๆ ไม่ตอบโต้ดีกว่า”

ล่าสุดคืนที่ดิน

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๓ได้มีการนัดคู่กรณีทั้งสองฝ่าย เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยที่สำนักงานบังคับคดีนางรอง โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีนางรอง, ยุติธรรมจังหวัด, สภาทนายความจังหวัดบุรีรัมย์ และเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ร่วมในการไกล่เกลี่ยครั้งนี้ โดยผลการไกล่เกลี่ยทนายความผู้ที่ประมูลซื้อที่ดิน ยอมขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง คืนให้กับนางวัฒนา ในราคาที่ประมูลจากบังคับคดีคือ ๓๔๐,๐๐๐ บาท แต่นางวัฒนา จะต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมในการโอนเอง และจะต้องจ่ายเงินคืนให้กับทนาย จำนวนเงินอีก ๘๓๑,๖๒๒.๓๗ บาท ที่ได้จ่ายให้กับ ธกส. ระหว่างการไถ่ถอนที่ดิน เนื่องจากที่ดินแปลงนี้นางวัฒนา ได้นำไปจำนองไว้ที่ธนาคารฯ ก่อนหน้านี้ โดยมีกำหนดให้ชำระภายใน ๓ เดือนนับจากวันทำสัญญาคือวันนี้ รวมถึงค่าทำเนียมในการโอนที่ดินกลับคืน นางวัฒนา จะต้องเป็นผู้จ่ายเองทั้งหมด โดยการไกล่เกลี่ยได้มีการทำบันทึกข้อตกลงไว้เป็นหลักฐานด้วย 

นอกจากนี้ ทนาย และนางวัฒนา จะต้องร่วมกันชี้แจงข้อเท็จจริงกับกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมดว่า ทนายได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะการเข้าไปประมูลซื้อทรัพย์ที่บังคับคดี ได้ซื้อในนามส่วนตัวไม่ได้บังคับ ขู่เข็ญตามที่เป็นข่าว อย่างไรก็ตามหากนางวัฒนา ไม่ชำระตามหนังสือสัญญา คือภายใน ๓ เดือน ก็จะถือว่านางวัฒนา ไม่ติดใจอะไรกับที่ดินผืนนี้แล้ว ส่วนการฟ้องเรียกค่าเสียหายบุกรุก และการแจ้งความดำเนินคดีบุกรุก ทนายรับปากจะทำการถอนแจ้งความทั้งหมด

ด้านทนายความ ได้ออกมาเปิดเผยว่า หลังตกเป็นข่าว ทำให้ตนและทนายความในจ.บุรีรัมย์ ได้รับความเดือดร้อน เพราะผู้เสพข่าวยังไม่เข้าใจถึงกระบวนการทางกฎหมาย ยอมรับว่าตนเป็นทนายที่ว่าจ้างจากบริษัทจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฟ้องตามกฎหมาย หลังจากศาลมีคำสั่งจนคดีสิ้นสุด ทนายก็หมดหน้าที่ของความเป็นทนาย ส่วนการประมูลทรัพย์ ตนก็ไปประมูลตามระเบียบ ไม่คิดอยากได้ที่ดินแปลงนี้ แต่เห็นผ่านการประมูลมาแล้ว ๔-๕ ครั้ง ยังไม่มีคนซื้อ ตนจึงประมูลเอาด้วยความสุจริต ส่วนกรณีที่ป้า ให้ข่าวว่า มีการใช้เล่ห์กล เพื่อไม่ให้ป้าคัดค้านซื้อที่นั้น ก็ไม่เป็นความจริง และจึงอยากฝากถึงสังคม หรือผู้ที่ติดตามข้อมูลข่าว ได้ใช้สติในการเสพข่าว ศึกษาข้อกฎหมายให้เข้าใจ และอยากให้ป้าได้ออกมาพูดให้สังคมได้รับรู้ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านด้วย

ขณะที่นางวัฒนา หรือป้าวรรณ บอกว่า หลังจากทนายยอมขายที่ดินคืนให้ในราคาประมูล ก็ดีใจและขอบคุณทุกภาคส่วนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ กรณีที่เกิดขึ้นยอมรับว่า ไม่รู้ขั้นตอนกฎหมายและการประมูลซื้อขายทรัพย์ แต่หลังจากได้ฟังการชี้แจงจากเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า กรณีดังกล่าวเป็นการซื้อขายที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ขอโทษทนายที่ให้ข้อมูลข่าวไปแบบนั้นเพราะด้วยความที่ไม่เข้าใจในกฎหมายเท่าที่ควร แต่ยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้ใครเสื่อมเสีย แต่กรณีที่เกิดขึ้นก็จะเป็นบทเรียนสำหรับตนเองในการเซ็นค้ำ หรือเซ็นเอกสารมอบอำนาจต่างๆ ก็จะระมัดระวังมากขึ้น

 

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๑ วันพุธที่ ๑๕ - วันอังคารที่ ๒๑ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


919 1,655