4thOctober

4thOctober

4thOctober

 

January 16,2020

แล้งหนักหน่วง จัดงบช่วย ๓ พันล.

แล้งหนัก รัฐจัดสรรงบกลาง ๓ พันล้าน เพื่อแก้ปัญหาทั่วประเทศซึ่งมีกว่า ๒,๐๐๐ โครงการ เริ่มจากขุดบาดาล ๕๐๐ บ่อ

เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำคณะลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ณ อำเภอโชคชัยและอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายธงชัย ลืออดุลย์ เลขานุการรัฐมนตรี, นายจิรายุ นันท์ธราธร ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเขต ๑๓, นายอภิชา เลิศพชรกมล ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา เขต ๙, นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ และนายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมคณะติดตาม ซึ่งมีนางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์ 

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ อ.โชคชัย จากพื้นที่ทั้งหมด ๑๐ ตำบล ปัจจุบันเกิดปัญหาภัยแล้งใน ๒ ตำบล คือ ต.พลับพลา และ ต.ท่าอ่าง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากสระน้ำที่ใช้ผลิตประปาหมู่บ้านแห้งขอด และพบว่าบางพื้นที่การประปาส่วนภูมิภาคเข้าไม่ถึง ประชาชนใช้น้ำจากบ่อบาดาลซึ่งเป็นบ่อขนาดเล็ก ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ

ในส่วนของ อ.ปักธงชัย ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำไม่พอใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งได้รายงานต่อจังหวัด เพื่อประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ จำนวน ๑๖ ตำบล ๑๘๐ หมู่บ้าน ในขณะนี้มีหมู่บ้านที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จำนวน ๑๐ หมู่บ้าน ในพื้นที่ ต.ธงชัยเหนือ ต.ตะขบ และ ต.โคกไทย 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ภัยแล้งของทั้ง ๒ อำเภอ มีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คือ การเจาะบ่อบาดาล การสูบน้ำและแจกจ่ายน้ำ การรณรงค์ไม่ให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรัง และให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว มีการปรับปรุงวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน การจัดหาถังน้ำกลาง และรณรงค์การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.นครราชสีมา อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมให้การช่วยเหลือประชาชนหลายด้าน อาทิ จัดหารถแรงดันน้ำ ขุดบ่อบาดาลเพิ่ม โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณกลาง ๓,๐๐๐ ล้านบาท และมอบหมายให้ สทนช. (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ดำเนินการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนต่อไป ในส่วนงบประมาณปกติของรัฐบาล ๓.๒ ล้านล้านบาท ที่เพิ่งผ่านสภา คาดว่าสามารถใช้ได้ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ และอาจจะมีสนับสนุนช่วยเหลือ แก้ปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งด้วย

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๑ วันพุธที่ ๑๕ - วันอังคารที่ ๒๑ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


830 1,481